อะไรอยู่ในสมองนักเศรษฐศาสตร์

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
19 เมษายน 2559

           คำว่า “เศรษฐศาสตร์” ดูลึกลับ น่ากลัว น่าปวดหัวกับตัวเลข ยิ่งนักเศรษฐศาสตร์แล้วยิ่งมึนว่าเขาทำอะไรกันและในหัวเขาคิดถึงอะไร ขาดทุน-กำไร ต้นทุน เงิน ๆ ทอง ๆ การผลิต การบริโภค ฯลฯ

          “เศรษฐศาสตร์” เป็นคำน่ารังเกียจสำหรับสังคมไทยในยุคสมัยรัชกาลที่ 6 และ 7 เพราะมีนัยยะของ “สังคมนิยม” “คอมมูนิสต์” เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองและระบบเศรษฐกิจใน ค.ศ. 1917 ในรัสเซียเป็น “ระบอบคอมมูนิสต์” โรงเรียนกฎหมายไทยมีการสอนวิชานี้แต่แฝงอยู่ใน ชื่ออื่น

          “เศรษฐศาสตร์” ได้รับการยอมรับในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (ประมาณหลัง ค.ศ. 1946) มีการตั้ง “คณะเศรษฐศาสตร์” ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยในปี ค.ศ. 1949 (2492) ที่ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และเมื่อมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 1 ขึ้นใน พ.ศ. 2504 อาชีพ “นักเศรษฐศาสตร์” ก็เป็นที่รู้จักมากขึ้น

          “เศรษฐศาสตร์” ฝึกฝนให้ตระหนักว่าทุกสิ่งมีความจำกัด (scarce) ซึ่งหมายความว่ามีความต้องการมากกว่าที่จะสนองตอบได้ ดังนั้นจึงเห็นความจำกัดในเรื่องทรัพยากรของประเทศและของโลก ทั้งเรื่องน้ำ ที่ดิน เงินทอง ฯลฯ และครอบคลุมไปถึงสิ่งที่เป็นนามธรรมด้วย เช่น เวลาและโอกาส

          เมื่อเกิดความจำกัดขึ้นจึงทำให้เกิดการต้องเลือกเกิดขึ้น เช่น ประเทศไทยมีที่ดินจำกัดอยู่เพียงประมาณ 500,000 ตารางกิโลเมตร แต่เราอยากมีที่ดินมากกว่านี้เพื่อเก็บไว้เป็นแหล่งอุ้มน้ำ ทำการเกษตร ที่อยู่อาศัย ฯลฯ ดังนั้นมันจึงเป็นสิ่งขาดแคลน คำถามก็คือแล้วเราจะแบ่งมันใช้ในแต่ละด้านอย่างไร (ถ้าไม่มีความจำกัดก็ไม่ต้องมีปัญหานี้เพราะจะจัดเอาไปใช้แต่ละด้านมากมายเท่าไรก็ทำได้)

          ไม่ว่าจัดสรรอย่างไรเมื่อรวมกันทั้งหมดก็ต้องเป็น 500,000 ตารางกิโลเมตร สมมุติถ้าเราจัดให้เป็นป่าไปเกือบหมดก็เหลือที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและทำการเกษตรน้อยมาก ในทางตรงกันข้ามถ้าเอาไปใช้เพื่อการอยู่อาศัยและทำการเกษตรมากก็จะเหลือที่ดินเพียงเล็กน้อยที่จะเป็นแหล่งแห่งความชุ่มชื้นผลิตน้ำสืบต่อไปถึงลูกหลาน

          คำถามที่สำคัญก็คือ แล้วจะจัดสรรให้แต่ละด้านไปอย่างไร ตรงนี้แหละที่นักเศรษฐศาสตร์สามารถเข้ามาช่วยให้ความกระจ่างได้ว่าแต่ละการเลือกในการจัดสรรที่ดินมีผลดีผลเสียอย่างไร และมากน้อยเพียงใดเพื่อคนที่รับผิดชอบจะได้ตัดสินใจ ถ้าเป็นระดับย่อยคือที่ดินของเราเอง เราเป็นคนตัดสินใจแต่ถ้าเป็นระดับประเทศ ประชาชนตัดสินใจผ่านคนที่เขาเลือกเข้าไปทำงานแทนฃึางคำตอบอาจเป็นว่าปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดผสมกับการควบคุม

          ในเรื่องเงินทองก็เหมือนกัน ยาจกจนถึงเศรษฐีก็เผชิญปัญหาอย่างเดียวกันคือจะจัดสรรเงินอย่างไรอย่างเหมาะสม สำหรับยาจกนั้นปวดหัวน้อยเนื่องจากมีเงินน้อยจึงมีทางเลือกจำกัด แต่สำหรับเศรษฐีหรือคนมีอันจะกินแล้วค่อนข้างปวดหัว (แต่ถ้าไม่มีเงินจะปวดหัวกว่า) ว่าจะเอาเงินที่มีจำกัดไปปลูกบ้านหลังใหญ่และเหลือเงินอีกส่วนที่น้อยกว่าไปลงทุนด้านอื่นหรือบริโภค

          ถ้าคิดว่าทั้งชีวิตหนึ่งแต่ละคนจะหาเงินได้จำนวนหนึ่งโดยได้รับอย่างกระจายไปในแต่ละช่วงชีวิต คำถามก็คือจะจัดการกับมันอย่างไร จะใช้จ่ายมันอย่างไร ถ้ามีมากใช้มากก็จะไม่มีเงินออมสำหรับหาดอกผลจากมันในอนาคต ถ้ามีมากใช้น้อยเกินไปก็ขาดความสุข

