Wool ไม่ใช่ขนแกะ

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
12 เมษายน 2559

          เมื่อได้ยินคำว่า wool เรามักนึกถึงขนแกะ แต่แท้จริงแล้ว wool มาจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมหลายพันธุ์ ซึ่งขนของมันมีลักษณะพิเศษ มีเรื่องราวเกี่ยวกับ woolหลายอย่างที่อาจนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกมากในอนาคต

          มีความเป็นไปได้ว่าเมื่อมนุษย์สังเกตเห็นขนยาวเป็นเส้นหนาพันกันเป็นเกลียวของสัตว์ตระกูลแกะจากหนังสัตว์ที่แล่เอามาก็เกิดความคิดที่จะเอามาต่อกันให้ยาวเป็นเส้นและก็ทอขึ้นเป็นผ้า wool

          สัตว์ตระกูลแกะที่ขนของมันสามารถเอาไปใช้เป็น wool ได้นั้นก็ได้แก่แกะ แพะ อูฐ alpacas (สัตว์ที่หน้าตาคล้ายแกะแต่หูกาง หน้าตาออกไปทางอูฐ มีอยู่มากในอเมริกาใต้) ฯลฯ สัตว์ในตระกูลแกะที่ไม่ได้เอามาใช้งานโดยมนุษย์นั้นมีอยู่ด้วยกันถึงกว่า 200 พันธุ์

          หลักฐานของการใช้เสื้อทอจาก wool นั้นปรากฏในหลุมศพอียิปต์อายุกว่า 3,400 ปี และในที่ต่าง ๆ ย้อนอายุขึ้นไปถึง 2,000 กว่าปี สันนิษฐานว่าในตอนต้นนั้นกระบวนการฝั้นให้เป็นเส้นจากขนสัตว์นั้นเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก เพราะสัตว์ตระกูลแกะที่ถูกนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์บ้านในยุคแรกมีขนแยะก็จริง แต่แยกได้เป็นสองชั้นคือชั้นนอกเป็นเส้นยาวแข็งที่เรียกว่า kemp และชั้นในมีเส้นละเอียดอ่อนกว่าเรียกว่า fleece เมื่อขนชั้นนอกแข็งจึงทอได้ยาก แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปมนุษย์ก็เลือกเฉพาะสายพันธุ์ที่มี fleece มาก

          Wool มีลักษณะพิเศษที่สามารถทอเป็นเส้นได้เนื่องจากมีสารที่เรียกว่า alpha-keratin ซึ่งพบในขน เขา เล็บของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม สารนี้ทำให้เส้นมันติดกันได้ง่ายเป็นพิเศษ เซลล์ชั้นนอกของขนหมุนเป็นเกลียวจนเกิดช่องว่างที่ทำให้ขนอีกเส้นหนึ่งเข้ามาติดและพันกันเป็นเกลียวเส้นขึ้นมาได้

          การคัดสายพันธุ์ทำให้ปัจจุบันมีแต่ขนอ่อนเป็น fleece เหลืออยู่เท่านั้น ขน wool ของพันธุ์ปัจจุบันมีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 16 ไมครอน จากแกะพันธุ์ Merinos ที่มีชื่อเสียงจนถึง 40 ไมครอน ถ้าใครใส่เสื้อหนาวที่ทำจาก wool แล้วรู้สึกมีอะไรแทงจนคัน นั่นหมายถึงว่าใช้ขนแกะเส้นใหญ่และ ปลายขนแยงผิวหนัง ไม่ใช่เรื่องภูมิแพ้แน่ เพราะยังไม่เคยมีกรณีแพ้ woolปรากฏในทางการแพทย์เลย

          wool นั้นเป็นสิ่งมีค่ามาตั้งแต่สมัยโบราณ จนถูกใช้เป็นสิ่งชดใช้หนี้สงคราม ค่าไถ่ตัวจากการลักพา ชดใช้หนี้การค้า ฯลฯ แต่มีข้อเสียสำคัญคือมีลักษณะใหญ่โตมัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยมซึ่งยากต่อการขนส่ง ต่างจากทองคำซึ่งถ้ามีมูลค่าเท่ากันจะมีน้ำหนักแตกต่างกันมาก และกินที่น้อยกว่ามาก ๆ

          นอกจากใช้ wool สำหรับสิ่งทอไม่ว่าจะเป็นเสื้อกางเกงสารพัดรูปแบบ ผ้าพันคอ หมวก ถุงเท้า ถุงมือ ฯลฯแล้วยังสามารถใช้สำหรับวัตถุประสงค์ทางการค้าอื่น ๆ ได้อีกด้วย เช่น ใช้เป็นตัวปรับเสียงเปียโนผ่านการสอดแทรกระหว่างสายเปียโนในเครื่อง ใช้เป็นตัวดูดซับน้ำมันรั่วในทะเล ฯลฯ ปัจจุบันมีการใช้ wool ในการเกษตรด้วยในแถบรัฐมอนตานาของสหรัฐอเมริกา

