Music of the Heart

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
7 พฤษภาคม 2556   

          ถ้ามีความเชื่อมั่นว่าเด็กทุกคนสามารถพัฒนาได้ เด็กก็จะบรรลุศักยภาพของเขาได้ การมีความรู้สึกดี ๆ เกี่ยวกับตัวเขาเป็นองค์ประกอบสำคัญหนึ่งของกระบวนการสร้างความมั่นใจของเด็กอันจะไปสู่การใช้ศักยภาพได้อย่างเต็มที่

          ผมได้ดูภาพยนตร์เก่าเรื่องหนึ่ง ชื่อ Music of the Heart (1999) ซึ่งแสดงนำโดยดารายอดนิยม Meryl Streep และรู้สึกประทับใจจนต้องขอนำมาเล่าต่อ

          ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากเรื่องจริงของผู้หญิงคนหนึ่ง ชื่อ Roberta Guaspari ซึ่งเป็น single mom ต้องเลี้ยงลูกชาย 2 คน เพราะสามีทิ้งไปหาหญิงใหม่ เธอเรียนจบดนตรีมาแต่ไม่เคยทำงานเป็นหลักแหล่งเนื่องจากต้องย้ายตามสามีซึ่งเป็นทหารเรือไปตามฐานและค่ายต่าง ๆ

          สุดท้ายเธอได้งานเป็นครูผู้ช่วยสอนไวโอลินให้เด็กชั้นประถมของโรงเรียนในย่าน Harlem ของ New York City ซึ่งมีการยิงฟันกันไม่เว้นแต่ละวันเพราะเต็มไปด้วยกลุ่มชนหลีกสีที่มีปัญหา

          ในตอนแรกไม่มีใครเชื่อว่าเธอจะสามารถสอนไวโอลินให้เด็กเหล่านี้ได้แต่เธอก็ทำได้สำเร็จ โดยในเวลา 10 ปี เธอสอนไปกว่า 1,400 คน พ่อแม่เด็กถามว่าจะเรียนไวโอลินไปทำไม ยังไงก็ไม่มีโอกาสเป็น Isaac Stern เธอบอกว่าเรียนไปเพื่อเด็กจะได้ “feel good about themselves” เรียนไปเพื่อจะได้รู้จักคำว่า “วินัย” รู้จักความงดงามและอ่อนโยน และรู้จักกระทำสิ่งที่มีความหมาย

          ผ่านไป 10 ปี การสอนของเธอก็เกิดมีปัญหาขึ้นเพราะสำนักงานเขตการศึกษาตัดงบประมาณเพราะเห็นว่าการเรียนไวโอลินมีความสำคัญน้อย เธอจึงดิ้นรนต่อสู้ร่วมมือกับผู้ปกครองโดยมีนักไวโอลินเอกหลายคนมาช่วยจัดคอนเสริต์การกุศลระดมทุนเพื่อรักษาโครงการไว้ การแสดงจัดใน  Carnegie Hall ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่แสดงในความฝันของนักดนตรีทั่วโลก สถานที่นี้ซึ่งตั้งอยู่ในนิวยอร์ก สร้างตั้งแต่ ค.ศ. 1891 ตลอดเวลากว่า 100 ปี มีนักดนตรีชั้นยอดของโลกจำนวนมากมายได้แสดงในสถานที่แห่งนี้

          ภาพยนตร์ Music of the Heart ประสบความสำเร็จมาก Wes Craven ผู้สร้างได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์เช่นเดียวกับ Merlyn Streep ใครที่ชอบฟังเพลงคาลสิกและชอบภาพยนตร์ที่ดูจบไปแล้วยังจดจำความประทับใจและคำพูดของตัวละครได้ไม่ควรพลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ชื่นชอบ Merlyn Streep

          นักแสดงหญิงอัศจรรย์ผู้นี้ปัจจุบันอายุ 63 ปี ได้รางวัลออสการ์ 3 ตัว และรางวัลอื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วน ถือกันว่าเธอเป็นนักแสดงระดับสุดยอดคนหนึ่งของโลกในปัจจุบัน เธอจบปริญญาตรีจากวิทยาลัยมีชื่ออย่างยิ่งของโลก คือ Vassar College และจบปริญญาโทด้านการแสดงจาก Yale School of Drama ซึ่งถือว่าดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

          เธอเล่นได้หลากหลายบทและพูดได้หลายสำเนียงไม่ว่าอังกฤษเมื่อเล่นเป็น Margaret Thatcher เยอรมัน (Holocaust 1978) โปร์แลนด์ (Sophie’s Choice 1982) อิตาเลียน (The Bridges of Madison County 1995) ฯลฯ และร่วมร้องเพลง Mamma Mia ในมิวสิเคิลเรื่องนี้ด้วย

          การทำงานหนักทุ่มเทฝึกฝนตนเองระหว่างการแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้ของเธอ (หัดเล่นไวโอลินวันละ 6 ชั่วโมง สองเดือนเต็ม) สอนให้ผู้ดูได้เรียนรู้ว่าไม่มีอะไรที่สู้ความบากบั่นมานะ และเมื่อบวกกับพรสวรรค์แล้วจะเกิดผลที่ยิ่งใหญ่

          ครู Roberta ในเรื่องนี้ศรัทธาในความสามารถในการพัฒนาตนเองของลูกศิษย์เธอ เธอให้ความไว้วางใจว่าเขาต้องทำได้ เธอให้ความรัก ความอ่อนโยน และความห่วงอาทร (LTC-Loving tender care) แก่ศิษย์อย่างเสมอหน้า อีกทั้งอดทนในการสอนและชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจะได้อะไรจากการเรียนไวโอลินกับเธอ (“พ่อแม่ภูมิใจ” “รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนใช้ได้” “ภูมิใจในความสามารถของตัวเอง”)

          เนื้อเรื่องของภาพยนตร์อาจไม่แปลกใหม่ หากคล้ายคลึงกับอีกหลายเรื่องเนื่องจากเรื่องจริงเช่นนี้เกิดขึ้นเสมอเพราะมนุษย์ทั่วโลกมีพฤติกรรมไม่ต่างกัน แต่สิ่งที่ผู้ชมได้เรียนรู้ก็คือการสอนทักษะนั้นต้องมีวิธีการและทัศนคติในการทำงานอย่างไร และดนตรีนั้นมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงคนได้อย่างไร

          เธอร้องไห้คร่ำครวญเมื่อถูกทิ้ง แต่ในที่สุดก็ตัดใจได้เด็ดขาด ตั้งหลักและเดินไปข้างหน้าด้วยการทำสิ่งที่มีความหมายสำหรับตัวเธอเองและสำหรับโลก ทั้งหมดนี้เธอทำได้เพราะมี music in the heart

เงินสดอุดหนุนเด็กขาดแคลน

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
30 เมษายน 2556   

          อย่าประมาทเงินสดเป็นอันขาด เพราะเงินสดมีอานุภาพอันเนื่องมาจากความคล่องตัว ยิ่งการให้เงินสดอุดหนุนเด็กเล็กที่ยากจนโดยตรงแล้วยิ่งเกิดผลกระทบในด้านบวกมากดังที่มีหลักฐานจากประเทศอื่น ๆ

          สังคมไทยถือได้ว่าได้ไปไกลพอควรในการมีระบบให้ความคุ้มครองทางสังคมแก่สมาชิกซึ่งประกอบด้วย (1) การประกันสังคมแก่ผู้ใช้แรงงานที่เป็นระบบทางการ (2) การให้เงินเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุ (3) การให้เงินกู้ยืมหมู่บ้าน และ (4) สาธารณสุขทั่วหน้า

          ถึงแม้ว่าผู้ใหญ่จะได้รับความช่วยเหลือไปพอควรทั้งผู้สูงอายุ (เบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุ 60-70 ปี 600 บาทต่อเดือน; 70-80 ปี 700 บาทต่อเดือน; 80-90 ปี 800 บาทต่อเดือน) และผู้อยู่ในวัยทำงาน (รักษาพยาบาลฟรี และมีเงินกองทุนประกันสังคม) แต่เด็กไทยที่ขาดแคลนยังได้รับความช่วยเหลืออย่างจำกัดอยู่มาก

          ในปัจจุบันนอกจากเด็กจะได้รับการศึกษาฟรี ได้รับเครื่องแบบ อุปกรณ์การศึกษาฟรี ซึ่งพอช่วยได้ในระดับหนึ่งแล้ว เด็กที่อยู่ในสภาวะเสี่ยง เช่น เป็น HIV / AIDS เด็กกำพร้า เด็กเร่ร่อน ฯลฯ บางส่วนได้รับเงินช่วยเหลือเป็นเงินสดโดยให้แก่ผู้ปกครองครั้งเดียว 2,000 บาทต่อคนต่อปีโดยกระทรวงพัฒนาสังคมฯ อย่างไรก็ดีการให้เงินช่วยเหลือนี้เป็นไปตามเงินทุนที่มีในแต่ละปี มิได้มีกฎเกณฑ์บังคับให้เป็นประจำโดยจัดสรรจากงบประมาณประจำปี

          ปัจจุบันในหลายประเทศในโลกทั้งพัฒนาแล้ว เช่น อังกฤษ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และกำลังพัฒนา เช่น อาฟริกาใต้ บราซิล เม็กซิโก ให้เงินสดโดยตรงแก่ผู้ปกครองอย่างสม่ำเสมอเช่นเดียวกับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศเรา โครงการเช่นนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีโดยเฉพาะเด็กที่พ่อแม่ขาดแคลน

