ยีราฟอาจสูญพันธุ์

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
13 มกราคม 2558

          เปิดโทรทัศน์ดูสารคดีเกี่ยวกับสัตว์ครั้งใดก็เห็นยีราฟทุกครั้งไปโดยเฉพาะหากเป็นภาพในสวนสัตว์ ภาพที่เห็นว่ามียีราฟอยู่ทุกแห่งหนนั้นลวงตาเพราะความจริงก็คือยีราฟกำลังจะ สูญพันธุ์

          จำนวนยีราฟทั่วโลกในขณะนี้มีประมาณ 80,000 ตัว เมื่อเทียบกับช้าง 440,000 ตัว ลิงกอริลล่า 100,000 ตัว สิงห์โต 23,000 ตัว และหมีแพนด้า 1,600 ตัว เมื่อ 15 ปีก่อนมีจำนวนยีราฟในโลก 140,000 ตัว ซึ่งหมายความว่าหายไปร้อยละ 40

          การมีจำนวนยีราฟมากเป็นอันดับสองรองจากสิงห์โตทะเล (sea lions) ในสวนสัตว์ทำให้ไม่เกิดการระแวดระวังจำนวนยีราฟที่ลดน้อยลงเป็นลำดับในป่าเพราะเมื่อเห็นมีอยู่ทั่วไปในสื่อจึงคิดว่ามีจำนวนมาก

          เมื่อพิจารณาลึกลงไปยีราฟมีอยู่ด้วยกัน 9 พันธุ์ กระจายอยู่ในทวีปอาฟริกาเท่านั้น โดยมีชื่อพันธุ์และจำนวนที่มีอยู่ในปัจจุบันในวงเล็บดังต่อไปนี้ West African Giraffe (ต่ำกว่า 400 ตัว) / Thornicroft’s (ต่ำกว่า 550 ตัว) / Nubian (ต่ำกว่า 650 ตัว) / Kordofan (ต่ำกว่า 1,900 ตัว) / Reticulated (ต่ำกว่า 6,500 ตัว) / Rothchild’s (ต่ำกว่า 1,100 ตัว) / Angolan (ต่ำกว่า 20,000 ตัว) / South African (ต่ำกว่า 25,000 ตัว) และ Masai (30,000 ตัว)

          3 พันธุ์ยีราฟที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดว่าจะสูญพันธุ์ก็คือ 3 พันธุ์แรกข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธุ์ West African เหลืออยู่ต่ำกว่า 400 ตัว ซึ่งถือได้ว่าเป็นสัตว์ขนาดใหญ่เลี้ยงลูกด้วยนมที่ใกล้สูญพันธุ์มากที่สุดในอาฟริกา

          สาเหตุของการสูญพันธุ์ก็ได้แก่ (1) พื้นที่ป่าและต้นไม้สำหรับยีราฟอยู่อาศัยลดน้อยถอยลงไปมากจนขาดอาหาร (2) มนุษย์บุกรุกเข้าไปในป่ามากทุกทีจนขาดที่อยู่อันเหมาะสมสำหรับยีราฟ (3) ถูกล่าเป็นอาหารเพราะเนื้อยีราฟมีรสหวานและเป็นที่นิยม อีกทั้งง่ายต่อการล่าเพราะความสูงทำให้สังเกตุเห็นได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีความเชื่อในบางกลุ่มของชาว Tanzania ว่าไขกระดูกและสมองของยีราฟสามารถรักษาโรคเอดส์ได้ อีกทั้งหัวและกระดูกสามารถนำไปขายได้ราคาดี

          เมื่อยีราฟป่าขณะนี้มีชีวิตเป็นของทุก ๆ คนเพราะเป็นสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ ต่อเมื่อมันตายลงเพราะถูกล่า ซากของมันจึงจะเป็นของผู้ล่า อย่างนี้ยีราฟป่าจะเหลือมากได้อย่างไร มีคำกล่าวว่า “สมบัติของทุก ๆ คนคือไม่ใช่สมบัติของใครเลย” ซึ่งตรงกับกรณีของยีราฟป่าในปัจจุบันที่การบังคับใช้กฎหมายในป่าอาฟริกาหย่อนยาน จึงมีผู้ต้องการเป็นเจ้าของด้วยการล่าหรือจับมาเป็นของตนเอง ด้วยเหตุนี้จำนวนยีราฟจึงลดลงอย่างรวดเร็ว และหากไม่มีใครสนใจเรื่องการอนุรักษ์ยีราฟอย่างแท้จริงแล้ว เราอาจเห็นการสูญพันธุ์ของยีราฟในอนาคตใกล้ก็เป็นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของ ยีราฟ 3 พันธุ์ดังกล่าวแล้ว

