“แกล้งตาย” อย่างไรก็หนีไม่พ้น

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
30 สิงหาคม 2559

          “คนตาย” แล้วยังไปไหนมาไหนได้ มีความสุขเหมือนคนมีชีวิต มีจำนวนอยู่ไม่มากนักในโลกนี้ ลักษณะเช่นนี้คือการหลอกลวงว่าตาย ซึ่งในภาษาอังกฤษเรียกว่า faked death หรือ pseudocide มีเรื่องอื้อฉาวของการหลอกว่าตายในต่างประเทศหลายกรณีที่น่านำมาเล่าต่อ

          คนแรกคือ Lord Timothy Dexter ผู้มีชีวิตอยู่ในแถบเมืองบอสตันในศตวรรษที่ 18 ชีวิตของเขาเริ่มมาจากการเป็นช่างเครื่องหนัง ตอนเกิดยากจน มีการศึกษาจำกัด แต่มีความสามารถในการค้าขายจนร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี ชีวิตเขาไม่ค่อยอยู่ในร่องในรอยจนเป็นคนอื้อฉาวในประวัติศาสตร์อเมริกา

          Dexter เกิดใน ค.ศ. 1748 พ่อเป็นเกษตรกรในช่วงเวลาประวัติศาสตร์ของการเป็นเมืองขึ้นอังกฤษก่อนประกาศอิสรภาพ หลังจากเรียนรู้การเป็นผู้ช่วยช่างเครื่องหนังจนอายุ 21 ปี ก็ออกมาแสวงหาความร่ำรวยโดยเริ่มต้นจากการมีตำแหน่งที่ทางการแต่งตั้ง

          เขาวิ่งเต้นอยู่หลายปีหลายตำแหน่งจนคนแต่งตั้งรำคาญเลยให้ตำแหน่ง “Informer of Deer” หน้าที่ก็คือติดตามตรวจสอบและนับจำนวนกวางของเมือง เขาทำหน้าที่อย่างภาคภูมิใจพร้อมกับค้าเงินและเก็งกำไรในช่วงหลังการประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาในปี 1776 และประสบความสำเร็จอย่างมาก ร่ำรวยจนซื้อกองเรือไว้ค้าขายและสร้างปราสาทริมทะเลที่ไม่เหมือนใคร

          ปราสาทของเขาใหญ่โต มีเสากว่า 40 ต้น บนยอดแต่ละต้นมีรูปปั้นของเขาพร้อมกับ คำสลักว่า “บุคคลแรกของตะวันออก บุคคลแรกของตะวันตก และนักปรัชญาที่ยิ่งใหญ่สุดในโลกตะวันตก” ทั้งหมดนี้เป็นที่ขบขันแก่ชาวบ้านเพราะเขาอ่านและเขียนหนังสือยังไม่แตกเลย

          เมื่อความรวยอย่างไร้รสนิยมเป็นเรื่องที่ผู้คนนินทา เขาก็พยายามเข้าสมาคมกับกลุ่มคนชั้นสูง เพราะการรวยอย่างไม่ได้รับการยอมรับทำให้เขาขาดความสุข เขาสถาปนาตนเองเป็นท่าน Lord และบังคับให้ลูกน้องและคนรับใช้เรียกเขาเช่นนี้ แค่นั้นไม่พอเขาอยากรู้ว่าคนเหล่านี้และสังคมคิดอย่างไรกับเขา ดังนั้นจึงสร้างหลุมฝังศพใหญ่โต ว่าจ้างช่างไม้ฝีมือดีให้ต่อโลงศพที่งดงามและแจ้งข่าวว่าเขาตาย

          ภรรยาและลูกซึ่งรู้เรื่อง faked death นี้ดีแต่ก็ไม่อาจห้ามปรามได้ จึงจำต้องเล่นด้วย งานศพของเขาที่จัดอย่างหรูหราใหญ่โตมีคนมาร่วมงานถึง 3,000 คน (อาจมาดูให้แน่ใจว่าคนประหลาดนี้ตายจริงก็เป็นได้ หรือเพราะมีอาหารและไวน์ชั้นดีเลี้ยงอย่างไม่อั้น) Dexter แอบดูอยู่ข้างบนอย่างสนุกและภูมิใจ ลูกชายและลูกสาวเล่นบทบาทได้ดี ร้องห่มร้องไห้อย่างสมแก่สถานการณ์ แต่ที่มีปัญหาคือภรรยาของเขา เธอยิ้มแย้มกับแขก (อาจนึกขำในความบ้าของสามี) เขาจึงแอบลงมาเอาไม้เฆี่ยนภรรยาในครัวจนเกิดการถกเถียงกันขึ้น ผู้คนวิ่งเข้ามาดู เรื่องจึงแดงขึ้น แต่ Lord Dexter ก็ยิ้มเสมือนมาเล่นกันสนุก ๆ

          Dexter เขียนหนังสือแจกเลียนแบบผู้ดีสมัยนั้น ถึงแม้จะเขียนไวยากรณ์ผิด ๆ ถูก ๆ แต่เขาก็ภูมิใจมาก (ปัจจุบันหนังสือเล่มนี้มีมูลค่านับล้านบาท) ในปี 1806 เขาก็ตายจริง ๆ โดยไม่ต้องหลอกใคร