          งานวิจัยเรื่องเด็กในปัจจุบันพบว่าการเลี้ยงดูเด็กในวัย 0-6 ขวบมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตอย่างเป็นขั้นตอนต่อไป (หนังสือสำคัญตีพิมพ์ในปี 2000 ชื่อ From Neurons to Neighborhoods ให้หลักฐานสนับสนุนเรื่องนี้อย่างมาก) และการเลี้ยงดูที่ดีนั้นครอบคลุมเรื่องอาหารที่เพียงพอ สิ่งแวดล้อมที่ไม่ขัดสนเกินไป เวลาที่พ่อแม่มีให้แก่ลูก ความอ่อนโยน-ความรักใคร่-ความห่วงอาทร (LTC-Loving tender care) ฯลฯ ทั้งหมดนี้หนีเรื่องเงินทองไปไม่ได้อย่างแน่นอน

          เงินสดที่พ่อแม่ผู้ขาดแคลนได้รับจะสามารถช่วยสร้างปัจจัยซึ่งจำเป็นเหล่านี้ได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในเรื่องอาหารและเวลาที่พ่อแม่พอเจียดให้แก่ลูก ไม่ต้องออกไปทำงานหาเงินตลอดเวลา บางคนอาจเถียงว่าเงินจำนวนนี้อาจ “ลงขวด” หรือเป็นเงินสู่การพนันจนไม่ได้ช่วยลูกจริงจัง คงปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจมีบ้าง แต่น่าจะเป็นจำนวนที่มีน้อยกว่าจำนวนที่สร้างประโยชน์ ถ้าชีวิตเรามัวแต่เอาตัวอย่างที่มีไม่มากมาเป็นกำแพงแล้ว เราคงไม่ต้องทำอะไรกันเป็นแน่

          สำนักงาน UNICEF ประจำประเทศไทยได้เสนอแนะเรื่อง Child Support Grant (CSG) เช่นนี้สำหรับประเทศไทยมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 ข้อเสนอแนะก็คือภาครัฐควรให้เงินสดโดยตรงแก่ครอบครัวของพ่อแม่หรือผู้ปกครองที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน (มีอยู่ประมาณ 2.5 ล้านครัวเรือน) เดือนละ 600 บาทต่อเด็กหนึ่งคนตั้งแต่เกิดจนอายุ 6 ขวบ

          จำนวนเงินที่ประมาณว่าต้องใช้ต่อปีหากใช้อัตรานี้ก็คือ 1,600 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.02 ของ GDP เงินจำนวนนี้เทียบไม่ได้เลยกับโครงการจำนำข้าวที่เสียหายปีละเหยียบแสนล้านบาท

          เด็กไม่ใช่อนาคตของประเทศหากคือปัจจุบัน ถ้าเราไม่ดูแลเด็กขาดแคลนในวัย 0-6 ขวบแล้ว เราก็จะไม่มีโอกาสมีอิทธิพลต่อเขาในช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของชีวิตอีกแล้ว อย่าลืมว่ามนุษย์มีโอกาสมีชีวิต 0-6 ขวบเพียงครั้งเดียว มันไม่มีโอกาสหวนคืนมาอีกเลย การลงทุนในช่วงเวลานี้คือการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด

          คุณ Andrew Claypole หัวหน้าฝ่ายนโยบายสังคมของ UNICEF ประจำประเทศไทยได้พยายามผลักดัน CSG มานานพอควรเนื่องจากเห็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นในประเทศอื่น และเห็นว่าเป็น นโยบายที่ท้าทายสำหรับสังคมไทย

          ผู้เขียนเห็นว่ายอดเงินพันล้านบาทในบ้านเราในปัจจุบันนั้นเป็นสิ่งที่ไม่พูดถึงกันแล้ว เราคุ้นเคยกับตัวเลขหลักแสนและล้านล้านบาท การลงทุนในตัวเด็กผู้ขาดโอกาสทั้งประเทศในอัตราที่เรามีปัญญาจ่ายได้อย่างไม่ยากเย็นนักจะเป็นการลงทุนทางเศรษฐกิจที่คุ้มค่าอย่างยิ่งในระยะยาว

          หากสาธารณชนสนับสนุน CSG และมีการบังคับการจ่ายด้วยกฎหมาย โดยบรรจุอยู่ในงบประมาณทุกปี สังคมเราจะประหยัดงบประมาณในเวลาข้างหน้าได้อีกมากมายเพราะเด็กที่ได้รับความช่วยเหลืออย่างเพียงพอในวัยที่สำคัญ สมองจะเจริญเติบโตและมีโอกาสเจ็บป่วยน้อยลงใน วัยผู้ใหญ่

          เราเสียเงินกันมากมายมาแล้วในโครงการประเภท “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” ถ้าเราจะเสียเงินเพิ่มขึ้นอีกไม่มากและไปลดที่เลอะเทอะลงเสียก็จะเป็นการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ที่คุ้มค่าที่สุดและเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุดในเรื่องการใช้ทรัพยากรการเงินที่ทุกสังคมมีจำกัด
 

Margaret Thatcher : แม่มด หรือนางฟ้า

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
23 เมษายน 2556  

          ถึงจะมีงานศพใหญ่โต มีผู้คนบางส่วนแซ่ซ้องสรรเสริญว่าเป็นรัฐบุรุษ (สตรี) คนสำคัญของอังกฤษ แต่กระนั้นก็ตามมีคนอีกมากมายเกลียดชังเธอ…….ตกลง Margaret Thatcher เป็นแม่มดหรือนางฟ้ากันแน่

          เสียงเพลง “Ding Dong the Witch is Dead” จากภาพยนตร์ “The Wizard of Oz” กระหึ่งขึ้นทันทีหลังจากที่ MT (ชื่อที่สามีเรียกเธอ) ถึงแก่อสัญกรรม คนที่ร้องรำทำเพลงยินดีกับการจากไปของเธอได้รอคอยวันที่จะได้ตบหน้าเธอในลักษณะนี้มานานกว่า 20 ปี

          จะเข้าใจความรู้สึกของพวก Ding Dong เหล่านี้ได้ก็ต้องดูการเมืองอังกฤษ นับตั้งแต่ปี 1964 ถึง 1979 พรรค Labor ครองอำนาจมาตลอด (ยกเว้น 4 ปี ระหว่าง ค.ศ. 1970-1974 ที่รัฐบาลพรรค Conservative มาคั่น) ตลอดเวลาเหล่านี้อุดมการณ์โซเซียลลิสถูกแปรรูปเป็นนโยบายออกมาเป็นชุดเพื่ออุ้มคนรายได้น้อยไม่ว่าในด้านสาธารณสุข การศึกษา บริการสาธารณะ สวัสดิการสังคม ฯลฯ

          นอกจากนี้สหภาพแรงงาน แรงงานคนทำเหมือง แรงงานในอุตสาหกรรมเหล็ก มีอำนาจมากจนมีการสไตร์ดบ่อยครั้งมาก ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งมวลชน ขนส่งท่าเรือ โรงพิมพ์ ขนขยะแม้แต่สัปเหร่อ ส่วนข้าวของก็แพง (กลุ่มประเทศอาหรับขึ้นราคาน้ำมันครั้งใหญ่ในปี 1973) รัฐบาลเข้าแทรกแซงค่าจ้างและราคา แถมภาษีก็สูง ฯลฯ สรุปได้ว่าผู้คนเริ่มระอากับแนวคิดโซเชียลลิสในอังกฤษที่มีติดต่อกันมา 35 ปีและเป็นกระแสที่แรงต่อเนื่องในยุโรปตะวันตกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

          Niall Ferguson นักประวัติศาสตร์ดาวรุ่งชาวสก๊อตในวัยปลาย 40 ที่ได้รับการยอมรับมากในระดับโลก (เจ้าของหนังสือ Civilization (2011) และ The Great Degeneration (2012) อันเลื่องลือ) ได้เขียนชื่นชม MT เขาเล่าว่าในปี 1979 ที่เธอเริ่มเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น อัตราเงินเฟ้อคือร้อยละ 17 คนอังกฤษสิ้นหวังและเบื่อหน่ายกับชีวิตหลังการล่มสลายของอาณาจักรอังกฤษ มองไปแล้วไม่เห็นอนาคต ไม่เห็นความยิ่งใหญ่ของอังกฤษดังที่เคยเป็น

          Ferguson บอกว่าเธอได้สร้างความหวังให้คนอังกฤษอีกครั้งด้วยการ U-Turn นโยบายของพรรค Labor เกือบทั้งหมด (“นารีขี่ม้าขาว” ตัวจริง) และแทนที่ด้วยแนวคิดเสรีนิยม ชื่นชมทุนนิยม อันได้แก่ การใช้กลไกตลาด ความเป็นเสรีของตลาด เสรีภาพของหน่วยเศรษฐกิจและแรงงานเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม เธอเอาบ้านที่รัฐสร้างให้คนมีรายได้น้อยเช่ามายาวนาน (council houses) ขายให้เป็นสมบัติของผู้อยู่อาศัย ทำการ privatize อุตสาหกรรมที่ถูกยึดมาเป็นของรัฐในยุครัฐบาล Labor โดยการขาย แปรรูป หรือยุบทิ้ง

          ความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญในการกลับลำ ความสามารถในการสื่อสารโดยเฉพาะในการพูดโต้ตอบกับกลุ่ม ส.ส. ชายทั้งหลาย กับเกย์ กับกลุ่มพลังสิทธิสตรี กับสหภาพแรงงาน กับคนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของเธอ กับกลุ่มโซเซียลลิส ฯลฯ ทำให้เธอสามารถทำงานเสริมสร้างประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจโดยใช้กลไกตลาดได้สำเร็จพอควร แต่ก็มีศัตรูมากมายโดยเฉพาะกลุ่มที่เห็นว่าความเท่าเทียมกันของสมาชิกในสังคมสำคัญกว่าประสิทธิภาพ

          คำพูดของเธอแสบคัน สะใจแฟนคลับแต่สร้างความเกลียดชังในใจศัตรู เช่น “พวกนี้ติดโรคโซเซียลลิสคือชอบทำให้เงินของคนอื่น (ที่เอามาทำโปรแกรมสังคม) หมดไป” “ปัญหาของคุณก็คือกระดูกสันหลังของคุณมันไม่ยาวไปถึงสมอง” “ดิฉันไม่ใช่นักการเมืองประเภทแสวงหาความเห็นพ้อง (consensus politician) หากเป็นนักการเมืองประเภทมีความมุ่งมั่นในความเชื่อ (conviction politician)”

          ตลอดเวลา 11 ปีที่เป็นนายกรัฐมนตรี (ยาวที่สุดสำหรับนายกฯ ในศตวรรษที่ 20 และเป็นคนแรกและยังเป็นคนเดียวที่เป็นผู้หญิงของอังกฤษ) ระหว่าง 1979-1990 เธอได้รับความชื่นชมจากการชนะศึก Falklands (เกาะของอังกฤษและถูกบุกยึดโดยอาเยนตินา) ในปี 1982 ได้รับคำสรรเสริญในการทำให้เศรษฐกิจอังกฤษกลับฟื้นตัวขึ้นมา และในการทำให้อังกฤษก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจอีกครั้ง ในใจของชาวโลก

          MT นั้นไม่เป็นที่รักของผู้นำยุโรป (Francois Mitterrand บอกว่าปากเธอเหมือน Marilyn Monroe) เพราะเธอไม่ต้องการให้อังกฤษร่วมลงเรือลำเดียวกับสมาชิกยุโรปอื่น ๆ (ไม่ยอมใช้เงินยูโร ไม่ยอมการใช้วีซ่าร่วมที่เรียกกันว่า Schengen Visa ไม่สนับสนุนไอเดียการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี) เธอไม่เห็นด้วยกับการเป็นสมาชิก EU อย่างเต็มตัวของอังกฤษ

          ใครที่อยากดูภาพยนตร์ชีวประวัติของเธอในแนวชื่นชม ต้องไม่พลาด “The Iron Lady” (ไม่ใช่หญิงนักรีดผ้าหากเป็นหญิงเหล็ก) ซึ่ง Merlyn Streep เล่นเป็นตัวเธอได้สุดยอดจนได้รางวัล ตุ๊กตาทอง ในเรื่องนี้เธอบอกว่าสิ่งที่ต้องการก็คือการมีชีวิตที่ช่วยทำให้เกิดความแตกต่าง (make a difference) และเธอก็ได้ทำให้เกิดความแตกต่างขึ้นได้สำเร็จจริง ๆ

          อังกฤษในปัจจุบันมีอิสรภาพในการใช้ค่าเงินแก้ปัญหาเศรษฐกิจ (หากร่วมใช้เงินยูโรป่านนี้คงถูกโซ่ที่ผูกขาร่วมกันดึงลงน้ำไปแล้ว) มีระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพผ่านกลไกตลาดเสรีถึงแม้ว่าจะได้มาด้วยการทำให้ช่องห่างระหว่างคนรวยและคนจนถ่างมากขึ้นก็ตามที

          เธอบอกว่า “คนอาจเกลียดฉันในปัจจุบัน แต่อีกหลายชั่วคนจะขอบคุณฉัน” และก็เป็นจริงดังที่เธอคาด เธอถูกเขี่ยออกจากหัวหน้าพรรคใน ค.ศ. 1990 เพราะพรรคกลัวว่าเธอจะนำไปสู่ความปราชัยในการเลือกตั้งทั่วไปเพราะผู้คนเริ่มเบื่อการไม่ฟังเสียงคนอื่นของเธอ อย่างไรก็ดีปัจจุบันผู้คนจำนวนมากก็ชื่นชมสิ่งที่เธอได้ทำไป ชื่อ MT ทั้งในตอนที่มีชีวิตอยู่และจากไปแล้วสามารถปลุกความรู้สึกชอบและไม่ชอบขึ้นได้ทุกครั้ง

          ไม่ว่าจะชอบเธอหรือไม่ก็ตาม คนที่มีใจเป็นธรรมคงเห็นว่าเธอเป็นนายกรัฐมนตรีที่สร้างประวัติศาสตร์ เธอรักชาติ เธอกล้าหาญ เธอไม่เคยมีชื่อเสียงมัวหมองในเรื่องเบียดบังเงินทอง ไม่เคยเห็นประโยชน์ส่วนตัวสำคัญกว่าส่วนรวม และประการสำคัญเธอให้ความหวังแก่คนที่เลือกเธอมาเป็นนายกรัฐมนตรี

          สำหรับคนที่ชื่นชอบ เธอคือ “นางฟ้า” แต่สำหรับศัตรูแล้ว เธอคือ “แม่มด” ……….อะไรที่ทำให้เธอแปลงร่างได้ขนาดนั้น……… การตัดสินใจเลือก “ประสิทธิภาพ” แทน “ความ เท่าเทียม” ของเธอคือสิ่งที่ตัดสินเธอในใจของแต่ละคน

ความสามารถในการจัดการและชีวิต

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
16 เมษายน 2556  

          ความสำเร็จของสังคมหรือของบุคคลมีรากฐานมาจากความสามารถในการจัดการ ผู้ที่มีความสุขในชีวิตล้วนเป็นผู้ประสบความสำเร็จในการจัดการทั้งสิ้น

          การจัดการซึ่งแปลมาจากคำว่า management นั้นอยู่รอบตัวมนุษย์อย่างนึกไม่ถึง บ่อยครั้งที่เรานึกถึงการจัดการในรูปแบบที่เป็นทางการ เช่น การจัดการขององค์กรไม่ว่ารัฐหรือเอกชน แต่เรามักมองข้ามการจัดการของสมาชิกอื่น ๆ ของสังคม เช่น แม่บ้านในเรื่องการเลี้ยงอบรมดูลูก ทำงานบ้าน ปรุงอาหาร สอนลูกทำการบ้าน ฯลฯ และสำหรับ “single mums” หรือแม่ที่เลี้ยงดูลูกคนเดียวนั้นทำงานหนักเหล่านี้แล้วยังทำงานหาเงินไปด้วยในเวลาเดียวกัน

          ความสามารถในการจัดการของแม่บ้านเกี่ยวพันกับโลจิก ความเข้าใจลำดับความสำคัญของงาน การฝึกฝนทักษะ ความสามารถในการสื่อสาร ทักษะในการจัดการอารมณ์ของตนเองและของคนรอบข้าง วินัยในการดำรงชีวิต ความอดกลั้น ความอดทน ฯลฯ

          แม่บ้านโดยเฉพาะ “single mums” ที่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูก ผลิตคนดีที่สามารถยืนบนขาตนเองได้จึงเรียกได้ว่าเป็นนักบริหารจัดการตัวยงทีเดียว

          นักการทหาร แพทย์ พยาบาล เจ้าของธุรกิจ SME’s ตั้งแต่หาบเร่แผงลอย ขายข้าวแกง ฯลฯ จนถึงเจ้าของร้านอาหาร และผู้บริหารทุกระดับในองค์กรที่ประสบความสำเร็จ ล้วนแล้วแต่มีความสามารถในการจัดการทั้งสิ้น

          การจัดการของมนุษย์นั้นอยู่ในสายเลือดตั้งแต่อพยพกันออกมาจากอาฟริกาเมื่อ 150,000-200,000 ปี ถ้าบรรพบุรุษของเราขาดความสามารถในการจัดการ ไม่ว่าในเรื่องการหาอาหาร ป้องกันตนเองและครอบครัวจากภัยต่าง ๆ สร้างที่อยู่อาศัย ประดิษฐ์เครื่องนุ่งห่ม สะสมภูมิปัญญาในเรื่องการรักษาตนเองจากโรคภัยไข้เจ็บแล้ว พวกเราคงไม่มีวันนี้กันเป็นแน่

          มหาบุรุษคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ คือ เจิ้งเหิง (Zhèng Hé (ค.ศ. 1371-1433)) ขันทีมุสลิมผู้เป็นนักเดินเรือชาวจีนผู้ยิ่งใหญ่ของโลก นำขบวนเรือครั้งแรกเดินทางไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย (ครั้งที่ 3 มาถึงอยุธยาด้วย) และกลับอย่างปลอดภัยโดยใช้เรือถึง 317 ลำ รวมลูกเรือ 28,000 คน ถ้าหากไม่เข้าใจเรื่องโลจิสติกส์และไม่มีความสามารถในการจัดการอย่างเป็นเลิศแล้วขบวนเรือคงย่อยยับ ไม่มีโอกาสนำออกไปอีก 6 ครั้งเป็นแน่ (โคลัมบัสในปี 1492 นำขบวนเรือเพียง 6 ลำเดินทางไปทวีปอเมริกา)

