ตัวเก็งผู้นำอินโดนีเซียคนใหม่

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
29 เมษายน 2557

          อะไรเอ่ยที่คนอินโดนีเซียบน 17,000 เกาะ ประชากรรวม 240 ล้านคนเบื่อหน่ายที่สุดถัดมาจากจราจรติดขัด คำตอบก็คือผู้มีอิทธิพลจากศูนย์อำนาจเก่าที่วนเวียนอยู่ในการเมืองซึ่งมีอำนาจและเงินเป็นแรงจูงใจ

          อินโดนีเซียประชาธิปไตยใหญ่อันดับ 3 ของโลกเพิ่งมีประชาธิปไตยยุคใหม่เพียง 16 ปี ประชากรเพิ่งได้มีโอกาสเลือกตั้งอย่างมีอิสระจริง ๆ เพียง 2 ครั้ง หลังจากประธานาธิบดี Suharto ตกจากอำนาจที่ครองมา 31 ปี อันมีสาเหตุมาจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นพร้อม “วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง” ของไทยในปี 1998

          หลังจากได้เอกราชจากเนเธอร์แลนด์ในปี 1945 ประธานาธิบดี Sukarno ก็ครองอำนาจแบบเผด็จการ เป็นเวลา 22 ปี จนสูญเสียให้แก่ประธานาธิบดี Suharto ในปี 1967

          หลังจากประธานาธิบดี 2 คนนี้ ก็มีประธานาธิบดีอีก 4 คน คือ Habibie, Wahid, Megawati และ Susilo Bambang Yudhoyono หรือเรียกสั้น ๆ ว่า SBY ปัจจุบันอายุ 64 ปี เขาต้องลงจากบัลลังก์เพราะเป็นประธานาธิบดีมา 2 สมัย รวม 10 ปี และไม่สามารถสมัครได้อีก

          เมื่อ SBY หมดวาระการเป็นประธานาธิบดีก็ต้องมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงใหม่ในเดือนกรกฎาคม 2014 ตัวละครจากยุค Sukarno ในปี 1945 ถึง 2014 รวม 69 ปี ล้วนวนเวียนอยู่ในกลุ่มทหารและบุคคลชั้นนำของประเทศ ผลัดกันชิงอำนาจไปมา พร้อมกับอิทธิพลธุรกิจการค้าและคอรัปชั่นที่ขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้ง

          Suharto ก็เป็นนายทหารสำคัญของ Sukarno นาง Megawati ก็เป็นลูกสาวของ Sukarno นาย Habibie เป็นนักวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นรองประธานาธิบดีของ Suharto พ่อของ นาย Wahid ก็เคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศาสนาคนแรก สำหรับ SBY นั้นไม่ต้องพูดถึง เคยเป็นนายทหารคนสำคัญในยุคสมัยของ Suharto มาก่อน

          รัฐมนตรีของทุกรัฐบาลก็ประกอบด้วยอดีตนายทหาร นักวิชาการ นักธุรกิจที่เกี่ยวพันกับทหารและเครือข่าย Sukarno และ Suharto วนเวียนกันไปมาจนถึงปีปัจจุบันที่จะมีเลือกตั้งประธานาธิบดีกันใหม่ก็บังเอิญให้เกิดนักการเมืองหน้าใหม่ที่ไม่มีอะไรเกี่ยวพันกับคนหน้าเก่าเลยแม้แต่น้อย คนนี้ก็คือนาย Joko Widodo ซึ่งมีชื่อเล่นว่า Joko หรือ Jokowi อดีตนายกเทศมนตรีเมือง Surakarta (เมือง Solo ในภาษาอินโดนีเซีย) และผู้ว่าการมหานคร Jakarta ในปัจจุบันซึ่งกำลังได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างมาก

          Jokowi ปัจจุบันอายุ 53 ปี มีหน้าตาละม้ายประธานาธิบดี Obama (อาจช่วยทำให้คนชอบเขาขึ้นเพราะ Obama เป็นที่ชื่นชมมากของคนอินโดนีเซีย เพราะเคยเติบโตที่นั่นระหว่างอายุ 6-10 ปี) เขาเป็นวิศวกร และประกอบธุรกิจก่อนที่จะได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีเมือง Solo