          เรื่องที่สองที่อื้อฉาวเพราะมีคนได้เสียคือกรณีของ John Stonehouse นักการเมืองอังกฤษ (ค.ศ. 1925-1988) ผู้เรียนจบ London School of Economics อันมีชื่อเสียงและเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยาวนาน เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยในรัฐบาลพรรค Labor สมัยนายกรัฐมนตรี Harold Wilson ด้วย

          ในปลายปี 1974 เขาทิ้งเสื้อผ้าไว้ริมหาด Miami ทำทีว่าว่ายน้ำและจมน้ำหายไปหรือถูกฉลามกิน แต่แท้จริงแล้วเขาไม่ตาย แต่กลับสดชื่นรื่นเริงแอบบินหนีไปออสเตรเลียกับกิ๊กสาวที่เป็นเลขานุการภายใต้ชื่อปลอมโดยตั้งใจจะไปตั้งต้นชีวิตใหม่ที่นั่น

          แผนการล้มเหลวในเวลาหนึ่งเดือนเท่านั้นเมื่อเขาโอนเงินจากบัญชีของเขาไปออสเตรเลียในนามของคนอื่น และตัวเองจะไปรับ เจ้าหน้าที่ธนาคารเห็นผิดสังเกตจึงรายงานตำรวจ ทั้งสองชื่นมื่นโดยไม่รู้ว่าตำรวจจับตามองอยู่โดยเข้าใจว่าเขาเป็น Lord Lucan ซึ่งฆ่าคนเลี้ยงลูกและหนีมาอยู่ออสเตรเลียในเวลาไล่เลี่ยกัน

          เมื่อตำรวจจับเขา เขาต้องถอดกางเกง เพื่อตรวจแผลเป็นยาวที่ใต้ต้นขาว่าเป็น Lord Lucan หรือไม่ ถึงแม้จะรอดจากการถูกกล่าวหาว่าเป็นฆาตกร แต่ก็ถูกนำขึ้นศาล ส่งตัวกลับอังกฤษ ต้องต่อสู้หลายคดีเพราะมีคดียักยอกทรัพย์รวมอยู่ด้วย ในที่สุดก็ต้องลาออกจากการเป็น ส.ส. ถูกตัดสินจำคุก 7 ปี ในปี 1976

          โรคหัวใจรุมเร้าหนักในคุกแต่ก็รอดชีวิตจากคุกใน ค.ศ. 1980 และอีก 5 ปีต่อมาก็เสียชีวิตอย่างสิ้นเนื้อประดาตัว สูญทั้งชื่อเสียงและเกียรติยศ ทั้งหมดก็เพราะกิ๊กสาวซึ่งต่อมาได้แต่งงานกันก่อนเสียชีวิตและมีลูกชายด้วยกันหนึ่งคน ถึงแม้ว่าเขามี IQ ถึง 140 แต่ก็ไม่ช่วยให้เขามีชีวิตที่ดีตลอดรอดฝั่งได้

          กรณีสุดท้ายเป็น pseudocide ที่อื้อฉาวล่าสุด เรื่องก็มีอยู่ว่าในปี 2002 John Darwin อดีตครูชาวอังกฤษและเป็นนักพายเรือแคนูสมัครเล่นหายตัวไปขณะพายเรือ จนเชื่อว่าตายในทะเล ภรรยาซึ่งรู้กันก็รับเงินประกันชีวิต และย้ายไปอยู่ด้วยกันในปานามา เอาเงินไปลงทุนทำโรงแรมและบริการเล่นเรือแคนู

          ต่อมาอีก 5 ปี ทั้งสองระหองระแหงและแยกทางกัน John รู้ชะตากรรมตนเองดีจึงเดินขึ้นสถานีตำรวจและสารภาพว่าจำอะไรไม่ได้เลยใน 5 ปีที่ผ่านมา เรื่องของเขาเป็นข่าวในสื่ออังกฤษและดังยิ่งขึ้นเมื่อบังเอิญมีผู้อยากรู้อยากเห็นค้นคำว่า “John, Ann, Panama” ใน Google และก็ได้เรื่องเพราะพบเว็บไซต์มีรูปของ John ยิ้มหราเป็นเอเย่นต์ขายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เมื่อเพียงหนึ่งปีครึ่งก่อนที่จะสารภาพว่าจำอะไรไม่ได้เลย

          ที่จริงตำรวจได้กลิ่นอยู่แล้วจากที่มีคนรายงานหลังจากได้ยินคำพูดทางโทรศัพท์ของ Anne ทั้งสองถูกตัดสินจำคุก 6 ปี ด้วยหลายข้อหา

          ในโลกปัจจุบันที่มีหูและตาเป็นสับปะรด ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ กล้องถ่ายรูปติดโทรศัพท์ การสืบค้นในโลกไซเบอร์ การเดินทางท่องเที่ยวถึงกันอย่างกว้างขวาง ระบบการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพเพราะเทคโนโลยี ฯลฯ การแกล้งตายเป็นเรื่องที่ทำได้ยากขึ้นทุกที แต่ก็ยังมีคนพยายามอยู่ทุกวัน เพราะ “โลภะ โทสะ โมหะ” เป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดความวุ่นวายทั้งหลายในโลก