ความเป็น “ปกติ” คือความ “วิเศษ”

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
19
พฤษภาคม 2558

Photo by Timon Studler on Unsplash

          “ปาฏิหาริย์ไม่ใช่การเดินบนน้ำหรือบินอยู่บนอากาศ แต่ปาฏิหาริย์ของชีวิตคือการเดินอยู่บนผืนดินและมีความสุขในทุกย่างก้าว

          ชีวิตเราเต็มไปด้วยเรื่อง “ธรรมดา” เช่น ตื่นมาอาบน้ำ แปรงฟัน ขับรถไปหางาน กินอาหารเที่ยงกับเพื่อนในที่เดิม ๆ ตอนเย็นกลับบ้านก็เห็นหน้าภรรยา หรือสามีคนเดิม ใส่ชุดธรรมดา หน้าตาเราหรือก็ธรรมดา ๆ….. เราส่วนใหญ่แล้วก็เป็นคนธรรมดา ๆ มีชีวิตธรรมดา ๆ กันทั้งนั้น

          แต่ถ้าความ “ธรรมดา” นี้หมดไปล่ะ เช่น อยู่ดี ๆ ลูกเราเกิดเป็นมะเร็ง ไปมีเรื่องนอกบ้าน ไปติดยา ไปคบเพื่อนไม่ดี หรือสามี หรือภรรยาเราตาย ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม หรือเราถูกไล่ออกจากงาน เราประสบอุบัติเหตุร้ายแรง เป็นอัมพาต

          เรื่องที่เคยธรรมดาก็จะ “ไม่ธรรมดา” ไปในทันที และในเวลานั้นเองเราจะหวนมาคิดเสียดายความเป็น “ธรรมดา” จนใจแทบจะขาด…..

          สิ่งธรรมดา คือ สิ่งพิเศษ ขอให้เรารีบชื่นชมกับความ “ธรรมดา” ที่เรามี และใช้ชีวิตกับสิ่งรอบตัวของเรา ประหนึ่งว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งมหัศจรรย์ของจักรวาล เพราะสิ่งธรรมดา ๆ แท้จริงแล้วคือสิ่งที่พิเศษที่สุดแล้วสำหรับมนุษย์อย่างเรานั่นเอง”

          คงมีน้อยคนที่อ่านข้อความข้างต้น (ผู้เขียนได้มาจากอินเตอร์เน็ต) แล้วจะไม่รู้สึกประทับใจ และไม่อยากรู้ว่าเป็นของใคร เจ้าของคำพูดก็คือท่าน Thích Nh?t H?nh (ทิก เญิ้ต หั่ญ) พระภิกษุชาวเวียดนามนิกายเซ็น (Zen Buddhist monk) ของมหายานซึ่งเป็นที่นับถือของชาวโลกอย่างสูง

          ปัจจุบันท่านอายุ 89 ปี พำนักอยู่ที่ Plum Village Monastery ในฝรั่งเศส ขณะนี้กำลังพักฟื้นหลังจากที่เส้นโลหิตในสมองแตกระดับรุนแรงโดยบัดนี้มีอาการดีขึ้นเป็นลำดับ

          คำว่า “ทิก” ใช้เรียกพระ ส่วน “เญิ้ต หั่ญ” คือชื่อทางธรรมของท่าน หนังสือกว่า 100 เล่มที่ท่านเขียน (40 เล่ม เป็นภาษาอังกฤษ) คือ คำสอนการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะของคนในโลกตะวันตก สิ่งที่ท่านเน้นคือสันติภาพ การขจัดความรุนแรง ความรัก ความเห็นอกเห็นใจกัน การช่วยเหลือ การเอาชนะความโกรธ การลดความเจ็บปวด การลดความทนทุกข์ทรมาน ฯลฯ โดยไม่ใช้คำพระ

          เนื่องจากท่านมีความสามารถในการใช้ภาษาอย่างแตกฉาน ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส จีน บาลี สันสกฤต ญี่ปุ่น โดยเฉพาะอังกฤษ ท่านจึงเดินทางไปต่างประเทศอยู่ตลอดระยะเวลา 40-50 ปีที่ผ่านมาเพื่อบรรยายเผยแพร่คำสอนพระพุทธศาสนา ท่านเคยเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัย Princeton และเคยเป็นอาจารย์ผู้บรรยายที่มหาวิทยาลัย Columbia

          ในยุคสงครามเวียดนาม ท่านมีบทบาทสำคัญร่วมกับพระภิกษุที่รักสันติภาพอีกหลายรูปต่อต้านสงคราม จนต้องลี้ภัยไปอยู่ในสหรัฐอเมริกาเป็นเวลาเกือบ 40 ปี กว่าจะเดินทางเข้าเวียดนามได้อีกครั้งก็ ค.ศ. 2005

          อีกท่านหนึ่งที่เป็นพระภิกษุนิกายมหายานที่ได้รับความเคารพนับถืออย่างยิ่งจากชาวโลก (ยกเว้นรัฐบาลจีน) ผู้เขียนหนังสือจำนวนมากมาย และเดินทางบรรยายธรรมเผยแพร่คำสอนในพระพุทธศาสนาเป็นระยะเวลายาวนานทั่วโลก และอยู่ในลักษณะคล้ายกับท่าน Thich ซึ่งลี้ภัยจากเวียดนาม และท่านลี้ภัยจากทิเบต

