ศึกสองนางพญาบังคลาเทศ

วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
14
มกราคม 2557

          เหตุการณ์ฝ่ายค้านคว่ำบาตรไม่ลงเลือกตั้งและประท้วงกันจนนองเลือดในบังคลาเทศในปัจจุบันทำให้คนไทยสนใจเป็นพิเศษว่ามันเกิดอะไรขึ้น

          ก่อนกล่าวถึงสองนางพญาคือนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันและผู้นำฝ่ายค้าน ซึ่งต่างฝ่ายต่างเคยเป็นนายกรัฐมนตรีกันมาแล้วคนละ 2 สมัย ขอเล่าประวัติศาสตร์ของประเทศนี้เพื่อปูพื้นไปสู่สองนางพญาซึ่งเป็นตัวละครเอก

          การได้รับอิสระภาพในปี ค.ศ. 1947 ของอินเดียทำให้เกิดประเทศขึ้นใหม่อันประกอบด้วย ปากีสถานตะวันตกซึ่งอยู่ด้านตะวันตกของอินเดีย และปากีสถานตะวันออกซึ่งอยู่ไกลออกไป ปากีสถานทั้งตกและออกเป็นประเทศเดียวกันแต่ดินแดนไม่ติดกันโดยมีอินเดียคั่นอยู่

          บุคคลสำคัญที่ต่อสู้เพื่อความเป็นเอกราชของปากีสถานตะวันออกคือ Sheikh Mujibur Rahman หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Mujib จนได้เป็นประเทศใหม่ในชื่อของบังคลาเทศในปี 1971 (ปากีสถานตะวันตกก็เปลี่ยนชื่อเป็นปากีสถาน) และในปี 1973 เขาก็ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีโดยมีพรรค Awami League (AL) ซึ่งมีนโยบายเอียงไปทางสังคมนิยมเป็นฐาน อย่างไรก็ดีในปี 1975 Mujib ซึ่งได้รับการยอมรับนับถืออย่างกว้างขวางว่าเป็นบิดาของประเทศก็ถูกสังหารพร้อมกับครอบครัวเกือบทั้งหมด

          ลูกสาวคนโตชื่อ Shiekh Hasina และคนเล็กอีกคนรอดชีวิตเพราะอยู่นอกประเทศ Hasina มีเลือดพ่อทางการเมืองเข้มข้นและปัจจุบันเธอคือนางพญาคนแรกที่เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ในปัจจุบัน

          บ้านเมืองยุ่งอยู่ 2 ปี มีการประกาศสภาวะฉุกเฉิน มีรัฐประหาร ทหารเข้ามามีบทบาทสำคัญในการแย่งชิงอำนาจกัน ในที่สุดนายพล Ziaur Rahman ก็ทำรัฐประหารและก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีในปี 1977 โดยมีพรรค BNP ซึ่งมีนโยบายเศรษฐกิจเสรีเป็นฐาน อย่างไรก็ดีในปี 1981 เขาก็ถูกสังหารอีกเหมือน Mujib

          ภรรยาหม้ายของเขาชื่อ Khaleda Zia ทำงานการเมืองต่อจากสามีภายใต้อุดมการณ์ของพรรค BNP เธอคือนางพญาคนที่สองซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายค้านในปัจจุบัน หัวหน้าผู้คว่ำบาตรการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างดุเดือด

          ในเวลาต่อมาชีวิตของทั้งสองนางพญาโยงใยกันเป็นคู่แค้น ต่างเกลียดกันอย่างเข้ากระดูกดำ ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะท่ามกลางคอรัปชั่นที่ดาษดื่น การฆาตกรรม กดขี่ข่มเหง ฝ่ายตรงกันข้ามอย่างเต็มไปด้วยความรุนแรง

          เมื่อนายพล Ziaur Rahman สิ้นชีวิต ทหารก็เข้ามามีบทบาทอีกครั้งโดยมีนายพล Hossain Mohammad Ershad เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารและต่อมาเป็นประธานาธิบดีสามารถครองอำนาจได้ยาวจาก ค.ศ. 1982 ถึง 1990 ในช่วงเวลานี้ Hasini เข้าออกคุกหลายครั้งต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย โดยร่วมมือกับ Khaleda Zia และกลุ่ม
          ประชาชนต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ในที่สุดก็สามารถผลักดันให้ Ershad ต้องลาออกและจัดให้มีการเลือกตั้งในปี 1991

          ในการเลือกตั้งครั้งนี้ Khaleda Zia แห่งพรรค BNP ก็ชนะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิง คนแรกของโลกมุสลิม (เปลี่ยนระบบมาเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจบริหารสูงสุด) เธอครองอำนาจท่ามกลางแรงกดดันจากพรรคฝ่ายค้านคือ AL และพรรคอื่น ๆ ให้มีรัฐบาลรักษาการเป็นผู้ดูแลการเลือกตั้งแทนแต่นายกรัฐมนตรีก็ไม่ยอมในการเลือกตั้งในปี 1996 Hasini จึงเรียกร้องให้หยุดงานเป็นเวลาหลายอาทิตย์ และพรรคฝ่ายค้านรวมหัวกันประกาศบอยคอตการเลือกตั้ง กล่าวคือไม่ส่งผู้สมัครลงแข่ง

          สภาผู้แทนราษฎรที่มีแต่ ส.ส. จาก BNP หรือฟากรัฐบาลอยู่ได้ไม่นานเพราะขาดความชอบธรรมจนต้องประกาศเลือกตั้งอีกครั้งใน 4 เดือนต่อมาในปี 1996 โดยมีรัฐบาลรักษาการเป็นผู้ดูแลการเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งครั้งนี้ Hasini แห่งพรรค AL ชนะได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก Zia กลับมาเป็นผู้นำฝ่ายค้านแทน

          Hasini เป็นนายกรัฐมนตรีจาก 1996 จนถึง 2001 ท่ามกลางการประท้วง หยุดงาน วุ่นวายปั่นป่วนและความรุนแรงขึ้นทุกที และในปี 2001 ก็แพ้เลือกตั้งเสียแชมป์ให้แก่ Zia ผู้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 Zia ครองอำนาจจาก 2001 ถึง 2006 จนถึงกำหนดเลือกตั้งใหม่

          ในการเลือกตั้งที่กำหนดในปี 2007 Hasani ผู้นำฝ่ายค้านไม่ยอมรับนายกรัฐมนตรีรักษาการ กล่าวหาว่าไม่เป็นกลาง ต่อสู้ประท้วงกันจนมีผู้เสียชีวิต 40 คน ทั้งพรรค AL และ BNP ตกลงกันไม่ได้จนทหารเข้าแทรกแซงจัดตั้งรัฐบาลรักษาการขึ้นมาจัดการ “ล้างบาง” คอรัปชั่น และความชั่วร้ายทั้งปวงที่มีอยู่ทั่วไป

          รัฐบาลของทหารชุดนี้จริงจังในการจัดการปราบคอรัปชั่นอย่างไม่เลือกหน้า ลูกชายสองคนของ Zia และ Zia เองถูกจับข้อหาคอรัปชั่น ส่วน Hasani โดนข้อหาคอรัปชั่นและฆาตกรรมคนจำนวนมาก รัฐบาลพยายามกีดกันไม่ให้ Hasani กลับจากสหรัฐอเมริกา และบีบให้ Zia ออกนอกประเทศ ทั้งหมดนี้เพื่อ “ปฏิรูปประเทศ” เพราะทน “วีรกรรม” ของสองนางพญาไม่ไหว

          อย่างไรก็ดีในที่สุดหลังจากขึ้นศาล ต่อสู้คดีกันไม่นาน นางพญาทั้งสองก็หลุดจากคดีและมีการเลือกตั้งใหญ่ในปลายปี 2008 ทั้ง Hasani และ Zia ลงเลือกตั้งผลปรากฏว่า Hasani ชนะอย่างท่วมท้น เธอได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่สองจนถึงปลายปี 2013

          ปัจจุบัน Zia อายุ 68 ปี และ Hasani อายุ 66 ปี ต่างไม่ลดราวาศอกกันเลยในวัยนี้ เมื่อการเลือกตั้งตามกำหนดมาถึงในวันที่ 5 มกราคม 2014 Hasani ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีห้ามมิให้ฝ่ายค้านเดินขบวนประท้วง ตำรวจถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญ เธอกักขัง Zia ไว้ในบ้านโดยอ้างว่าเพื่อ รักษาความปลอดภัย และไม่ยอมให้มีรัฐบาลรักษาการเป็นผู้ดูแลการเลือกตั้ง

          Zia ร่วมกับพรรคฝ่ายค้านทั้งหมดไม่พอใจมาก ประท้วงหยุดงานมาหลายเดือนก่อนเลือกตั้ง บอยคอตเลือกตั้งและประท้วงด้วยความรุนแรงเหมือนที่ Hasani กระทำกับเธอในปี 1996 เพียงแต่เที่ยวนี้เธอได้เรียนรู้บทเรียนมาแล้วจึงเล่นหนักกว่าเก่า

          ในการเลือกตั้ง 300 ที่นั่งที่ผ่านไปนั้นมีอยู่ 154 ที่นั่งที่ไม่มีคู่แข่ง แต่ก็มีหลายพรรคสมัคร Hasani จึงชนะได้ 127 ที่นั่ง ส่วนอีก 146 ที่นั่งที่มีการแข่งนั้น Hasani ชนะ 105 ที่นั่ง สรุปก็คือพรรครัฐบาลของ Hasani ชนะขาด

          สถานการณ์ที่เป็นอยู่ก็คือไม่มีพรรคใหญ่เป็นฝ่ายค้านในสภา ประวัติศาสตร์ของประเทศนี้ก็คือถ้าถูกบอยคอตเลือกตั้งและมีพรรคเดียวในสภาก็จะอยู่ไม่ครบเทอม ความปั่นป่วนวุ่นวายรุนแรงยังไม่จบและจะมีต่อไปอีกเพราะไม่ต้องการให้นางพญาอีกคนได้เป็นนายกรัฐมนตรีติดต่อกันสองสมัย ……..เรื่องอย่างนี้มันยอมกันไม่ได้

          บทเรียนสำคัญของไทยก็คือช่วง 2006-2008 ที่ “ล้างบาง” นั้น เหตุใดมันจึงไม่ได้ผลถึงแม้ผู้นำทั้งสองฝ่ายโดนดำเนินคดีคอรัปชั่นด้วยกันทั้งคู่พร้อมพรรคพวกแต่ก็รอดมาได้ ทำอย่างไร “การปฏิรูป” ปราบคอรัปชั่นจึงจะมีประสิทธิภาพ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *