Ba ผู้สนับสนุนมหาตมะ คานธี

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
9 กุมภาพันธ์  2559

          โลกรู้จักและชื่นชมแต่มหาตมะ คานธี โดยมักไม่ทราบว่าภรรยาของเขานี่แหละคือบุคคลสำคัญซึ่งอยู่เบื้องหลังช่วยผลักดันให้ประสบความสำเร็จจนเสมือนเป็นพระเจ้าและเป็นต้นแบบที่เป็น แรงบันดาลใจจนเกิดผู้นำการเปลี่ยนแปลงขึ้นในหลายประเทศ

          Kasturba Kapadia หรือที่คนอินเดียเรียกว่า “Ba (แม่)” คู่กับ “Bapu (พ่อ)” ของ มหาตมะ คานธี หรือชื่อเดิม Mohandas Gandhi เกิดใน ค.ศ. 1869 เป็นลูกสาวของพ่อค้าผู้มีอันจะกินของเมือง Porbandar

          เมื่อตอนอายุ 7 ขวบพ่อแม่หมั้นหมายไว้กับเด็กชายวัยเดียวกันชื่อ Mohandas Karamchand Gandhi ลูกพ่อค้าฮินดูเช่นเดียวกัน และแต่งงานกันในเวลา 6 ปีต่อมา โดยทั้งสองไม่รู้ว่าการแต่งงานหมายความว่าอย่างไร

          Gandhi เขียนในตอนหลังว่าทั้งสองไร้เดียงสาในเรื่องเพศ อยู่กันนานพอควรจึงเข้าใจและมีลูก ในตอนแรกสามีนั้นไม่ยอมรับประเพณีดั้งเดิมที่สามีอยู่เหนือภรรยาซึ่งกำหนดให้เธอมีหน้าที่เพียงท้อง ทำกับข้าว และเลี้ยงลูกเท่านั้น เขาสอนเธอให้อ่านหนังสือ เรียนรู้โลกด้วยกันจากหนังสือพิมพ์ Gandhi สารภาพว่าถ้าไม่มีเรื่องเพศเข้ามาปะปน เขาเชื่อว่าเธอจะมีเวลาเรียนหนังสือจนเป็นคนมีการศึกษาดีกว่าที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน

          อย่างไรก็ดีเมื่อโตขึ้นเขาก็เริ่มเปลี่ยนไป จากชายผู้ไม่ยอมรับประเพณีดั้งเดิม กลายเป็นชายอินเดียดั้งเดิม คือภรรยาเป็นทาส เช่นเวลาเธอจะไปไหนต้องขออนุญาตเขาก่อน แต่เธอก็ไม่ได้ยอมเขาง่ายดายนัก มีการต่อสู้กันในทีอยู่เสมอ

          เมื่อทั้งสองอายุได้ 15 ปี ก็เกิดเหตุร้ายกับครอบครัว ลูกชายคนแรกของทั้งสองเสียชีวิตหลังจากเกิดได้ไม่กี่วัน และสามีของ Gandhi ก็ตายลงในเวลาใกล้กัน ซึ่งทำให้เขาเสียใจมากที่มิได้อยู่ข้างเคียงพ่อเมื่อตอนเสียชีวิต และนี่เป็นความผิดในใจของเขาซึ่งเป็นสาเหตุไปสู่ความแปลกในชีวิตสมรสในเวลาต่อมา

          เมื่ออายุได้ 18 ปี Gandhi ก็ปรารถนาจะศึกษากฎหมายในอังกฤษโดยใช้เงินจากการขายสินสอดที่ได้มาจากครอบครัวภรรยา (ประเพณีอินเดียนั้นผู้หญิงขอผู้ชาย) เธออยู่เฝ้าบ้านแต่ก็ไม่เหงาเพราะลูกชายคนโตชื่อ Harilal เกิดพอดี หลังจากห่างหายไปอังกฤษหลายปี เขาก็เรียนจบกลับมาและไม่นานนักก็มีลูกชายคนที่สอง

