Fryer กับ Baby Nobel เศรษฐศาสตร์

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
12
พฤษภาคม 2558 

ที่มา https://static01.nyt.com/images/2019/07/10/business/10fryer2/10fryer2-superJumbo.jpg

          หาก “แต่งตัว” ไว้พร้อม เมื่อโอกาสมาเคาะประตูก็สามารถเปิดต้อนรับได้เลย นักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งอายุต่ำกว่า 40 ปี เข้าลักษณะนี้ เขาจึงได้รับรางวัลที่เรียกกันว่า “Baby Noble Prize”

          Roland Fryer เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันผิวสี หรือ Afro-American (เดิมเรียกว่า Negro ต่อมา Black American) ได้เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์หลายเรื่อง ครั้งหนึ่งเขาให้สัมภาษณ์ว่าเขามีชีวิตตอนวัยรุ่นอยู่ในสลัมท่ามกลางยาเสพติด ความรุนแรง และเคยมีเพื่อนถามเขาว่า “จะเป็นอะไรตอนอายุ 30” เขาตอบว่าคงจะตายแล้ว

          การคาดคะเนของเขาตอนเป็นวัยรุ่นผิดทั้งเพ เพราะเมื่อตอนอายุ 30 ในปี ค.ศ. 2008 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นอาจารย์ของ Harvard อย่างถาวรโดยเป็น Afro-American คนแรกที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์

          ล่าสุดเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาเขาได้รับรางวัลอันทรงเกียรติยิ่งประจำปีของ American Economic Association ซึ่งมอบให้นักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานอยู่ในสหรัฐอเมริกา อายุต่ำกว่า 40 ปี มีชื่อเรียกว่า John Bates Clark Medal และอีกเช่นกันเขาเป็น Afro-American คนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ในประวัติศาสตร์

          มีการให้รางวัลนี้มาตั้งแต่ปี 1947 คนแรกที่ได้รับคือ Paul A. Samuelson ในจำนวน 17 คนแรกที่ได้รับรางวัล 11 คนในเวลาต่อไปได้รับรางวัลโนเบิลสาขาเศรษฐศาสตร์ มีการทำนายว่าคนที่ได้รับรางวัล John Bates Clark Medal มีความเป็นไปได้ที่จะได้รับรางวัลโนเบิลหนึ่งในสาม

          John Bates Clark มีชีวิตอยู่ระหว่าง 1847-1938 เป็นนักเศรษฐศาสตร์แนว Neoclassic เขาเป็นผู้บุกเบิกคนหนึ่งของการปฏิวัติทางความคิดที่เรียกว่า Marginalist Revolution กล่าวคือใช้แนวคิด Marginalism ในการอธิบายปรากฏการณ์ของตัวละครและการใช้เหตุใช้ผลภายใต้ระบอบทุนนิยม เช่น ผู้ประกอบการพยายามแสวงหากำไรสูงสุด โดยได้รับกำไรสูงสุดเมื่อ marginal revenue เท่ากับ marginal cost (รายรับที่เพิ่มขึ้นจากการขายหนึ่งหน่วยสินค้าเท่ากับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการผลิตหนึ่งหน่วยสินค้า) ฯลฯ

          Clark รวบรวมหลายบทความที่สำคัญของเขา และตีพิมพ์ในหนังสือชื่อ The Philosophy of Wealth (1886) บทบาทของเขาในการสร้างทฤษฎีเศรษฐศาสตร์สำคัญทำให้ American Economic Association ทั้งชื่อรางวัลเป็นเกียรติแก่เขามาเกือบ 70 ปี

          Fryer ผู้รับรางวัลในปีนี้มีชีวิตในวัยเด็กที่แตกต่างจากผู้ได้รับรางวัลคนอื่น ๆ อย่างสิ้นเชิง แม่ทิ้งเขาไปตั้งแต่ยังเด็กมาก จึงอยู่กับพ่อซึ่งเฆี่ยนตีเขา และเมื่อเขาเริ่มเป็นหนุ่มพ่อก็ติดคุกข้อหาข่มขืน เมื่อ Fryer เข้าสู่วัยรุ่นก็เรียกได้ว่าเป็นตัวร้ายอย่างเต็มตัว ชีวิตมุ่งสู่ยาเสพติด หรือถูกฆ่าตาย

