ติมอร์อายุ 14 ปี

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
1 พฤศจิกายน 2559

          ติมอร์เป็นประเทศในภูมิภาคนี้ที่คนไทยคุ้นเคยชื่อมานานแต่เมื่อนึกลึกลงไปอีกก็จะตัน ถามง่าย ๆ ว่าอยู่ไกลแค่ไหน ก็มักจะคิดว่าอยู่ใกล้แถวมาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย แต่แท้จริงแล้วไกลเกือบถึงออสเตรเลียทีเดียว

          ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปติมอร์เมื่อเร็ว ๆ นี้ในงานของราชการ ได้รับข้อมูลที่น่าสนใจหลาย ๆ เรื่อง จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟัง

          ติมอร์ มีชื่อในภาษาต่างประเทศว่า Timor-Leste ซึ่งหมายถึงติมอร์ตะวันออก (Leste เป็นภาษาโปรตุเกส หมายถึง East) พื้นที่ประกอบด้วยสามส่วน คือ (ก) ส่วนทางตะวันออกของเกาะติมอร์ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ (ส่วนฝั่งตะวันตกเรียกว่าติมอร์ตะวันตกหรือ West Timor ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกัน) (ข) อีก 2 เกาะเล็กคือ Atauro และ Jaco และ (ค) พื้นที่เล็ก ๆ อยู่โดด ๆ ในติมอร์ตะวันตกซึ่งมีชื่อว่า Oecusse

          ติมอร์มีพื้นที่ประมาณ 15,000 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 1.2 ล้านคน มีเมืองหลวงชื่อ Dili ซึ่งมีประชากรประมาณ 250,000 คน ติมอร์อยู่ทางเหนือของออสเตรเลีย หากบินไปจากประเทศไทยโดยเปลี่ยนเครื่องบินที่สิงคโปร์ซึ่งใช้เวลา 2 ชั่วโมง และจากสิงคโปร์ถึง Dili อีกประมาณ 4 ชั่วโมง ดังนั้นจึงใช้เวลาเดินทางถึง 6 ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ

          หากพิจารณาว่าอยู่ไกลจากไทยเพียงใดก็จะพบว่าจาก Dili บินไปเมือง Darwin ซึ่งอยู่เหนือสุดของออสเตรเลียใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง หากบินไป Denpasar ที่อยู่บนเกาะบาหลีก็ใช้เวลาบิน 1.5 ชั่วโมง

          คนติมอร์ผสมปนเปกันมานานนับร้อย ๆ ปีระหว่าง 2 ชนกลุ่มใหญ่ คือ กลุ่ม Australoid ซึ่งมีหน้าตาคล้ายพวกพื้นเมืองที่เรียกว่า Aboriginies ในออสเตรเลีย คือ มีผิวดำ ผมหยิก กับพวกกลุ่ม ชาวเกาะที่เรียกว่า Melanesians ซึ่งได้แก่พวกนิวกินี ฟิจิ โซโลมอน ฯลฯ

          เกาะติมอร์ถูกแบ่งเป็นตะวันตก และตะวันออกมายาวนาน คนดัตช์ (เนเธอร์แลนด์) และคนโปรตุเกสต่อสู้แย่งกันเป็นเจ้าอาณานิคมตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 จนตกลงกันได้ใน ค.ศ. 1859 โดยแบ่งออกคนละส่วน ตะวันตกเป็นของดัตช์และตะวันออกเป็นของโปรตุเกส

          เกาะติมอร์เป็นแหล่งผลิตไม้จันทน์หอม (sandalwood) น้ำผึ้ง และขี้ผึ้ง (wax) ตลอดจนเป็นแหล่งค้าทาสอีกด้วย ติมอร์ตะวันตกมีชื่อเรียกว่า Dutch Timor ในปี 1949 ก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซียไป ส่วนติมอร์ตะวันออกนั้นมีประวัติศาสตร์ของการสูญเสียอย่างมหาศาลกว่าที่จะได้เป็นประเทศติมอร์ในทุกวันนี้ ในช่วง 1942-1945 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อติมอร์ตะวันออกถูกยึดครองโดยญี่ปุ่นก็มีกองกำลังต่อต้านต่อสู้อย่างดุเดือด เสียผู้คนไปถึง 40,000-70,000 คน

          เมื่อเกิดปฏิวัติในโปรตุเกสในปี 1974 ก็เกิดความคิดที่จะถอนตัวออกจากอาณานิคมแห่งนี้ซึ่งแทบจะไม่มีความสัมพันธ์กัน เมื่อเริ่มถอนตัวออกก็เกิดเรื่องขึ้นทันที กลุ่มนักสู้ที่ต้องการให้ติมอร์ตะวันออกเป็นอิสระมีชื่อว่า Fretilin ซึ่งมีส่วนหนึ่งฝักใฝ่ลัทธิคอมมูนิสต์ ดังนั้นอินโดนีเซียและมหาอำนาจตะวันตกซึ่งหวาดกลัวคอมมูนิสต์ในสงครามเอเชียช่วงนั้นจึงไม่ยอมให้เป็นอิสระ และบุกเข้ายึดครองติมอร์ตะวันออกในปี 1975 โดยได้รับการสนับสนุนจากมหาอำนาจตะวันตก กลายเป็นจังหวัดที่ 27 ของอินโดนีเซีย แต่สหประชาติไม่รับรอง

