วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
19 พฤษภาคม 2558
“ปาฏิหาริย์ไม่ใช่การเดินบนน้ำหรือบินอยู่บนอากาศ แต่ปาฏิหาริย์ของชีวิตคือการเดินอยู่บนผืนดินและมีความสุขในทุกย่างก้าว
ชีวิตเราเต็มไปด้วยเรื่อง “ธรรมดา” เช่น ตื่นมาอาบน้ำ แปรงฟัน ขับรถไปหางาน กินอาหารเที่ยงกับเพื่อนในที่เดิม ๆ ตอนเย็นกลับบ้านก็เห็นหน้าภรรยา หรือสามีคนเดิม ใส่ชุดธรรมดา หน้าตาเราหรือก็ธรรมดา ๆ….. เราส่วนใหญ่แล้วก็เป็นคนธรรมดา ๆ มีชีวิตธรรมดา ๆ กันทั้งนั้น
แต่ถ้าความ “ธรรมดา” นี้หมดไปล่ะ เช่น อยู่ดี ๆ ลูกเราเกิดเป็นมะเร็ง ไปมีเรื่องนอกบ้าน ไปติดยา ไปคบเพื่อนไม่ดี หรือสามี หรือภรรยาเราตาย ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม หรือเราถูกไล่ออกจากงาน เราประสบอุบัติเหตุร้ายแรง เป็นอัมพาต
เรื่องที่เคยธรรมดาก็จะ “ไม่ธรรมดา” ไปในทันที และในเวลานั้นเองเราจะหวนมาคิดเสียดายความเป็น “ธรรมดา” จนใจแทบจะขาด…..
สิ่งธรรมดา คือ สิ่งพิเศษ ขอให้เรารีบชื่นชมกับความ “ธรรมดา” ที่เรามี และใช้ชีวิตกับสิ่งรอบตัวของเรา ประหนึ่งว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งมหัศจรรย์ของจักรวาล เพราะสิ่งธรรมดา ๆ แท้จริงแล้วคือสิ่งที่พิเศษที่สุดแล้วสำหรับมนุษย์อย่างเรานั่นเอง”
คงมีน้อยคนที่อ่านข้อความข้างต้น (ผู้เขียนได้มาจากอินเตอร์เน็ต) แล้วจะไม่รู้สึกประทับใจ และไม่อยากรู้ว่าเป็นของใคร เจ้าของคำพูดก็คือท่าน Thích Nh?t H?nh (ทิก เญิ้ต หั่ญ) พระภิกษุชาวเวียดนามนิกายเซ็น (Zen Buddhist monk) ของมหายานซึ่งเป็นที่นับถือของชาวโลกอย่างสูง
ปัจจุบันท่านอายุ 89 ปี พำนักอยู่ที่ Plum Village Monastery ในฝรั่งเศส ขณะนี้กำลังพักฟื้นหลังจากที่เส้นโลหิตในสมองแตกระดับรุนแรงโดยบัดนี้มีอาการดีขึ้นเป็นลำดับ
คำว่า “ทิก” ใช้เรียกพระ ส่วน “เญิ้ต หั่ญ” คือชื่อทางธรรมของท่าน หนังสือกว่า 100 เล่มที่ท่านเขียน (40 เล่ม เป็นภาษาอังกฤษ) คือ คำสอนการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะของคนในโลกตะวันตก สิ่งที่ท่านเน้นคือสันติภาพ การขจัดความรุนแรง ความรัก ความเห็นอกเห็นใจกัน การช่วยเหลือ การเอาชนะความโกรธ การลดความเจ็บปวด การลดความทนทุกข์ทรมาน ฯลฯ โดยไม่ใช้คำพระ
เนื่องจากท่านมีความสามารถในการใช้ภาษาอย่างแตกฉาน ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส จีน บาลี สันสกฤต ญี่ปุ่น โดยเฉพาะอังกฤษ ท่านจึงเดินทางไปต่างประเทศอยู่ตลอดระยะเวลา 40-50 ปีที่ผ่านมาเพื่อบรรยายเผยแพร่คำสอนพระพุทธศาสนา ท่านเคยเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัย Princeton และเคยเป็นอาจารย์ผู้บรรยายที่มหาวิทยาลัย Columbia
ในยุคสงครามเวียดนาม ท่านมีบทบาทสำคัญร่วมกับพระภิกษุที่รักสันติภาพอีกหลายรูปต่อต้านสงคราม จนต้องลี้ภัยไปอยู่ในสหรัฐอเมริกาเป็นเวลาเกือบ 40 ปี กว่าจะเดินทางเข้าเวียดนามได้อีกครั้งก็ ค.ศ. 2005
อีกท่านหนึ่งที่เป็นพระภิกษุนิกายมหายานที่ได้รับความเคารพนับถืออย่างยิ่งจากชาวโลก (ยกเว้นรัฐบาลจีน) ผู้เขียนหนังสือจำนวนมากมาย และเดินทางบรรยายธรรมเผยแพร่คำสอนในพระพุทธศาสนาเป็นระยะเวลายาวนานทั่วโลก และอยู่ในลักษณะคล้ายกับท่าน Thich ซึ่งลี้ภัยจากเวียดนาม และท่านลี้ภัยจากทิเบต
ท่านคือ “เทนซิน เกียตโซ ทะไลลามะ ที่ 14” แห่งทิเบต ปัจจุบันท่านอายุ 80 ปี ได้รับรางวัลโนเบิลสาขาสันติภาพใน ค.ศ. 1989 ทั้งสองมีวัตรปฏิบัติที่งดงาม อุทิศตนเองเพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา และความสุขของชาวโลกอย่างน่าชื่นชมยิ่ง
ขอกลับมาที่ข้อความข้างต้น “สิ่งธรรมดา คือ สิ่งพิเศษ” ยิ่งคิดก็ยิ่งจริง การมีชีวิตที่ธรรมดาอย่างพอเพียงและพอใจในสิ่งที่มีคือยอดแห่งความสุข อย่างไรก็ดีมีคนส่วนหนึ่งดูจะไม่เป็นไปตามนี้
ที่พูดกันว่าความจนคือปัญหาของบ้านเมืองเรานั้นไม่ผิด แต่ถ้าจะให้ถูกต้องแม่นยำต้องพูดว่าความรวยก็เป็นปัญหาของสังคมเราเช่นกัน และอาจเป็นปัญหาที่หนักหน่วงกว่าด้วย เพราะ คนรวยไทยส่วนใหญ่ไม่เคยหยุด ระวังป้องกันสิ่งแวดล้อมที่จะรักษาความรวยของตนไว้อย่าง เหนียวแน่น และพยายามเพิ่มพูนให้รวยยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือพลังต่อต้านการเสียภาษีเพิ่มขึ้นในทุกรูปแบบ เริ่มตั้งแต่ภาษีมรดก (คอยดูเถอะในที่สุดภาษีที่ออกมาจะมีช่องโหว่ขนาดแรดรอดได้) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (คนมีทรัพย์สมบัติจะเสียเงินเพิ่มขึ้นอีกไม่กี่ร้อยหรือพันบาทต่อปี) การหลีกเลี่ยงภาษีเงินได้ ฯลฯ โดยไม่ตระหนักว่าจะทำให้สังคมเราอยู่ได้เป็นอย่างดีในระยะยาว
การบุกรุกที่ดินป่าเขาโดยเลี่ยงกฎหมายอย่างไม่อายเจ้าที่เจ้าทางและผีป่านางตะเคียน รถเถื่อนราคาแพงที่วิ่งกันยั้วเยี๊ยเหมือนแย้ออกมาจากรูบนทางด่วนในตอนเช้าวันเสาร์อาทิตย์ การทุจริต ภาษีนับพันนับหมื่นล้านบาท การใช้เงินปูพื้นฐานทางการเมืองโดยยุยงปลุกปั่นเพื่อหวังยึดครองอำนาจรัฐ การทุจริตเงินข้าวครั้งมโหฬาร ฯลฯ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้คนมีเงินทั้งนั้นแหละที่เป็นผู้กระทำ
คนจำนวนมากต้องการการปฏิรูปที่ไม่กระทบสถานะของตน อยากได้ทุกอย่างที่ทำให้ตนเองดีขึ้นโดยไม่มีการเสียประโยชน์ส่วนตน (“โลกนี้ต้องได้ฟรีทุกอย่าง” คือ “ได้” โดยไม่ต้องเอา “เสีย” ไปแลก) หากมีโอกาส “เสีย” ขึ้นก็จะโวยวาย ดิ้นเหมือนไส้เดือนถูกขี้เถ้า
ถ้าต้องการการปฏิรูปกันแล้วต้องยอมเสียสละโดน “ไม้กระบอง” หัวแตกกันบ้าง มิฉะนั้นมันไม่สำเร็จหรอกเพราะ “โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี”
ท่าน Thich ได้ชี้ให้เห็นว่า ความเป็นปกติหรือความเป็นธรรมดามีคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์ทุกคน เราจะรู้คุณค่าของมันก็ต่อเมื่อเราขาดมันไป ดังนั้นการที่ในปัจจุบันเราสามารถเดินทางไปไหนมาไหน ดำรงชีวิตอยู่ได้เป็นปกติสุข มั่นใจความปลอดภัยของชีวิต และเชื่อมั่นในอนาคตได้บ้างอย่างผิดไปจากหลายปีที่ผ่านมาจึงเป็นสิ่งพิเศษซึ่งมีค่าที่เราอาจมองข้ามไป
คนที่ไม่เชื่อว่าชีวิตธรรมดาคือความเป็นพิเศษก็ลองเดินทางไปสังคมที่ยากจนกว่าเรา มาก ๆ ดูซิครับ แล้วจะเห็นว่าคนเหล่านั้นอาจมีความสุขในวิถีชีวิตของเขามากกว่าเราด้วยซ้ำ