วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
7 มิถุนายน 2559
เวลาเป็นสิ่งมีประโยชน์เพราะเป็นยารักษาความเศร้าจากการสูญเสีย ความผิดหวังและการอกหักได้อย่างชะงัด อย่างไรก็ดีเวลาอาจเป็นตัวสนับสนุนความอยุติธรรมก็ได้เช่นกัน ดังในกรณีของการนำอาชญากรขึ้นศาลเพื่อพิพากษาให้รับโทษจากความชั่วร้ายที่ได้ทำในอดีตเมื่อกว่า 70 ปีมาแล้ว
เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา Reinhold Hanning อายุ 94 ปี อดีตผู้คุมค่ายกักกันนรกที่นาซีสร้างขึ้นคือ Auschwitz ถูกนำตัวขึ้นศาลในข้อหาว่าเป็นผู้มีส่วนร่วมในการฆาตกรรมหมู่ผู้คนจำนวน 170,000 คน ระหว่างเดือนมกราคม 1943 ถึงมิถุนายน 1944 ที่เขาทำงานอยู่
Hanning เป็นทหารนาซีหน่วยพิเศษที่เรียกว่า SS ซึ่งเป็นที่หวาดกลัวของทุกคนในเยอรมันนี และประเทศยุโรปอื่น ๆ ที่กองทัพนาซียึดครอง ประวัติของเขาที่มีการเปิดเผยก็คือเมื่ออายุได้ 18 ปีก็อาสาเข้าเป็นทหารของพรรคนาซี Waffen SS หลังจากออกรบในสงครามอยู่หลายปีจนบาดเจ็บจากระเบิด ก็ได้รับการเลื่อนขั้นให้มาทำงานเบาที่ค่าย Auschwitz โดยรับหน้าที่เป็นผู้คุมหอคอยของค่าย
Auschwitz มิได้หมายถึงค่ายกักกันเพียงค่ายเดียวที่กักขังนักโทษระหว่าง ค.ศ. 1940 ถึง 1945 หากเป็นกลุ่มของคุกซึ่งอยู่ในประเทศโปแลนด์โดยประกอบด้วย Auschwitz I (ค่ายแรก) Auschwitz II – Birkenau และ Auschwitz III – Monowitz และค่ายกักกันย่อยๆอีก 45 แห่ง
ผู้ที่ถูกกักขังก็ได้แก่ยิวจากเยอรมันและประเทศที่เยอรมันยึดครองพวกยิบซี (Romani) / คนเชื้อสายสลาฟ / ชาวโปแลนด์ / นักโทษสงครามสหภาพโซเวียต / คนพิการ / ผู้เห็นตรงข้ามทางการเมือง เช่น คอมมูนิสต์ ฟาสซิสต์ ฯลฯ
จำนวนผู้ถูกกักขังประมาณได้ยากเนื่องจากมีการเข้าและตายทุกวัน จากการฆ่าด้วยการรมกาซพิษเมื่อเดินทางมาถึงด้วยรถไฟจากหลายแดนไกล ตายจากการขาดอาหารและเจ็บป่วย มีประมาณการว่าที่ค่าย Auschwitz มีคนตายประมาณ 1.1-1.5 ล้านคนโดยมี SS ที่ทำงานดูแลจัดการทั้งฆ่า เผา และควบคุมดูแลอยู่ประมาณ 6,000-7,000 คน
เมื่อบรรดาผู้ถูกจับเดินลงจากรถไฟเป็นทิวแถวก็จะมีนายทหาร SS เป็นคนคัดเลือกว่าจะเก็บใครไว้ทำงานในค่าย หรือเอาไปทดลองทางการแพทย์ หรือใครที่สมควรเอาไปห้องรมควันกาซเลย ครอบครัวทั้งหมดจะถูกแยกกัน บ้างก็ไปตาย บ้างก็อยู่รอด ส่วนใหญ่เด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี และคนสูงอายุจะถูกฆ่าหมดเพราะถือว่าเป็นภาระ
แพทย์เยอรมันใช้คนเหล่านี้เป็นหนูทดลองยา ทดลองวิธีผ่าตัดรักษาพยาบาลใหม่ ๆ ส่วนใหญ่ยากที่จะรอดออกมาเหมือนเดิม
เมื่อกองทัพแดงของสหภาพโซเวียตปลดปล่อยผู้ถูกกักขังค่าย Auschwitz ในเดือนมกราคม 1945 นั้น มีเหลืออยู่ประมาณ 60,000 คน และถึงแม้จะได้รับอิสรภาพแล้วก็ตายอีกหลายหมื่นคนเพราะต้องเดินเท้าฝ่าความหนาวและอาหารที่ขาดแคลนกลับบ้านของตน ค่ายกักกันอื่น ๆ อีกนับร้อยในประเทศที่เยอรมันยึดครองก็มีผู้รอดชีวิตมาไม่มาก
หลังสงครามมีการคิดบัญชีกับทหาร SS ของ Auschwitz ที่ทำทารุณกรรมแต่ก็สามารถลงโทษได้เพียงร้อยละ 12 ของ 7,000 คน ที่เคยทำงาน ถึงแม้ว่าในตอนนั้นจะมีพยานที่ให้การหนักแน่นจำนวนมากก็ตาม
ในเยอรมันนีนั้นเรื่องการลงโทษนาซีหลังสงครามเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมากเพราะมีสมาชิกพรรคนาซีถึง 8 ล้านคน (ร้อยละ 10 ของประชากร) คนจำนวนมากเหล่านี้ก็กลับมาทำงานในตำแหน่งต่าง ๆ หลังสงคราม หลังจากการตั้งศาลอาชญากรรมสงครามที่ Nuremberg ในปี1945 แล้ว ฝ่ายพันธมิตรก็มอบให้แต่ละประเทศดำเนินการเกี่ยวกับอาชญากรจากสงครามกันเอง
หน่วยงานพิเศษของเยอรมันนีดำเนินการเอาผิดกับผู้ประกอบอาชญากรรมที่ Auschwitz ได้เพียง 50 คน (ประเทศอื่น ๆ ก็ดำเนินการด้วยจนตัวเลขขึ้นไปถึงร้อยละ 12 ได้) ทั้งนี้เนื่องจากศาลต้องการหลักฐานที่ชัดแจ้ง แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปพยานแก่ตายเป็นจำนวนมากขึ้น คดีเหล่านี้จึงเงียบไปทุกที พวกเคยก่อกรรมทำเข็ญไว้ก็แอบอยู่ในประเทศต่อไป บ้างก็อพยพไปอยู่บราซิล อาเยนดินา และประเทศอื่น ๆ ในอเมริกาใต้อย่างมีความสุข
จุดเปลี่ยนที่ทำให้สามารถลากคออาชญากรเหล่านี้มาลงโทษได้มากขึ้นเกิดขึ้นหลังปี 2000 เมื่ออัยการเยอรมันเกิดแนวคิดฟ้องทุกคนที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมครั้งใหญ่ฆ่าล้างเผาพันธุ์ของศตวรรษ ไม่ว่าจะทำหน้าที่อะไรก็ถือว่าเป็นแขนขา มีส่วนร่วมในอาชญากรรม
กรณีแรกที่ทำได้สำเร็จภายใต้กลยุทธ์ใหม่นี้ก็คือศาลเยอรมันนีได้ลงโทษ John Demjanjuk ซึ่งเป็นผู้คุมชาวยูเครนทำงานที่ค่าย Sobibor ในโปแลนด์ รายต่อมาคือ Oskar Groening อายุ 94 ปี จำคุก 4 ปี ในฐานร่วมสมคบฆ่าคนตาย 300,000 คน ที่ Auschwitz คนนี้เป็น SS ที่มีชื่อเล่นว่า “book-keeper of Auschwitz” กล่าวคือเป็นคนทำหน้าที่นับเงินสดที่เอามาจากผู้ที่ส่งเข้าห้องกาซรมควันและผู้ถูกคุมขัง
Reinhold Hanning คือรายที่สามที่คาดว่าน่าจะสังเวยกลยุทธ์ใหม่นี้ ถึงแม้จะมีพยานในวัยใกล้ 90 ปี และ 80 กว่าปี 3-4 คน มาให้การปรักปรำ แต่ทุกคนก็จำเขาไม่ได้ว่าทำอะไร เพียงแต่มีหลักฐานว่าเขาทำงานที่นี่แน่นอน และเมื่อเป็น “กลไกของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ก็ย่อมมีความผิดไปด้วย
อัยการของเยอรมันของหน่วยนี้บอกว่ามีอีก 2 รายที่คาดว่าจะดำเนินการอย่างไรก็ดีมีหนึ่งในนั้นเสียชีวิตไปแล้ว และอีกหนึ่งคนศาลตัดสินว่าไม่อยู่ในสภาพที่จะนำขึ้นศาลได้ ดังนั้น Hanning จึงน่าจะเป็นนาซีอาชญากรจากสงครามรายสุดท้าย
หลายคนคงสงสัยว่าผู้ต้องหาก็อายุ 94 ปีแล้ว ไม่น่าจะอยู่ในโลกรับโทษไปได้อีกนาน และมันเป็นเรื่องที่ผ่านไปแล้วถึง 70 กวราปี จะอภัยให้คุณปู่คุณชวดกันไม่ได้เลยหรือ
ในเรื่องนี้ประเด็นมันไปไกลกว่าเรื่องอายุและการให้อภัย อาชญากรรมที่นาซีทำไปนั้นเป็นเรื่องใหญ่โตมาก เป็นบทเรียนที่ชาวโลกต้องไม่ลืม และต้องร่วมกันทำให้แน่ใจได้ว่ามันจะไม่เกิดขึ้นอีก ถ้าสิ่งเลวร้ายที่ใครก็ตามทำไปจะถูกคิดบัญชีเสมอไม่ว่าวันเวลาจะผ่านไปนานเท่าใดก็ตาม ผู้คนก็จะเกรงกลัวและกล้าทำน้อยลงในอนาคต ถ้าชาวโลก “เอาจริง” เช่นนี้ ก็จะเป็นการทำตามคำขวัญที่ว่า “never again”
เรื่องคอรัปชั่นในบ้านเราถ้าต้องการล้างให้สิ้นซากก็ต้องทำแนวนี้ คือแค่เขกเข่า หรือตีมือ และเลิกรากันไปไม่พอ ถูกให้ออกจากราชการแล้วต้องยึดทรัพย์ให้หมด และไม่ใช่เฉพาะที่ตนมีเท่านั้นในตอนที่ถูกลงโทษ ต้องไปดูย้อนหลังว่าฝากหรือโอนให้แก่ใครบ้าง และตามเอากลับมาชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น เรียกได้ว่าเล่นกันไม่เลิก ไม่ให้มีที่ยืนและที่นอนเลย จึงจะถูกต้องและยุติธรรม
ฮิตเลอร์ใช้กลไกพรรคนาซีก่อสงครามโลกจนปั่นป่วนไปทั่วโลก มีคนตายรวมทั้งสิ้นไม่ว่าทหารหรือพลเรือนไม่ต่ำกว่า 60 ล้านคน หรือร้อยละ 3 ของประชากรโลกในปี 1940 ซึ่งเท่ากับ 2.3 พันล้านคน เฉพาะยิวที่ตายด้วยมือนาซีนั้นไม่ต่ำกว่า 6 ล้านคน ซึ่งเท่ากับ 2 ใน 3 ของยิวที่อยู่อาศัยในยุโรปทั้งหมด
Hanning ไม่สารภาพว่าตนเองฆ่าใครที่ Auschwitz แต่บอกว่าเสียใจและขอโทษ เขาตระหนักดีว่ามีอะไรเกิดขึ้นที่ Auschwitzเพราะเตาเผาทำงานตลอดเวลาและได้กลิ่นเนื้อคนไหม้ เขารู้สึกละอายใจที่เป็นส่วนหนึ่งของการประกอบอาชญากรรมขนาดใหญ่เช่นนี้ และละอายใจที่เห็นความ อยุติธรรมเช่นนี้แต่ก็ไม่ได้ทำอะไร
ข้อความสุดท้ายนี้ไม่รู้ว่าเขาประชดคนเยอรมันในวัยใกล้เคียงกับเขาหรือเปล่า เพราะหลักฐานระบุชัดเจนขึ้นทุกทีว่าการทำสิ่งเลวร้ายเช่นนี้โดยฮิตเลอร์ และพรรคพวกนั้น คนเยอรมันโดยทั่วไปทราบดีว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นแต่ก็ไม่ได้ทำอะไรกันเลย