เกาหลีกับความรู้สึกดี ๆ

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
19 พฤศจิกายน 2556

          คนไทยไปเที่ยวเกาหลีกันมากมายถึงเกือบ 400,000 คนในปี 2012 เพื่อชมสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ทานอาหาร และ ช้อปปิ้ง แต่มีอีกหลายสิ่งที่เกาหลีแตกต่างจากประเทศอื่นอย่างน่าสนใจ วันนี้ขอนำมาเล่าสู่กันฟัง

          เกาหลีเดิมเรียกตนเองในนามเกาหลีใต้เพื่อให้แตกต่างจากเกาหลีเหนือประเทศเพื่อนบ้านซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นประเทศเดียวกัน หลังสงครามโลกครั้งที่สองแผ่นดินที่เป็นคาบมหาสมุทรติดกับจีนและใกล้กับญี่ปุ่นมากถูกแบ่งยึดครองเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งอยู่ภายใต้อำนาจกองทัพสหภาพ โซเวียต อีกส่วนหนึ่งของกองทัพสหรัฐอเมริกา

          แต่ถึงแม้จะแบ่งเขตยึดครองกันแล้วก็ยังมีปัญหาสู้รบเพราะลูกพี่ทั้งสองฮึ่ม ๆ กันอยู่ ในที่สุดก็เกิดสงครามเกาหลีระหว่าง ค.ศ. 1950-1953 และสงบลงด้วยการแบ่งออกเป็นสองประเทศเด็ดขาดจากกัน

          สองประเทศแข่งขันกันในทุกด้านคล้ายกับต่างฝ่ายต่างต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่าระบบทุนนิยมของเกาหลีใต้กับระบบคอมมูนิสต์ของเกาหลีเหนือใครจะประสบความสำเร็จกว่ากัน เกาหลีเหนือนั้นรุกอย่างดุเดือดไม่เกรงใจใครแม้แต่ในปัจจุบัน แต่ใครชนะใครในเชิงเศรษฐกิจสังคมและการเมืองนั้นเป็นที่รู้กันดี

          เกาหลีใต้ปัจจุบันมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 800,000 บาทต่อปี (มากกว่าไทย 5 เท่า) ส่วนเกาหลีเหนือ 16,000 บาทต่อปี เรียกว่าเทียบกันไม่ได้ อย่างไรก็ดีตลอดเวลา 60 ปีที่ผ่านมา ความรู้สึกถูกคุกคามไม่เคยหมดไปจากใจของคนเกาหลีใต้ซึ่งปัจจุบันเรียกตัวเองว่าเกาหลีโดยไม่มีคำว่าใต้อีกต่อไปเพราะมั่นใจว่ามีเกาหลีเดียวเท่านั้นที่โลกรู้จัก

          จีนและญี่ปุ่นก็เป็นเพื่อนบ้านที่คุกคามเกาหลีมาตลอดในประวัติศาสตร์ ญี่ปุ่นนั้นยึดครองเกาหลีเป็นเมืองขึ้นอย่างสมบูรณ์ระหว่าง ค.ศ. 1910-1945 จีนนั้นก็ไม่เบา ในประวัติศาสตร์อันยาวนานเกาหลีถูกรุกรานและถูกยึดครองเป็นเมืองขึ้น ในยุคสมัยใหม่จีนมีบทบาทสำคัญยิ่งในการสนับสนุนเกาหลีเหนือเพื่อเป็นตัวแทนในสงครามสู้รบกับโลกตะวันตก

          ภายใต้แรงกดดันเช่นนี้ คนเกาหลีจึงทำงานหนักเพื่อแข่งขันกับเพื่อนบ้านทั้งสามเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยทั้งในปัจจุบันและอนาคต ตอนเหตุการณ์เศรษฐกิจผันผวนในปี ค.ศ. 1996 ในภูมิภาคนี้ที่เรียกว่าต้มยำกุ้ง (ไม่ขอเอ่ยถึงมากกว่านี้ให้เจ็บกระดองใจ) เกาหลีก็โดนไปเต็ม ๆ อย่าง หนักหนาไม่ต่างจากไทยและอินโดนีเซีย แต่ก็รอดมาได้อย่างงดงามและผงาดกว่าเก่ามาก

