วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
12 สิงหาคม 2557
ถ้าใครบอกว่าไม่ว่าอะไรทั้งนั้น ทั้งสิ่งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมล้วนมีต้นทุน เราคงไม่เชื่อเพราะมันหมายความว่าไม่มีอะไรที่ฟรีเลย โลกเช่นนี้ไม่น่าหรรษา อย่างไรก็ดีความจริงข้อนี้จะช่วยให้เราตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างชัดคมยิ่งขึ้น
ในเบื้องต้นเราต้องการสินค้าต่าง ๆ มาบริโภค ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ยารักษาโรค และสิ่งฟุ่มเฟือยต่าง ๆ ตลอดจนสารพัดบริการ เช่น บริการทนายความ งานสอนของครู เช่าบ้าน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้มิได้ลอยมาจากฟ้า แต่เกิดจากผลิตโดยเอาวัตถุดิบต่าง ๆ มาผสมกับเทคโนโลยีและการจัดการ
วัตถุดิบเหล่านี้ได้มาจากการจ่ายเงินซื้อมา ดังนั้นสินค้าจึงไม่ได้เกิดขึ้นฟรี ๆ อย่างแน่นอน บางคนอาจบอกว่าวัตถุดิบบางอย่างได้มาฟรี เช่น เก็บผักบุ้งจากธรรมชาติ ดังนั้นจึงฟรีโดยไม่ต้องจ่ายตังค์
พูดอย่างนี้ก็จริงอยู่ แต่คำว่าฟรีในที่นี้กินความกว้างขวางกว่านั้น กล่าวคือเราไม่ได้ ขีดวงกันอยู่เฉพาะแต่เรื่องเงินออกจากกระเป๋า มิได้หมายความว่าถ้าไม่ต้องควักเงินออกมาเพื่อแลกกับของแล้วแสดงว่าฟรี
ยกตัวอย่างเช่นเราเก็บผักบุ้งที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ ในประการแรกเราต้องเสียเวลาในการเก็บ ซึ่งเวลาเหล่านี้เราอาจเอาไปทำอย่างอื่นได้ เช่น พักผ่อน ไปเที่ยว ทำกับข้าว ดังนั้นเราจึงไม่ได้ผักบุ้งมาฟรีเพราะมีค่าเสียโอกาสจากการไม่ได้ไปทำอย่างอื่น นอกจากนี้เมื่อเราเก็บผักบุ้งมาคนอื่นก็ไม่ได้เก็บ โอกาสที่เสียไปคือการบริโภคของคนอื่น และถ้าเราเก็บมาแล้วไม่บริโภค ทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ผักบุ้งนี้ก็จะมีต้นทุนสูงขึ้นเพราะมันเสียโอกาสที่จะเป็นอาหารของคนอื่นที่เขาต้องการมากกว่าเรา หรือเสียโอกาสที่คนอื่นจะเอาไปทำให้มันมีมูลค่ามากยิ่งขึ้น
พูดง่าย ๆ ก็คือของที่มันไม่ฟรีก็เพราะมีค่าเสียโอกาสแอบแฝงอยู่ตลอดเวลาถ้าเราตระหนักถึงลักษณะธรรมชาติของการไม่ฟรีเช่นนี้ เราก็จะสามารถตัดสินใจเลือกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ถ้าเราเอาเงินสักหนึ่งแสนบาทไปลงทุนอะไรก็ตาม บางคนอาจคิดว่าเป็นการลงทุนที่ฟรีเพราะเป็นเงินของเราเองไม่ได้กู้ใครมาให้เสียดอกเบี้ย แต่อย่าลืมว่าเมื่อเงินหนึ่งแสนบาทนี้นอนอยู่ในธนาคารเฉย ๆ นั้น ถ้าอัตราดอกเบี้ยเท่ากับร้อยละ 3 ต่อปี เราก็ได้ดอกเบี้ยปีละ 3 พันบาท เมื่อเราเบิกมาลงทุน ต่อนี้ไปเราก็ไม่ได้ 3 พันบาทนี้แล้ว นี่คือค่าเสียโอกาสของเงินลงทุนหนึ่งแสนบาทของเรา
ขนาดเราเอาเงินของเราเองมาลงทุนยังมีต้นทุน แล้วการลงทุนของคนอื่นที่ต้องกู้ยืมธนาคารจะมีต้นทุนขนาดไหน ผู้ประกอบการเขาก็ต้องเอาต้นทุนที่เขาเสียไปทั้งหมดมาคิดคำนวณด้วยเพื่อคิดราคากับเราอย่างแน่นอน ดังนั้นโดยแท้จริงแล้วการซื้อแบบผ่อนส่งชนิดที่ดอกเบี้ยเป็นศูนย์ดังที่มีการโฆษณากันจึงไม่เป็นความจริง
