จิตสำนึกเงินของประชาชน

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
6
พฤษภาคม 2557

Photo by Alexander Mils on Unsplash

          เมื่อขับรถไปบนถนนในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดหลายแห่งหน เรามักเห็นป้ายใหญ่โตมีรูปนักการเมืองระดับชาติหรือท้องถิ่น นายตำรวจใหญ่ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ฯ และเมื่อเปิดหน้าหนังสือพิมพ์ก็เห็นรูปรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี อยู่เกือบครึ่งหน้าเกือบทุกวันในหน้าซึ่งประชาสัมพันธ์หน่วยงานรัฐต่าง ๆ เรากำลังทำอะไรกันกับทรัพยากรที่เรียกเก็บมาจากประชาชนในสังคมเรา

          ป้ายและสื่อหลายลักษณะเหล่านี้ใช้เงินภาษีอากรโดยไม่ต้องสงสัย คำถามง่าย ๆ ก็คือ แล้วมันเรื่องอะไรที่จะเอาทรัพยากรที่เรียกเก็บจากประชาชนมาปู้ยี้ปู้ยำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวเช่นนี้

          ภาษีอากรหรือทรัพยากรที่เรียกเก็บจากประชาชนก็คือสิ่งเดียวกัน ที่ไม่เอาคำว่าเงินไปเกี่ยวข้องด้วยก็เพราะทรัพยากรที่เรียกเก็บจากประชาชนนั้นไม่เป็นเงินไปเสียทั้งหมด ในสมัยโบราณมีการเรียกเก็บเป็นเกลือ เป็นทองคำ เป็นข้าวปลาอาหาร ฯ สมัยใหม่ก็ได้แก่การเกณฑ์ทหาร (บังคับใช้แรงงาน และจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าที่เขาควรจะได้จากการทำงานในอาชีพของเขาตามปกติ)

          การเรียกเก็บเช่นนี้เป็นการบังคับโดยกฎหมาย มีโทษถึงติดคุกหากขัดขืนหรือหลีกเลี่ยง ไม่มีใครอยากเสียภาษีอากรซึ่งปัจจุบันอยู่ในรูปภาษีทางตรง (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ฯลฯ ซึ่งผู้เสียไม่สามารถผลักภาระภาษีไปยังคนอื่น ๆ ได้ และภาษีทางอ้อม (ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีขาเข้า ค่าธรรมเนียม ฯลฯ ซึ่งผู้เสียสามารถผลักภาระภาษีไปยังคนอื่นได้)

          เงินที่เรียกเก็บจากประชาชนด้วยวิธีการบังคับเช่นนี้ (จ่ายภาษีโดยตรง เช่น ภาษี เงินได้ หรือฝังตัวอยู่ในราคาสินค้าที่ผู้คนทั่วไปซื้อหา เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม) จึงถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ถ้าแม้นว่าไม่เรียกเก็บมา ประชาชนเขาก็สามารถเอาเงินส่วนนี้ไปใช้ประโยชน์ในการศึกษาของครอบครัว หรือขยายความสามารถในการผลิตของครอบครัว เช่น ซื้อรถไถ ซื้อรถกะบะไว้ขนส่ง ลงทุนค้าขาย หรือสามารถเอาไปใช้เพื่อการบริโภคหาความสุขได้

          เงินภาษีอากรหรือรายได้ของรัฐบาลจึงเป็นเงินของประชาชนที่มาอยู่ในมือของภาครัฐ เพื่อให้ทำงานรับใช้ประชาชน ให้สังคมดำเนินไปได้อย่างดี รัฐบาลตลอดจนข้าราชการเจ้าหน้าที่ของรัฐจึงพึงเคารพ “เลือดเนื้อ” ของประชาชนที่ถูกตัดแบ่งมาเพื่อบริการประชาชนกลับไปอีกที่หนึ่ง

