วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
20 กันยายน 2559
คอรัปชั่นเป็นสิ่งเลวร้าย ทำลายสังคมเราเพราะทำให้ทรัพยากรหายไปอย่างไร้ประโยชน์ต่อส่วนรวม อย่างไรก็ดีคอรัปชั่นมีแง่มุมให้คิดมากกว่านี้ เมื่อคอรัปชั่นมองได้หลายแง่มุม หนทางแก้ไขจึงมีหลากหลายด้วย
คอรัปชั่นมีคำจำกัดความง่าย ๆ ว่า คือ “การใช้อำนาจจัดการเพื่อประโยชน์แห่งสาธารณะมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน” ตัวอย่างเช่น (1) ข้าราชการมีอำนาจและหน้าที่ทางกฎหมายที่จะทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้น แต่ก็ใช้อำนาจที่มีเบียดบังเงินมาเป็นของตัวเอง (2) เรียกร้องเงินจากผู้รับจ้างทำงานให้ภาครัฐเป็นเงื่อนไขในการได้งาน ซึ่งเงินส่วนนี้ทำให้โครงการมีเงินนำไปใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ของประชาชนน้อยลง แม้แต่ “เงินตามน้ำ” ก็ถือว่าเป็นคอรัปชั่นเช่นกันเพราะทำให้เงินภาษีอากรที่เก็บจากราษฎรที่นำมาใช้จ่ายนั้นได้รับประโยชน์น้อยลงกว่าที่ควรจะเป็น
(3) เรียกร้องเงินเพื่อให้ใบอนุญาต ซึ่งแทนที่จะพิจารณาให้ใบอนุญาตเพื่อให้เกิดผลดีแก่ประชาชน กลับมองไปที่ว่าใครจะให้เงินเข้ากระเป๋ามากกว่ากันก็จะได้ใบอนุญาต (4) รับเงินสินบนในการช่วยเหลือคนผิดที่สมควรถูกลงโทษเพราะสร้างความเสียหายแก่ประชาชน แต่กลับช่วยให้หลุดเพื่อแลกกับสินบน การกระทำเช่นนี้ทำให้กฎเกณฑ์ของสังคมเสียหาย เงินที่ควรได้รับคืนมาก็ไม่ได้ ผู้ทำผิดควรรับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้ทำไปเพื่อเป็นเยี่ยงอย่างไม่ให้คนทำเช่นนี้อีกแต่ก็ไม่เกิดขึ้นเพราะเจ้าหน้าที่เอาอำนาจที่ตนเองมีมาใช้ประโยชน์เพื่อส่วนตัว
คอรัปชั่นทำให้เงินภาษีจากที่เก็บจากประชาชนและนำมาเป็นรายจ่ายของภาครัฐสูญหายเพราะเข้ากระเป๋าคนบางคนที่มีอำนาจไป นี่คือผลเสียพื้นฐานที่เห็นกันชัดเจน
อีกข้อเสียฉกรรจ์ของคอรัปชั่นก็คือการทำลายความมีศีลมีธรรมและมีคุณธรรมของสังคม นั้น ๆ คอรัปชั่นที่ดาษดื่นโดยไม่มีใครถูกลงโทษจะส่งเสริมให้ผู้คนเลียนแบบเพราะเห็นว่าเป็นเส้นทางที่ง่ายและสั้นสู่ความร่ำรวย เมื่อกระทำกันมากเข้าผู้คนทั่วไปจะเห็นว่าคอรัปชั่นเป็นเรื่องธรรมดา เพราะใคร ๆ เขาก็โกงกันทั้งนั้น ความรู้สึกเช่นนี้จะยิ่งช่วยเร่งเร้าให้สังคมสู่ความเสื่อมในเรื่องศีลธรรมในด้านต่าง ๆ มากขึ้น
ลองคิดดูว่าในบ้านที่พ่อแม่และญาติคุยกันแต่เรื่องว่าจะต้มตุ๋น คดโกง จี้ปล้นใครและอย่างไรดี เยาวชนที่เติบโตขึ้นจะมีความเจริญในจิตใจได้อย่างไร สังคมก็เหมือนกันหากมีแต่เรื่องของความเลวทรามอยู่ทั่วไปหมด แล้ว สมาชิกของสังคมนั้นจะมีคุณภาพได้อย่างไร
สังคมที่ขาดศีลธรรมผู้คนจะเสียเงินทองและเวลาไปมากมายกับการประเมินว่าใครเป็นคนดีที่สมควรร่วมกระทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้วย เช่น ค้าขาย ลงทุนร่วมกัน ฯลฯ การไว้เนื้อเชื่อใจจะมีน้อยเพราะเต็มไปด้วยความระแวง ซึ่งเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลเพราะไม่ว่าหันไปทางไหนก็จะมีแต่คนที่จ้องจะคดโกงคนอื่น หากจะค้าขายก็ต้องใช้เงินสดไม่มีการค้างจ่ายเชื่อใจกันซึ่งจะทำให้ต้นทุนของการค้าขายสูงกว่าที่ควรจะเป็น
