Uber บริการแท็กซี่สมัยใหม่

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
6 มกราคม 2558

          คำว่า Uber ได้ยินกันอยู่เนือง ๆ ในปัจจุบันอย่างน่าฉงน มันเป็นความคิดสร้างสรรค์เชิงธุรกิจอย่างน่าทึ่งมากเพราะสามารถทำเงินได้มหาศาลโดยลงทุนและเสี่ยงน้อยตราบที่มีระบบไอทีที่ใช้งานได้ดี

          Uber คือบริการรถแท็กซี่ทันใจผู้โดยสารโดยไม่มีรถเป็นของตัวเอง Uber เป็นบริษัทที่เปิดบริการใน 200 เมืองทั่วโลกรวมทั้งกรุงเทพมหานครและภูเก็ตด้วย ที่บ้านเรานี้แหละที่กำลังเป็นปัญหาเช่นเดียวกับเวียดนามและสิงคโปร์

          Uber ให้บริการแท็กซี่โดยรับสมัครรถยนต์ของบุคคลธรรมดาและคนขับเข้ามาเป็นเครือข่าย บริษัทจะตรวจสอบประวัติรถและคนขับและขึ้นทะเบียนไว้โดยไม่มีสติ๊กเกอร์ติดหน้ารถ เมื่อผู้โดยสารต้องการใช้บริการของ Uber ก็จะเข้าไปใช้ application ผ่านสมาร์ทโฟน เมื่อติดต่อบอกว่าจะไปที่ใดเวลาใด ราคาค่าโดยสารพร้อมกับรูปรถยนต์พร้อมทะเบียนรถก็จะปรากฏขึ้นบนมือถือ ถ้ายินดีรับบริการก็จะต้องโอนเงินจากบัญชีของตนเข้า Uber และรถก็จะมาให้บริการทันที

          คนขับรถแท็กซี่ให้ Uber จะไม่ได้สัมผัสเงินเลย การได้รับค่าโดยสารก็จะมาจากการโอนเงินจาก Uber เข้าบัญชีโดยมีการหักค่าธรรมเนียมไว้เรียบร้อยแล้ว เท่าที่ทราบจากคนขับ Uber หักไว้ร้อยละ 20

          รูปแบบการดำเนินธุรกิจเช่นนี้ถือได้ว่ามีความคิดสร้างสรรค์สูงเพราะไม่ต้องมีรถเอง ไม่ต้องดูแลรถยนต์ ไม่ต้องหาคนขับ ไม่ต้องกังวลเรื่องรถถูกขโมย หรือคนขับรถโกง ฯลฯ ทุกอย่างเป็นไปได้ดีด้วยระบบไอทีที่มีประสิทธิภาพและด้วยค่าธรรมเนียมหรือค่าหัวคิว คนขับรถแท็กซี่ “สมัครเล่น” เหล่านี้ต่างทำงานให้ Uber โดยใช้เวลาที่รถว่างเอามาวิ่งหาเงิน เรียกว่าเป็นการใช้ทรัพยากรที่สูญเปล่าให้เป็นประโยชน์

          สิ่งที่เป็นประโยชน์เกิดขึ้นกับ Uber คนขับ ‘สมัครเล่น’ และผู้โดยสารที่ได้รับบริการทันใจและมีประสิทธิภาพ แต่ผู้ที่ไม่ได้รับประโยชน์ก็คือรถแท็กซี่ธรรมดาที่เสียโอกาสในการได้ผู้โดยสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Uber ทำผิดกฎหมายเพราะรถเหล่านี้ไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นรถรับจ้าง ไม่มีมิเตอร์ คนขับก็ไม่มีใบขับขี่รถรับจ้างที่ถูกต้องตามกฎหมาย ฯลฯ ถึงแม้ธุรกิจของ Uber คือกิจกรรมเศรษฐกิจของ Digital Economy อันพึงส่งเสริมก็ตามที

          Uber ก่อสร้างขึ้นโดยบริษัทที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมือง San Francisco โดยใช้ชื่อว่า UberCab นาย Travis Kalanick และ Garrett Camp ร่วมกันก่อตั้งในปี 2009 โดยเปิดบริษัทในปี 2010

          ปารีสเป็นเมืองแรกนอกสหรัฐอเมริกาที่ Uber ให้บริการในปี 2001 ตามมาด้วยเมือง โตรอนโตในคานาดา แพร่กระจายไปซิดนีย์ สิงคโปร์ และเมืองต่าง ๆ อย่างประสบความสำเร็จ