          ท่านคือ “เทนซิน เกียตโซ ทะไลลามะ ที่ 14” แห่งทิเบต ปัจจุบันท่านอายุ 80 ปี ได้รับรางวัลโนเบิลสาขาสันติภาพใน ค.ศ. 1989 ทั้งสองมีวัตรปฏิบัติที่งดงาม อุทิศตนเองเพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา และความสุขของชาวโลกอย่างน่าชื่นชมยิ่ง

          ขอกลับมาที่ข้อความข้างต้น “สิ่งธรรมดา คือ สิ่งพิเศษ” ยิ่งคิดก็ยิ่งจริง การมีชีวิตที่ธรรมดาอย่างพอเพียงและพอใจในสิ่งที่มีคือยอดแห่งความสุข อย่างไรก็ดีมีคนส่วนหนึ่งดูจะไม่เป็นไปตามนี้

          ที่พูดกันว่าความจนคือปัญหาของบ้านเมืองเรานั้นไม่ผิด แต่ถ้าจะให้ถูกต้องแม่นยำต้องพูดว่าความรวยก็เป็นปัญหาของสังคมเราเช่นกัน และอาจเป็นปัญหาที่หนักหน่วงกว่าด้วย เพราะ คนรวยไทยส่วนใหญ่ไม่เคยหยุด ระวังป้องกันสิ่งแวดล้อมที่จะรักษาความรวยของตนไว้อย่าง เหนียวแน่น และพยายามเพิ่มพูนให้รวยยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ

          ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือพลังต่อต้านการเสียภาษีเพิ่มขึ้นในทุกรูปแบบ เริ่มตั้งแต่ภาษีมรดก (คอยดูเถอะในที่สุดภาษีที่ออกมาจะมีช่องโหว่ขนาดแรดรอดได้) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (คนมีทรัพย์สมบัติจะเสียเงินเพิ่มขึ้นอีกไม่กี่ร้อยหรือพันบาทต่อปี) การหลีกเลี่ยงภาษีเงินได้ ฯลฯ โดยไม่ตระหนักว่าจะทำให้สังคมเราอยู่ได้เป็นอย่างดีในระยะยาว

          การบุกรุกที่ดินป่าเขาโดยเลี่ยงกฎหมายอย่างไม่อายเจ้าที่เจ้าทางและผีป่านางตะเคียน รถเถื่อนราคาแพงที่วิ่งกันยั้วเยี๊ยเหมือนแย้ออกมาจากรูบนทางด่วนในตอนเช้าวันเสาร์อาทิตย์ การทุจริต ภาษีนับพันนับหมื่นล้านบาท การใช้เงินปูพื้นฐานทางการเมืองโดยยุยงปลุกปั่นเพื่อหวังยึดครองอำนาจรัฐ การทุจริตเงินข้าวครั้งมโหฬาร ฯลฯ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้คนมีเงินทั้งนั้นแหละที่เป็นผู้กระทำ

          คนจำนวนมากต้องการการปฏิรูปที่ไม่กระทบสถานะของตน อยากได้ทุกอย่างที่ทำให้ตนเองดีขึ้นโดยไม่มีการเสียประโยชน์ส่วนตน (“โลกนี้ต้องได้ฟรีทุกอย่าง” คือ “ได้” โดยไม่ต้องเอา “เสีย” ไปแลก) หากมีโอกาส “เสีย” ขึ้นก็จะโวยวาย ดิ้นเหมือนไส้เดือนถูกขี้เถ้า

          ถ้าต้องการการปฏิรูปกันแล้วต้องยอมเสียสละโดน “ไม้กระบอง” หัวแตกกันบ้าง มิฉะนั้นมันไม่สำเร็จหรอกเพราะ “โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี”

          ท่าน Thich ได้ชี้ให้เห็นว่า ความเป็นปกติหรือความเป็นธรรมดามีคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์ทุกคน เราจะรู้คุณค่าของมันก็ต่อเมื่อเราขาดมันไป ดังนั้นการที่ในปัจจุบันเราสามารถเดินทางไปไหนมาไหน ดำรงชีวิตอยู่ได้เป็นปกติสุข มั่นใจความปลอดภัยของชีวิต และเชื่อมั่นในอนาคตได้บ้างอย่างผิดไปจากหลายปีที่ผ่านมาจึงเป็นสิ่งพิเศษซึ่งมีค่าที่เราอาจมองข้ามไป

          คนที่ไม่เชื่อว่าชีวิตธรรมดาคือความเป็นพิเศษก็ลองเดินทางไปสังคมที่ยากจนกว่าเรา มาก ๆ ดูซิครับ แล้วจะเห็นว่าคนเหล่านั้นอาจมีความสุขในวิถีชีวิตของเขามากกว่าเราด้วยซ้ำ