          สิ่งที่พลิกผันชีวิตของเขาก็คือการได้รับทุนกีฬาจาก University of Texas at Arlington จากการเป็นดาราบาสเกตบอลและฟุตบอลตอนเรียนชั้นมัธยม อย่างไรก็ดีเมื่อไปถึงเขาขอเปลี่ยนทุนเป็นทุนวิชาการ เขาเรียนจบได้เกียติรนิยมอันดับหนึ่งทางเศรษฐศาสตร์ในเวลา 2 ปีครึ่ง พร้อมกับทำงานเต็มเวลาไปด้วย

          อาจารย์ของเขาช่วยหาทุนเรียนปริญญาเอกให้เขา และได้ไปเรียนที่ Penn State (Pennsylvania State University) และจบปริญญาเอกในปี 2002 จากนั้นไปทำงานวิจัยหลังปริญญาที่ University of Chicago ได้พบกูรูด้านเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบิลผู้บุกเบิกเศรษฐศาสตร์มาวิเคราะห์สารพัดปัญหาสังคม และที่นี่เขาทำวิจัยและเขียนบทความร่วมกับอาจารย์ที่มีชื่อเสียงหลายคน คนหนึ่งก็ได้กลายเป็นผู้นำทางความคิดของเขาก็คือ Steven Levitt (ผู้เขียนหนังสือยอดนิยมระดับโลก “Freaknomics”)

          เมื่อได้เป็นอาจารย์ที่ Harvard เขาก็พิมพ์บทความในวารสารวิชาการระดับโลกจำนวนมากโดยเน้นปัญหาที่เขาประสบมาในวัยรุ่น ตั้งแต่เรื่องอุปสรรคการศึกษาของเด็กผิวสี ปัญหา ยาเสพติด นโยบายการศึกษาของเด็กชนกลุ่มน้อย ออกแบบนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของคนผิวสี ปัญหาการเหยียดผิว การให้แรงจูงใจครู ฯลฯ จนได้การยอมรับ เมื่อ 10 ปีที่แล้วเขาได้รับเลือกโดยนิตยสาร The Economics ให้เป็น 1 ใน 8 ของ นักเศรษฐศาสตร์รุ่นหนุ่มในโลกที่ปราชญ์เปรื่องที่สุด

          เรื่องหนึ่งที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักกว้างขวางก็คือ “active white” กล่าวคือจากการเก็บข้อมูลเพื่อการวิจัยของเขาในระดับ “ติดดิน” พบว่าตอนอนุบาลเด็กผิวขาวและผิวสีมีสัมฤทธิผลทางการเรียนไม่แตกต่างกัน แต่เมื่อโตขึ้นเด็กผิวสีด้อยลงในทุกวิชา เหตุผลมีหลายประการนับตั้งแต่ฐานะและการศึกษาของพ่อแม่ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ อย่างไรก็ดีปัจจัยตัวหนึ่งที่เขายืนยันก็คือสิ่งที่เรียกว่า “acting white” นั้นมีจริง

          เด็กผิวสีจะไม่เรียนหนังสือหนักเมื่อโตขึ้นเพราะจะถูกเพื่อนรังเกียจ และกลายเป็นคนแปลกแยกเพราะการกระทำเยี่ยงนี้เหมือนกับที่คนผิวขาวกระทำกัน Fryer พิสูจน์โดยลงไปดูว่าเด็กผิวสีเกรดดีมีจำนวนเพื่อนที่ชอบพอกันแตกต่างจาก ‘เด็กไม่เรียน’ หรือไม่ ก็พบว่า ‘เด็กเรียน’ ผิวสีมีเพื่อนน้อยกว่า ซึ่งตรงข้ามกับเด็กผิวขาว ยิ่งเรียนดียิ่งมีเพื่อนมาก

          Fryer สร้าง education lab ขึ้นที่ Harvard โดยเขาเป็นผู้จัดการ ไอเดียก็คือการศึกษาวิจัยเชิงปฏิวัติในระดับย่อยเพื่อหาความจริงก่อนที่จะมีนโยบายหรือวิธีการ หรือแนวปฏิบัติ ด้านการเรียนการสอน (ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการไทยก็มีการศึกษาเชิง lab เช่นว่านี้ และกำลังศึกษาวิจัยกับโรงเรียนกว่า 200 โรงเรียนอย่างเข้มข้น)

