อองซาน ซูจี กับตำแหน่งประธานาธิบดี

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
18
กุมภาพันธ์ 2557

ที่มาภาพ https://www.kaohoon.com/content/419425

          คนจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศเชียร์ให้อองซาน ซูจี เป็นประธานาธิบดีจากการเลือกตั้ง ในปี 2015 แต่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของเมียนมาร์ โอกาสของเธอมีไม่มากนักถ้าหาก ไม่มีการรีบแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ทหารได้เป็นผู้เขียนขึ้นเมื่อ 6 ปีก่อน

          เมียนมาร์มีรัฐธรรมนูญน้อยฉบับกว่าไทยมาก รัฐธรรมนูญฉบับแรกของเมียนมาร์ประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1947 หลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมียนมาร์ใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 1947 จนถึงปี 1962 ก็ยกเลิกไปเมื่อนายพลเนวิน (ไม่ใช่คนที่แฟนฟุตบอลไทยคุ้นเคย) ปฏิวัติ ซึ่งทำให้ทหารมีบทบาทสำคัญในการบริหารประเทศจนถึงบัดนี้

          รัฐธรรมนูญฉบับที่สองประกาศใช้ในปี 1974 หลังจากมีการลงประชามติรับรองในปีก่อนหน้า ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เมียนมาร์มีสภาเดียวที่ผู้แทนมาจากพรรค BSPP (Burma Socialist Programme Party) โดยมีวาระ 4 ปี และนายพลเนวินเป็นประธานาธิบดี

          หลังจากเหตุการณ์ประท้วงครั้งใหญ่ของประชาชนในวันที่ 8 เดือน 8 ของปี 1988 (8888 Uprising) ก็มีการเลือกตั้งทั่วไป ถึงแม้พรรคของอองซาน ซูจี จะชนะแต่ทหารก็ยังคงครองอำนาจอยู่ภายใต้ชื่อ SLORC (State Law and Order Restoration Council) โดยรัฐบาลทหารประกาศไม่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 1974

          เมียนมาร์ไม่มีรัฐธรรมนูญจนกระทั่งมีการร่างฉบับที่ 3 ในปี 2008 และผ่านประชามติโดยระบุว่าเป็นก้าวสำคัญสู่ประชาธิปไตย ซึ่งตรงข้ามกับความเห็นของพรรค NLD (National League for Democracy) ของอองซาน ซูจี และประชาชนจำนวนมาก

          ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ 2008 รัฐสภา (Union Assembly) ประกอบด้วย 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร (People’s Assembly) มี 440 ที่นั่ง และสภาแห่งชาติ (National Assembly) มี 224 ที่นั่ง นอกจากนี้ 3 กระทรวงต้องดูแลโดยทหารคือกระทรวงกลาโหม มหาดไทย และกิจการชายแดน

          ในสภาผู้แทนราษฎร มีที่นั่งกันไว้ให้กองทัพ 110 ที่นั่งในที่นั่งทั้งหมด 440 ที่นั่ง และในสภาแห่งชาติมีที่นั่งกันไว้ให้กองทัพ 56 ที่นั่งในที่นั่งทั้งหมด 224 ที่นั่ง

          ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นอย่างน้อยร้อยละ 20 หรือ 110 ที่นั่งของสภาผู้แทนราษฎรต้องให้ความเห็นชอบ ซึ่งหมายความว่าถ้าทหารไม่เห็นด้วยก็ไม่มีทางแก้ไขได้เลย

          ถึงแม้จะมีเสียงคัดค้านรัฐธรรมนูญฉบับ 2008 อย่างไร ผู้นำทหารซึ่งเป็นผู้นำประเทศด้วยก็เดินหน้าใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ในการเปิดประเทศ เหตุการณ์ที่น่าสนใจก็คือในปี 2012 หลังจากที่ อองซาน ซูจี ได้รับอิสรภาพไม่นาน พรรคของเธอก็ลงเลือกตั้งชิง 46 ที่นั่งในบริเวณใกล้ย่างกุ้ง ผลก็คือพรรค NLD ของเธอชนะท่วมท้นได้ 43 ที่นั่งจาก 46 ที่นั่ง

