สร้าง “สะพานเงินทอง” ให้แข็งแรง

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
1 กรกฎาคม 2557

          การเลี้ยงลูกกับการจัดการเงินทองเป็นสองเรื่องที่สำคัญมากในชีวิต แต่สองเรื่องนี้มีการเรียนการสอนกันในโรงเรียนน้อยมากจนต้องลองผิดลองถูกกันอยู่เสมอ ซึ่งสำหรับเรื่องที่สำคัญเช่นนี้ไม่ควรต้องกระทำเยี่ยงนี้เป็นอย่างยิ่ง

          ความเข้าใจพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการจัดการเรื่องเงินทองเพื่อให้เกิดความสุขในชีวิตก็คือเงินไม่ใช่ตัวความสุข หากเป็นพาหะ (means) ไปสู่เป้าหมายคือความสุข (ends)

          ถ้าเงินคือความสุขแล้ว เศรษฐีทุกคนต้องมีความสุข แต่เราก็รู้กันดีว่าเศรษฐีจำนวนมากทุกข์ใจจนต้องวิ่งไปหาพระ รดน้ำมนต์พ่นน้ำหมากกันอยู่ทุกวัน

          การมีเงินเป็นสะพานที่สำคัญไปสู่ความมั่นคงในชีวิต อีกทั้งสร้างความเป็นอิสระไม่ต้องอาศัยจมูกคนอื่นหายใจ การมีความสุขทางกาย การสามารถตามใจตนเองได้ ฯลฯ อย่างไรก็ดีชีวิตมนุษย์ยังมีอีกหลายสะพานที่จะประกอบกันนำไปสู่ความสุขในชีวิต เช่น การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น มิตรภาพ ครอบครัว ความสุขใจอันเกิดจากการได้ทำความดี การมีธรรมเป็นเกราะกำบัง การมีสุขภาพที่ดี ฯลฯ

          ถึงจะมีหลายสะพานประกอบกันจึงจะมีความสุขที่แท้จริงในชีวิตได้ แต่ก็ไม่มีใครปฏิเสธความสำคัญของสะพานเงินทองนี้อย่างแน่นอน สะพานนี้มีความสำคัญในระดับหนึ่งของการมีความสุขในชีวิต

          ข้อสังเกตแรกที่จะทำให้สะพานเงินทองนี้มีความแข็งแรงก็คือ “การหาเงินนั้นสำคัญ แต่การรู้จักใช้เงินนั้นสำคัญกว่า” ซึ่งหมายความว่าถึงแม้จะหาเงินได้มากเพียงใดก็ตาม ถ้าไม่รู้จักควบคุมการใช้จ่ายแล้ว การหาเงินได้มากนั้นอาจไร้ความหมายไปก็ได้

          ลองจินตนาการว่าเรามีแท้งค์น้ำอยู่ใบหนึ่ง เงินที่หามาได้เปรียบเสมือนน้ำที่ไหลเข้า ส่วนช่องไหลออกของแท้งค์น้ำก็คือการใช้จ่าย ปริมาณการไหลเข้าไหลออกของน้ำที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งนั้นมีความสำคัญ ถ้าปริมาณน้ำไหลเข้ามีมากกว่าปริมาณน้ำไหลออก ก็จะมีน้ำเหลืออยู่ในถัง ซึ่งเปรียบเสมือนมีเงินออมนั่นเอง

          แต่ถึงแม้จะมีรายได้มาก (ปริมาณน้ำไหลเข้าถังมาก) แต่ถ้าใช้จ่ายเงินเป็นกระเฌอก้นรั่ว กล่าวคือใช้จ่ายเงินราวกับพิมพ์ธนบัตรได้เองแล้ว (ปริมาณน้ำไหลออกมากเช่นกัน) ก็จะไม่มีน้ำเหลือในถังซึ่งก็คือไม่มีเงินออมนั่นเอง

          ในทางตรงกันข้ามถ้ามีรายได้ไม่มาก (ปริมาณน้ำไหลเข้าถังน้อย) และรายจ่ายก็ไม่มากอีกด้วย (ปริมาณน้ำไหลออกน้อย) กล่าวคือน้อยกว่ารายได้ อย่างนี้ก็อาจมีปริมาณน้ำเหลือในถัง ซึ่งหมายความว่ามีเงินออมเกิดขึ้น

