วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
22 มีนาคม 2559
ลองพิจารณาตัวอย่างของสิ่งอัศจรรย์ต่อไปนี้ (1) ผ่าตัดมนุษย์โดยใช้หุ่นยนต์ซึ่งมีแพทย์อยู่ไกลออกไปนับพันกิโลเมตรเป็นผู้ควบคุม (2) กลืนยาซึ่งจะถูกย่อยสลายอย่างมีประสิทธิภาพเพราะมีแผนวงจรไฟฟ้าควบคุมอยู่ในเม็ดยา (3) รถยนต์ไม่ต้องใช้คนขับ (4) stem cell ชะลอวัยและช่วยเสริมสร้างอวัยวะ (5) กลืนหุ่นยนต์เล็กขนาดมองไม่เห็นเพื่อรักษาโรคหรือซ่อมแซมยีนส์ ฯลฯ ทั้งหมดนี้กำลังเกิดขึ้นในยุคปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่
โลกเรามีปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกเมื่อ 232 ปีก่อนคือใน ค.ศ. 1784 ซึ่งใช้ไอน้ำเป็นพลังในการผลิตสินค้าในโรงงานอุตสาหกรรม ต่อมาใน ค.ศ. 1870 มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สอง ซึ่งใช้ไฟฟ้าเป็นพลังของการผลิตขนาดใหญ่ และเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สามใน ค.ศ. 1969 ซึ่งใช้อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการผลิตสินค้าและบริการนานาชนิดเพื่อรับใช้มนุษย์โดยมีต้นทุนต่ำลงและให้ความสะดวกสบายแก่มนุษย์
เมื่อ 8 ปีที่แล้วภายใต้การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สาม โลกรู้จักไอโฟนซึ่งถือได้ว่าเป็นสมาร์ทโฟนที่เปลี่ยนแปลงโลกอย่างแท้จริง ในปัจจุบันบนรถไฟฟ้า เราจะเห็นคนยืนและนั่งกดสมาร์ทโฟนกันแทบทุกคน หลายครอบครัวเมื่อรับประทานอาหารเย็นกันในครอบครัว ต่างคนก็ต่างนั่งก้มหน้ากดสมาร์ทโฟนกันคนละเครื่อง พูดกันน้อยมาก เสร็จแล้วทุกคนก็แยกย้ายกันไปสู่ความบันเทิงส่วนตัวจากสมาร์ทโฟนของแต่ละคน การดูโทรทัศน์ร่วมกันและคุยกันอย่างเดิมหายไปในหลายครอบครัว
เมื่อตื่นนอนเช้าก่อนแปรงฟันล้างหน้า สิ่งแรกที่ทำคือหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาดูว่าใครกดไลค์ให้เราบ้าง ใครส่งไลน์มากู๊ดมอร์นิ่ง หรือเราจะส่งไปให้ใครดี ได้ยินแต่เสียงปุ๊ง ๆ เมื่อข้อความจากไลน์เข้ามาทั้งวัน เราสนุกและมีความสุขแบบใหม่อย่างแตกต่างกว่าเมื่อ 7-8 ปีก่อน หรือแม้แต่ 1-2 ปีก่อนสำหรับบางท่านอย่างสิ้นเชิง
เราสามารถทักทาย ติดต่อ สื่อสารกับเพื่อนและญาติซึ่งอยู่ที่ไหนในโลก หรือกับเพื่อนที่ไม่เคยติดต่อกันมาเป็นสิบ ๆ ปีก็ได้ ทุกอย่างรวดเร็ว มีทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ส่งกันกลับไปมาอย่างทันใจ อยากฟังเพลงอะไร อยากรู้เรื่องใด อยากรู้ว่าคนที่เพิ่งพบเป็นใคร ทุกอย่างเป็นไปได้อย่างรวดเร็วที่ปลายนิ้ว
ท่ามกลางความก้าวหน้าด้าน IT ซึ่งเป็นการผสมผสานกันของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม ยังมีความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำคัญอีก หลายด้าน เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) พันธุวิศวกรรม หุ่นยนต์ นานาเทคโนโลยี การพิมพ์สามมิติ ไบโอเทคโนโลยี ฯลฯ เช่นกัน
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่หมายถึงการต่อยอดหรือการผสมผสานกันของเทคโนโลยีดังกล่าวข้างต้นจนเทคโนโลยีเหล่านี้เบลอ ข้ามกันไปมาจนแทบบอกไม่ได้ว่าเป็นเทคโนโลยีด้านใด ตัวอย่างเช่น โซลาเซลล์ที่เปลี่ยนแปลงแสงแดดเป็นพลังไฟฟ้า ปัจจุบันมีงานวิจัยที่ต้องการใช้อินทรีย์วัตถุ (หาได้ง่าย และไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมมากเท่าวัสดุที่สร้างขึ้นมา) มาฉาบผิวกระจกโซลาเซลล์หรือพัฒนาขึ้นเป็นโซลาเซลล์ ยาซึ่งเคลือบแผงวงจรไฟฟ้าเพื่อให้ยาถูกย่อยสลายตรงตามเวลาที่เหมาะสม หรือหุ่นยนต์ขนาดเล็กมากที่มีแผนวงจรไฟฟ้าเมื่อกลืนเข้าไปก็สามารถรักษายีนส์ที่บกพร่องได้