          นักคิดในประวัติศาสตร์โลกหลายคนได้เขียนเรื่องราวของการจัดการแทรกไว้ในหนังสือ เช่น พระไตรปิฎก รามเกียรติ์ มหาภารตะ สามก๊ก The Art of War (โดยซุ่นหวู่เมื่อ 2,600 ปีก่อน) ฯลฯ ซึ่งถือได้ว่าเป็นตำราสอนผู้คนในวัฒนธรรมต่าง ๆ ของโลก

          ความรู้เรื่องการจัดการสอดแทรกอยู่ในตำราเศรษฐศาสตร์เล่มสำคัญ คือ The Wealth of Nations โดย Adam Smith ใน ค.ศ. 1776 ซึ่งเน้นการทำงานที่มีประสิทธิภาพขององค์กรผ่านการแบ่งงานกันทำ (division of labor) Adam Smith เสนอให้เปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มผลิตภาพ (productivity) โดยยกตัวอย่างเรื่องการผลิตเข็ม แรงงานคนหนึ่งอาจผลิตเข็มได้วันละ 200 เล่ม แต่ถ้าแบ่งงานกันทำโดยเชี่ยวชาญกันคนละอย่าง เช่น ตัดลวด ฝนลวด ตกแต่งฯ จะผลิตเข็มได้วันละ 48,000 เล่ม สิ่งที่เขาบรรยายไว้นี้ก็คือรากฐานของระบบการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมในปัจจุบัน

          ในการเรียนเรื่องการจัดการอย่างเป็นเรื่องเป็นราวนั้น มีตำราเรื่องการจัดการเล่มแรก ๆ ตั้งแต่ ค.ศ. 1890 เช่น Science of Management โดย Henry R. Towne

          บุคคลที่เพิ่มองค์ความรู้และทำให้วิชาการจัดการแพร่หลายก็คือ Peter Drucker (ค.ศ. 1909-2005) เขาตีพิมพ์หนังสือเล่มสำคัญชื่อ Concept of Organization ในปี 1946 หลังจากที่ Harvard Business School เปิดหลักสูตร MBA ขึ้นเป็นครั้งแรกก่อนหน้านั้น 25 ปี และหลักสูตรนี้มีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้เกิดทฤษฎีการจัดการที่เด่นชัดขึ้นใน ค.ศ. 1920 อย่างไรก็ดีมันยังไม่ใช่ตำราเล่มแรกเกี่ยวกับการจัดการที่ใช้กันในมหาวิทยาลัย ตำราเล่มแรกนั้นตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1911 โดย J.Duncan

          เมื่อหันมาดูการดำเนินชีวิตของผู้คน ความสามารถในการจัดการในสองเรื่องเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้นั่นก็คือ (1) การครองชีวิต และ (2) การจัดการเรื่องเงิน

          หากผู้ใดหรือครอบครัวใดครองชีวิตด้วยความประมาท ไม่ระมัดระวัง ไม่รอบคอบขาดปัญญาในการดำเนินชีวิตแล้วก็อาจไม่มีชีวิตที่มีความสุขได้ ชีวิตมนุษย์นั้นเปราะบางอย่างยิ่ง ความสามารถในเรื่องนี้เท่านั้นที่จะช่วยให้เอาชนะความเปราะบางของมันได้

          สำหรับความสามารถในการจัดการเรื่องเงินนั้น ความมีวินัยในการบังคับใจตนเองให้มีอำนาจเหนือความปรารถนาในด้านวัตถุอย่างมีเหตุมีผล มีความสมดุล บวกความสามารถในการจัดการให้เงินที่ตนอดออมได้นั้นงอกเงยเป็นหัวใจสำคัญ

          การขาดความสามารถในการจัดการทั้งสองเรื่องข้างต้นซึ่งโดยแท้จริงแล้วเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออกจะนำไปสู่ชีวิตที่ขาดคุณภาพ

          เมื่อชีวิตของมนุษย์ไม่มีรีแมช ความสามารถในการจัดการจึงเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการหาความสุขจากชีวิตเดียวที่เรามีกัน

“ความไม่ได้เรื่อง” ซ่อนอยู่ในตัวเลข

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
9 เมษายน 2556  

          ตัวเลขและสถิติต่าง ๆ ของภาครัฐและเอกชนที่เรามักได้ทราบกันจากสื่อนั้นโดยแท้จริงแล้วไม่มีความหมายมากนัก แต่ถ้าจะให้พอเป็นประโยชน์บ้างก็จำเป็นต้องทราบถึงข้อจำกัดต่างๆ ของตัวเลขเหล่านี้

          “อุณหภูมิ 37 ํC” ของภาคกลางนั้น ต้องถามว่าวัดที่จังหวัดใด ตรงที่อำเภอใดและ เวลาใด ตัวเลขอื่น ๆ ของภาคอื่นหรือของ กทม. นั้นวัดที่จุดใด วัดเวลาเดียวกันกับทุกภาคหรือไม่ ฯลฯ ตัวเลขเหล่านี้เมื่อเจาะลึกลงไปแล้วแทบไม่ได้ให้ประโยชน์กับเรามากดังที่เข้าใจกัน เพราะมันกว้างขวางและไม่รู้ว่าจะเทียบเคียงกันได้หรือไม่ คงคล้ายกับพยากรณ์อากาศสมัยก่อนที่บอกว่า “ในท้องฟ้ามีเมฆ ในทะเลมีคลื่น”

          ถ้าเราตระหนักถึงเงื่อนไขเหล่านี้แล้ว เราก็สามารถพอเอาไปใช้ประโยชน์ได้บ้างตราบที่เราระวังใน “ความไม่ได้เรื่อง” ของมัน

          จังหวัดที่มีถนนยาว รถราผ่านไปมาก ๆ แถมมีประชาชนหนาแน่น มีจำนวนรถยนต์มากทั้งของจังหวัดเองและที่ผ่านจังหวัดก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องมีจำนวนอุบัติเหตุมากกว่าจังหวัดอื่นที่มีถนนและคนน้อยกว่า ถ้าจะให้ตัวเลขอุบัติเหตุมีความหมายก็ต้องใช้จำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นต่อกิโลเมตรหรือต่อคนที่อยู่อาศัยหรือผ่านเข้าไปในจังหวัดเป็นตัวชี้วัดความอันตราย

          สำหรับคนสูงอายุมีอัตราการตายมากกว่าคนวัยอื่น ๆ นั้นเป็นจริงในทุกฤดูกาลและ ทุกสถานที่ โดยเฉพาะสำหรับอัตราการตายของคนอายุ 90 หรือ 100 ปี และไม่แปลกด้วยที่อัตราคนตายที่โรงพยาบาลสูงกว่าที่โรงแรม

          ทุกวันเราจะถูกสาดใส่ด้วยข้อมูลตัวเลขที่ไร้สาระจำนวนมากมาย แต่ที่น่าเศร้าคือคนที่รับทราบตัวเลขหรือนำตัวเลขเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ต่อนั้นไม่ตระหนักถึงข้อจำกัดของมัน

          ประธานาธิบดีโอบามาบอกว่างานสำคัญของเขาในแต่ละวันคือการตัดสินใจว่าจะเลือกนโยบายใด แต่ละทางเลือกนั้นมีทั้งผลดีและผลเสียต่อประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ตลอดจนมีผลกระทบต่อโครงการอื่น ๆ ที่ทำอยู่แตกต่างกันไป และนโยบายที่มีให้เลือกนั้นเมื่อนำไปปฏิบัติแล้ว ก็มีโอกาสที่จะไม่บรรลุผลดังที่ตั้งใจไว้เพราะมีความเป็นไปได้ต่างกัน

          โอบามาย้ำว่าเมื่อพิจารณาลึกลงไปแล้ว สิ่งที่เขาทำก็คือจัดการเกี่ยวกับความเป็นไปได้ (probability) กล่าวคือต้องชั่งน้ำหนักว่าข้อมูลประกอบแต่ละทางเลือกมีอะไรเป็นข้อจำกัด (เช่น ข้อมูลอุณหภูมิ ต้องตระหนักว่าเป็นเพียงจุดอ้างอิงคร่าว ๆ ณ สถานที่หนึ่งมิใช่เป็นของทั้งภาคหรือของทั้งรัฐ) และประเมินว่าแต่ละทางเลือกมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดในการประสบผลสำเร็จ

          บ่อยครั้งที่ถึงแม้ประเมินแล้วว่ามีความเป็นไปได้หรือโอกาสในการประสบความสำเร็จสูง แต่พอเป็นจริงแล้วก็ไม่เป็นไปตามนั้น เพราะความเป็นไปได้ก็มีโอกาสของความเป็นไปไม่ได้อยู่ด้วยเสมอ

          ความเป็นไปได้หรือ probability นั้นมีที่มาจากการพนัน (ความเป็นไปได้ของเลขใดจะปรากฏขึ้นเมื่อโยนลูกเต๋าที่ไม่ถ่วงคือ 1 ใน 6 หรือของด้านใดด้านหนึ่งของเหรียญ คือ 1 ใน 2) ในโลกตะวันตกมีการศึกษากันเป็นเรื่องเป็นราวตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 คนที่เริ่มคือ Girolomo Cardano และตามมาด้วย Pierre de Fermat, Blaise Pascal ในปี 1654 โดยมีการพัฒนาขึ้นเป็นทฤษฎีและเป็นส่วนหนึ่งของวิชาสถิติ (ถ้าไม่เข้าใจเรื่อง probability จะมั่นใจได้อย่างไรว่าตัวอย่างที่เก็บมานั้นเป็นตัวแทนที่แท้จริงของประชากรทั้งหมด หรือกล่าวอีกอย่างว่ามั่นใจได้อย่างไรว่าช้อนซุปนั้นใหญ่พอจนสามารถเป็นตัวแทนของซุปในหม้อและช้อนซุปต้องใหญ่แค่ไหนจึงจะมั่นใจได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ในการเป็นตัวแทนที่แท้จริงของซุปในหม้อ)

          มีนักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ระบุว่าก่อนหน้าศตวรรษที่ 17 คำว่า “probable” (มาจากภาษาละตินว่า probabilis ซึ่งหมายถึงมีความเป็นไปได้ ภาษาอังกฤษปัจจุบันคำว่า probably หมายถึงมีความเป็นไปได้ประมาณครึ่งหนึ่ง) หมายถึง “approvable” หรือยอมรับได้ ความหมายของมันก็คือสิ่งใดที่พอมีความเป็นไปได้ คนที่มีเหตุมีผลสมควรยอมรับไปปฏิบัติ

          ในระดับคนธรรมดา ไม่ต้องถึงกับเป็นผู้นำประเทศ ความเป็นไปได้ก็อยู่รอบตัวเราตลอดเวลา ทุกวันเราต้องเผชิญกับการเลือก และแต่ละการเลือกนั้นคนมีเหตุมีผลก็จะคำนวณความเป็นไปได้อยู่ในใจเสมอ

          แค่จะสั่งก๋วยเตี๋ยวแต่ละจาน ไปดูหนัง ซื้อหนังสือ ไปเที่ยว ฯลฯ ก็ต้องประเมินความเป็นไปได้แล้วว่าจะถูกใจ มิฉะนั้นคงไม่เลือกเป็นแน่ ส่วนผลออกมาแล้วจะเป็นจริงหรือไม่นั้นมันเป็นเรื่องของความเป็นไปได้ (เวลาโยนเหรียญมันไม่ได้ออกหัวเสมอไป)

          การเลือกอาชีพ เลือกงาน เลือกแฟน เลือกเพื่อน เลือกหมอ ฯลฯ ทุกคนล้วนประเมินความเป็นไปได้ทั้งนั้นก่อนเลือกว่าน่าจะเป็นไปดังนึก แต่อย่างว่าแหละ เรากำลังพูดถึงความเป็นไปได้ซึ่งออกไปทางไหนก็ได้ขึ้นอยู่กับเปอร์เซ็นต์ของความเป็นไปได้ สำหรับคนที่ไม่เขลาซ้ำซาก ประสบการณ์จากการลองผิดลองถูกในเรื่องต่าง ๆ ที่ได้ผ่านมาในอดีตจะช่วยให้สามารถประเมินความเป็นไปได้ในเรื่องเดียวกันได้ใกล้เคียงความจริงมากขึ้น

          ถึงแม้ชีวิตมีความไม่แน่นอนแต่มั่นใจได้ว่าการไม่ขับรถในเวลากลางคืนระหว่างช่วงสงกรานต์จะช่วยให้มีความเป็นไปได้ในการได้กลับมาทำงานหลังสงกรานต์สูงขึ้นเป็นแน่

Zarganar ผู้ยอมแลกคุกกับเล่าเรื่องตลก

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
2 เมษายน 2556  

          “ถ้าผมทำหน้าที่หมอฟัน ผมเปิดได้ทีละปาก แต่ถ้าผมเล่าเรื่องตลกผมเปิดปากพร้อม ๆ กันได้จำนวนมากมาย”

          นี่คือคำพูดของตลกคนสำคัญของพม่า ที่เรื่องตลกและคำพูดของเขาตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี สั่นสะเทือนบัลลังก์ของผู้นำเผด็จการพม่าและมีส่วนในการช่วยผลักดันให้พม่ามีการเลือกตั้งโดยเปลี่ยนจาก “การปกครองของทหารโดยตรง เป็น “การควบคุมโดยทหาร”

          Zarganar คือชื่อศิลปินของเขาซึ่งหมายถึง “แหนบถอนขน” ชื่อจริงคือ Maung Thura ปัจจุบันอายุ 52 ปี พ่อของเขาเป็นนักคิดนักเขียนสำคัญคนหนึ่งของประเทศ

          เขาเรียนจบทันตแพทย์ แต่แทบไม่เคยรักษาคนไข้เพราะเขาชอบการเป็นศิลปิน นักแสดง สร้างภาพยนตร์ โดยถูกขับเคลื่อนโดยความปรารถนาอยากเห็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและประชาธิปไตยในพม่า เขามีผลงานภาพยนตร์มากพอควรแต่มาดังจากการเป็นตลกเดี่ยวไมโครโฟน จนคนพม่าติดอกติดใจกลายเป็นขวัญใจหมายเลขหนึ่ง

          ชีวิตการต่อสู้เผด็จการของเขาเริ่มในปี 1988 เมื่อมีการประท้วงครั้งใหญ่ขับไล่นายพลเนวิน ถึงแม้ฝ่ายประท้วงจะชนะเลือกตั้งแต่ก็ไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่กลับถูกจับติดคุกแทน นับตั้งแต่ อองซาน ซูจี ลงมาจนถึง Zarganar

          ในเวลา 5-6 ปี หลังปี 1988 เขาติดคุกเข้า ๆ ออก ๆ อยู่หลายครั้งจากการแสดงของเขา ในปี 2006 การแสดงทุกอย่างของเขาถูกแบนด์โดยรัฐบาลเนื่องจากคำพูดตลกของเขามีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐบาลมากขึ้นเป็นลำดับ ที่หนักสุดก็คือในปี 2008 เขาถูกจับข้อหาพูดกับ สื่อต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตในเรื่องโซโคลนนากริสถล่มพม่า ผู้คนตายกว่า 150,000 คน และอีกนับแสน ๆ คนไร้บ้าน เขาทนไม่ได้ที่การช่วยเหลือมีน้อยจึงรวบรวมสมัครพรรคพวกออกไปช่วยและสื่อสารให้ชาวโลกรู้ โทษของเขาคือจำคุก 59 ปี

          ในภายหลังเขาเล่าว่าความผิดกระทงหนึ่งคือการใช้อินเตอร์เน็ต ผู้พิพากษาถามเขาว่า e-mail ของเขาคืออะไร เขาก็ตอบไปว่า zan.61@gmail ผู้พิพากษาโกรธมากบอกว่าผมอยากรู้ e-mail ของคุณแต่คุณกลับเล่นลิ้นบอก gmail

          ครั้งหนึ่งเขาติดคุกต่อเนื่องนาน 4 ปี ถูกขังเดี่ยวในห้องที่ไม่มีหน้าต่าง เขาบอกว่าที่มีชีวิตรอดมาได้ก็เพราะอารมณ์ขัน เขาใช้เวลาคิดมุกตลกและแต่งเพลงในสมองตลอดเวลานั้น จนเขามีมุกตลกในเวลาต่อมามากมาย

          เรื่องหนึ่งเขาเล่าว่าเขาโทรไปถามโอเปอเรเตอร์ว่าค่าโทรศัพท์ไปลอนดอนกับนรก ราคาเท่าไหร่ คำตอบก็คือนรกถูกกว่ามาก เขาสงสัยจึงขอเหตุผล คำตอบก็คือการโทรไปนรกนั้นที่พม่าเขาถือว่าเป็นโทรในประเทศ

          เมื่อครั้งพม่าจะเป็นสมาชิกอาเซียน ตอนนั้นข้าวของในพม่าแพงมาก เขาบอกว่าควรเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น Bar- May-Sia คือคล้ายกับอินโดนีเซีย และมาเลเซีย แต่มันมีความนัยจากการเล่นคำเพราะเมื่อออกเสียงแล้วหมายถึงการหาของที่ต้องการไม่ได้เพราะอะไร ๆ ก็แพงหมด

          Zarganar ได้รับการปล่อยตัวในปลายปี 2011 เมื่อพม่าจะมีการเลือกตั้ง คนต่างชาติก็เชิญเขาไปต่างประเทศ สถานที่แรกที่มาคือประเทศไทย เขาให้สัมภาษณ์ว่าเขาช็อกเมื่อเห็นเครื่องบิน สนามบิน ตึกซึ่งล้วนใหญ่มาก และช็อกมากเมื่อเห็นถนนดี ๆ เขาเห็นว่าเยาวชนไทยหน้าตาไม่มีความกังวล เต็มไปด้วยเสรีภาพและความมั่นใจในตนเอง ซึ่งเขามองไม่เห็นในเยาวชนพม่าในวัยเดียวกัน

          เขาเดินทางต่อไปสหรัฐอเมริกาเพื่อพบลูกและภรรยาซึ่งอพยพไปตั้งแต่ปี 2008 เมื่อเขาติดคุกครั้งสุดท้าย เขาปฏิเสธที่จะไปอยู่กับครอบครัวถาวร เขาบอกว่าเขามีหน้าที่สำคัญที่ต้องทำอีกมากในประเทศพม่าที่เขารัก

          Zarganar พิสูจน์ว่าคำพูดสั่นสะเทือนระบบการปกครองได้โดยทำให้ผู้นำเผด็จการและระบอบเป็นตัวตลก ผู้คนชอบใจเพราะเห็นอย่างเดียวกันแต่ไม่กล้าพูด และเป็นการระบายอารมณ์ที่อึดอัด เรื่องตลกและคำพูดเสียดสีเหล่านี้มันโดนใจอย่างขำขัน ว่ากันว่าเหล่าผู้คุมก็ชอบเขามาก หัวเราะกับเรื่องตลกที่เขาเล่า