          หลังเหตุการณ์ครั้งนั้นเกาหลีเติบโตอย่างก้าวกระโดดโดยใช้พื้นฐานด้านความคิดริเริ่ม การท่องเที่ยวและวัฒนธรรมที่ได้ปูไว้มาตลอด และยึดนโยบายสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (creative economy) ซึ่งหมายถึงการใช้วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ประเพณี ความเป็นเกาหลี ฯลฯ เป็นตัวสร้างมูลค่าโดยมุ่งตอบสนองความต้องการของประชาชนในโลกและในการนี้เทคโนโลยีไอทีเป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่ง

          ดนตรี ภาพยนตร์ การท่องเที่ยว การเป็น HUB ของการผ่าตัดเสริมความงามของภูมิภาคและโลก อุปกรณ์เครื่องมือและซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวกับไอทีถูกประดิษฐ์ขึ้นมาตอบสนองคนทั้งโลกอย่างมีกลยุทธ์เป็นขั้นเป็นตอน ภายใต้หลายรัฐบาลต่างพรรคที่มุ่งเป้าหมายเดียวกันสร้างรายได้มหาศาลให้แก่ประเทศ

          ขอยกตัวอย่างที่แตกต่างจากประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ ในเรื่องไอที เกือบทุกพื้นที่ของกรุงโซลและเมืองใหญ่ของประเทศที่มีประชากร 50 ล้านคน มีพื้นที่เพียง 1 ใน 5 ของประเทศไทย จะมีบริการ Wi-Fi ฟรีที่ทุกคนสามารถใช้ได้โดยไม่ต้องมีการลงทะเบียนชื่อให้ยุ่งยาก

          นักท่องเที่ยสามารถใช้ line / face book / ส่ง SMS ฯลฯ ติดต่อกับทั่วโลกได้ฟรีและอย่างสะดวกไม่ว่าจะอยู่แห่งใด ประชาชนของเขาสามารถใช้บริการจากรัฐในเรื่องการขอสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาใบประกาศนียบัตรการศึกษาทุกระดับ ใบเสร็จ แบบฟอร์มจากรัฐจ่ายภาษี ฯลฯ รวมกันเป็นบริการกว่า 50 ชนิดได้โดยเพียงไปใช้บริการจากตู้ที่ตั้งไว้ที่อำเภอตลอด 24 ชั่วโมง ถ้ามีคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือและเครื่องพิมพ์ก็สามารถทำที่บ้านได้โดยไม่ต้องเดินทางไปหน่วยราชการใด

          เกาหลีเป็นประเทศน่าสนใจในการพยายามเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ประชาชนด้วยการให้ความสะดวก ลดต้นทุนในการดำเนินชีวิตและประกอบธุรกิจ ประการสำคัญคือเพิ่มผลิตภาพ (productivity) ของประชาชนซึ่งทำให้เกิดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และอยู่รอดได้อย่างดีในระยะยาว

          การวางแผนใช้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณี เป็นวัตถุดิบในการนำมาผสมกับความคิดริเริ่ม และเทคโนโลยีไอซีที ทำให้เกิด K-Wave ผู้คนบ้าคลั่งการมาท่องเที่ยวเกาหลี ชอบดนตรีและภาพยนตร์เกาหลี ชื่นชอบอุปกรณ์โทรศัพท์ยี่ห้อประจำชาติ สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นก็คือการยอมรับสินค้าเกาหลีและความเป็นตัวตนเกาหลีในโลก

          goodwill หรือความรู้สึกดี ๆ ที่ผู้คนมีต่อสังคมหรือวัฒนธรรมใดเป็นนามธรรมที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติจากหลายสิ่งหลายอย่างประกอบกัน ไม่มีใครสามารถบังคับได้ ทั้งหมดเป็นไปอย่างสมัครใจ และเป็นที่แน่ชัดว่าเกาหลีประสบความสำเร็จในเรื่อง goodwill จากชาวโลกอย่างท่วมท้นในปัจจุบันด้วยผลงานอันเกิดจากการทำงานหนักของประชาชน และนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งมั่นต่อเนื่องไปในทิศทางเดียวกัน

          ความฉาบฉวยหลอกลวงคนอยู่ได้ไม่นานเพราะมันไม่คงทนเนื่องจากไม่มีสิ่งที่เป็นของจริงสนับสนุน เกาหลีนั้นพิสูจน์ให้เห็นว่าการทำสิ่งที่ถูกต้องภายในเวลาไม่ถึง 60 ปีเท่านั้นก็สามารถ พลิกผันสังคมได้อย่างน่าอัศจรรย์