          ยีราฟเป็นสัตว์กินพืชโดยเฉพาะใบไม้และกิ่งอ่อน ๆ ที่อยู่บนยอดสูงกว่า 4 เมตร โดยเฉลี่ยกินวันละ 34 กิโลกรัม หากินอยู่ในทุ่งกว้าง ถึงแม้จะอยู่กันเป็นกลุ่มแต่ก็ไม่มีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งต่อกัน มีการเปลี่ยนข้ามย้ายกลุ่มกันแทบทุกวัน สมาชิกที่อยู่ใกล้กันมากที่สุดคือแม่และลูกยีราฟ อาจอยู่ด้วยกันนานเป็นอาทิตย์หรือเดือน

          มีการศึกษา 9 พันธุ์ของยีราฟและสรุปว่ามี 6 พันธุ์ที่อาจแยกออกเป็นสัตว์คนละพันธุ์ ย่อยได้ ยกเว้น 3 พันธุ์คือ Masiai / Angolan และ South African เนื่องจากมีลักษณะทางพันธุกรรมที่แตกต่างออกไปและผสมพันธุ์กันเฉพาะในกลุ่มของตนเอง

          ถ้ามองให้ดี ๆ จะเห็นยีราฟแต่ละพันธุ์มีลักษณะไม่เหมือนกัน นับตั้งแต่สีและลาย บนตัวที่แตกต่างกันมีทั้งจุด แผ่นสี ลายเป็นตาราง ตั้งแต่สีส้ม สีน้ำตาล จนเกือบดำ ยีราฟทั้ง 9 พันธุ์ในปัจจุบันสูงประมาณ 5-6 เมตร โดยตัวผู้สูงกว่าตัวเมีย ตัวผู้หนักเฉลี่ย 1,200 กิโลกรัม และตัวเมียเฉลี่ย 800 กิโลกรัม

          ยีราฟท้องประมาณ 400-460 วัน มีลูกครั้งละ 1 ตัว (แฝดนั้นนาน ๆ เกิดสักหนึ่งครั้ง) แม่ยีราฟยืนคลอดโดยลูกที่เกิดใหม่สูงประมาณ 1.8 เมตร และภายใน 2-3 ชั่วโมงก็วิ่งได้และมีลักษณะไม่ต่างจากตัวอื่น ๆ ที่มีอายุ 1 อาทิตย์เลย แม่ยีราฟเป็นผู้เลี้ยงและดูแลลูกเองทั้งหมด โดยตัวผู้ไม่มีบทบาทใดในการช่วยเลี้ยงดูลูกยีราฟเลย (เอาไว้ประนามพ่อประเภทนี้ว่า ‘พ่อยีราฟ’)

          ยีราฟเป็นสัตว์ที่ไร้เดียงสาเพราะไม่มีเขี้ยวเล็บ จึงเป็นอาหารของสัตว์กินเนื้อ เช่น สิงห์โต หมาไน ฯลฯ อยู่เป็นประจำ ถึงแม้มันจะมองเห็นภาพสี มีจมูก และหูที่ไวพร้อมทั้งวิ่งเร็วก็ตามดังที่เราเห็นกันในภาพยนตร์สารคดี

          มนุษย์ในทวีปอาฟริการู้จักยีราฟมาเป็นพัน ๆ ปีแล้วและถือได้ว่าเป็นสิ่งพิเศษของทวีปนี้โดยเฉพาะคนอียิปต์โบราณเลี้ยงยีราฟเป็นสัตว์เลี้ยงและใส่เรือส่งไปทั่ว คนกรีกและโรมันก็รู้จักยีราฟดีเช่นกัน (เชื่อว่ายีราฟเป็นลูกผสมของอูฐกับเสือลาย)

          จูเลียส ซีซาร์ เป็นผู้นำยีราฟตัวแรกมากรุงโรมเพื่อให้ประชาชนชมเมื่อ 46 BC และ ในศตวรรษต่อ ๆ มาคนยุโรปก็รู้จักยีราฟผ่านการค้ากับพวกอาหรับ

          ใน ค.ศ. 1414 ยีราฟตัวหนึ่งถูกส่งทางเรือจากเมือง Malindi ในอาฟริกาไป Bengal และส่งต่อไปจีนโดยนักเดินเรือผู้ยิ่งใหญ่คือเจิ้ง เหอ และนำไปเลี้ยงไว้ในสวนสัตว์ของราชวงศ์หมิง คนจีนพากันมาดูด้วยความตื่นเต้นเพราะไม่เคยเห็นสัตว์ประหลาดคอยาวอย่างนี้มาก่อน

          ยีราฟอีกตัวหนึ่งที่ฮือฮากันมากคือตัวที่ส่งมาทางเรือจากอียิปต์ถึงปารีสในต้นศตวรรษ ที่ 19 โดยเป็นของขวัญจาก Muhammad Ali แห่งอียิปต์ ถึงพระเจ้า Charles ที่ 10 แห่งฝรั่งเศส คนฝรั่งเศสแห่มาดูกันมากมายและตื่นเต้นไม่แพ้คนจีนเมื่อ 400 ปีก่อนหน้า

          การหลุดพ้นจากภาพลวงตาเรื่องยีราฟเท่านั้นที่จะทำให้การอนุรักษ์ยีราฟอย่างจริงจังเกิดขึ้นได้