เมื่อการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สามยังเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตวิถีชีวิต วัฒนธรรม การดำรงชีวิต รูปแบบการทำงาน (ใช้ CCTV ทำงานแทน รปภ.) ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ฯลฯ มากถึงเพียงนี้แล้ว การปฏิวัติครั้งที่สี่จะมีผลกระทบต่อชีวิตของเรามากเพียงใด
เมื่อเทคโนโลยีฃึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ก็เป็นธรรมดาที่สรรพสิ่งต้องถูกเปลี่ยนแปลงไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายอย่างที่เคยมีก็จะหายไป (ร้านถ่าย อัด ขยายรูปแบบเดิม การขายฟิล์ม โรงเรียนสอนพิมพ์ดีด สถานประกอบธุรกิจจัดหาหาบ้านเช่า พนักงานขับรถ เจ้าหน้าที่บริหาร แรงงานไร้ฝีมือแบบดั้งเดิม) ลักษณะงานต่าง ๆ ก็จะแปรเปลี่ยนไป เช่น บางส่วนของการตลาดแบบเดิมก็กลายเป็น Digital Marketing (ทำการตลาดโดยใช้โซเชียลมีเดีย เช่น facebook ไลน์) หากยึดติดกับความรู้แต่เรื่องการตลาดแบบดั้งเดิมอย่างเดียว หรือ IT อย่างเดียวโดยไม่เพิ่มเติมความรู้และทักษะด้านอื่นประกอบก็จะหางานทำไม่ได้
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากที่สุดนับตั้งแต่มนุษย์มีหน้าตาแบบปัจจุบันเมื่อประมาณ 150,000 ปีก่อน หรือตลอด7,500 ชั่วคนที่ผ่านมา เด็กที่เกิดในวันนี้ในประเทศพัฒนาแล้วมีโอกาสที่จะมีชีวิตอยู่ถึง 120 ปี เนื่องจากความสามารถในการแก้ไขยีนส์ซึ่งบกพร่องอันเป็นสาเหตุแห่งความเจ็บป่วยและการเสียชีวิตของมนุษย์จำนวนมาก
ความสามารถของเทคโนโลยีในอนาคตในการแก้ไขยีนส์ที่บกพร่องจะทำให้มนุษย์มีร่างกายที่แข็งแรงขึ้น ไม่เจ็บป่วยอันเนื่องมาจากพันธุกรรม แต่สิ่งนี้มิได้เกิดกับมนุษย์ทั้งมวล หากเฉพาะกลุ่มที่มีเงินทองพอที่จะจ้างแพทย์ให้แก้ไขยีนส์ให้มีความสมบูรณ์ขึ้นได้ ประเด็นนี้เป็นเรื่องน่าห่วงเพราะปัจจุบันความเหลื่อมล้ำของฐานะทางเศรษฐกิจเป็นปัญหาใหญ่ของโลกอยู่แล้ว หากคนที่มีเงินสามารถทำให้ยีนส์ของตนเองมีคุณภาพดียิ่งขึ้นเช่น ฉลาดและแข็งแรงมากขึ้น ก็จะส่งผลให้มีฐานะทางเศรษฐกิจแข็งแกร่งยิ่งขึ้นไปอีก ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจก็จะยิ่งมากขึ้น
ข้อเสนอแนะที่หลายประเทศเห็นพ้องต้องกันในการรับมือกับการปฏิวัติครั้งใหม่นี้ก็คือการดำเนินการปฏิรูปใน 3 ประเด็นสำคัญดังนี้ (1) ในระยะสั้นควรเร่งผลักดันมาตรการปรับทักษะการทำงาน (retraining) ของกำลังแรงานที่มีอยู่โดยเร็วเพื่อให้เกิดทักษะใหม่ ๆ อันเป็นที่ต้องการของนายจ้าง
(2) ในระยะกลาง ภาครัฐควรปฏิรูประบบการศึกษาครั้งใหญ่โดยผนึกกำลังจาก ทุกภาคส่วนในแนวรุกเพื่อให้ระบบการศึกษาสามารถผลิตทักษะของกำลังคนที่ตรงกับความต้องการใหม่ของตลาดแรงงาน อีกทั้งยังสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้อย่างเหมาะสม
(3) ในระยะยาว ภาครัฐควรสนับสนุนการลงทุนเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) เพื่อให้สามารถตัดสินใจเชิงนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือเพื่อให้ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์ สำหรับการพัฒนากำลังคนและการส่งเสริมการลงทุนภาคธุรกิจ ตลอดจนเพื่อให้สามารถปรับยุทธศาสตร์ของประเทศไทยได้อย่างทันเวลา
สิ่งสำคัญที่เป็นพื้นฐานของข้อเสนอทั้ง 3 ระยะก็คือการมีกำลังคนที่มีคุณภาพ ประกอบกับการตัดสินใจในเชิงนโยบายที่ถูกต้องของภาครัฐ ประเทศใดที่มีสองสิ่งสำคัญนี้ก็จะสามารถตอบรับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ของโลกได้อย่างดี
ไม่มีใครสามารถหยุดพลังความก้าวหน้าของเทคโนโลยีภายใต้การปฏิวัติครั้งที่สี่ได้ สิ่งที่แต่ละสังคมพอทำได้ก็คือการปรับตัว โดยมีสมาชิกสังคมที่มีคุณภาพเป็นฐาน