          นักการเมืองที่ปากบอกว่าเคารพเสียงของประชาชนฉันใดก็ต้องเคารพเงินของประชาชนที่มาอยู่ในมือของภาครัฐฉันนั้น ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ต้องเคารพเช่นเดียวกันเพราะทุกบาทของเงินเดือนมาจากเงินของประชาชน (บางคนอาจเถียงว่าบางส่วนของงบประมาณรายจ่ายของรัฐมาจากเงินกู้ยืม ก็ขอตอบว่าในการใช้หนี้ในอนาคตก็ต้องเอาเงินภาษีอากรของประชาชนอีกนั่นแหละมาชดใช้)

          นักการเมืองที่ใช้กลไกการเลือกตั้งเป็นสะพานไปสู่การยึดครองเมืองภายใต้การเชิดชูประชาธิปไตยแบบปลอม ๆ ก็คือการผลาญเงินของประชาชนอีกหนทางหนึ่ง เพราะแทนที่จะเอาเงินภาษีอากรมาทำให้เกิดประโยชน์แก่เจ้าของเงินอย่างแท้จริง กลับเอามาสร้างประโยชน์ให้ตนเองและพรรคพวก

          ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ผลาญเงินภาษีอากรของประชาชนอย่างสนุกมือ ใช้จ่ายงบประมาณอย่างสุรุ่ยสุร่ายขาดจิตสำนึกว่ากำลังเอาเงินของประชาชนมาใช้สมควรถูกประนามโดยสังคม

          การเอาเงินของประชาชนมาสร้างป้ายใหญ่โตที่ไร้สาระสำหรับสังคม แต่เกิดประโยชน์ส่วนตัวในการประชาสัมพันธ์ตัวเองเพื่อ “ความดัง” หรือเพื่อเตรียมหาเสียงเลือกตั้งในอนาคต คือการไม่เคารพประชาชน และไม่เคารพประชาธิปไตย ยิ่งไปกว่านั้นเป็นการไร้ความรับผิดชอบต่อสังคมอีกด้วย

          ในต่างประเทศที่เจริญแล้ว เขามีกฎหมายห้ามการกระทำเช่นนี้ ได้ทราบว่าในประเทศไทยก็มีผู้เตรียมร่างกฎหมายนี้ไว้แล้วเช่นกัน เพราะยิ่งนับวันก็จะยิ่งมีมากยิ่งขึ้นทั้งในกรุงเทพมหานครและท้องถิ่น

          การจ่ายเงินให้สื่อสิ่งพิมพ์ก้อนใหญ่เป็นประจำเพื่อประชาสัมพันธ์งานของหน่วยงานโดยมีรูปนักการเมือง ปลัดกระทรวง อธิบดีปรากฏนอกจากจะเป็นการเอาเงินหลวงมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวแล้ว (คำจำกัดความของคอรัปชั่นอันหนึ่งคือการเอาอำนาจที่สาธารณะมอบให้มาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว) ยังเป็นการช่วยทำลายบทบาทที่ดีของสื่ออีกด้วย (ถ้าหนังสือพิมพ์คุ้ยข่าวหรือลงข่าวไม่ดีที่เกิดขึ้นในองค์การของฉัน ก็บ๊ายบายกับเงินส่วนนี้ได้)

          ไม่ว่าจะมองแง่มุมใด การเอาเงินหลวงมาทำป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์คำขวัญหรือให้พรโดยมีรูปของเจ้าหน้าที่ของรัฐปรากฏอยู่ด้วยไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ถ้าท่านจะใช้เงินส่วนตัวจริง ๆ ติดตั้งในบ้านหรือบนหลังคาบ้านท่านไม่มีใครเขาว่าหรอก

          การแสดงความเคารพทรัพยากรซึ่งถูกบังคับเรียกเก็บจากประชาชนโดยนำมาใช้จ่ายให้เป็นประโยชน์คืนสู่ประชาชนคือการช่วยจรรโลงระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *