ภูกระดึงที่ต้องหวงแหน

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
2 กุมภาพันธ์ 2559

          ภูกระดึงสำหรับผู้เขียนเปรียบเสมือนภูเขาหิมาลัยสำหรับเหล่านักไต่เขาระดับโลก มันเป็นความฝันมานานว่าต้องพิชิตให้ได้สักครั้ง และเมื่อถึงวัยนี้ก็ตระหนักว่าต้องรีบให้เร็วที่สุด มิฉะนั้นจะไม่มีปัญญาเพราะสังขารไม่สนับสนุน ในที่สุดก็ได้ลงมือและได้แง่คิดบางประการที่ขอนำเสนอ

          ภูกระดึงเป็นอุทยานแห่งชาติโดยได้รับการจัดตั้งให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติตั้งแต่ปี 2486 สถานที่แห่งนี้เป็นที่รู้จักกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 โดยมีหลักฐานจากรายงานสภาพภูมิศาสตร์เสนอต่อกระทรวงมหาดไทยของสมุหเทศภิบาล (พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ ศิลปาคม พ.ศ. 2399-2467)

          ภูกระดึงมาจากคำว่า “ภู” แปลว่า ภูเขา และ “กระดึง” แปลว่ากระดิ่งซึ่งเป็นภาษาพื้นเมืองของจังหวัดเลยซึ่งเป็นสถานที่ตั้ง เมื่อรวมกันจึงอาจแปลได้ว่า “ระฆังใหญ่” ชื่อนี้มาจากเรื่องเล่าของชาวบ้านว่าในวันพระมักได้ยินเสียงกระดิ่งหรือระฆังจากภูเขาลูกนี้เสมอ ซึ่งหมายความว่าเป็นสถานที่อันเปรียบเสมือนสวรรค์

          สวรรค์จริงหรือไม่ก็ไม่อาจทราบได้ แต่การจะขึ้นไปถึงยอดซึ่งเป็นที่ราบนั้นหนักหนาสาหัสสำหรับคนทุกวัยโดยเฉพาะกลุ่มของผู้เขียนซึ่งเป็นชายล้วน 7 คน (รวมอายุกันแล้วเฉียด 500 ปี)ลักษณะของภูกระดึงเป็นรูปหัวใจ

          พื้นที่ราบซึ่งอยู่บนยอดนั้นมีพื้นที่ประมาณ 60 ตารางกิโลเมตร (37,500 ไร่) สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 1,200 เมตร เส้นทางขึ้นภูกระดึงนั้นไม่ราบเรียบ เต็มไปด้วยก้อนหินตะปุ่มตะปํ่า สมองต้องทำงานตลอดเวลาว่าจะเลือกเดินอย่างไร ซอกหลืบ หรือซอกหินใดที่จะทำให้ตนเองสามารถเคลื่อนที่ขึ้นไปตามระยะทางประมาณเกือบ 6 กิโลเมตรได้ ก่อนที่จะถึงยอดเขาซึ่งเป็น ที่ราบ และเดินไปอีก 3 กิโลเมตรบนทางเรียบเพื่อไปถึงสถานที่ตั้งที่อยู่อาศัยของนักผจญภัยทั้งหลาย

          ระหว่างทางก็มีจุดพักเป็นระยะ ๆ เรียกว่า “ซำ” บางซำก็มีน้ำ อาหาร ของที่ระลึก ผลไม้ ฯลฯ ขายอยู่หนาแน่นโดยตั้งอยู่บนสถานที่ๆพอเป็นที่ราบเรียบ พวกเราใช้เวลาเดินขึ้นถึงยอดภูประมาณ 5 ชั่วโมง และอีก 1 ชั่วโมงไปยังที่พัก เรียกได้ว่าสุดโหดสำหรับคนในวัยร่วงโรยนี้ แต่ทุกคนก็ไปถึงได้อย่างสบาย ๆ ไม่มีเหตุการณ์ใด ๆ เนื่องจากทุกคนมีการเตรียมออกกำลังกายและพักผ่อนมาเป็นระยะเวลายาวนานพอควร และรู้จักสุขภาพของตนเองดีจึงหาญกล้าเช่นนี้