          กล่าวโดยสรุปก็คือกรณีแรกหาเงินได้มากและใช้ไปมากเช่นเดียวกัน จึงไม่มีเงินออม กรณีที่สองหาเงินได้ไม่มากนัก แต่ใช้จ่ายน้อยกว่าจึงมีเงินออม

          ลองจินตนาการว่าถ้าน้ำไหลเข้าถังโครม ๆ และไหลออกน้อย จะเกิดเงินออมขึ้นมากมายอย่างไร

          ข้อสังเกตที่สองก็คือเงินออมอันเป็นผลพวงของรายได้และรายจ่ายคือหัวใจของการสร้างความมั่งคั่งในอนาคตซึ่งเป็นฐานสำคัญของสะพานเงินทอง ถ้าไม่มีเงินออมก็เลิกพูดกันได้เลยถึงความมั่งคงทางการเงินในอนาคต

          การพูดว่าให้ออมเงินนั้นมันพูดง่ายแต่ทำได้ยาก เพราะในสภาพที่รายได้ไม่เปลี่ยนแปลง การใช้จ่ายจึงเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดเงินออม และการใช้จ่ายนั้นผูกโยงกับเรื่องของนิสัยใจคอและพฤติกรรมของผู้คน เงินออมจึงเป็นเรื่องที่ไม่เกิดขึ้นง่ายโดยธรรมชาติ

          งานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์พบว่า ‘การออมแบบบังคับ’ เป็นหนทางที่ช่วยให้เกิดการออมได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าการใช้จ่ายเงินทองไปตามปกติและเก็บส่วนที่เหลือเป็นเงินออม

          เมื่อผ่อนซื้อบ้าน รถยนต์ หรือที่ดิน เงินที่จ่ายไปทุกเดือนก็คือ ‘การออมแบบบังคับ’ เช่นเดียวกับการสั่งให้ธนาคารที่มีบัญชีรับเงินเดือนของเราหักเงินเป็นรายเดือนเข้าบัญชีออมต่างหาก การกระทำเช่นนี้ก็จะทำให้เกิดเงินออมขึ้นได้

          ดังกล่าวแล้ว เงินออมเกิดขึ้นได้เพราะมีรายได้มากกว่ารายจ่ายในช่วงเวลาหนึ่ง ถ้าไม่สามารถตัดทอนรายจ่ายลงได้ และต้องการมีเงินออม ก็จำเป็นต้องเพิ่มรายได้

          อย่างไรก็ดีในความเป็นจริง การตัดทอนรายจ่ายลงในสถานการณ์ที่รายได้ไม่เพิ่มขึ้นนั้นกระทำได้ยาก การตัดทอนรายจ่ายนั้นสามารถกระทำได้ตราบที่สามารถแยกแยะระหว่าง want (ความอยาก) และ need (ความต้องการที่จำเป็น)

          ปัจจัยสี่เป็นความต้องการที่จำเป็น ในขณะที่ความปรารถนาครอบครองกระเป๋าถือ รุ่นใหม่คือความอยาก ถ้าใช้จ่ายเงินซื้อความอยากอยู่บ่อย ๆ อย่างไม่อาจบังคับใจตนเองได้แล้ว การใช้จ่ายก็ย่อมสูงเป็นธรรมดา

          การกระทำแบบเดิม ๆ โดยคาดหวังว่าจะมีสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้นนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ถ้ารายได้ไม่เพิ่มสูงขึ้น การออมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อตัดทอนรายจ่ายลงเท่านั้น

          ข้อสังเกตที่สาม เงินออมคือตัวรับใช้สำคัญในการสร้างกระบวนการเงินต่อเงินไปในอนาคต กล่าวคือสามารถนำเงินออมไปลงทุนไม่ว่าจะเป็นกองทุน หุ้น อสังหาริมทรัพย์ ทรัพย์สิน ที่ดิน ฯลฯ เพื่อให้เกิดรายได้ และนำรายได้ในลำดับ “ลูก” เช่นนี้ไปลงทุนต่ออีกทอดหนึ่ง จนได้ผลตอบแทนในลำดับ “หลานปู่หลานตา” และต่อไปเรื่อย ๆ ในอนาคต จนได้รับความมั่นคงทางการเงินในอนาคตในที่สุด

          การควบคุมจัดการพฤติกรรมของตนเองในการขยันขันแข็งทำมาหากิน และโดยเฉพาะ อย่างยิ่งในเรื่องการใช้จ่าย เป็นหัวใจสำคัญของการสร้างเงินออม ซึ่งเป็นรากฐานของการสร้างความมั่นคงทางการเงินในอนาคต