เรือต้องมีหางเสือฉันใด มนุษย์ก็จำต้องมีเข็มทิศศีลธรรมฉันนั้น ในสังคมอุดมคอรัปชั่น รังสีของมันจะทำให้เข็มทิศศีลธรรมชี้ไปในทางที่ผิดจากที่ควรจะเป็น ผู้คนจะเห็นผิด เป็นถูก และถูกเป็นผิด จนสร้างความวุ่นวายให้เกิดแก่การดำเนินชีวิตได้อย่างมากมาย
เมื่อคอรัปชั่นเลวร้ายเช่นนี้ เราจะแก้ไขมันอย่างไร คำตอบแรกที่ทุกคนน่าจะเห็นพ้องกันก็คือแก้ไขที่จุดเริ่มต้น กล่าวคือป้องกันดีกว่าแก้ไข ซึ่งการป้องกันก็คือการให้การศึกษาแก่เยาวชนโดยเริ่มตั้งแต่เล็ก ๆ สิ่งที่ต้องพร่ำสอนก็คือเรื่องคุณธรรม ความซื่อสัตย์ การยึดมั่นในหลักการแห่ง ความดี ฯลฯ โดยพ่อแม่ที่บ้านและโดยครูที่โรงเรียน โดยสื่อและสิ่งแวดล้อมของสังคม
การพร่ำสอนเรื่องดังกล่าวก็อุปมาเหมือนกับการเหยาะเกลือลงไปในอาหารวันละนิด เด็กไม่กินเกลือทั้งขวดฉันใด เด็กก็ไม่ชอบการจับมานั่งฟังเทศน์เรื่องคุณธรรมฉันนั้น การสอนเป็นศิลปะซึ่งต้องอาศัยเล่าเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับคนรู้จัก นิทาน นิยาย ละครทีวี และสิ่งที่พบเห็นในชีวิตประจำวันเป็นเครื่องมือ
คำตอบที่สองต้องอาศัยการอ้างถึง 3 กฎในชีวิตของมนุษย์คือ กฎหมาย กฎธรรมชาติ และกฎสังคม ในเรื่องกฎหมายนั้นหากมีกฎหมายปราบคอรัปชั่นที่มีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับการบังคับใช้กฎหมายแล้วผู้คนก็จะเห็นคนคอรัปชั่นติดคุกติดตารางทันใจ (“กรรมสนองโกง”) ภาพที่เห็นจะบันทึกลงไปในสมอง และทำให้เกิดความหวาดกลัวไม่กล้าทำผิด
ในเรื่องกฎธรรมชาติ คนทำผิดจะกังวล ระแวงว่าความผิดจะมาถึงตัวเข้าวันหนึ่ง ถ้าสังคมเราพยายามสร้างสิ่งแวดล้อมให้เห็นเป็นที่ปรากฏว่าคนทำผิดต้องทนทุกข์ทรมานจากความผิดเสมอ คนในสังคมก็จะตระหนัก และเห็นความเจ็บปวดจากการทำความผิด
สำหรับกฎสังคมนั้น สมาชิกสังคมต้องไม่ยอมรับนับถือคนที่รวยมาจากการโกง การไม่คบหาสมาคม การไม่ชื่นชมคอรัปชั่น เป็นค่านิยมที่ต้องพยายามสร้างขึ้นในสังคม กฎสังคมข้อนี้เป็นยาป้องกันคอรัปชั่นที่ชะงัด เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องการพบปะคบหาสมาคมกับเพื่อนมนุษย์ คนอื่น ๆ ตามสัญชาตญาณเพื่อให้ได้รับการยอมรับ
ถ้าสังคมปฏิเสธคนรวยจากการคดโกงก็เท่ากับว่าเขาถูกปฏิเสธความมีตัวตนของเขา ซึ่งสำหรับมวลมนุษย์แล้วไม่มีสิ่งใดที่สร้างความเจ็บปวดในใจได้เท่ากับการไม่ได้รับการยอมรับจากคนอื่น ๆ
คำตอบที่สามก็คือประชาชนทุกคนต้องไม่เพิกเฉยต่อคอรัปชั่นที่เกิดขึ้น ต้องร่วมมือกันแก้ไขโดยเริ่มที่แต่ละคนจะต้องไม่กระทำสิ่งที่ผิดเสียเอง แม้อาจเห็นว่าเป็นสิ่งเล็กน้อย เช่น เอาดินสอ ปากกา จากที่ทำงานไปใช้ที่บ้าน ติดสินบนตำรวจจราจร ลอกข้อสอบเพื่อน ฯลฯ นอกจากนี้ต้องตื่นรู้ ไม่เห็นว่าคอรัปชั่นไม่ว่าหนักหรือเบาเป็นเรื่องปกติ
คอรัปชั่นเป็นปัญหายากแต่ก็แก้ไขได้ ถ้าเราไม่แก้ไขด้วยคนในชาติของเรากันเองแล้ว ใครจะมาแก้ไขให้ และถ้าเราไม่เริ่มแต่บัดนี้ เมื่อใดเราจะได้เริ่ม