          นักแสดงตลกที่มีหลักการเช่น Zarganar จึงเป็นที่ชื่นชอบของคนพม่า คำพูดสองความหมายของเขาเจ็บ ๆ คัน ๆ เหมือนถูกแหนบถอนขน

          เราเล่าเรื่องตลกกันอย่างเสรีและหัวเราะขำขัน แต่มีบางคนที่ยอมแลกคุกกับการเล่าเรื่องตลก คน ๆ นั้นก็คือ Zarganar ผู้รักเสรีภาพและรับรางวัลมากมายจากต่างประเทศ และยืนยันว่าไม่คิดจะเป็นนักการเมือง

          Zarganar เล่าว่า “ประธานาธิบดีบุช หูจิ่นเทา และนายพลตันส่วย ผู้นำพม่าไปหา God บุชถาม God ว่าเมื่อไหร่สหรัฐอเมริกาจะมีอำนาจมากสุดในโลก God ตอบว่า “Not in your life” จนทำให้บุชน้ำตานองหน้า หูจิ่นเทา ถามว่า “เมื่อไหร่จีนจะรวยสุดในโลก” “Not in your life” แต่ในขณะที่หูจิ่นเทาเช็ดน้ำตา นายพลตันส่วยก็ถามว่า “เมื่อไหร่พม่าจะมีน้ำและไฟฟ้าใช้กันพอเพียง” ทันใดนั้น God ก็ร้องไห้โฮและตอบว่า “Not in my life”

GDP สวนทาง “คุณภาพชีวิต”

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
26 มีนาคม 2556 

  ประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่องแซงหน้าอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรเรียกกันได้ว่าประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ    อย่างไรก็ดีตัวเลขของ UNDP (United Nations Development Programs) ที่เพิ่งประกาศออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้   พิสูจน์อีกครั้งว่าคนในประเทศเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องมีคุณภาพชีวิตสูงเสมอไป

GDP คือมูลค่าการผลิตหรือรายได้ที่เกิดจากผลิตของผู้คนที่พักอาศัยในประเทศหนึ่งในช่วงเวลา 1 ปี   พูดหยาบ ๆ ก็คือ GDP คือรายได้รวมที่เกิดขึ้นของคนในประเทศในเวลาหนึ่งปี   ถ้าเอาจำนวนประชากรไปหารก็ได้รายได้ต่อหัว

นักเศรษฐศาสตร์และประชาชนบางส่วนไม่พอใจกับการที่ GDP ถูกใช้เป็นตัวชี้วัด ความสุขของคนในแต่ละประเทศ (ซึ่งจริง ๆ เขาก็มิได้ตั้งใจใช้วัดความสุข)    จึงพยายามหาตัวอื่นมาวัดแทน   เช่น  Gross National Happiness (ความสุขมวลรวม)  แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเพราะ ความสุขมีความหมายที่ดิ้นได้

ในปี 1990 นักเศรษฐศาสตร์ชาวปากีสถาน ชื่อ Mahbub Ulhaq กับพวกได้รวมตัวกันคิดหาสิ่งอื่นมาวัด “คุณภาพชีวิต” (ตัวแทนความสุข) แทน GDP  สุดท้ายงานสำเร็จลงได้ด้วยฝีมือของ Amartya Sen นักเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดียซึ่งต่อมาได้รับรางวัลโนเบิลสาขาเศรษฐศาสตร์

ตัวชี้วัดนี้ของ UNDP ซึ่งเรียกกันว่า Human Deveolpment Index (HDI) มีการปรับแก้ไขกันหลายครั้งจนกระทั่งครั้งหลังสุดคือปี 2011  โดย HDI ได้รวม 3 มิติเข้าด้วยกัน    (1)  การมีชีวิตยืนยาวและมีสุขภาพดี  (ใช้อายุขัยเมื่อแรกเกิด)   (2)  ดัชนีการศึกษา (ใช้จำนวนปีเฉลี่ยที่อยู่ในโรงเรียนกับจำนวนปีที่คาดคะเนว่าจะอยู่ในโรงเรียน)     (3)  ระดับมาตรฐานการครองชีพที่ดี (ใช้รายได้เฉลี่ยต่อหัวโดยวัดแบบปรับค่าครองชีพ   กล่าวคือประเทศที่ค่าครองชีพต่ำตัวเลขนี้ก็จะได้ปรับสูงขึ้น)

แต่ละมิติมีสูตรคณิตศาสตร์เฉพาะเพื่อใช้คิดคำนวณโดยอาศัยเหตุผลทางวิชาการ  และจากนั้นก็นำผลจากทั้งสามมิติมาใส่ในสมการเพื่อให้ได้ตัวชี้วัด “คุณภาพชีวิต” หรือ HDI  ของแต่ละปีของแต่ละประเทศ     ซึ่งมั่นใจว่าสะท้อน “คุณภาพชีวิต” ของประชาชนได้ในระดับหนึ่ง

ตัวเลขล่าสุดของ UNDP ชี้ว่าในระหว่างปี 1990-2012 ประเทศที่ HDI มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือเกาหลีใต้    โดยเปลี่ยนแปลงถึงร้อยละ 63 ในขณะที่รายได้ต่อหัวเปลี่ยนแปลงเฉลี่ยแค่ร้อยละ 4.2 ต่อปี

อิหร่านมี HDI เปลี่ยนแปลงมากเป็นอันดับสองคือเปลี่ยนแปลงร้อยละ 44 ในขณะที่รายได้ต่อหัวเปลี่ยนแปลงเฉลี่ยเพียงร้อยละ 2.5 ต่อปี

ลำดับ 3 คือจีน  HDI เปลี่ยนแปลงร้อยละ 40 (รายได้ต่อหัวเปลี่ยนแปลงร้อยละ 9.4)  ใน ASEAN ประเทศที่น่าสนใจคือมาเลเซีย   HDI เปลี่ยนแปลงร้อยละ 36 (รายได้ต่อหัวเปลี่ยนแปลง ร้อยละ 3)   HDI ของไทยเปลี่ยนแปลงร้อยละ 20.5 (รายได้ต่อหัวร้อยละ 8.7)

ประเทศที่คุณภาพชีวิตเปลี่ยนแปลงมากแต่รายได้เปลี่ยนแปลงน้อย (GDP ขยายตัวต่ำ) ก็คือ เม็กซิโก     อัลจีเรีย และบราซิล  ส่วนบังคลาเทศนั้น HDI เปลี่ยนแปลงในระดับเดียวกับอินเดีย    ถึงแม้จะล้าหลังด้านการเจริญเติบโตของรายได้กว่าอินเดียก็ตาม

ตัวเลขเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าการมีการเจริญเติบโตที่สูงมิได้นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของ “คุณภาพชีวิต” ที่สูงขึ้นเสมอไป      ตัวอย่างที่น่าสนใจคือตุรกี     ซึ่งอยู่ในอันดับ 9 ของประเทศที่มี HDI เปลี่ยนแปลงมากที่สุดอันเนื่องมาจากการทุ่มรายจ่ายโดยตรงเพื่อแก้ไขความยากจนมากกว่าเดิมถึง  3 เท่าตัวระหว่าง 2002-2010  จนสามารถลดสัดส่วนของประชากรที่อยู่ต่ำกว่าเส้นยากจนจากร้อยละ  30 ในปี 2002   เหลือเพียงร้อยละ 4 ในปี 2010   แต่รายได้ต่อหัวเปลี่ยนแปลงเพียงร้อยละ 2.5 ต่อปี

การไม่สอดคล้องกันของการเปลี่ยนแปลง “คุณภาพชีวิต” และรายได้ตอกย้ำว่าสังคมไม่ควรตีความหมายของการเปลี่ยนแปลง GDP กว้างกว่าการผันแปรของรายการหนึ่งในบัญชีรายได้ประชาชาติ (National Income Account)   ซึ่งโยงใยกับรายได้

ความเห็นของ Stiglitz

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
19 มีนาคม 2556 

          ศาสตราจารย์ Joseph Stigitz นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบิลผู้มีชื่อเสียงได้มาพูดที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เรื่องทางโน้มเศรษฐกิจของโลก และจะเข้าร่วมงานสัมมนาซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ / World Bank / Australian National University / Aus AID และหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เกี่ยวกับระบบการให้ทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา / การศึกษาและผลตอบแทนจากตลาดแรงงาน และ ASEAN กับอุดมศึกษา

          ผมขอนำสิ่งที่ Stiglitz พูดเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเล่าสู่กันฟัง

          Stiglitz ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์มหภาคธรรมดา ๆ หากเป็นนักเศรษฐศาสตร์ “อื้อฉาว” ที่เรียกว่า “อื้อฉาว” เพราะเห็นไม่ตรงกับนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับบทบาทของภาครัฐในการควบคุมกำกับธุรกิจ ระบบการเมืองสหรัฐอเมริกา การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของ EU และสหรัฐอเมริกา ฯลฯ

          อาจารย์ Stiglitz อายุ 70 ปี เคยสอนหนังสืออยู่หลายแห่ง ปัจจุบันสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัย Columbia เคยเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจของประธานาธิบดี Clinton มีผลงานวิชาการมากมาย เคยเป็น Chief Economist ที่ World Bank ก่อนรับรางวัลโนเบิล

