ถ่ายในที่สาธารณะสร้างอันตราย

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
5 สิงหาคม 2557

          การถ่ายอุจจาระในที่สาธารณะของมนุษย์ยังคงมีอยู่อย่างกว้างขวางในหลายประเทศอย่างไม่น่าเชื่อ รวมแล้วมีจำนวนถึง 1 พันล้านคนในประชากรโลก 7 พันล้านคน ซึ่งการกระทำเช่นนี้มีผลต่อสุขสภาวะในประเทศเหล่านี้ ที่ผ่านมามักไม่พูดกันเพราะความเหนียมอาย แต่ยิ่งหลีกหนีก็ยิ่งจะทำให้ปัญหาไม่หายไป

          มนุษย์แต่ละคนในแต่ละวันถ่ายอุจจาระเฉลี่ยประมาณวันละ 100 กรัม ปัสสาวะ 1.5 ลิตร และโดยทั่วไปใน 1 กรัมของอุจจาระประกอบด้วยไวรัส 10 ล้านตัว แบคทีเรีย 1 ล้านตัว ตัวอ่อนของปรสิก (parasite) 1,000 ตัว และไข่ของปรสิตอีก 100 ใบ ขณะที่อุจจาระอยู่ในร่างกายของเรา ส่วนใหญ่ไม่เป็นปัญหาเพราะระบบคุ้มกันของร่างกายตามธรรมชาติควบคุมอยู่ แบคทีเรียบางชนิดก็เป็นประโยชน์ต่อระบบการย่อยหรือระบบการทำงานของร่างกายด้วยซ้ำ อย่างไรก็ดีเมื่อมันออกมานอกร่างกายแล้วก็อาจอาละวาดได้อย่างน่ากลัว

          โรคที่อาจติดถ่ายทอดกันได้คือไทฟอยด์ อหิวาตกโรค โปลิโอ นิวมอเนีย ไวรัส A พยาธิ ตาอักเสบอย่างรุนแรง ฯลฯ ตลอดจนอาจหยุดยั้งการเจริญเติบโตของร่างกายตลอดจนกระทบต่อการทำงานของสมองได้

          ที่น่ากลัวและรวดเร็วที่สุดก็คือโรคท้องร่วงอย่างแรง ในปัจจุบันเด็กตายวันละ 2,000 คน ในโลก หรือหนึ่งคนทุก 40 วินาที การถ่ายอุจจาระในสาธารณะอาจดูเป็นเรื่องน่ารังเกียจ ไร้เดียงสา ด้อยพัฒนา แต่แท้จริงแล้วเป็นเรื่องคอขาดบาดตายอยู่พอควร

          ในจำนวน 1 พันล้านคนที่ไม่ใช้ห้องน้ำถ่ายให้เป็นเรื่องเป็นราว มีคนอินเดียอยู่ถึง 620 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงสุดในโลก ตัวเลขนี้เกือบเท่ากับครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศคือ 1,300 ล้านคน ตัวเลขคร่าว ๆ ของ 620 ล้านคนนี้ก็คือมีการปล่อย “ขยะจากร่างกาย” ออกมาไม่ต่ำกว่า วันละ 65 ล้านกิโลกรัม ในทุ่งโล่ง ป่าเขา ริมน้ำ ทุ่งนา แม่น้ำลำคลอง หรือแม้แต่ในบริเวณที่ไม่ไกลจากที่พักอาศัย

          จีนในยุคแรกของการเปิดประเทศนั้นมีห้องน้ำสาธารณะที่มีชื่อเสียงเลื่องลือในความ น่ากลัว หรือแม้แต่ห้องน้ำในชนบทในปัจจุบัน แต่ถึงกระนั้นก็ตามก็ยังมีส้วมเป็นกลไกกำจัด “ขยะจากร่างกาย” อย่างไม่ก่อให้เกิดปัญหาสาธารณสุข ในปัจจุบันน่าจะมีคนจีนถ่ายในที่สาธารณะอยู่ไม่น้อยในที่ห่างไกลจากความเจริญ แต่ตัวเลขก็ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของประชากรดังเช่นอินเดีย