          อุปสรรคของอองซาน ซูจี สู่การเป็นประธานาธิบดีก็คือมาตรา 59f ซึ่งระบุว่าบุคคลที่จะเป็นประธานาธิบดีได้นั้นคู่สมรสหรือลูกต้องไม่ถือสัญชาติอื่น แต่ไม่ห้ามหากบุคคลผู้นั้นจะอยู่ในตำแหน่งอื่นที่มีการเลือกตั้ง

          มาตรา 59f ทำให้อองซาน ซูจี ซึ่งสามีและลูกชาย 2 คนถือสัญชาติอังกฤษไม่อาจเป็นประธานาธิบดีได้หากไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรานี้ซึ่งหมายความว่าทหารจะต้องให้ความเห็นชอบด้วย

          เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างโดยปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชน (หากไม่นับประชามติ) ในขณะนี้จึงมีกว่า 2,500 ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญจากสมาชิก หากพิจารณาแก้ไขกันจริงจังอาจใช้เวลาเป็นปี ๆ และต้องมีการถกเถียงกันมากมายจากสมาชิกซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน ซึ่งกว่าร้อยละ 70 เป็นเชื้อสายพม่า ส่วนที่เหลือเป็น 135 ชนกลุ่มน้อย

          ณ ปัจจุบันข้อเสนอแก้ไขมาตรา 5 9f ซึ่งทหารดูจะยอมผ่อนปรนก็คือตัดเงื่อนไขคู่สมรสเป็นคนต่างชาติออกไป (สามีเธอตายไปแล้ว) เหลือแต่เงื่อนไขการถือสัญชาติเมียนมาร์ของลูก ซึ่งหมายความว่าเธอจะเป็น
          ประธานาธิบดีได้ก็ต่อเมื่อลูกทั้งสองของเธอยอมเปลี่ยนสัญชาติเป็นเมียนมาร์

          เรื่องนี้เป็นปัญหาสำหรับเธอมากเพราะเธอมีความขัดแย้งกับลูกชายคนโตจนถึงกับไม่พบหน้ากันมานานแล้ว และลูกทั้งสองพำนักอยู่ต่างประเทศ เธอบอกว่าลูกของเธอมีเส้นทางของเขา เธอไม่อาจบังคับให้เขาเปลี่ยนสัญชาติเป็นเมียนมาร์ได้

          เมื่อสถานการณ์ถูกสร้างขึ้นมาเช่นนี้ การจะได้เป็นประธานาธิบดีหรือไม่จึงอยู่ที่ฝั่งของเธอ ถ้าไม่มีการตัดมาตรา 59f ออกไปทั้งหมดแล้ว เธอมีโอกาสได้เป็นประธานาธิบดี (หากประชาชนเลือก) ก็ต่อเมื่อลูกของเธอทั้งสองยอมเปลี่ยนสัญชาติ

          ถ้าข้อเสนอแก้ไขมาตรา 59f ยังคงเป็นอยู่ดังที่เสนอกันโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง อนาคตของเมียนมาร์ก็แขวนไว้กับการตัดสินใจของลูกสองคนของเธอ (ซึ่งเธอไม่ได้อยู่ใกล้ชิดในขณะที่เขาโตขึ้นเพราะเธอถูกกักไว้ในบ้านเป็นเวลากว่า 20 ปี และสามีก็จากไปด้วยโรคร้ายในขณะที่ถูกกักไว้โดยมิได้เห็นหน้ากันเลย)

          น่าสงสารเธอที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อคนเมียนมาร์มายาวนาน ไม่ยอมก้มหัวให้ใครจนได้อิสรภาพ แต่ก็ไม่อาจได้เป็นประธานาธิบดีเพื่อแก้ไขปัญหาของชาติตามความคาดหวังของคนเมียนมาร์เพราะเงื่อนไขรัฐธรรมนูญที่ได้วางหมากกันไว้

          น่าสงสารลูกทั้งสองของเธอด้วยที่ถูกแรงกดดันอย่างหนักโดยเกมส์การเมืองที่เขามิได้มีส่วนร่วมในการเล่นเลย ซึ่งต่างจากกรณีของไทยที่ควรรู้ก่อนหน้าว่า “อยู่ในครัวก็ต้องร้อนเป็นธรรมดา หากทนความร้อนไม่ได้ก็ออกไปจากครัวเสีย (ถ้าสามารถสั่งตัวเองได้)”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *