ความเป็นพลเมืองและหน้าที่พลเมือง

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
21 มิถุนายน 2559

          เมื่อสมัย 30-40 ปีก่อนเราเรียนวิชาหน้าที่พลเมืองซึ่งกล่าวถึงสิ่งที่เราต้องทำในฐานะพลเมืองของประเทศ ทุกวันนี้วิชานี้ไม่มีอีกแล้วแต่ไปสอดแทรกอยู่ในวิชาอื่น ๆ อย่างไม่จุใจ และไม่แทงเข้าไปในใจของนักเรียน การขาดวิสัยทัศน์เช่นนี้ทำให้ผู้ใหญ่และเยาวชนของเรากระทำสิ่งต่าง ๆ ที่ส่งผลให้บ้านเมืองของเรามีปัญหาในหลายเรื่องในปัจจุบัน

          วิชาหน้าที่พลเมืองกล่าวถึงหน้าที่ซึ่งพลเมืองคนหนึ่งต้องทำเพื่อการดำรงอยู่และความมั่นคงของชาติ เช่น เป็นผู้รู้จักหน้าที่ของตน รับผิดชอบ ไม่ทำผิดกฎหมาย รู้จักสิทธิและหน้าที่ ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ อย่างไรก็ดีในโลกปัจจุบันวิชาหน้าที่พลเมืองถูกขยายให้กินความกว้างขวางขึ้นเพื่อสอดรับกับยุคสมัยจนกลายเป็นวิชาความเป็นพลเมือง

          เด็กและเยาวชนของประเทศพัฒนาแล้วจะรู้จักวิชาความเป็นพลเมืองเป็นอย่างดีเพราะประเทศเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่สอง (ค.ศ. 1939-1945) มีผู้เสียชีวิตถึงกว่า 60 ล้านคน การทบทวนประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าประเด็นความเป็นพลเมืองมีส่วนอย่างสำคัญในการช่วยให้เกิดเหตุการณ์เลวร้าย และไม่มีความพยายามจะหยุดยั้งมันด้วย

          “ความเป็นพลเมือง” ที่ว่านี้คืออะไร ขอยกตัวอย่างให้เห็นก่อนที่จะสรุปในตอนท้าย

          เยอรมันเป็นประเทศที่ก่อสงครามโลกถึงสองครั้ง การไม่เห็นว่าคนเท่าเทียมกัน เช่น เห็นว่าคนยิว ยิปซี คนโปแลนด์ คนรัสเซีย คอมมูนิสต์ โซเชียลลิส ตลอดจนคนที่มีความคิดทางการเมืองแตกต่างจากตนเป็นคนที่ต่ำต้อยกว่าอย่างน่ารังเกียจ สมควรถูกควบคุม กวาดล้าง และทำลาย และเมื่อฮิตเลอร์และพลพรรคนาซีทำสิ่งเหล่านี้ คนเยอรมันส่วนใหญ่ที่เห็นดีเห็นงามตามด้วยจึงไม่ขัดขวาง

          การไม่ยอมรับและไม่เคารพความแตกต่างตลอดจนการไม่เคารพสิทธิของคนเหล่านี้ เช่นยึดทรัพย์ จับตัวไปคุมขังในค่ายกักกันโดยพลการ บุกยึดครองประเทศอื่น ฯลฯ กลายเป็นเรื่องปกติในสังคมโดยประชาชนสนับสนุนหรือไม่ก็เงียบเฉย

          ทั้งหมดเหล่านี้คือการขาดความเป็นพลเมือง เป็นเชื้อปะทุและเชื้อเพลิงให้เกิดการฆ่าฟันกันครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ผู้คนล้มตายเป็นใบไม้ร่วง น้ำตาท่วมหัวใจซึ่งแตกสลาย

          หลังสงครามโลกครั้งที่สอง การสร้างความเป็นพลเมือง หรือสร้างกำลัง (พละ) ของเมืองจึงเป็นส่วนสำคัญของการศึกษาของเยาวชนเยอรมัน เด็กถูกสอนให้รู้ว่าตนเองเป็นเจ้าของประเทศและเจ้าของชีวิตของตนเอง สามารถพึ่งตนเองได้โดยไม่อยู่ใต้การครอบงำของใคร เคารพความเสมอภาคโดยเห็นคนในแนวระนาบไม่ใช่แนวดิ่ง ยอมรับความแตกต่างและเคารพผู้อื่นที่แตกต่างจากตนเอง เคารพสิทธิของผู้อื่นโดยไม่ใช้สิทธิเสรีภาพของตนไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น รับผิดชอบต่อสังคมโดยไม่ใช้สิทธิเสรีภาพตามอำเภอใจ และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของสังคม และสุดท้ายก็คือเข้าใจความหมายของประชาธิปไตย และการปกครองโดยกฎหมาย เคารพกติกา มีส่วนร่วมในการเมืองการปกครอง

          เด็กและเยาวชนที่เติบโตในกรอบของความเป็นพลเมืองจะไม่ขี่รถแว้นท์ เปิดเพลงในรถดังเผื่อแผ่ผู้อื่น ไม่ทิ้งขยะและน้ำเสียจากบ้านเรือนลงคลองสาธารณะ ไม่วางกระเป๋าบนเก้าอี้สาธารณะข้างตัวเองในขณะที่มีคนไม่มีที่นั่ง ไม่ตักอาหารบุฟเฟ่ต์อย่างไม่คำนึงถึงคนที่ยังไม่ได้ตัก ไม่ชกต่อยหรือ ข่มเหงผู้อื่นเพราะเป็นการไม่เคารพสิทธิผู้อื่น ยอมรับคนที่แตกต่างจากตนไม่ว่าจะเป็นเพศ ความพิการของร่างกาย หน้าตาเผ่าพันธุ์ หรือคนที่คิดแตกต่างจากตน ฯลฯ

          คนในประเทศยุโรปและอเมริกาเหนือมีความเป็นพลเมืองสูง ในยุโรปเหนือเช่นแถบสแกนดิเนเวียการชี้หน้าคนอื่นว่าเป็นเจ๊กจีน แขก ผิวดำ ฯลฯ นั้นเป็นคดีอาญา อีกทั้งการกระทำเช่นนี้ไม่เป็นที่ยอมรับอย่างยิ่งในบริเวณนี้ของโลก

          การเรียกคนว่าไอ้บอด ไอ้เป๋ ไอ้เตี้ย หรือตราหน้าว่าเป็นคนจน คนขี้เกียจ คนต่ำกว่าเรา คนชั้นต่ำ ฯลฯ คือการขาดความเป็นพลเมือง เช่นเดียวกับการเอาเก้าอี้มาวางกันหน้าร้านหรือบ้านซึ่งอยู่ริมถนนสาธารณะ การตัดหน้ารถ แซงรถอย่างขาดมารยาท

          “ความเป็นพลเมือง” เป็นปัจจัยสำคัญของการมีสังคมสันติสุข ซึ่งเป็นพื้นฐานของการทำมาหากินได้อย่างเต็มที่ ช่วยเสริมให้สังคมมีความสันติยิ่งขึ้น และเมื่อมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่แล้ว บ้านเมืองก็น่าอยู่ยิ่งขึ้น

          อย่างไรก็ดีความเป็นพลเมืองมิใช่สิ่งที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการฝึกฝนให้เกิดความเป็นพลเมืองด้วยการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมือง (Civic Education)

          การสอนความเป็นพลเมืองในห้องเรียนด้วยการบรรยายความหมายพร้อมยกตัวอย่างเป็นสิ่งที่ดีแต่ไม่เพียงพอ เยาวชนต้องเรียนด้วยตนเองผ่านการลงมือปฏิบัติ วิธีการที่ใช้กันมากก็คือให้เยาวชนได้ศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคมด้วยตนเองและกลุ่มเพื่อน เช่น ศึกษาปัญหาขยะว่าอะไรเป็นสาเหตุ ลักษณะและความรุนแรงของปัญหา การคิดแก้ไข ฯลฯ ซึ่งเมื่อได้ลงไปศึกษาของจริงแล้วก็มักพบว่าตนเองก็เป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุและการดำรงอยู่ของปัญหา ทางออกก็มักได้แก่การที่ตนเองต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและรับผิดชอบต่อสังคม

          เมื่อมาถึงจุดนี้จึงสรุปได้ว่าความเป็นพลเมืองหรือการที่คนจะกลายเป็นพลเมืองได้ประกอบด้วย (1) การตระหนักว่าตนเองเป็นเจ้าของประเทศ (2) เคารพความเสมอภาค (3) ยอมรับความแตกต่างและเคารพผู้อื่นที่แตกต่างจากตนเอง (4) เคารพสิทธิผู้อื่น กล่าวคือไม่ใช้สิทธิเสรีภาพของตนไปละเมิดสิทธิเสรีภาพผู้อื่น (5) ตระหนักว่าตนเป็นสมาชิกคนหนึ่งของสังคม ต้องรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ใช้สิทธิเสรีภาพตามอำเภอใจและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา และ (6) เข้าใจความหมายของประชาธิปไตยและการปกครองโดยกฎหมาย เคารพกติกา และมีส่วนร่วมในการเมืองการปกครอง

          “ความเป็นพลเมือง” ฝึกฝนได้ในครอบครัวและโดยครอบครัว เมื่อบ้านเมืองเป็นของ ทุกคน ถ้าไม่สามารถดูแลสิ่งที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกันได้แล้ว ลองจินตนาการดูว่าสังคมและชีวิตของเราจะวุ่นวายเพียงใด