          การถ่ายในที่สาธารณะของมนุษย์นั้นเป็นไปตามธรรมชาติ บรรพบุรุษของเราก็ทำแบบนี้มานับพัน ๆ ชั่วคน การเข้าไปอยู่ในส้วมที่อึดอัด อากาศไม่ถ่ายเท แถมมีกลิ่นเหม็นด้วยเพื่อถ่ายนั้นจะว่าไปแล้วเป็นการผิดธรรมชาติมากกว่า ในสมัยที่ยังไม่มีผู้คนอยู่กันอย่างแออัด อุจจาระก็แห้งไปด้วยแสงแดดและความหนาว กลายเป็นอาหารของสัตว์ป่า หนอน และเป็นปุ๋ยอันเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ แต่เมื่อมีคนอยู่อาศัยใกล้เคียงกันมากขึ้น กระบวนการย่อยสลายอย่างเดิมถูกแทรกแซงโดยแมลงวันหรือคนมาสัมผัสจนเชื้อโรคแพร่ระบาด หรือเชื้อโรคพลัดหลงเข้าไปในแหล่งน้ำใต้ดินหรือบนดิน

          นายกรัฐมนตรีอินเดียคนใหม่สุดคือ นาย Narendra Modi เห็นภัยจากการถ่ายในที่สาธารณะ (คานธีผู้ยิ่งใหญ่เคยพูดครั้งหนึ่งด้วยซ้ำว่าสุขาภิบาล (sanitation) สำคัญกว่าอิสระภาพ) บอกว่าการสร้างห้องส้วมมีลำดับสำคัญเหนือกว่าการสร้างวัด และให้จัดสรรงบประมาณขนาดใหญ่สร้างส้วมอย่างรีบด่วนโดยมีเป้าหมายให้การถ่ายในที่สาธารณะหมดไปทั้งหมดก่อนปี 2019

          คนอินเดียถ่ายในที่สาธารณะมานับพันปี หลังการได้รับอิสระภาพใน ค.ศ. 1947 อินเดียก็มีโครงการสร้างส้วมมาหลายครั้ง แต่ถึงจะสร้างจำนวนมากมายแต่ส่วนหนึ่งก็ไม่มีคนใช้ อุปสรรคมิได้อยู่ตรงการขาดแคลนเงินแต่เพียงอย่างเดียว หากเกี่ยวพันกับทัศนคติซึ่งโยงกับความเชื่อ ค่านิยม ที่มาจากคำสอนของชาวฮินดูด้วย

          พระมนูของฮินดูอายุนับพัน ๆ ปีสนับสนุนให้ถ่ายในที่สาธารณะ ไกลจากบ้านเพื่อหลีกเลี่ยงการถ่ายปะปนหรือในที่เดียวกับคนต่างวรรณะ อันจะนำมาซึ่ง “ความไม่บริสุทธิ์”

          การถ่ายทับที่กับคนวรรณะต่ำกว่าโดยเฉพาะจัณฑาลนั้นถือว่าเป็นบาป การถ่ายในบริเวณสาธารณะที่คนวรรณะเดียวกันใช้จึงเป็นหนทางหนึ่งของการหลีกเลี่ยงบาป การรังเกียจวรรณะจัณฑาลมีเหตุผลเชิงสุขาภิบาลเกี่ยวพันอยู่ด้วย เนื่องจากวรรณะนี้มีอาชีพเก็บขยะ กวาดถนน เก็บซากอุจจาระ ซากสัตว์ตลอดจนสิ่งสกปรกทั้งปวงซึ่งทำให้สามารถติดโรคระบาดต่าง ๆ ได้ง่ายกว่าผู้อื่น