ถ้าเขาบอกว่าโทรทัศน์โฮมเธียเตอร์ผ่อนงวดละ 10,000 บาท รวม 10 งวด ครบ 100,000 บาทพอดีไม่คิดดอกเบี้ยเลยสักบาท ความชื่นชมในการใจดีของผู้ขายคนนี้จะหมดไปหากเราลองไปตรวจสอบราคาสินค้าชิ้นเดียวกันที่ร้านอื่นก็อาจพบว่าถ้าซื้อเงินสดก็จะมีราคาเพียง 90,000 บาท แล้วอย่างนี้ดอกเบี้ยจะเป็นศูนย์ได้อย่างไร
ในชีวิตจริง มนุษย์ต้องเผชิญการเลือกอยู่ตลอดเวลา และทุกการเลือกมีค่าเสียโอกาสเกิดขึ้นเสมอ ตัวอย่างเช่น เลือกคนที่มาสมัครทำงาน ถ้าเลือกคนผิดมาทำงานโดยปฏิเสธคนเก่งและดีอีกคนที่มาสมัครด้วยค่าเสียโอกาสของเราก็จะสูงมาก เช่นเดียวกับการเลือกคู่ ถ้าเลือกคนผิดแทนที่จะเลือกคนอื่นที่ “ดี” กว่าก็จะมีต้นทุนหรือค่าเสียโอกาสในการตัดสินสูงเช่นเดียวกัน (ถึงแม้เลือกคนถูกก็ยังมีค่าเสียโอกาสอยู่ดีเพราะความเป็นโสดนั้นมีความหอมหวานอยู่มาก)
“ชีวิตเป็นเรื่องของการเลือก” (life is about choices) เป็นวลีติดปากนักเศรษฐศาสตร์ที่เตือนให้ผู้คนตระหนักว่ามนุษย์ต้องตัดสินใจเลือกอยู่ตลอดเวลา นับตั้งแต่เลือกว่าจะทำอะไรตอนรู้ตัวในที่นอนตอนเช้า ว่าจะเลือกใช้เวลาตอนเช้าออกกำลังกายหรือนอนต่อ เวลาของวันนั้นเลือกใช้ทำอะไร โดยทุกการเลือกมีค่าเสียโอกาส (ถ้าอยู่บ้านไม่ไปทำงาน ค่าเสียโอกาสก็คืองานที่ควรทำแต่ไม่ได้ทำ ถ้าไปทำงานค่าเสียโอกาสก็คือการไม่ได้พักผ่อนหรือไปเดินเล่น) มนุษย์ทุกคนต้องเปรียบเทียบค่าเสียโอกาสสำหรับทุกกิจกรรมเพื่อการตัดสินใจ
ในเชิงนามธรรมก็ไม่มีอะไรที่ฟรีเช่นเดียวกัน การตัดสินใจเลือกเส้นทางเป็นคนดีนั้นมีต้นทุน ต้องอดกลั้น หลีกเลี่ยงไม่กระทำสิ่งที่ชั่วร้ายต่าง ๆ อันนำมาซึ่งเงินทองและความ สนุกสนาน อย่างไรก็ดีเหล่าคนดีนั้นรู้ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่คงทนและนำมาซึ่งความลำบากทุกข์ใจในอนาคต กล่าวคือเขามีปัญญารู้ว่ามันมีต้นทุนสูงเพราะอาจติดคุกติดตะรางเสื่อมเสียชื่อเสียงจึงไม่เลือก
ถ้ามนุษย์ทุกคนตระหนักว่า ‘โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี’ ก็จะไม่มีการทิ้งขว้างผักบุ้งที่เก็บมา จากป่า ไม่ตัดสินใจลงทุนง่าย ๆ ด้วยเงินของตนเองเพราะคิดว่าไม่มีต้นทุน ไม่ไร้เดียงสาเชื่อใคร ง่าย ๆ ว่าซื้อของผ่อนดอกเบี้ยศูนย์มีอยู่ในโลก เลือกคนมาสมัครทำงานอย่างรอบคอบ ตัดสินใจเดินทางในชีวิตอย่างรอบคอบขึ้นเพราะรู้ดีว่าต้องเผชิญกับการตัดสินใจเลือกอยู่ตลอดเวลา และเหนือสิ่งอื่นใดตระหนักดีว่าการเป็นคนดีนั้นจะไม่ทำให้ประสบต้นทุนที่สูงในชีวิต
ถึงแม้น่าหดหู่ใจที่ทุกสิ่งล้วนมีต้นทุนทั้งสิ้นจน ‘โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี’ ซึ่งการไม่ฟรีนั้นมิได้เป็นเรื่องแคบ ๆ เฉพาะเรื่องเงินทองเท่านั้นหากไปไกลกว่า เพราะค่าเสียโอกาสซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการไม่ฟรีนั้นครอบคลุมถึงเรื่องความสุข ความทุกข์ ประโยชน์ ความทุกข์ทรมาน โอกาส เวลา ฯลฯ
ถึงแม้จะหดหู่ใจที่หาของฟรีไม่ได้แต่ก็ยังดีกว่าไม่รู้ความจริงข้อนี้ และตัดสินใจไปแบบเบลอ ๆ จนปวดใจจากการตัดสินใจเลือกผิด ๆ ในชีวิต