ชาตินิยมและความเป็นพลเมือง

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
25 ตุลาคม 2559

          เราได้ยินเรื่องชาตินิยม รักชาติ ที่ผู้ใหญ่ต้องการให้เด็กมีกันอยู่บ่อย ๆ แต่เมื่อพิจารณาประวัติศาสตร์แล้ว ก็ทำให้รู้สึกหวาดหวั่น ทำอย่างไรเราจึงจะมีความเป็นชาตินิยมโดยไม่เกิดปัญหาได้

          ชาตินิยมหมายถึง nationalism ซึ่งหมายถึงความรู้สึกร่วมกันในเรื่องความสำคัญของภูมิภาค หรือความเป็นประชาชน เช่น เกิดร่วมประเทศ ร่วม จังหวัด หรือเป็นชาติพันธุ์เดียวกัน

          นอกจากนี้ชาตินิยมยังเป็นอุดมการณ์ซึ่งอยู่บนความคิดว่าความจงรักภักดีของแต่ละคนที่อุทิศให้แก่ชาตินั้นทำให้ผลประโยชน์ของชาติอยู่เหนือกว่าผลประโยชน์ส่วนตน

          บ่อยครั้งชาตินิยมเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองอีกด้วย เช่น นาซี ฟาสซิสต์ สังคมนิยม ศาสนา ประชาธิปไตย กล่าวคือจงรักภักดีต่ออุดมการณ์นี้ข้ามประเทศ ข้ามความเป็นเผ่าพันธุ์ที่แตกต่างกันอีกด้วย

          สรุปก็คือชาตินิยมเป็นความรู้สึกร่วมกันของกลุ่มคนที่มีต่อดินแดน หรือความเป็นชาติพันธุ์โดยมีความจงรักภักดีและเห็นว่าผลประโยชน์ส่วนรวมสำคัญกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว

          สาเหตุของชาตินิยมก็มาจาก 2 เรื่อง กล่าวคือ (1) ทางโน้มตามธรรมชาติที่มีมาแต่ ดึกดำบรรพ์ของมนุษย์ที่จะแยกเป็นกลุ่มตามความใกล้ชิดของการเกิด เช่น เป็นเผ่า เป็นเมือง เป็นชาติ ฯลฯ (2) ความจำเป็นในการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด

          ทางโน้มตามธรรมชาติกับความอยู่รอดอธิบายว่าเหตุใดชาตินิยมจึงเกิดขึ้น หากความรู้สึกร่วมกันนี้ไม่มีในกลุ่มชนใดก็จะอยู่ไม่รอด ตัวอย่างมีให้เห็นมากมายในประวัติศาสตร์ เช่นการถูกกลืนชาติด้วยวัฒนธรรม หรือถูกบังคับให้เป็นเมืองขึ้น ความเป็นชาตินิยมเท่านั้นที่จะทำให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถ อยู่รอด มีความเป็นตัวตน และมีเอกลักษณ์ของตนเองได้

          ถ้าถามว่าเราสมควรสอนเด็กของเราให้มีความเป็นชาตินิยมหรือไม่ ความรู้สึกทั่วไปก็คือสมควรสอนเพราะเราต้องการรักษาแผ่นดินของเราที่บรรพบุรุษสูญเสียเลือดเนื้อรักษามา และเราต้องการเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ มีเอกลักษณ์ของเรา โดยสามารถกำหนดชะตากรรมของสังคมของเราได้เอง