          ข้อสังเกตที่พบและน่าชื่นใจก็คือเกือบทุกคนที่เดินสวนผ่านกันทั้งขาขึ้นและลงจะมีความเป็นมิตรต่อกันอย่างมาก คนที่ลงมาก็จะให้กำลังใจคนที่กำลังจะขึ้นว่าอีกสักพักก็ถึง “ซำ” ต่อไปแล้ว ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วอาจอีกนานพอควร นอกจากนี้คนที่เดินขึ้นและลงด้วยกันก็มักจะพูดคุยกันเสมือนเป็นเพื่อน มีความสนุกสนาน และดูจะอิ่มเอิบในความกล้าของตนเองยามไต่ขึ้นและภูมิใจตนเองยามขาลงว่าได้ทำสำเร็จแล้ว

          ระหว่างการเดินทางก็จะมีลูกหาบที่รับจ้างขนกระเป๋าและแบกวัตถุดิบขึ้นไปสำหรับร้านอาหารที่มีอยู่นับสิบร้าน (ห้ามหุงหาอาหารต้องซื้ออย่างเดียว เนื่องจากเกรงการตัดไม้มาทำฟืนและการเป็นต้นเชื้อไฟป่า) เดินขึ้นอยู่หนาตา ลูกหาบเหล่านี้แบกคนละประมาณ 60-80 กิโลกรัม มีทั้งชายและหญิง ร่างกายแข็งแรงกำยำ จะเอากระเป๋าซ้อนกันและใช้เชือกมัดเพื่อหาบโดยใช้ไม้คานขนาดใหญ่ ขณะหาบไปก็เปิดเพลงดัง ๆ ให้กำลังใจไปอย่างน่าเห็นใจ เพราะแค่ลำพังขึ้นไปตัวเปล่าก็หนักหนาแล้ว แต่ลูกหาบเหล่านี้กลับแบกน้ำหนักขนาดนี้ขึ้นไปหน้าตาเฉย (แต่หนักมาก)

          ได้คุยกับลูกหาบก็พบว่าเป็นลูกหลานของลูกหาบเก่าเกือบทั้งสิ้น บางคนมีอายุถึง 60 ปี ก็มี แบกมาตั้งแต่ยังหนุ่ม โดยเฉลี่ยขึ้นลงวันละ 1 เที่ยว หากในช่วงเทศกาลอาจมี 2 เที่ยว ส่วนใหญ่จะขึ้นลงทุกวันราวกับเห็นเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อสูงอายุก็มีปัญหาเข่าเสื่อม (ขาลงนั้นต้องใช้กำลังเข่ามากยิ่งขึ้น) ปวดหลัง ปวดไหล่ คล้ายกับนักยกน้ำหนักทั้งหลาย

          ข้อคิดจากการผจญภัยครั้งนี้ก็คือความยากลำบากในการขึ้นคือเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดความภาคภูมิใจในความสำเร็จของตนเอง ผู้เขียนรู้สึกว่าคนที่พบกันบนยอดภูจะมองซึ่งกันและกันอย่างทึ่งเพราะทุกคนต้องผ่านเส้นทางเดียวกันทั้งนั้น (ยกเว้นพวกเราที่เด็ก ๆ อาจมองอย่างทึ่งหรือสมเพชว่าควรอยู่บ้านเลี้ยงหลานมากกว่ามาทำสิ่งเดียวกับคนวัยเขา) ข้างบนไม่มีรถ ไม่มีมอเตอร์ไซค์ (ยกเว้นของเจ้าหน้าที่ซึ่งเห็นเพียงคันเดียว) ไม่มีช้างให้ขี่ (ยกเว้นช้างป่าซึ่งต้องพยายามหลีกเลี่ยงในยามเย็นเมื่อออกมาหากิน) ไม่มีม้าให้ขี่ ทั้งหมดต้องเดินด้วยตนเองทั้งสิ้น

          บนยอดเขามีน้ำตกและหน้าผาให้ชมพระอาทิตย์ขึ้นและตกหลายแห่ง แต่ทั้งหมดต้องเดิน ที่อยู่ใกล้ที่สุดก็ประมาณ 2 กิโลเมตรเศษ และที่ไกลที่สุดก็ประมาณ 9 กิโลเมตร เมื่อนับระยะทางไปกลับแล้ววันหนึ่งต้องเดินไม่ต่ำกว่า 10 กิโลเมตร หรืออาจถึงกว่า 20 กิโลเมตร (มีอยู่วันหนึ่งพวกเราเดินรวมระยะทาง 25 กิโลเมตร)

          ใครที่ไม่ชอบเดิน ไม่ชอบธรรมชาติ ไม่ชอบอากาศเย็นหรือหนาว ไม่ชอบความท้าทาย ไม่ชอบความลำบากเล็กน้อย (ไม่มีน้ำอุ่นอาบ ไม่มีไฟฟ้าให้ใช้ทั้งคืน) ก็จงอย่ามาขึ้น ภูกระดึงเป็นอันขาดเพราะจะไม่สนุกเลย

          ใครที่เสนอไอเดียให้สร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงนั้นในความเห็นของผู้เขียนคือคนที่ไม่เข้าใจความลึกซึ้งของชีวิต ตื้นเขินในความคิดอันถูกครอบงำด้วยกระแสทุนนิยมอย่างเขลา คำถามง่าย ๆ ก็คือจะสร้างเพื่ออะไร คำตอบอาจเป็นว่าจะได้มีนักท่องเที่ยวขึ้นได้สะดวก มีนักท่องเที่ยวแยะ ๆ จะได้มีการค้าขาย มีการทำมาหากินสร้างรายได้ให้ผู้คนจำนวนมาก

          คำโต้กลับคำตอบเหล่านี้ก็คือความสะดวกจะนำไปสู่การทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่าที่สุดแห่งหนึ่งของบ้านเรา เพราะยังไม่มีภูเขาลูกใดที่มีลักษณะแบนราบบนยอดเหมือนภูกระดึง อีกทั้งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าชุกชุม มีทั้งช้าง เก้ง กวาง หมูป่า กระต่าย เลียงผา ฯลฯ ตลอดจนสัตว์ปีกเกือบ 200 ชนิด อีกทั้งมีป่าที่อุดมสมบูรณ์ไม่ว่าป่าเต็งรัง หรือป่าสน

          กระเช้าจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มจากจำนวนสูงสุดที่ควบคุมไว้ที่ 5,000 คน ในช่วงเวลาหนึ่งเป็นนับหมื่น ๆ คน สัตว์ป่า ต้นไม้จะถูกกระทบและทำลาย ขยะจะเพิ่มพูนขึ้น ขนาดใด สิ่งที่มีค่าอย่างยิ่งก็หายไปข้ามคืน

          ปัจจุบันภูกระดึงได้รับการดูแลเป็นอย่างดีอย่างน่าชมเชย โดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถานที่แห่งนี้มีการควบคุม การให้บริการ การจัดการในเรื่องต่าง ๆ การดูแลป่าและสัตว์ป่า ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลนักท่องเที่ยวในเรื่องการให้ความปลอดภัยอย่างมีประสิทธิภาพ การเปลี่ยนแปลงจำนวนนักท่องเที่ยวด้วยกระเช้าจะทำลายทุกสิ่งที่มีอยู่ลงอย่างสิ้นเชิง

          สิ่งมีค่าของชาติจะอยู่อย่างยั่งยืนได้ก็ต่อเมื่อคนในชาติผู้เป็นเจ้าของร่วมกันรับผิดชอบ รักและหวงแหนอย่างแท้จริงเท่านั้น