          มีการใช้ wool เป็นตัวคลุมดินเพื่อป้องกันการเซาะพังของดินได้เป็นอย่างดี เกษตรกรในนิวซีแลนด์ริเริ่มใช้ขนแกะชนิดเลวคลุมดินเพื่อเก็บความชื้นให้ต้นอ่อน หรือเมล็ดอ่อนก่อนงอก อีกทั้งใช้โรยเป็นแนวรั้วเพื่อเป็นปุ๋ยอีกด้วย

          wool เหมาะสมในการคลุมดินเพราะเบาพอที่ต้นอ่อนเช่นข้าวโพดจะงอกแทรกขึ้นมาได้ อีกทั้งมันเป็นสิ่งที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ(biodegradable) เมื่อย่อยสลายช้า ๆ มันจะเป็นปุ๋ยที่ดีเพราะทำให้เกิดไนไตรเจนในดินถึงร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับปุ๋ยไนโตรเจนที่ขายกันซึ่งมีเพียง ร้อยละ 6 เมื่อแนวรั้ว wool ย่อยสลายก็จะเกิดปุ๋ยธรรมชาติขึ้น

          นอกจากสามารถย่อยสลายเป็นปุ๋ยได้แล้ว wool ยังเป็นสิ่งที่เก็บน้ำไว้ได้ดีอีกด้วย wool มีลักษณะขัดแย้งกันอยู่ในตัว กล่าวคือมันดูดซับน้ำโดยตรงไม่ได้ดีเนื่องจากบนขนมี fatty acid proteins หรือกรดโปรตีนไขมันซึ่งทำให้ไม่สามารถดูดซับน้ำโดยตรงได้ แต่โครงสร้างภายในของขนสามารถดูดซับความชื้นของไอน้ำได้เป็นอย่างดี

          พูดสั้น ๆ ก็คือ wool เกลียดของเหลวแต่ชอบไอน้ำ การเอามันคลุมผิวดินโคนต้นทำให้เก็บความชื้นจากไอน้ำได้ดี ในขณะเดียวกันก็ป้องกันไม่ให้น้ำเข้ามาเซาะปุ๋ยที่มีประโยชน์ไปจากโคนต้น

          ลักษณะพิเศษเช่นนี้ของ wool หากมีการวิจัยกันอย่างลึกซึ้งอาจเป็นประโยชน์ต่อการเกษตรไทย ปัจจุบันมีการเลี้ยงแกะกันอยู่บ้างในบริเวณภาคเหนือตอนบนและล่าง หรือแม้แต่ในอีสาน แต่ wool ที่ได้ยังไม่มีคุณภาพดีพอที่จะได้ราคา ถ้าหากเอามาใช้คลุมดินและเป็นปุ๋ยได้อย่างคุ้มทุนและสร้างกำไรแล้ว การเลี้ยงแกะเอาเนื้อและ wool อาจเป็นทางออกที่ดีอีกทางหนึ่งได้สำหรับเกษตรกรที่ไม่ต้องการปลูกพืชพึ่งน้ำมากอีกต่อไป

          อีกลักษณะที่มีความเป็นพิเศษอย่างยิ่งของ wool ก็คือติดไฟได้ยากมาก ๆ wool จะติดไฟเมื่อมีความร้อนถึงประมาณ 1,382 ดีกรีฟาเรนไฮต์ ซึ่งพูดอีกอย่างหนึ่งว่า wool นั้นต้านไฟได้ดีมาก อีกลักษณะที่ต่างไปจากไนลอนและโพลีเอสเตอร์ (polyester) ก็คือเมื่อติดไฟจะไม่หลอมเหลวเป็นหยดหรือละลาย ปัจจุบันมีงานวิจัยที่ต้องการใช้ wool เป็นวัตถุดิบในการออกแบบเสื้อผ้าสำหรับทหาร พนักงานดับเพลิง เจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการกู้ระเบิด

          ประโยชน์ของ wool ในเรื่องไม่หวาดเสียวก็มีดังเรื่องลูกเบสบอลล์ซึ่งแข็งมาก (ถ้าโดนจุดสำคัญของร่างกายก็ทำให้เสียชีวิตได้) ภายในลูกเบสบอลล์คุณภาพชั้นดีจะมีเส้น wool ม้วนอยู่เป็น ชั้น ๆ อย่างแน่นเป็นก้อน แต่ละลูกใช้เส้น wool ยาวประมาณ 370 หลา เพื่อช่วยให้ลูกเบสบอลล์สามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ดีหลังจากที่ถูกตีแล้วทุกครั้ง

          มนุษย์นั้นมีความอัศจรรย์ตั้งแต่รู้จักใช้ขนสัตว์จากสัตว์ตระกูลแกะมาปั่นเป็นเกลียวเส้นและเอามาทอเป็นเสื้อผ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อป้องกันความหนาว รู้จักเอาเนื้อลูกแกะ (lamb) มาเป็นอาหาร และปัจจุบันก้าวไปอีกขั้นหนึ่งของการเอามันมารับใช้ในด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม

          เราต้องคิดและทำวิจัยกันอย่างกว้างขวางในแนวดัดแปลงเช่นกันสำหรับยางซึ่งเรามีวัตถุดิบอยู่มากมายในปัจจุบันและจะยิ่งมากกว่านี้อีกในอนาคตเมื่อต้นยางจำนวนมหาศาลเริ่มให้น้ำยางและต้นยางเริ่มแก่ขึ้น ถ้าทำได้สำเร็จเราอาจมีนวัตกรรมของสินค้าที่มีคุณค่าและมูลค่าออกสู่ตลาดโลก