          เขาไม่ได้ทำงานวิจัยอยู่บนโต๊ะ เก็บข้อมูลทุติยภูมิ หากออกไปสัมผัสข้อมูลจริง และใช้วิธีการศึกษาวิจัยที่ฉลาดหลักแหลม แนวที่ Steven Levitt ซึ่งเป็นลูกพี่ทางความคิดของเขากระทำ (การศึกษาเรื่องอาชญากรรมลดลงในสหรัฐอเมริกา การศึกษาเรื่อง “การล้ม” ของซูโม่ใน Freaknomics คือตัวอย่าง)

          Fryer อุทิศตัวเองให้แก่การวิจัยสาเหตุของความล้มเหลวในด้านการศึกษาของเด็กผิวสีโดยไม่ใช้เพียงความยากจน การเหยียดผิว ฯลฯ เท่านั้น หากออกไปไกลถึงด้านสังคมวิทยาและจิตวิทยา พิจารณาความเป็นไปได้ในการมี “วัฒนธรรมทำลายตนเอง” ของคนผิวสี ความจริงใจและความกล้าหาญในการพยายามเข้าใจปัญหาและหาทางออกให้คนผิวสีในอเมริกาตลอดจนคนกลุ่มน้อย ในโลก ทำให้เขาโดดเด่นและเป็นที่ชื่นชม

          มาตรการด้านการศึกษาที่เขาเสนอให้ครูเพื่อลดช่องว่างสัมฤทธิผลการศึกษาของคนผิวสีก็คือครูใช้ข้อมูลการประเมินเด็กบ่อย ครูให้ข้อมูลเพื่อนำการสอน คาดหวังจากเด็กสูง การติวเข้มข้น และใช้เวลาการสอนเด็กมาก ๆ

          Fryer มีความพร้อมในการศึกษาวิจัยเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการจลาจลซึ่งเกิดขึ้นในหลายเมืองในสหรัฐอเมริกาในช่วงปีที่ผ่านมา เขาบอกว่ามันไม่เพียงพอที่จะบอกว่าตำรวจมีทางโน้มที่จะยิง ผู้ต้องสงสัยผิวสีมากกว่าผิวขาว (ปัจจุบันก็ทำเช่นนั้นอยู่แล้ว) ถ้าจะให้รู้ความจริงอย่างแน่แท้แล้ว ต้องแสดงให้เห็นว่าตำรวจทำอย่างนั้นจริง ๆ ภายใต้เงื่อนไขและสิ่งแวดล้อมเดียวกัน

          หากใช้ข้อมูลมากมายที่เกิดขึ้นจากการยิงว่าเมื่อผู้ต้องสงสัยไม่ว่าผิวสีใดก็ตาม มีปืนในมือขณะกำลังจะถูกจับแล้วตำรวจมีทางโน้มที่จะยิงเสมอโดยไม่แคร์ว่าเป็นคนผิวสีใด อย่างนี้จึงจะเรียกว่าไม่เอนเอียง แต่ถ้าหากเงื่อนไขเหมือนกันแต่มีทางโน้มที่จะยิงคนผิวสีมากกว่า อย่างนี้จึงจะเรียกว่าเอนเอียง ซึ่งเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดจลาจลในทุกวันนี้

          Fryer มีผลงานทางวิชาการมากมายตลอดเวลากว่า 10 ปีที่เกี่ยวกับเรื่องแหล่ง ขนาด และการดำรงอยู่ของความไมเท่าเทียมกันทางชาติพันธุ์ในสหรัฐอเมริกา ตลอดจนการประเมินนโยบายต่าง ๆ ทางการศึกษาของชนกลุ่มน้อย เมื่อมีเหตุการณ์จลาจลและการตั้งคำถามว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในสหรัฐอเมริกาในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนผิวขาว-คนผิวสี ผลงานของเขาตลอดจนความรู้ความสามารถของเขาทำให้เขาเป็นบุคคลที่สมควรแก่รางวัลนี้อย่างยิ่งในสายตาของสาธารณชนอเมริกัน           เมื่อลิฟต์ขึ้นลงผ่านไปมา แต่ไม่ได้กดปุ่มจองการใช้เพราะมัวแต่เพลิดเพลินกับโซเชียลมีเดีย ชาติไหนก็ไม่ได้ขึ้นลิฟต์ เฉพาะผู้ที่ได้สร้างความพร้อมไว้ก่อนแล้วเท่านั้น เมื่อลิฟต์ผ่านมาจึงจะได้ขึ้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *