หมวกกันน็อคจักรยานจำเป็นหรือไม่

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
10 พฤศจิกายน 2558

          คิด ๆ ไปแล้วก็รู้สึกแปลกใจ ทำไมเมื่อสมัยก่อนผู้คนเขาก็ขี่จักรยานกันตามปกติไม่เห็นต้องใส่หมวกกันน็อคดังปัจจุบัน แต่ก็เห็นประชากรโลกเพิ่มไม่หยุดจนปัจจุบันถึง 7,000 ล้านคน และคาดว่ากลางศตวรรษนี้ก็อาจขึ้นไปถึง 9,000 ล้านคน

          หมวกกันน็อคของจักรยานเป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่? คำตอบนี้มีผลกระทบกว้างไกลในหลายแง่มุม สมควรแก่การขบคิด

          ในเชิงการแพทย์มนุษย์ตายได้ไม่ยากผ่านแรงกระทบส่วนของกระโหลกมนุษย์ที่เป็นจุดอ่อน โบราณบอกว่าเตะหรือตี “ทัดดอกไม้” จัง ๆ นั้นทำให้ตายได้ “ทัดดอกไม้” ก็คือบริเวณเหนือใบหูที่ใช้ทัดดอกไม้นั่นแหละ บริเวณนี้มีเส้นเลือดไปสมองอยู่ระหว่างแผ่นกระโหลกบาง ๆ 2 แผ่น ถ้าบริเวณนี้ถูกแรงกระแทก เช่น ตกจักรยาน หกล้ม ถูกเตะ ถูกไม้ตี ฯลฯ แผ่นบาง 2 แผ่นนี้ก็อาจบีบกระแทกเส้นโลหิตจนทำให้แตกได้ เลือดก็จะซึมสู่สมอง อาจรู้สึกปวดหัวอยู่ วันสองวันและก็ตายเลยได้ แต่ถ้ารู้ตัวทันก็สามารถผ่าตัดให้เลือดที่คั่งไม่ไปทำอันตราย

          การใส่หมวกกันน็อคของจักรยานก็เพื่อป้องกันการกระแทกในบริเวณนี้ หลายประเทศจึงออกกฎหมายบังคับ แต่ประเทศเนเธอร์แลนด์ซึ่ง Amsterdam เป็นเมืองหลวงของจักรยานโลก ไม่บังคับให้ใส่ และก็ไม่มีใครใส่ด้วย ยกเว้นนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นที่ขบขันของชาวเมืองนั้น

          ในยุคทศวรรษ 1950 และ 1960 คนขี่จักรยานใน Amsterdam ถูกรุกไล่ทั้ง ๆ ที่ขี่กันมานานหนักหนาเพื่อให้พื้นที่แก่รถยนต์ที่มีจำนวนมากขึ้นทุกที ตึกรามบ้านช่องถูกรื้อเพื่อสร้างเป็นถนนให้รถยนต์จนการใช้จักรยานลดลงร้อยละ 6 ต่อปี ใคร ๆ ก็คาดว่าจักรยานคงจะสูญพันธุ์แน่

          อย่างไรก็ดีสถิติอุบัติเหตุจากรถยนต์พุ่งสูงขึ้นถึง 3,300 คน ใน 1971 ในจำนวนประชากรประมาณ 12 ล้านคน และในจำนวนนี้กว่า 400 คน เป็นเด็ก ข้อเท็จจริงเช่นนี้นำไปสู่การประท้วงของกลุ่มต่าง ๆ ที่เห็นว่ามีจำนวนเด็กตายด้วยรถยนต์มากเกินไป ในช่วงทศวรรษ 1970 ประชาชนตื่นตัวออกมาประท้วงเรื่องการใช้รถยนต์ให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น และแล้วประชาชนก็หันมาให้ความสนใจแก่รถจักรยาน โดยเฉพาะเมื่อเกิดวิกฤตน้ำมันในปี 1973 ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น 4 เท่าตัว จักรยานจึงเป็นคำตอบสำหรับการเดินทางในแต่ละเมืองซึ่งไม่ใหญ่โตในประเทศที่มีพื้นที่เพียง 41,500 ตารางกิโลเมตร (น้อยกว่า 1 ใน 10 ของไทย) และประชากรประมาณ 17 ล้านคนในปัจจุบัน

          หลายเมืองเริ่มทดลองสร้างทางจักรยานเป็นเส้นทางคมนาคม และในที่สุดก็เกิดโมเม็นตั้มของความนิยมจักรยาน ซึ่งต่อมาเป็นกระแสแรงมากในทุกเมือง จนปัจจุบันเนเธอร์แลนด์มีเส้นทางจักรยานยาว 22,000 ไมล์ มากกว่าหนึ่งในสี่หรือร้อยละ 25 ของจำนวนเที่ยวการเดินทางของคนทั้งประเทศใช้จักรยาน (ในอังกฤษมีเพียงร้อยละ 2) สำหรับเมือง Amsterdam ตัวเลขนี้ขึ้นไปถึงร้อยละ 38

          ใน Amsterdam ปัจจุบันจะเห็นคนขี่จักรยานยั้วเยี้ยไปหมด จนพูดได้เต็มปากว่าคน ขี่จักรยานยนต์ครองเมืองนี้อย่างแท้จริง คนขี่จักรยานจำนวนหนึ่งไม่สนใจกฎจราจรนัก ตัดหน้ารถยนต์ไปมาอย่างไม่เกรงใจ ควบคู่ไปกับการขี่จักรยานตามเส้นทางจักรยานยนต์ที่จัดไว้ให้เป็นอย่างดี ลูกเด็กเล็กแดงขี่กันเต็มไปหมด เครือข่ายคมนาคมของจักรยานอยู่ทุกแห่งหน และไม่ใช่เพียง Amsterdam เท่านั้น หากครอบคลุมไปถึงทุกเมืองของประเทศนี้ด้วย

          สิ่งที่แปลกประหลาดก็คือเมือง Amsterdam ไม่บังคับให้ผู้ขี่จักรยานใส่หมวกกันน็อค ยกเว้นเด็ก ทุกคนพร้อมใจกันไม่ใส่เพราะคิดว่าไม่จำเป็นเนื่องจากตระหนักดีว่าการขี่จักรยานในประเทศนี้ปลอดภัยอย่างที่สุดแล้ว (จำนวนคนขี่จักรยานเสียชีวิตต่อการเดินทางหนึ่งไมล์ต่ำที่สุดในโลก)

          สำหรับข้อถกเถียงว่าควรใส่หมวกกันน็อคเมื่อขี่จักรยานหรือไม่ คนดัชท์กลุ่มหนึ่งมีความเห็นว่าไม่ควรโดยให้เหตุผลดังต่อไปนี้ (1) การไม่ใส่หมวกคือเสรีภาพอย่างแท้จริง ไม่แบกหมวกพะรุงพะรังอย่างไม่มีประโยชน์เพราะถนนของเราปลอดภัยอยู่แล้ว (2) หมวกเป็นประโยชน์เฉพาะเวลาจักรยานล้มเองเท่านั้น หากชนกับรถยนต์แล้วก็ไม่ต้องพูดถึง

          (3) การใส่หมวกมีผลด้านลบ กล่าวคือทำให้ผู้ขี่ประมาทและกระทำสิ่งที่สุ่มเสี่ยงมากขึ้นเพราะคิดว่ามีสิ่งสร้างความปลอดภัยกว่าปกติ (4) งานวิจัยของอังกฤษพบว่าผู้ขับขี่รถยนต์จะให้พื้นที่ยามแซงแก่ผู้ขี่จักรยานที่มีหมวกกันน็อคน้อยกว่าผู้ขี่จักรยานที่ไม่ใส่หมวก ดังนั้นการใส่หมวกจึงเป็นเชื้อเชิญอันตรายให้มาเยือน

          (5) การบังคับให้ใส่หมวกอาจทำให้จำนวนผู้ขี่จักรยานมีน้อยลง (ตัวเลขจากออสเตรเลียยืนยันปรากฏการณ์นี้) เพราะมีผู้คิดว่าการขี่จักรยานเป็นสิ่งอันตรายอีกทั้งทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งไม่เป็นสิ่งที่ดีเพราะงานวิจัยการขี่จักรยานในสหรัฐอเมริกาพบว่ายิ่งถนนมีผู้ขับขี่มากเท่าใด ก็ยิ่งมีสถิติอุบัติเหตุจากจักรยานลดลงมากเพียงนั้น

          อย่างไรก็ดีสำหรับผู้ขี่จักรยานในเมือง Seattle รัฐวอชิงตันในสหรัฐอเมริกาที่ถูกบังคับให้ทุกคนในทุกวัยใส่หมวกกันน็อคมา 12 ปีแล้ว ส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง

          Seattle เป็นหนึ่งในไม่กี่เมืองใหญ่ในโลกที่บังคับให้ผู้ขี่จักรยานต้องใส่หมวกกันน็อค (ในสหรัฐอเมริกากฎหมายบังคับให้ใส่หมวกกันน็อคแตกต่างกันแล้วแต่รัฐ) ถึงแม้จะมีงานวิจัยพิสูจน์ว่าการใส่หมวกทำให้ปลอดภัยขึ้นก็ตาม ผู้ไม่เห็นด้วยสงสัยว่าถ้าจะให้ปลอดภัยกว่านี้ก็ต้องใส่สนับศอก เข่า และเสื้อแบบขับขี่มอเตอร์ไซต์ด้วยหรือไม่

          ในประเด็นเรื่องความปลอดภัยนั้นต้องยอมรับว่าความปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์นั้นไม่มี ถ้าต้องการความปลอดภัยที่สุดก็คือนอนอยู่กับบ้าน (แต่ก็ไม่แน่เพราะมีกรณีที่ผู้โดดร่มไม่กาง หล่นทะลุหลังคาบ้านมาทับตายก็มี) หมวกกันน็อคนั้นให้ความปลอดภัยได้ในระดับหนึ่งเท่านั้นเอง

          ความปลอดภัยของผู้ขับขี่นั้นโดยแท้จริงแล้วอยู่ที่สภาพของถนนที่ใช้ว่ามีช่องทางจักรยานเป็นพิเศษหรือไม่ ความระมัดระวังของผู้ขับขี่ยานยนต์มีมากเพียงใด มีวัฒนธรรมในการเคารพสิทธิ์ของผู้อื่นมากเพียงใด การเคารพกฎจราจรของสังคมนั้นเป็นอย่างไร หมวกกันน็อคเพียงใบเดียวช่วยความปลอดภัยได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น

          กฎหมายไทยปัจจุบันไม่เอาผิดกับผู้เมาสุราแล้วขับขี่จักรยาน ดังนั้นถ้าคิดว่าจะเมาก็จงจูงจักรยานไปร้านเหล้าเพื่อเอาไว้ขี่กลับบ้าน แต่ต้องให้แน่ใจเวลาออกมาจากร้านว่าจักรยานยังคงอยู่ และยังขี่จักรยานเป็นอยู่