          ประชาชนผู้ปรารถนาอิสรภาพของติมอร์ลุกฮือขึ้นต่อสู้โดยใช้ฝั่งมีอาวุธของกลุ่ม Fretilin ต่อต้านทหารอินโดนีเซียที่ส่งไปถึง 35,000 คน ทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันยาวนาน มีหลักฐานว่าชาวติมอร์ถูกฆ่าตายอย่างทารุณ อดอาหาร และเป็นโรคตายรวมกันเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 100,000 คน จนกระทั่งสหประชาชาติต้องเข้าแทรกแซง และประชาชนติมอร์ลงประชามติว่าต้องการเป็นประเทศอิสระ ไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซียอย่างท่วมท้น

          สหประชาชาติส่งกองกำลังสันติภาพเข้าไปดูแลชั่วคราวจนกระทั่งเกิดเป็นประเทศ Timor-Leste ขึ้นในปี 2002 ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการเจรจาหย่าศึกและในการทำงานของกองกำลังสันติภาพของติมอร์อย่างมาก

          ติมอร์ที่ผู้เขียนเห็นนั้นโดยทั่วไปมีสภาพคล้ายกับประเทศไทยเมื่อประมาณ พ.ศ. 2504 คือ เมื่อตอนมีการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรก ประชาชนทั้งหมดเป็นเกษตรกร มีความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างแร้นแค้น ปัญหาสำคัญก็คือการขาดแคลนน้ำและการเป็นสังคมดั้งเดิมที่อยู่บนพื้นฐานของความเชื่อมากกว่าวิทยาศาสตร์

          ตัวอย่างหนึ่งก็คือเมื่อท้องนั้นแม่ต้องกินอาหารให้น้อยที่สุดเพื่อให้ลูกตัวเล็กจะได้คลอดง่าย ดังนั้นเมื่อเกิดมาจึงมีปัญหาสุขภาพ กอบกับอาหารส่วนใหญ่เป็นผัก ถึงแม้อยู่ใกล้ทะเลแต่ชาวติมอร์ก็จับปลาไม่เก่ง และไม่นิยมกินปลาหลายประเภทเพราะเชื่อว่าเป็นบรรพบุรุษ จระเข้น้ำเค็มซึ่งมีอยู่ไม่น้อยก็ไม่ฆ่า เพราะถือว่าเป็นปู่ อีกทั้งเกาะติมอร์ก็มีรูปร่างคล้ายจระเข้อีกด้วย

          แทบทุกอย่างติมอร์นำเข้า ครึ่งหนึ่งของข้าวที่บริโภคทั้งประเทศนำเข้าจากเวียดนาม อาหารตลอดจนสินค้านานาชนิด นำเข้าจากอินโดนีเซียและจีน (สินค้าไทยนั้นมีไม่มาก เป็นที่นิยมแต่ซื้อหากันเฉพาะในกลุ่มผู้มีอันจะกินซึ่งประมาณกันว่ามีอยู่เป็นเรือนหมื่นคน)
สกุลเงินที่ใช้คือเงินเหรียญสหรัฐถึงแม้จะอยู่ไกลจากสหรัฐอเมริกาหลายพันไมล์ก็ตาม เข้าใจว่าเพราะไม่ต้องการให้รัฐบาลพิมพ์ธนบัตรสกุลติมอร์ได้เองตามใจชอบ ซึ่งจะนำไปสู่เงินเฟ้อที่รุนแรงได้ดังที่เกิดในหลายประเทศใหม่

          ตลอดเวลา 14 ปี ของการเป็นประเทศ ติมอร์อยู่มาได้อย่างดีจากส่วนแบ่งรายได้จากการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซในเขตทะเลของตน จนปัจจุบันกองทุนน้ำมันมียอดถึงกว่า 16,500 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ในสภาวการณ์ที่รัฐบาลเก็บภาษีแทบไม่ได้เลยเพราะความยากจนของประชาชน รัฐบาลจึงต้องใช้ดอกผลจากกองทุนนี้ซึ่งปัจจุบันมียอดเงินประมาณ 500-600 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีในการอุ้มชูประเทศ

          สิ่งที่ห่วงใยกันในปัจจุบันก็คือในแต่ละปีรัฐบาลต้องใช้เงินมากกว่าดอกผล ดังนั้นกองทุนจะร่อยหรอลง กอบกับปริมาณน้ำมันและก๊าซที่ขุดได้จากบ่อปัจจุบันอาจหมดลงในเวลาต่ำกว่า 10-15 ปีข้างหน้า การใช้จ่ายของภาครัฐในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานในหลายเรื่องก็สูงมาก (ประชาชนติมอร์มี 4G ใช้) อีกทั้งยังอุ้มชูประชาชน ให้ทั้งเมล็ดปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และอีกสารพัด จนทำให้ครอบครัวส่วนใหญ่ที่มีลูกหลานหลายคน (ทั้งประเทศมีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60) มีทัศนคติค่อนไปในทางไม่พึ่งพาตนเอง

          ติมอร์มีกว่า 15 ภาษาพื้นเมือง รัฐบาลใช้ภาษา Tetum (เตตุม) และโปรตุเกสเป็นภาษาทางการ ปัญหาด้านการศึกษาที่ปวดหัวก็คือโรงเรียนใช้ตำราภาษาโปรตุเกสที่มีครูอ่านออกไม่มากคนนัก ครั้นจะใช้เตตุมก็ยังไม่พัฒนาจนถึงขั้นเป็นภาษาที่ละเอียดอ่อนจนเป็นสื่อกลางได้

          ติมอร์มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่สูง ร่ำรวยด้วยทิวทัศน์ที่สวยงามและทรัพยากรธรรมชาติ เดินทางมาได้ไกลในเวลา 14 ปี อย่างเรียกได้ว่าประสบผลสำเร็จพอควร แต่ก็ต้องเดินทางอีกไกลมากจึงจะถึงจุดที่น่าพอใจได้