          Gandhi ทำงานเป็นทนายความในเมืองบอมเบย์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จจึงรับงานใหม่แต่อยู่ไกลมากคือที่ South Africa ซึ่งอยู่ในจักรภพอังกฤษเหมือนกัน เธอไม่ได้เดินทางไปด้วยเพราะต้องอยู่บ้านเลี้ยงลูก

          ที่ South Africa ซึ่งเป็นประเทศเหยียดผิว เขาต่อสู้กับความอยุติธรรมโดยการ ปลุกเร้ากระตุ้นให้คนอินเดียที่ไปตั้งรกรากอยู่ที่นั่นโดยเฉพาะในเมือง Durban ลุกขึ้นต่อสู้ จนมีชื่อเสียงกระฉ่อนไม่เป็นที่สบอารมณ์ของอังกฤษ

          Gandhi เดินทางกลับมาอินเดียเพื่อรับภรรยาและลูกกลับไป Kasturba ไม่อยากเดินทางไปแต่ก็ต้องจำใจเพราะอยากอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว ลูกชาย 2 คนก็ไม่คุ้นเคยกับพ่อเลย ขณะเดินทางไปถึงเธอกับสามีถูกแกล้งกักให้อยู่ในเรือเป็นเวลาหลายวันโดยอ้างการตรวจโรค แต่ความจริงก็คือเกรงกลัว Gandhi ซึ่งมีชื่อเสียงไปกว้างไกลในการก่อเหตุต่อต้านการเหยียดผิว เขาเป็นที่ชื่นชมจนคนเริ่มเรียกเขาว่า Bapu

          เธอซึ่งกำลังท้องลูกคนที่ 3 และลูก 2 คน เดินลงจากเรือขึ้นฝั่งด้วยความหวาดหวั่นเพราะสามีถูกขว้างปาด้วยก้อนหิน ไข่เน่า แต่ก็ไม่สะทกสะท้านโดยบอกว่าอภัยให้ทุกคนเพราะการให้อภัยคือลักษณะของผู้มีความเข้มแข็ง

          Kasturba มีความสุขพักหนึ่งกับบ้านหลังใหญ่สไตล์ยุโรปงดงามกับลูกชายเดิม 2 คน และคลอดที่นี่อีก 2 คน รวมกันเป็น 4 คน อย่างไรก็ดีความสุขของเธอก็หมดสิ้นลงเมื่อสามีประกาศว่าเขานับถือปรัชญาในเรื่องการไม่เป็นเจ้าของสมบัติพัสถาน ดังนั้นต้องละทิ้งบ้านหลังนี้เพื่อไปอยู่บ้านชนิดอยู่ร่วมกันซึ่งตั้งอยู่กลางไร่อ้อยไกลออกไปอีก

          เขาศึกษาคู่มือคลอดลูกเอง หาซื้อกรรไกรมาตัดผมเอง อย่างไรก็ดีในเวลาไม่นานนักเขาก็บอกเธอว่าต่อนี้ไปเขาจะไม่นอนกับเธอแล้ว เพราะนับถือปรัชญาเรื่อง “พรหมจรรย์” โดยบอกว่าถ้าถนอมอสุจิไว้ได้มากเท่าใดก็จะยิ่งมีพลังมากเพียงนั้น

          นักวิเคราะห์ในภายหลังเชื่อว่าความรู้สึกผิดที่ไม่ได้อยู่กับพ่อตอนตาย เพราะหลงระเริงอยู่กับเรื่องเพศน่าจะมีผลต่อการตัดสินใจเช่นนี้ Gandhi ภาคภูมิใจกับความสามารถในการรักษาพรหมจรรย์มาก จนในภายหลังขณะที่พักอาศัยในอาศรม (ashram) เขานอนแก้ผ้ากับผู้หญิงสาวเปลือยกายหลายคนเพื่อพิสูจน์ว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น (อย่าได้ให้สามีที่ว่าแสนดีของท่านพิสูจน์แบบนี้นะครับ)