          Stiglitz พูดหลายเรื่องหลายประเด็น ในพื้นที่จำกัดของคอลัมน์นี้ ขอยกมา 5 เรื่องดังนี้ (1) เขาเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและ EU จะยังไม่ฟื้นตัวสู่ภาวะปกติก่อนสิ้นทศวรรษนี้ (รอไปอีกอย่างน้อย 7 ปี) ความรู้สึกที่เขามีต่อเศรษฐกิจโลกโดยทั่วไปอยู่ในด้านลบ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกานั้นเขาเห็นว่าการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในยุคสมัยของประธานาธิบดีบุชนั้นผิดฉกรรจ์ โดยเฉพาะในเรื่อง “รัดเข็มขัด” (austerity) Stiglitz เชื่อว่าต้องกระตุ้นเศรษฐกิจหนักกว่าเดิมด้วยนโยบายการคลัง (งบประมาณขาดดุล) มิใช่นโยบายการเงินด้วยการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มดังที่เป็นอยู่

          (2) การเมืองในสหรัฐนั้นปัจจุบันอยู่ในสถานะที่ขบกันแบบแก้ไม่ออก (ฟังดูคุ้น ๆ) กล่าวคือแต่ละพรรคต่างไม่ยอมกันจนทำงานแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ พยายามที่จะโทษกัน พรรครีพับลิกันคุมสภาผู้แทนราษฎร พรรคเดโมแครตคุมวุฒิสภา การแก้ไขเกิดได้ทางเดียวคือต้องรอเลือกตั้งปี 2014

          (3) ความเชื่อที่มาจาก Adam Smith ปรมาจารย์เศรษฐศาสตร์เมื่อกว่า 200 ปีมาแล้วที่ว่าหากปล่อยให้กลไกตลาดทำงานอย่างเสรีแล้วจะมีมือที่มองไม่เห็น เป็นพลังผลักดันให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและประชาชนจะมีความกินดีอยู่ดีขึ้น Stiglitz เชื่อว่าในโลกความเป็นจริงนั้นมันมีกฎหมายตลอดจนกฎเกณฑ์และประเพณีตลอดจนคนจ้องจะรวมหัวกันโกง (ผมเติมเอง) เป็นอุปสรรคอยู่มากมายจนทำให้กลไกตลาดไม่มีประสิทธิภาพ และถึงหากตลาดจะทำงานได้จริง ก็ต้องใช้เวลานานมาก

          ความเชื่ออย่างนี้จึงนำไปสู่การต้องมีกฎเกณฑ์ควบคุมภาคการเงินอย่างรัดกุมไม่ให้หละหลวมจนเกิดการสมคบกันหาประโยชน์จากวิกฤตการเงินดังเช่นที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาในปี 2008

          (4) Stiglitz เชื่อว่าการมีเงินสกุลเดียวกันของ EU คือสาเหตุที่ทำให้วิกฤตหนักขึ้น พลังอำนาจในการแก้ไขปัญหาของประเทศอยู่ที่การสามารถพิมพ์ธนบัตรของตัวเองได้ดังเช่นสหรัฐอเมริกาที่ปั้มเงินออกมาเป็นว่าเล่น (ส่วนค่าของเงินในที่สุดจะเป็นอย่างไรนั้นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง) EU ฆ่า ตัวตายด้วยการเอาอำนาจนี้มารวมไว้ที่ส่วนกลางเพื่อแก้ไขปัญหาของรายประเทศ

          Stiglitz ไม่เห็นด้วยกับการมีเงินสกุลเดียวกันของ ASEAN หรือของภูมิภาคนี้เพราะ บทเรียนก็มีให้เห็นอยู่ชัดเจนแล้ว

          (5) ในเกือบทุกกรณี นักเศรษฐศาสตร์รู้ว่าหนทางแก้ไขปัญหานั้นคืออะไร ควรใช้เครื่องมือใด แต่ปัญหาของการแก้ไขเศรษฐกิจคือมีการเมืองเข้ามาผสมอยู่ด้วยโดยธรรมชาติ ดังนั้นนักการเมืองต้องรู้วิธีว่าจะเอาข้อเสนอของนักเศรษฐศาสตร์ไปใช้อย่างไรให้เกิดผล นักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายเดียวแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้

          ผมแอบถาม Professor Stiglitz เป็นการส่วนตัวว่าภาพยนตร์สารคดีดังเรื่อง “Inside Job” ที่เล่าเรื่องการสมคบกัน “โกง” ประชาชนโดยกลุ่มธุรกิจการเงิน Wall Street นั้นมีความจริงอยู่เพียงไร ท่านตอบว่าไอ้ที่เล่ามานั้นน่ะมันเป็นเพียงส่วนเดียวของความจริงที่เกิดขึ้นเท่านั้นเอง ท่านพูดทิ้งไว้แค่นี้ให้สรุปเอาเอง

          จะหานักเศรษฐศาสตร์ระดับรางวัลโนเบิลที่กล้าพูดขนาดนี้คงหาได้ไม่ง่ายนะครับ เพราะแค่ไม่พูดและเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่เป็นอยู่ก็ได้รับผลประโยชน์มากมายแล้ว

โพลผู้ว่าพลาดได้อย่างไร

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
12 มีนาคม 2556

          ในการแข่งขันบาสเกตบอลชิงเหรียญทองโอลิมปิกในปี ค.ศ. 1972 ที่เยอรมันนี   ทีมสหรัฐอเมริกาและโซเวียตสู้กันดุเดือดจนสัญญาณหมดเวลาดังขึ้น   สหรัฐอเมริกาชนะไป 1 แต้ม  ดีใจกันใหญ่   ฝ่ายโซเวียตประท้วงว่ายังเหลือเวลาอีก 1 วินาที     ทันทีที่กรรมการยอมต่อเวลาให้     ผู้เล่นโซเวียตก็โยนลูกข้ามคอร์ต    ผู้เล่นอีกคนรับได้ทันทีและหยอดลงไปได้ 2 แต้ม และก็หมดเวลาพอดี    สุดท้ายเป็นอันว่าโซเวียตชนะไป    อย่างนี้เรียกว่าแต่ละฝ่ายชนะ   แต่โซเวียตชนะหลังสุด
          การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็เช่นกัน  ทั้งสองฝ่ายชนะโดย พล.ต.อ. พงศพัศ พงษ์เจริญ ชนะก่อนด้วยโพลต่าง ๆ ทันทีที่ปิดหีบลง   แต่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ชนะหลังสุดเมื่อนับคะแนนจริงครบ
          มันเป็นไปได้อย่างไรที่สารพัดโพลของหลากหลายแหล่งจะผิดได้ขนาดนั้น    แต่มันก็เป็นไปแล้วและจะเป็นอีก      ถ้าไม่ศึกษาข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น
          ที่โกรธจนขำก็คำอธิบายของนักทำโพลบางคนที่ว่าความคลาดเคลื่อนขนาดหนักชนิดหน้าแตกแบบหมอปฏิเสธเย็บนั้นเกิดจากนิสัยคนไทยที่ไม่ชอบเปิดเผยความจริงว่าลงคะแนนให้ใครเมื่อถูกถามเพื่อทำ Entry และ Exit Poll  นอกจากนี้มีการแข่งขันกันดุเดือดแบ่งฝ่ายจนคนไทยไม่ตอบตามความเป็นจริง
          อุแม่เจ้า     ที่ผิดพลาดกันขนาดเอาปี๊บคลุมหัวขนาดนี้เป็นความผิดของพวกเรา!  ไม่ใช่ของคนทำโพล
          เมื่อพวกท่านเป็นคนทำโพลที่ดีก็ต้องศึกษาสภาพแวดล้อมของการทำโพล  อุปนิสัยของคนถูกถาม  ลักษณะของคำถามที่ทำให้ผู้ตอบเข้าใจชัดเจน  ฯลฯ  แล้วหาทางปรับตัวเลขที่ได้มาด้วยหลักวิชาการทางสถิติเพื่อให้ได้ตัวเลขที่คิดว่าสะท้อนความเป็นจริงมากที่สุด
          มันเป็นหน้าที่ของคนทำโพลที่ต้องคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ประกอบเพื่อปรับข้อมูลที่ได้รับมา  หาใช่หน้าที่ของคนตอบที่จะต้องตอบให้ตรงตามลักษณะที่ผู้ทำโพลต้องการไม่
          ในฐานะที่เคยมีประสบการณ์ทำโพลมาบ้าง  เชื่อว่าความผิดพลาดของ Entry Poll และ Exit Poll มาจากสาเหตุอย่างน้อย 2 ประการดังต่อไปนี้
          (1)  ตัวอย่างที่เก็บได้นั้น   ไม่ใช่ตัวแทนที่ถูกต้องของผู้ลงคะแนนเสียง พูดอีกอย่างก็คือซุปของทัพพีที่ตักมานั้นไม่ใช่ตัวแทนรสชาติของซุปทั้งหม้อ      
          ความจริงที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือผู้มาลงคะแนนเสียงในแต่ละช่วงเวลานั้นอาจเป็นคนที่มีแบบแผนการเลือกผู้สมัครแตกต่างกัน   นอกจากนี้บางหน่วยเลือกตั้งอาจมีการลงคะแนนเสียงให้ผู้สมัครคนเดียวอย่างท่วมท้นก็เป็นได้   
          เมื่อเก็บตัวอย่างในบางช่วงเวลาและจากบางหน่วยเลือกตั้งโดยมิได้ศึกษาแบบแผนการลงคะแนนและองค์ประกอบของผู้มาลงคะแนนของหน่วยที่เก็บอย่างละเอียด   ตัวอย่างที่เก็บได้จึงมิใช่ตัวแทนของผู้ลงคะแนนเสียงทั้งหมดอย่างแท้จริง      ดังนั้นต่อให้เขาตอบตามความเป็นจริง     ผู้ทำโพลก็ผิดวันยังค่ำ
          การทำ Entry Poll และ Exit Poll นั้นยากกว่าการทำโพลพยากรณ์ผลเพราะความยากของการได้กลุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนผู้ลงคะแนนเสียงทั้งหมด     ลองจินตนาการดูว่าถ้าจะต้องมีการเลือกคนจะไปลงคะแนนหรือลงคะแนนแล้วที่มีลักษณะตรงกับกลุ่มตัวอย่างที่ต้องการซึ่งมีฐานจากอายุ     อาชีพ     รายได้     การศึกษา    ฯลฯ    ถามว่าจะมีใครตอบได้ละเอียดขนาดนั้นในเวลาอันสั้น  และต้องตัดสินใจตรงนั้นว่าจะเอาไว้ในกลุ่มตัวอย่างหรือไม่
          การทำโพลแบบนี้ต้องมีการประมวลผลอย่างรวดเร็ว (มิฉะนั้นผลจากการนับคะแนนจริงอาจออกมาก่อน!)    ต้องมั่นใจในกลุ่มตัวอย่าง   และรู้จักปรับคะแนนที่ได้ตามหลักวิชา
          (2)  ประสบการณ์ของผู้ถาม    ในสถานที่เลือกตั้งและบริเวณใกล้เคียงมักมีผู้สนับสนุนผู้สมัครหลายคนปรากฏตัวอยู่      การถามคำถามต้องเป็นไปอย่างรอบคอบ     มิฉะนั้นผู้ตอบอาจไม่ให้ความร่วมมือ   หรือตอบไปตามเพลงเพื่อไม่ให้ตัวเองเจ็บตัวก็เป็นได้
          การได้กลุ่มตัวอย่างมาจึงเป็นไปเพราะความบังเอิญหรือสิ่งแวดล้อม  มิได้เป็นไปตามการออกแบบอิงวิชาการแต่แรก       ผลที่ออกมาจากกลุ่มตัวอย่าง ‘บังเอิญ’  จึงให้ผล ‘บังเอิญ’  ด้วย
          ถ้าหากไม่มีการควบคุมงานสนามที่ดี เจ้าหน้าที่สนามอาจขี้เกียจหรือปวดหัว  จนสุดท้ายอาจตอบเสียเองก็เป็นได้         
          เหตุใดทุกโพลยกเว้นนิด้าโพลจึงให้ผล Entry และ Exit Poll ที่เป็นไปในทิศทางที่ตรงข้ามคะแนนจริงเหมือนกันหมด?       ผู้เขียนตอบไม่ได้แต่ขออนุมานว่าคงใช้ผลจากโพลพยากรณ์ก่อนหน้าเป็นฐานในการตัดสินใจค่อนข้างมาก
          เมื่อตัวอย่างของโพล Entry และ Exit ผิดพลาดและผลจากโพลพยากรณ์ผิดพลาด ทุกอย่างที่ตามมาจึงพากันลงเหวไปหมด
          สาเหตุสำคัญที่โพลพยากรณ์ผิดพลาดก็เพราะมีคนแห่มาลงคะแนนเพิ่มจากที่โพลคาดกันไว้ถึงร้อยละ 13 (จากร้อยละ 51 ครั้งที่แล้วเป็นร้อยละ 64 ในครั้งนี้)  หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 570,000 คน 