          ผลงานจาก Solo ทำให้เขาดังเป็นพลุ ในเวลา 7 ปี เขาทำให้ Solo เป็นศูนย์วัฒนธรรมของเกาะชวา เป็นแหล่งท่องเที่ยวและการประชุมนานาชาติ มีระบบขนส่งมวลชน ยกเครื่องสวนสาธารณะใหญ่สองแห่ง ชาวเมือง Solo ทุกคนมีประกันสุขภาพ ปรับปรุงทางเดินคู่ถนนยาว 7 กิโลเมตร ฯลฯ

          ทัศนคติ ‘can do’ พร้อมทั้งความสามารถในการทำงาน บวกความสามารถในการสื่อสารกับประชาชนระดับล่าง ความมือสะอาด ความติดดิน (เข้าถึงสลัม พูดคุยกับคนยากจน) ตลอดจนความเด็ดขาดในการตัดสินใจของเขา ทำให้เป็นที่ชื่นชมของชาว Solo

          ในปี 2012 เขาก็ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการมหานครจาร์กาตา และผู้คนก็ไม่ผิดหวังกับสไตล์การทำงานถึงลูกถึงคนของเขา โครงการรถใต้ดินและขนส่งมวลชนที่คาราคาซังมานานก็ได้รับการแก้ไขทันใจ ดังนั้นเมื่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีมาถึงในปี 2014 ผู้คนก็ต้องการให้เขาเป็นประธานาธิบดีอย่างล้นหลาม

          เมื่อหันมาดูคู่แข่งของเขาในการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีก็ยิ่งทำให้เข้าใจว่าเหตุใดประชาชนซึ่งกำลังตื่นตัวกับสิทธิของตนเองในระบอบประชาธิปไตยและต้องการสิ่งใหม่จึงต้องการเขา คนแรกซึ่งคาดว่าจะเป็นตัวแทนพรรค Hanura คือนายพล Wiranto อายุ 66 ปี อดีตนายทหารเอกของประธานาธิบดี Suharto เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการ

          กระทรวงกลาโหมและเกือบได้เป็นทายาท แต่มีชื่อเสียงฮื้อฉาวในการล้ำสิทธิมนุษยชน ถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนการใช้ความรุนแรงกับพวกต่อสู้เพื่อเอกราชของอีสต์ติมอร์ในอดีต และเคยเป็นผู้สมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2004

          คนที่สองคือนายพล Prabowo Subianto อายุ 63 ปี อดีตนายพลและอดีตลูกเขยของประธานาธิบดี Suharto ผู้ร่ำรวยจากการประกอบธุรกิจ และเป็นลูกชายของรัฐมนตรีคนสำคัญของประธานาธิบดี Suharto (บอกแล้วว่ามันวนเวียนกันอยู่ทั้งนั้น) เคยสมัครเป็นรองประธานาธิบดีคู่กับ นาง Megawati ในการเลือกตั้งในปี 2009 ครั้งนี้เขาลงสมัครในนามของพรรค Gerindra

          ถึงแม้ Jokowi เป็นสมาชิกพรรค PDI-P ที่เป็นพรรคฝ่ายค้านซึ่งมีนาง Megawati เป็นหัวหน้า แต่เขาก็รักษาระยะห่างไว้ได้ดีจนมีภาพลักษณ์ของคนหน้าใหม่ และมีความคิดแนวใหม่

          ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่สามของยุคประชาธิปไตย 16 ปี ในเดือนเมษายน 2014 มีนักแสดง นักร้อง ผู้ค้าขายรายเล็กรายน้อย ตลอดจนประชาชนทั่วไปลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. และผู้แทนท้องถิ่นกันจำนวนมากเนื่องจากความตื่นตัวทางการเมือง มีคนหนุ่มสาวที่มีสิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรกถึง 50-60 ล้านคน ในจำนวนผู้มีสิทธิทั้งหมด 187 ล้านคน

          จากการสำรวจความเห็นของประชาชน ถ้าหากเลือกตั้งประธานาธิบดีวันนี้ Jokowi จะได้กว่าร้อยละ 30 ในขณะที่ผู้แข่งอีก 2 รายได้กันคนละกว่าร้อยละ 10 เท่านั้น ดังนั้นถ้าหากไม่มีอะไรผิดพลาด สมาชิกอาเซียนที่ใหญ่ที่สุดจะมีประธานาธิบดีคนใหม่ในปีนี้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของการเมืองใหม่

          ยามเมื่อประเทศต้องการสิ่งใหม่หลังจากเบื่อหน่ายกับรำวงท่าเก่ารอบแล้วรอบเล่า ไม่มีอะไรที่สามารถไปขวางกั้นพลังอันมหาศาลนี้ได้