          การต่อสู้แบบ “อารยะขัดขืน” (civil disobedience) โดยไม่ใช้ความรุนแรงหากยอมให้ถูกกระทำแต่ฝ่ายเดียวที่ใช้ได้ผลของเขาในการกู้เอกราชอินเดียเชื่อว่ามีที่มาจากการกระทำของ Kasturbar เมื่อตอนเป็นวัยรุ่น ขณะที่ Gandhi พยายามกำหลาบให้เธออยู่ในโอวาท ซึ่งเธอก็ยอมโดยไม่มีการใช้ความรุนแรงโต้กลับเมื่อมีการทะเลาะเบาะแว้งกันทุกครั้ง จนในที่สุดสามีก็ผ่อนปรนลงไปมาก

          ในการต่อสู้เพื่อเอกราชอินเดีย เธออยู่เคียงข้างช่วยเหลือเขาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงใดก็ตาม จนถูกจับติดคุก ยอมอดอาหาร ทั้งหมดก็เพื่อสามีของเธอ ครั้งหนึ่งเจ้าหน้าที่คุกไม่ยอมให้อาหารไร้เนื้อสัตว์ เธอก็ยอมอดอาหารจนเกือบตาย และในที่สุดก็ยอมให้อาหารชนิดที่เธอต้องการ

          หลังจากอยู่ South Africa มา 20 ปี ก็กลับมาต่อสู้ในอินเดียโดยไม่ใช้ความรุนแรงและหันมาใส่เสื้อผ้าแบบชาวบ้าน ทอผ้าเอง เมื่อมีคนศรัทาและเชื่อในกลวิธีนี้มากขึ้น ๆ ก็เกิดการประท้วงที่กว้างขวางขึ้นเป็นลำดับ แรงกดดันสู่การปลดปล่อยอินเดียก็มากขึ้นจนในที่สุดได้รับเอกราชในปี ค.ศ. 1947

          เสี้ยวหนึ่งของชีวิตที่เป็นเรื่องเศร้าของครอบครัวก็คือการไม่ถูกกันระหว่างลูกคนโต Harilal กับพ่อผู้ซึ่งแทบไม่รู้จักเขา Harilal ทอดทิ้งครอบครัวไม่ยอมรับความสำคัญของพ่อ คิดและกระทำทุกอย่างตรงข้ามพ่อ มีเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่งที่สถานีรถไฟก่อนได้รับชัยชนะจากอังกฤษ ทั้ง Gandhi และ Kasturba พบลูกชายในสภาพไร้ฟัน เสื้อผ้าขาดกะรุ่งกะริ่งราวขอทาน เขาเดินเข้ามาหาและให้ส้มแก่แม่ Gandhi ก็ถามว่าแล้วมีอะไรให้พ่อบ้าง เขาตอบว่า “ไม่มีอะไร ถ้าพ่อยิ่งใหญ่จริงก็เป็นเพราะแม่นี่แหละ”

          คำพูดนี้โดนใจ Gandhi มาก เขารู้ดีว่าที่ลูกพูดนั้นเป็นความจริง และรู้สึกปวดร้าวมากกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับความสัมพันธ์ของเขากับลูกชาย เมื่อตอนที่ Kasturba ใกล้ตายจาก heart attack 2 ครั้ง มีโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังและล้มเจ็บด้วยนิวมอเนีย Harilal พยายามให้แม่กิน ยาเพ็นนิซิลินซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะใหม่ แต่ Gandhi ให้กินยาพื้นบ้าน เธอเหน็ดเหนื่อยมากและยอมจิบน้ำจากแม่น้ำคงคา หลังจากนั้นก็นอนลงเรียกชื่อสามีเพื่อหวังให้คืนดีกับลูก แต่เธอก็ขาดใจตาย บนตักของ Gandhi เสียก่อน เมื่ออายุได้ 74 ปี ก่อนที่อินเดียจะได้รับเอกราช 3 ปี

          ชีวิตของเธออุทิศเพื่อสามี เมื่ออินเดียมี Bapu ของประเทศ เธอก็เป็น Ba ของอินเดียโดยแท้