          หากถามว่าเหตุใดคนเหล่านี้ถึงแห่กันมาลงคะแนนครั้งนี้      คำตอบก็อาจเป็นว่าเพราะส่วนใหญ่ของคนเหล่านี้มีความจำไม่เลอะเลือนและกลัวบ้านเมือง “ถูกกลืนทั้งหัวจรดหาง” 

นักคิดระดับโลกล้วนคุ้นเคยเศรษฐศาสตร์

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
5 มีนาคม 2556

          นักคิดระดับโลกในด้านการบริหารจัดการหลายคนล้วนผ่านการคุ้นเคยกับเศรษฐศาสตร์มาด้วยกันทั้งนั้น น่าคิดว่าเหตุใดศาสตร์นี้จึงช่วยให้ประสบความสำเร็จได้

          ขอกล่าวถึง 3 คนดังซึ่งได้แก่ Peter Drucker / Michael Porter / และ Philip Kotler

          Peter Drucker เป็นยิวออสเตรียโดยกำเนิดก่อนที่จะโอนสัญชาติเป็นอเมริกัน เขาเกิดในปี 1909 เสียชีวิตไปในวัย 95 ปี เขียนหนังสือรวม 39 เล่มซึ่งมีการแปลมากกว่า 30 ภาษา เป็นเจ้าของบทความนับร้อย ๆ ชิ้น ในวัย 90 ปี เขาออกหนังสือปีละ 1-2 เล่ม

          Drucker เป็นผู้สนใจเรื่องราวของการบริหารจัดการมนุษย์ในองค์กร เขาเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิดสูงมากเป็นเวลาต่อเนื่องกว่าครึ่งศตวรรษในเรื่องทฤษฏีการจัดการและการปฏิบัติจริง

          ก่อนจบกฎหมายปริญญาเอก เขาเรียนจบปริญญาตรีสไตล์ยุโรปคือมีความรู้ทั้งด้านปรัชญา ประวัติศาสตร์ การเมืองและเศรษฐศาสตร์ เขาเคยเป็น Chief Economist ของธนาคารพาณิชย์และอีกหลายอาชีพก่อนที่จะมาเป็นอาจารย์ในสหรัฐอเมริกา

          Drucker ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากนักเศรษฐศาสตร์ชาวออสเตรียเรืองนาม Joseph Schumpeter ผู้เป็นเพื่อนของพ่อเขาในเรื่องนวตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการ อีกทั้งเขาฟังการบรรยายของ John Maynard Keynes ปรมาจารย์เศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษอีกด้วย

          สำหรับ Michael Porter ผู้เกิดในปี 1947 นั้น เรียกได้ว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์โดยตรง หลังจากจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์และ M.B.A. จาก Harvard Business School แล้ว เขาจบปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์จาก Harvard ในปี 1973

          Porter เขียนหนังสือ 18 เล่ม และบทความอีกนับไม่ถ้วน ผลงานของเขาล้วนเกี่ยวกับการแข่งขันและกลยุทธ์องค์กรธุรกิจ จนได้ชื่อว่าเป็นบิดาของกลยุทธ์สมัยใหม่ เขาเป็นเจ้าของแนวคิดสำคัญที่มีชื่อว่า Competitive Advantage ซึ่งต่างจาก Comparative Advantage ที่ร่ำเรียนกันมานานในเศรษฐศาสตร์

          Value Chain / Core Competency / Competitive Strategy ฯลฯ ล้วนเป็นคำที่เขานำมาใช้เพื่ออธิบายการสร้างกลยุทธ์ในการแข่งขันตามแนวคิดสมัยใหม่อย่างที่ไม่เคยมีใครทำ อย่างเป็นระบบมาก่อน

          ส่วน Philip Kotler นั้นเกิดในปี 1931 (ปัจจุบันอายุ 82 ปี) จบปริญญาโทและปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชิคาโก และ MIT โดยเป็นลูกศิษย์ของยักษ์เศรษฐศาสตร์ผู้รับรางวัล โนเบิล 3 คน คือ Milton Friedman / Paul Samuelson และ Robert Solow

          ไม่มีนักศึกษา M.B.A. ชั้นดีคนใดที่ไม่เคยอ่านตำราการตลาดของเขา ตำราชื่อ Marketing Management เป็นตำราระดับบัณฑิตศึกษาที่อ่านกันกว้างขวางที่สุดในโลก เขาเขียนหนังสือรวมกว่า 50 เล่มในหลากหลายสาขาอย่างน่าทึ่ง

          Kotler พัฒนาแนวคิดใหม่ ๆ เกี่ยวกับการตลาดไว้มากมาย เขาเชื่อว่าการตลาดเป็นสาขาหนึ่งที่สำคัญของเศรษฐศาสตร์ด้วยซ้ำ มีคนกล่าวถึงเขาว่าเป็นบิดาของ “Marketing Management”

          สิ่งสำคัญที่เชื่อว่าเศรษฐศาสตร์ได้ให้แก่ทั้งสามคนก็คือความกว้างในการคิด เมื่อเศรษฐศาสตร์มีจุดประสงค์ในการสร้างสวัสดิการสังคม (Social Welfare) ให้แก่สมาชิกโดยมิได้ ติดแคบอยู่แค่เรื่องเงินหรือกำไร หรือขาดทุน แนวคิดจึงครอบคลุมไปกว้างไกลถึงแง่มุมต่าง ๆ ของปัญหาและชีวิตของมนุษย์

          เมื่อกรอบความคิดของผู้คุ้นเคยกับเศรษฐศาสตร์กว้างดังนั้นเมื่อไปจับสาขาใดขึ้นมาเป็นพิเศษ เช่น Management (Drucker) หรือ Competition and Strategy (Porter) หรือ Marketing (Kotler) จึงสามารถเชื่อมโยงความคิดกับศาสตร์อื่น ๆ และประเด็นอื่น ๆ ได้ดีจนเกิดเป็นแนวคิดใหม่ ๆ ขึ้นได้มาก

          อยากรู้ว่า Phillp Kotler ในวัย 82 ปี ยังเฉียบคมเพียงใด Nation Group เชิญ Kotler มาบรรยายเรื่อง Marketing 3.0 ในวันที่ 6 มีนาคมนี้