หากเข้าใจถูกต้อง ชีวิตก็ไม่เดือดร้อน

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
14 มิถุนายน 2559

          “จงใช้ชีวิตราวกับว่าเป็นวันสุดท้ายของชีวิต” “ผมก็เป็นคนดีในบางเรื่องและเลวในบางเรื่องเหมือนคนทั่วไป” “ต้องซื้อของมีราคาให้ตัวเองเป็นรางวัล” “ชั่วเจ็ดที ดีเจ็ดหน” ฯลฯ ประโยคเหล่านี้ฟังดูดีแต่ถ้าไม่พิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว อาจเกิดความเสียหายได้ร้ายแรง

          ถ้าจำไม่ผิดมหาตมะ คานธี เป็นคนกล่าวประโยคแรกที่ว่า “จงใช้ชีวิตราวกับว่าเป็นวันสุดท้ายของชีวิต” คนทั่วไปจะเห็นว่าเมื่อมหาบุรุษกล่าวไว้ก็ต้องเป็นจริง แต่ถ้าเป็นศิษย์พระพุทธเจ้าแล้วก็ต้องไตร่ตรองก่อน จะเชื่อ ไม่ใช่เชื่อเพราะคนเขาเชื่อตาม ๆ กันมา

          ถ้าเชื่อประโยคนี้ก็ไม่ต้องสีฟัน ไม่ต้องอาบน้ำ ไม่ต้องไปทำงาน ไม่ต้องกินยา ไม่ต้องออมเงิน มีเท่าใดก็ใช้ให้หมดเพราะพรุ่งนี้ก็ตายแล้ว อย่างไรก็ดี ถ้าทำเช่นนี้จริงในเวลาไม่นานเมื่อรู้ว่าตัวเองไม่ตาย ชีวิตก็จะยุ่งเหยิงมาก คำพูดน่าฟังมากนั้น ฟังดูแล้วสุดเก๋ แต่เมื่อพิจารณาจริง ๆ แล้วมันปฏิบัติไม่ได้ เข้าใจว่ามหาตมะ คานธี มิได้หมายความตามนี้ หากเตือนให้เตรียมตัวเสมออย่างไม่ประมาท เพราะคนเราจะตายเมื่อใดก็ไม่รู้

          เมื่อผู้เขียนได้ยินคนรุ่นปัจจุบันพูดประโยคที่ว่า “ผมก็เป็นคนดีในบางเรื่องและเลวในบางเรื่องเหมือนคนทั่วไป” แล้วรู้สึกใจหาย ไม่รู้ว่าเขาคิดจะเป็นคนเลวเรื่องอะไรและดีเรื่องอะไร น่ากลัวมากหากเชื่ออย่างนี้จริง ๆ เพราะความเลวมันมีหลายระดับและก่อให้เกิดผลเสียด้วยความรุนแรงที่ไม่เหมือนกัน ประการสำคัญความคิดของแต่ละคนและประสบการณ์ชีวิตไม่เหมือนกัน จนอาจเห็นว่าการหลอกลวงต้มตุ๋นคนอื่นหรือการทุจริตในหน้าที่ (ในบางครั้ง) เป็นความเลวเพียงเล็กน้อย ส่วนความดีคือการจูงเด็กข้ามถนน

          อีกคนอาจเห็นว่าความเลวคือการรับศีลห้าในตอนเช้าแล้วกินเหล้าในตอนเย็น ส่วนความดีคือการไม่รังแกและเบียดเบียนคนอื่นที่อ่อนแอหรืออ่อนด้อยกว่า คำจำกัดความที่ไม่เหมือนกันของคนเพียงสองคนก็ทำให้โลกยุ่งแล้ว และเกิดความเสียหายในระดับที่ต่างกัน

          ผู้เขียนอยากบอกเขาว่าเมื่อเกิดเป็นมนุษย์แล้วต้องเป็นคนดีตลอดเวลา มีธรรม ประจำใจ ส่วนที่บอกว่าเลวได้บ้างเหมือนคนทั่วไปนั้นหมายถึงการละเมิดบางเรื่องที่ไม่ขัดกับหลักธรรมอย่างร้ายแรงและไม่ตั้งใจ เช่น ขับรถอย่างนักเลงขาดน้ำใจ ขัดใจพ่อแม่ในบางเรื่อง ระเบิดอารมณ์กับคนในครอบครัว ฯลฯ ข้อความนี้มิใช่ใบอนุญาตให้ทำความชั่วร้ายแรงในบางครั้ง และในเวลาอื่นก็ละเว้นและทำดีอย่างอื่น

          ความชั่วกับความดีหักลบกันไม่ได้ ดังเช่นบาปกับบุญ ถ้ามันหักกันเป็นรายการในบัญชีได้แล้ว โลกจะปั่นป่วนมาก จะมีคนที่ฆ่าคนอื่นแล้วทำบุญกรวดน้ำไปให้ผู้ตายหรืออุปการะลูกเขาตลอดชีวิต