          การขาดแคลนและต้องเลือกเช่นนี้ทำให้เกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า “ไม่มีอะไรฟรี” กล่าวคือ “จะได้บางอย่างก็ต้องยอมเอาบางอย่างไปแลก”เสมอ เช่น อยากมีเงินออมเพื่อให้หาดอกผลก็ต้องเสียสละการบริโภคในวันนี้ไปแลก แต่ถ้าอยากบริโภคมาก ๆ ในวันนี้ก็ได้มาด้วยการต้องเสียสละเงินออมซึ่งอาจสร้างดอกผลให้ได้ในอนาคต

          นักเศรษฐศาสตร์เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นจากการแลกได้กับเสียนี้ว่า “ค่าเสียโอกาส” (opportunity cost) ในกรณีข้างต้นก็คือการเสียสละการบริโภคในวันนี้ไป กับอีกกรณีคือการยอมเสียสละเงินออมเพื่อความสุขในวันนี้ สมมุติว่าถ้าวันนี้มีทางเลือก 2 อย่าง คือ อยู่บ้านกับออกไปทำงาน ไม่ว่าจะเลือกอยู่บ้านหรือการทำงานก็ล้วนมี “ค่าเสียโอกาส“ ทั้งนั้น ถ้าอยู่บ้าน “ค่าเสียโอกาส” ก็คืองานที่ไม่ได้ทำเพราะต้องยอมเสียสละไปเพื่ออยู่บ้าน ถ้าไปทำงาน “ค่าเสียโอกาส” ก็คือการยอมเสียสละความสุขจากการที่ได้อยู่บ้าน (สมมุติว่าอยู่บ้านแล้วมีความสุขนะครับ) เพื่อจะได้ไปทำงาน

          นี่คือสิ่งที่อยู่ในหัวของนักเศรษฐศาสตร์เสมอเพราะทุกอย่างในโลกล้วน ขาดแคลน ดังนั้นจึงต้องเลือกและทุกการเลือกก็มี “ค่าเสียโอกาส” การต้องเลือกนี่แหละคือเรื่องปวดสมอง เพราะไม่ว่าจะเลือกอะไรก็ต้องเอาบางสิ่งไปแลกเสมอ (“ไม่มีอะไรฟรี”) และ “ฟรี” ในที่นี้กินความกว้างขวางกว่าเงิน เงินทองนั้นเป็นเพียงทรัพยากรอย่างหนึ่งเท่านั้น ที่ขาดแคลนอย่างมาก ๆ สำหรับมนุษย์คือเวลา

          ตัวอย่างหนึ่งที่การเลือกเกี่ยวพันกับเรื่องคอขาดบาดตายทีเดียว เมื่อถึงวัยทองสุภาพสตรีก็มี 2 ทางเลือก หนึ่งปล่อยไปตามธรรมชาติไม่กินฮอร์โมนซึ่งจะทำให้ร่างกายโทรมเร็วขึ้น อาจมีปัญหากระดูกสันหลัง กระดูกบางขึ้น จิตใจห่อเหี่ยว อีกทางเลือกหนึ่งก็คือกินฮอร์โมนซึ่งมีงานวิจัยสนับสนุนว่ากินแล้วอาจเกิดมะเร็งเต้านมหากมีทางโน้มที่จะเป็นอยู่แล้วทางพันธุกรรม

          ในกรณีนี้มีความขาดแคลนเกิดขึ้นคือเลือกได้ทางเดียวเท่านั้น ไม่ว่าตัดสินใจเลือกเส้นทางใดก็ล้วน “ไม่ฟรี” ทั้งสิ้น ถ้าไม่กินฮอร์โมนก็แก่เร็ว ถ้ากินฮอร์โมนก็อาจเป็นมะเร็ง การตัดสินใจเลือกครั้งนี้อาจหมายถึงชีวิตก็ได้ ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่า สามารถเอาเศรษฐศาสตร์มาใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี

          อีกเรื่องหนึ่งในสมองของคนพวกนี้ก็คือผลิตภาพ (productivity) ซึ่งหมายถึงว่าหนึ่งหน่วยของวัตถุดิบผลิตได้มากน้อยเพียงใด เช่นที่ดิน 1 ไร่หรือแรงงาน 1 คน มีความสามารถในการผลิตได้มากเพียงใด ความร่ำรวยหรือยากจนของสังคมใดก็อยู่ตรงนี้แหละ ถ้าสังคมใดมีคนที่มีคุณภาพก็สามารถบันดาลให้เกิดผลิตภาพสูง จนช่วยให้ มีผลผลิตมากมายแก่สมาชิกเพื่อแบ่งปันกัน ถ้าสังคมนั้นมีผลิตภาพต่ำก็หมายถึงความสามารถในการผลิตต่อหนึ่งหน่วยวัตถุดิบนั้นต่ำ ผลผลิตไม่มีพอให้สมาชิก สังคมนั้นก็ยากจน

          เมื่อทรัพยากรทุกอย่างขาดแคลน ความสามารถในการผลิตต่อหน่วยวัตถุดิบจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก สมาชิกในสังคมมีความสุขจากการได้บริโภคสินค้าและบริการ ถ้าสังคมใดมีผลิตภาพต่ำก็หมายถึงว่าแต่ละหน่วยวัตถุดิบผลิตได้น้อยจนผลผลิตไม่เพียงพอต่อสมาชิกซึ่งหมายถึงความยากจนนั่นเอง

          นักเศรษฐศาสตร์คือนักจัดการความขาดแคลน การเข้าใจธรรมชาติและกลไกของการแก้ไขความขาดแคลน การรู้วิธีการประเมินผลได้ผลเสีย การคาดคะเน ตลอดจนการวางแผนใช้ทรัพยากรทำให้นักเศรษฐศาสตร์มีบทบาทต่อสังคมเสมอ