          Uber ให้บริการในกรุงเทพฯ ในเดือนกุมภาพันธ์และภูเก็ตเดือนพฤศจิกายนของปี 2014 สำหรับโฮจิมินห์ซิตี้เปิดบริการเดือนมิถุนายนและฮานอยตุลาคมของปี 2014 บริการ Uber ในสองประเทศนี้ผิดกฎหมาย แต่ทางการไทยมีปฏิกิริยาช้ากว่าเพราะเมื่อต้นเดือนธันวาคมนี้ทางการไทยเพิ่งบอกว่า Uber ประกอบกิจการต่ออีกไม่ได้แล้วเพราะเป็นแท็กซี่ที่ผิดกฎหมาย

          ส่วนเวียดนามนั้นกำลังเริ่มพลิกตัวเพราะเห็นว่า Uber ผิดกฎหมาย แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะห้ามหรือไม่ อย่างไรก็ดีในกรณีของเวียดนามนั้น Uber เพิ่งเข้าไป ส่วนไทยเข้าไปเกือบครบหนึ่งปีแล้วเพิ่งจะห้าม

          ความสำเร็จของ Uber นั้นเรียกได้ว่าอื้อฉาวพอควรเพราะเป็นบริษัทรถแท็กซี่ในรูปแบบของความคิดใหม่ที่มิใช่แบบที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนั้นจึงไม่สอดคล้องกับกฎหมายในเกือบทุกประเทศที่ไปเปิดบริการ เฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศที่สามารถแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัยทันการมี Uber

          ฝ่ายเสียประโยชน์ซึ่งได้แก่ผู้ขับแท็กซี่ปัจจุบันพยายามต่อต้าน Uber อย่างประสบผลสำเร็จมากน้อยแตกต่างกันไป อย่างไรก็ดีในเมืองใหญ่ของโลก Uber ก็ยังดำเนินธุรกิจต่อไปอย่างแข็งขันและเงียบ ๆ เพราะผู้โดยสารพอใจ

          ถ้าพิจารณาและเจาะลึกลงก็จะพบว่าเฉพาะผู้โดยสารประเภทไฮเท็คที่ใช้สมาร์ทโฟนได้ อย่างคล่องแคล่ว (ไม่ใช่เฉพาะรับส่งไลน์ ส่งสติ๊กเกอร์ อีเมล์ ค้น google) เช่น สามารถใช้ application และโอนเงินข้ามบัญชี ฯลฯ เท่านั้นที่จะเป็นลูกค้า คนใช้แท็กซี่ที่ชอบโบกตาม ริมถนน (ทั้งชอบแซงและไม่แซงคิว) จะไม่เป็นลูกค้าของ Uber แน่นอน

          หาก Uber ขยายตัวในบ้านเราหลังจากมีการแก้ไขกฎหมายแล้วหรือแม้แต่เดี๋ยวนี้ก็เถอะ ใครที่มีรถและจอดไว้โดยไม่ใช้บ่อย ๆ ต้องระวัง อาจมีมือดีเช่นญาติหรือคนขับรถแอบเอารถไปใช้เป็นรถ Uber โดยทำหน้าที่เป็นคนขับ ‘สมัครเล่น’ ได้ ถ้าโชคร้ายก็อาจเจอโจรแฝงมาจี้เอารถไปเพราะรถส่วนตัวมีทางโน้มที่จะอยู่ในสภาพดีกว่าและมียี่ห้อน่าจี้กว่ารถแท็กซี่ธรรมดาเป็นแน่

          โลกหมุนไปพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ ดังนั้นก็ย่อมมีรูปแบบการประกอบธุรกิจใหม่ ๆ เกิดขึ้นเป็นธรรมดา Uber ดูจะขยับตัวเร็วกว่ากฎหมายและความคิดของคนโดยทั่วไป

          Uber สอดคล้องกับ Digital Economy ซึ่งใช้เทคโนโลยีไอทีช่วยในการประกอบกิจการทางเศรษฐกิจเพื่อความสะดวก ลดต้นทุน เพิ่มผลิตภาพ (productivity) ลดความสูญเสียของทรัพยากร ฯลฯ แต่ก็ต้องเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายด้วย