          ในการนี้เราต้องสอนให้เขารักชาติ แต่บ่อยครั้งที่มันมีความหมายกว้างและหละหลวม เมื่อไล่ลงไปลึก ๆ แล้วไม่แน่ใจว่ามันคืออะไร ผู้เขียนขอเสนอว่ารักชาติหมายถึง 4 อย่างนี้ กล่าวคือ (1) ภาคภูมิใจและหวงแหนความเป็นอิสระ (2) รักษาและหวงแหนทรัพยากรของชาติ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดิน ภูเขา แหล่งน้ำ วัด พระพุทธรูป ทะเล ฯลฯ (3) รักและภาคภูมิใจความเป็นไทยเพราะเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้เราแตกต่างจากคนอื่น และ (4) รักเพื่อนร่วมชาติ ไม่ว่าจะเป็นพลเมืองไทยหรือคนอื่นที่มาอยู่อาศัยในบ้านของเรา เพราะความรักเช่นนี้เท่านั้นที่จะทำให้เกิดความสงบสุขขึ้นในสังคมได้

          การรักชาติเป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็นเรื่องของความรัก ความจงรักภักดี ความ หวงแหน ความภาคภูมิใจ อย่างไรก็ดีต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะมันอาจกลายพันธุ์เป็นความ บ้าคลั่ง และทำลายตัวเราเองได้ในที่สุด เราเห็นตัวอย่างของเยอรมันนีและญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง

          สิ่งที่ต้องย้ำก็คือรักชาติ แต่ต้องไม่นึกว่าเราวิเศษวิโสกว่าผู้อื่น ซึ่งเป็นความจริงเพราะประเทศใดในโลกก็มีดีทั้งนั้น พลเมืองของเขาก็รักชาติของเขาเช่นเดียวกัน หากมนุษย์โลกจะอยู่กันอย่างสันติแล้ว เราต้องยอมรับและตระหนักเสมอว่าวัฒนธรรมอื่น ๆ ก็ล้วนมีสิ่งที่น่าภาคภูมิใจเช่นเดียวกับเรา

          ถ้าเราต้องการกำกับ ควบคุม ไม่ให้ความเป็นชาตินิยมเตลิดแล้ว เราต้องสอน “ความเป็นพลเมือง” ให้แก่เด็กของเราด้วย “ความเป็นพลเมือง” นั้นเป็นสิ่งสำคัญเพราะจะทำให้สังคมของเรามีความร่มเย็น สามารถอยู่ร่วมกันได้กับคนอื่น

          “ความเป็นพลเมือง” ได้แก่ (1) การเคารพกฎกติกาของสังคม (2) การยอมรับและเคารพความแตกต่างของผู้คนในชาติ ตลอดไปจนถึงเรื่องความเชื่อ ความเห็น วัฒนธรรมประเพณีของเขาด้วย (3) การเคารพสิทธิของผู้อื่น (4) ยอมรับความเท่าเทียมกันในสังคม ตลอดจนกฎกติกาของเสียงส่วนใหญ่ตามระบอบประชาธิปไตย (5) มีเสรีภาพควบคู่ไปกับความรับผิดชอบ

          ‘ความเป็นพลเมือง’ เป็นเรื่องสำคัญในโลกปัจจุบันที่ในแต่ละสังคมมีความแตกต่างกันมากมาย หากขาดกฎกติกาแล้วจะมีปัญหามากมาย และหากเด็กถูกฝึกฝนให้มีลักษณะเช่นนี้แล้ว ก็จะเป็นพลเมือง คือ พลังของเมือง (พละ + เมือง) ได้เป็นอย่างดี

          ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ ชาตินิยมซึ่งเป็นสิ่งน่าพึงปรารถนาเพราะจะทำให้สังคมและวัฒนธรรมของเราอยู่รอดเพราะประชาชนเห็นประโยชน์ของกลุ่มเหนือตนเอง ประชาชนต่างมุ่งหวังให้สังคมดีขึ้นกว่าเดิม และ ‘ความเป็นพลเมือง’ จะกำกับและหล่อหลอมไม่ให้ชาตินิยมกลายเป็นปัญหา

          ทั้งชาตินิยมและความเป็นพลเมืองจะต้องอยู่ในระดับพอเหมาะพอควรผสมกลมกลืนกันอย่างเหมาะสม อันจะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ของความอยู่รอด ความยั่งยืน และความมีเสถียรภาพของสังคมเรา