“เลือดสาด” ที่ออสเตรเลีย

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
6 ตุลาคม 2558

          ไม่น่าเชื่อว่าในยุคปัจจุบันจะมีประเทศพัฒนาแล้วซึ่งในช่วงเวลาเพียง 5 ปีจะมีนายกรัฐมนตรีถึง 5 คน และกว่า 10 ปีมาแล้วที่ยังไม่มีนายกรัฐมนตรีคนใดที่อยู่ครบเทอมเลย ออสเตรเลียทำสถิตินี้ให้ดูด้วยเบื้องหลังที่เต็มไปด้วยเลือดจากการแก้แค้น เรื่องนี้ไม่เว้นแต่ Malcolm Turnbull นายกรัฐมนตรีคนใหม่เอี่ยมอ่อง

          ขอเล่าพื้นฐานการเมืองออสเตรเลียสักเล็กน้อย ประเทศนี้มีพรรคการเมืองใหญ่อยู่ 2 พรรค คือ พรรค Labor ที่เชื่อมโยงกับสหภาพแรงงานต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดกับพรรค Liberal ซึ่งถึงแม้ชื่อจะบอกว่าเป็นเสรีนิยม แต่จริง ๆ แล้วก็คือพรรค Conservative นั่นเอง (อังกฤษมีพรรค Labor กับ Conservative ซึ่งพรรคอนุรักษ์นิยมก็ใช้ชื่อตรง ๆ เลย)

          สองพรรคของออสเตรเลียนี้ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะตลอดมา พรรค Labor มีอุดมการณ์ไปทางซ้าย คือ ความเชื่อในการแทรกแซงกิจการต่าง ๆ โดยรัฐ ความคิดเสรีนิยม ฯลฯ ส่วนพรรค Liberal ก็ไปในทางอนุรักษ์นิยม ฯลฯ อย่างไรก็ดีในแต่ละพรรคทุกคนก็มิได้คิดเหมือนกันหมด ต่างมีทั้งคนที่เอียงไปทางเสรีนิยมและอนุรักษ์นิยม

          ระหว่างปี 1991-1996 พรรค Labor เป็นรัฐบาลโดยมี Paul Keating เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็พ่ายให้ John Howard แห่งพรรค Liberal ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ถึง 11 ปี (1996-2007)

          เหตุการณ์มาตื่นเต้นเมื่อเกิดมีดาวรุ่งหลายดวงเกิดขึ้นในทั้งสองพรรค ก่อนหน้าเลือกตั้งทั่วไปปี 2007 พรรค Labor กลัวว่าจะแพ้อีกหลังจากฝ่ายตรงข้ามครองอำนาจมาถึง 11 ปี จึงมีการลงคะแนนในพรรคเลือกหัวหน้าพรรคกันใหม่ ซึ่งปรากฏว่า Kim Beazley หัวหน้าเดิมถูกคนที่ท้าทายคือ Kevin Rudd เอาชนะไปและเขาก็นำพรรค Labor ชนะนาย John Howard โดยคนสนิทที่ยืนเคียงข้าง ช่วยเหลือกันมาคือนาง Julia Gillard

          ผู้คนฮือฮากับ Kevin Rudd มากเพราะพูดจีนได้ มีวิสัยทัศน์เรื่องต่างประเทศกว้างไกล แต่ไปไกลเร็วไปหน่อย คือ เสนอให้เก็บภาษีจากกำไรทำเหมืองร้อยละ 40 เสนอให้ต่อสู้ลดคาร์บอน สู้ climate change ฯลฯ ในช่วงเวลาแค่ 2 ปีกว่า คะแนนนิยมของ Rudd ตกวูบวาบจนคนในพรรค Labor กลัวว่าจะนำพรรคแพ้เลือกตั้งทั่วไปในปี 2010

          กลางปี 2010 เลือดก็อาบพรรค Labor เมื่อ Julia Gilliard รองนายกรัฐมนตรีคิดกบฏสมคบกับพวกในพรรค “แทง” Kevin Rudd โดยท้าทายให้มีการลงคะแนนเสียงในพรรคยืนยันว่าใครจะเป็นหัวหน้าพรรค (ธรรมเนียมการเมืองออสเตรเลียเรียกการแข่งโหวตนี้ว่า spills) ซึ่งคนชนะก็จะเป็นนายกรัฐมนตรีไปโดยปริยาย ปรากฏว่าเธอทำได้สำเร็จสามารถโค่น Rudd ลงได้จนเขาต้องลาออก และเธอกลายเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศ

          ผู้คนทั่วไปคาดว่าเธอน่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีได้แค่ 3 เดือนก่อนที่จะถึงเลือกตั้งในเดือนสิงหาคม 2010 เพราะผู้คนไม่ชอบการ “แทง” กันแบบนี้ และน่าจะหันไปเทคะแนนให้พรรค Liberal แทน

          ปรากฏว่า Julia Gilliard ทำได้สำเร็จ เธอนำพรรคชนะอย่างเฉียดฉิว โดยร่วมกับพรรคเล็กและ ส.ส. อิสระเป็นรัฐบาล เธอได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ และจำต้องแต่งตั้ง Rudd เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ส่วน Rudd ก็ลับมีดไม่หยุดหย่อน ในปี 2012 เขาก็ลาออกจากตำแหน่งและท้าทายเธออีกให้ลงคะแนนยืนยันการเป็นหัวหน้าพรรค แต่เธอก็ยังสามารถชนะโหวตรักษาแชมป์ไว้ได้

          แต่พอมาถึงก่อนกลางปี 2013 หลังจาก Julia Gilliard ได้เป็นนายกรัฐมนตรีได้เกือบ 3 ปี Rudd ก็ท้าทายอีก คราวนี้เขาชนะ เธอต้องลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี Rudd แก้แค้นได้สำเร็จและเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกเป็นครั้งที่สอง เหตุที่เขาชนะก็เพราะคะแนนนิยมของเธอในหมู่ประชาชนมีแต่จะตก และพรรค Labor ก็กลัวอีกว่าจะแพ้เลือกตั้งในปี 2013 จึงต้องเปลี่ยนตัว หัวหน้าพรรค

          Rudd ได้เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่สองอยู่ 3 เดือนก็มีเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกันยายนปี 2013 และพรรค Labor ก็พ่ายแพ้แก่พรรค Liberal หัวหน้าพรรค Liberal คือนาย Tony Abbott จึงได้เป็นนายกรัฐมนตรี

          ฝั่งพรรค Liberal เองก็แทงกันเลือดสาดเหมือนกัน Malcolm Turnbull ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ครั้งแรกในปี 2004 หลังจากประกอบธุรกิจเปิดบริษัทกฎหมาย เป็นผู้อำนวยการใหญ่ของ Goldman Sach ของออสเตรเลีย เป็นเจ้าของสถาบันการเงินประกอบธุรกรรมสมัยใหม่ จนเป็น มหาเศรษฐี และเป็นนักการเมืองออสเตรเลียที่รวยที่สุดคนหนึ่ง ภรรยาของเขาเป็นอดีตนายกเทศมนตรีเมือง Sydney

          หลังเล่นการเมืองได้ไม่กี่ปี Turnbull ก็ได้เป็นรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม และในปี 2008 ก็ได้เป็นหัวหน้าพรรค Liberal โดยเป็นผู้นำฝ่ายค้าน แต่ในปีต่อมาเขาก็สูญเสียตำแหน่งให้แก่นาย Tony Abbott จากการท้าทายขอให้นับโหวตยืนยันการเป็นหัวหน้าพรรค ในลักษณะเดียวกันกับที่พรรค Labor กระทำ Turnbull แพ้ Abbot เพียงหนึ่งคะแนน ในขั้นแรกเขาคิดจะลาออกจากการเป็น ส.ส. และ ล้างมือ แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนใจ

          ระหว่างที่ Tony Abbot เป็นหัวหน้าฝ่ายค้านก็ไม่ลงรอยกับ Malcolm Turnbull แต่ในตอนที่พรรค Liberal ชนะเลือกตั้งในปี 2013 และ Abbott ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เขาก็ได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงสื่อสารด้วยฝีมือและการยอมรับในพรรค

          Tony Abbot เป็นนายกรัฐมนตรีชนิดคะแนนนิยมลดตลอดเพราะบุคลิกของเขาที่ผู้คนไม่ไว้ใจ พูดจาเปลี่ยนไปมา และแล้วจังหวะของ Turnbull ก็มาถึงเมื่อ Abbot ได้เป็นนายกรัฐมนตรีครบ 2 ปีเต็ม เขาก็ขอให้มีการลงคะแนนยืนยันการเป็นหัวหน้าพรรค คราวนี้เขาแก้แค้น Abbott ได้สำเร็จ เขาชนะขาดด้วยคะแนน 54 ต่อ 44 Abbott จึงจำต้องลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี และ Turnbull ก็ได้เป็นหัวหน้าพรรค Liberal แทน และเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ 15 กันยายน 2015 ที่ผ่านมา

          เลือดเปรอะกันแบบนี้ทำให้ตั้งแต่ต้นปี 2010 ถึงปัจจุบัน ออสเตรเลียมีนายกรัฐมนตรี 5 คน คือ Rudd / Gilliard / Rudd / Abbott และ Turnbull เฉลี่ยปีละ 1 คน ราวกับเป็น “นายกรัฐมนตรีที่มาบนสายพานการผลิต”

          นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของออสเตรเลียเรียนจบปริญญาตรีประวัติศาสตร์และกฎหมายจาก University of Sydney และได้รับทุน Rhodes Scholar (ทุนที่มีเกียรติที่สุดอันหนึ่งของโลก) ไปเรียนที่ Oxford (เหมือนที่ Bill Clinton เคยได้รับ) และจบปริญญาตรีด้านกฎหมายอีกหนึ่งใบ

          Turnbull ปัจจุบันอายุ 61 ปี พ่อแม่เป็นคนออสเตรเลียแต่ดั้งเดิม พยายามจะเข้าวงการเมืองตั้งแต่ปี 1981 หลังจากเรียนจบมาใหม่ ๆ แต่ถูกกีดกันจนต้องไปประกอบธุรกิจตั้งบริษัทต่าง ๆ และเป็นมหาเศรษฐี จึงกลับมาลงเลือกตั้งในปี 2004

          เขาเป็นสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมก็จริงแต่เป็นคนที่มีความคิดเสรีนิยม เขาเห็นด้วยกับ Gay Marriage (ตรงข้ามกับ Abbott) สนับสนุนการเป็นสาธารณรัฐของออสเตรเลีย (ตรงข้ามกับ Abbott) สนับสนุนโครงการเศรษฐกิจเสรีและการค้าขายกับกลุ่มประเทศ ASEAN ฯลฯ

          ทันทีที่เป็นนายกรัฐมนตรีเขาแต่งตั้งผู้หญิงถึง 5 คน เป็นรัฐมนตรีซึ่งแตกต่างจาก ทุกคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมา รัฐมนตรีช่วยคนหนึ่งของเขาอายุเพียง 25 ปี เขาบอกว่าเป็น คณะรัฐมนตรีของศตวรรษที่ 21 รัฐมนตรีอาวุโสต่าง ๆ ของพรรคถูกปรับออกไปหลายคน

          นายกรัฐมนตรีคนนี้จะเป็นที่นิยมของประชาชนจนสามารถหยุดประเพณี “เลือดสาด” ได้หรือไม่ ต้องเฝ้าดูกันต่อไปเพราะร่างกายผลิตเลือดอยู่เสมอ