          “ต้องซื้อของมีราคาให้ตัวเองเป็นรางวัล” มีรากมาจากตะวันตก แต่คนในภูมิภาคนี้เขามีวัฒนธรรมการใช้เงินมาก่อนพวกเรา เพราะเขารวยและเรียนรู้มาก่อนเราร้อยถึงสองร้อยปี การซื้อของดี ๆ ให้ตัวเขาเองจึงอยู่ในขอบเขตไม่ทำให้เขาเสียฐานในการออมเงินจนเดือดร้อนในอนาคต แต่สำหรับคนไทยเราซึ่งส่วนใหญ่ใช้เงินไม่เป็น (ที่เราเห็นเขารูดการ์ดรูปแพะและแกะกันอยู่ทุกวันนั้นมิได้หมายความว่าใช้เงินเป็นในความหมายนี้)

          คนที่ “กินอยู่เกินฐานะ” คือพวกใช้เงินไม่เป็น ถ้าจะใช้เงินเป็นแล้วต้อง“กินอยู่ต่ำกว่าฐานะ” ซึ่งหมายถึงว่าสามารถกินอยู่ตามฐานะการเงินที่ตัวเองมีได้ แต่ก็ไม่ใช้จ่ายขนาดนั้นดังนั้นจึงมีเงิน เหลือเก็บ ในทางตรงกันข้ามถ้า “กินอยู่เกินฐานะ” ก็หมายถึงว่าต้องหาส่วนที่ขาดไปเพราะมีเงินไม่พอด้วยการเป็นหนี้ คนไทยที่ให้รางวัลตัวเองด้วยของดีราคาแพง จึงมีโอกาสอยู่ในประเภทหลังนี้เสียแหละมาก

          “การให้รางวัลตัวเอง” ไม่จำเป็นต้องเป็นของดีมีราคา การไม่ใช้จ่ายเงินซื้อของเหล่านี้สำหรับบางคนในบางฐานะแล้วอาจเป็นรางวัลให้ตัวเองด้วยซ้ำ กล่าวคือเมื่อไม่เป็นหนี้ก็ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยจนทำให้ของมีราคาสูงขึ้น และเมื่อไม่ซื้อ เงินที่อาจใช้ซื้อนั้นก็กลายเป็นเงินออมอันนำมาซึ่งการลงทุนและการได้รับผลตอบแทนในอนาคตโดยไม่ต้องทำงานให้ร่างกายสึกหรอ

          สำหรับ “ชั่วเจ็ดที ดีเจ็ดหน” นั้นคนจำนวนไม่น้อยเข้าใจเอาเองว่าหมายถึงทำทั้งความดีและความชั่วปนกันไปได้เพราะเป็นเรื่องของชีวิตมนุษย์ แต่ในความหมายที่แท้จริงนั้นหมายถึงความไม่แน่นอนของชีวิต ถึงแม้จะทุกข์แสนสาหัสแต่ก็สามารถกลับมามีความสุขได้ และถึงแม้จะตกต่ำแต่ก็สามารถกลับมารุ่งเรืองได้อีกอย่างอาจสลับกันไปได้ในอนาคต

          สุภาษิตไทยบทนี้มิได้สร้างความชอบธรรมให้แก่การกระทำความชั่วและความดีสลับกันแต่ประการใด ดังกล่าวแล้วความชั่วและความดีหักลบกันไม่ได้ ความชั่วนำมาซึ่งความเดือดร้อนแก่ตนเองและครอบครัวในเวลาต่อไป ส่วนความดีนั้นรังแต่จะทำให้เกิดความสุข ความภาคภูมิใจ และความสงบราบรื่น สองสุดโต่งนี้ผสมปนเปกันไม่ได้อย่างไร ความดีกับความชั่วก็ปนกันไม่ได้ฉันนั้น

          ประโยคเหล่านี้มีมานานแล้ว หากแต่การตีความมักแปรเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคมในยุคนั้น ๆ ในปัจจุบันความสับสนในเรื่องว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิดเกิดขึ้นตลอดเวลา และการตีความว่าความดีและความชั่วไปด้วยกันได้เพื่อความสะดวกในการดำเนินชีวิตซึ่งอุดมด้วยบริโภคนิยมทำให้ความหมายผิดเพี้ยนไป

          สังคมต้องช่วยกันประคับประคองคนรุ่นใหม่ให้ดำเนินชีวิตไปได้อย่างราบรื่นภายใต้สิ่งแวดล้อมที่สับสนและซับซ้อนซึ่งสิ่งสำคัญที่สามารถช่วยได้ก็คือการเข้าใจความหมายของประโยคเหล่านี้อย่างถูกต้องและลึกซึ้ง