          ปัจจุบันอินเดียกำลังรณรงค์ผ่านสื่อในเรื่องนี้โดยตั้งชื่อว่า Poo2 Loo ซึ่ง Poo หมายความถึงอุจจาระ ส่วน Loo ก็คือห้องส้วม เช่นเดียวกับวิธีเอาน้ำไล่ฉีดชายที่ชอบยืนปัสสาวะรดกำแพง ริมถนน ถ้าการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและความเคยชินของประชาชนได้ผล พร้อมไปกับการทุ่มเทงบประมาณของภาครัฐ เราอาจเห็นอัตราการตายของเด็กทารกอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งเกี่ยวพันกับพฤติกรรมนี้ของอินเดียลดลงหลังจากที่ทรงตัวมาเป็นเวลาหลายปีแล้วก็เป็นได้

          ในประเทศอื่น ๆ การถ่ายในที่สาธารณะก็ยังคงมีอยู่เช่นกัน แต่เนื่องจากเป็นประเทศที่เล็กกว่าอินเดีย จึงไม่ทำให้มีจำนวนผู้กระทำสูง การมีระบบสุขาภิบาลในการกำจัด “ขยะร่างกาย” ที่ดีคือหัวใจสำคัญของระบบสาธารณสุขของประเทศ

          งานวิจัยของสหประชาชาติพบว่าการถ่ายในที่สาธารณะยังคงเพิ่มขึ้นใน 26 ประเทศของ อาฟริกา โดยเฉพาะไนจีเรียซึ่งมีประชากรสูงถึง 175 ล้านคน มีประชากรกว่า 39 ล้านคนในปัจจุบันที่ยังคงปฏิบัติอยู่อย่างเหนียวแน่นในปัจจุบัน เปรียบเทียบกับจำนวน 23 ล้านคนในปี 1990

          ถ้าพิจารณากันอย่างเที่ยงธรรม พฤติกรรมเช่นนี้ก็ยังคงมีอยู่บ้างในชนบทไทยเช่นเดียวกับอีกหลายประเทศในปัจจุบัน คำว่า ‘ไปทุ่ง’ เป็นคำไทยโบราณที่ยังรู้จักกันดีในชนบทเพราะความเคยชิน และอากาศที่โล่งสบายไม่อึดอัดเวลาถ่าย เป็นที่เชื่อได้ว่าหลายประเทศเพื่อนบ้านของเราใน ASEAN ก็ยังมีอยู่กว้างขวางพอควร

          การหายไปของโรคติดเชื้อเกี่ยวกับทางเดินอาหารซึ่งโยงใยใกล้ชิดกับระบบสุขาภิบาลที่ดี ทำให้เราพอเชื่อได้ว่าการถ่ายในที่สาธารณะไม่ใช่ปัญหาของประเทศไทยอีกต่อไป

          ประเทศที่ไม่เหนียมอาย ไม่ปิดบังความจริงในเรื่องนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ถึงแม้จะพยายามปิดบังตัวเลขอย่างไรแต่ถ้าหลังฉากทำงานกันอย่างแข็งขันแล้วละก็ปัญหาก็สามารถทุเลาไปได้มากดังกรณีของเวียดนาม

          การถ่ายในที่สาธารณะเป็นปัญหาของหญิงไม่น้อย เพราะต้องระมัดระวังเรื่องของการละเมิดทางเพศ การข่มขืนทำร้ายเวลาออกไปถ่ายนอกบ้าน บ่อยครั้งต้องคอยถึงเวลาค่ำมืดซึ่งความมืดเพิ่มความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น การถ่ายในที่สาธารณะให้ทั้งความเสี่ยงในด้านสุขภาพของตนเองและในด้านสาธารณสุขของหมู่บ้านที่ตนเองอยู่อาศัยอีกด้วย

          มนุษย์ส่วนใหญ่ใช้เวลา 30 ปีแรกของชีวิตสร้างความเคยชินให้กับตนเอง และใช้เวลาที่เหลือทำตามความเคยชิน เฉพาะผู้มีปัญญาเท่านั้นที่พยายามดึงตัวเองให้หลุดพ้นจากความเคยชินเหล่านั้น