Fryer กับ Baby Nobel เศรษฐศาสตร์

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
12
พฤษภาคม 2558 

ที่มา https://static01.nyt.com/images/2019/07/10/business/10fryer2/10fryer2-superJumbo.jpg

          หาก “แต่งตัว” ไว้พร้อม เมื่อโอกาสมาเคาะประตูก็สามารถเปิดต้อนรับได้เลย นักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งอายุต่ำกว่า 40 ปี เข้าลักษณะนี้ เขาจึงได้รับรางวัลที่เรียกกันว่า “Baby Noble Prize”

          Roland Fryer เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันผิวสี หรือ Afro-American (เดิมเรียกว่า Negro ต่อมา Black American) ได้เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์หลายเรื่อง ครั้งหนึ่งเขาให้สัมภาษณ์ว่าเขามีชีวิตตอนวัยรุ่นอยู่ในสลัมท่ามกลางยาเสพติด ความรุนแรง และเคยมีเพื่อนถามเขาว่า “จะเป็นอะไรตอนอายุ 30” เขาตอบว่าคงจะตายแล้ว

          การคาดคะเนของเขาตอนเป็นวัยรุ่นผิดทั้งเพ เพราะเมื่อตอนอายุ 30 ในปี ค.ศ. 2008 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นอาจารย์ของ Harvard อย่างถาวรโดยเป็น Afro-American คนแรกที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์

          ล่าสุดเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาเขาได้รับรางวัลอันทรงเกียรติยิ่งประจำปีของ American Economic Association ซึ่งมอบให้นักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานอยู่ในสหรัฐอเมริกา อายุต่ำกว่า 40 ปี มีชื่อเรียกว่า John Bates Clark Medal และอีกเช่นกันเขาเป็น Afro-American คนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ในประวัติศาสตร์

          มีการให้รางวัลนี้มาตั้งแต่ปี 1947 คนแรกที่ได้รับคือ Paul A. Samuelson ในจำนวน 17 คนแรกที่ได้รับรางวัล 11 คนในเวลาต่อไปได้รับรางวัลโนเบิลสาขาเศรษฐศาสตร์ มีการทำนายว่าคนที่ได้รับรางวัล John Bates Clark Medal มีความเป็นไปได้ที่จะได้รับรางวัลโนเบิลหนึ่งในสาม

          John Bates Clark มีชีวิตอยู่ระหว่าง 1847-1938 เป็นนักเศรษฐศาสตร์แนว Neoclassic เขาเป็นผู้บุกเบิกคนหนึ่งของการปฏิวัติทางความคิดที่เรียกว่า Marginalist Revolution กล่าวคือใช้แนวคิด Marginalism ในการอธิบายปรากฏการณ์ของตัวละครและการใช้เหตุใช้ผลภายใต้ระบอบทุนนิยม เช่น ผู้ประกอบการพยายามแสวงหากำไรสูงสุด โดยได้รับกำไรสูงสุดเมื่อ marginal revenue เท่ากับ marginal cost (รายรับที่เพิ่มขึ้นจากการขายหนึ่งหน่วยสินค้าเท่ากับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการผลิตหนึ่งหน่วยสินค้า) ฯลฯ

          Clark รวบรวมหลายบทความที่สำคัญของเขา และตีพิมพ์ในหนังสือชื่อ The Philosophy of Wealth (1886) บทบาทของเขาในการสร้างทฤษฎีเศรษฐศาสตร์สำคัญทำให้ American Economic Association ทั้งชื่อรางวัลเป็นเกียรติแก่เขามาเกือบ 70 ปี

          Fryer ผู้รับรางวัลในปีนี้มีชีวิตในวัยเด็กที่แตกต่างจากผู้ได้รับรางวัลคนอื่น ๆ อย่างสิ้นเชิง แม่ทิ้งเขาไปตั้งแต่ยังเด็กมาก จึงอยู่กับพ่อซึ่งเฆี่ยนตีเขา และเมื่อเขาเริ่มเป็นหนุ่มพ่อก็ติดคุกข้อหาข่มขืน เมื่อ Fryer เข้าสู่วัยรุ่นก็เรียกได้ว่าเป็นตัวร้ายอย่างเต็มตัว ชีวิตมุ่งสู่ยาเสพติด หรือถูกฆ่าตาย

          สิ่งที่พลิกผันชีวิตของเขาก็คือการได้รับทุนกีฬาจาก University of Texas at Arlington จากการเป็นดาราบาสเกตบอลและฟุตบอลตอนเรียนชั้นมัธยม อย่างไรก็ดีเมื่อไปถึงเขาขอเปลี่ยนทุนเป็นทุนวิชาการ เขาเรียนจบได้เกียติรนิยมอันดับหนึ่งทางเศรษฐศาสตร์ในเวลา 2 ปีครึ่ง พร้อมกับทำงานเต็มเวลาไปด้วย

          อาจารย์ของเขาช่วยหาทุนเรียนปริญญาเอกให้เขา และได้ไปเรียนที่ Penn State (Pennsylvania State University) และจบปริญญาเอกในปี 2002 จากนั้นไปทำงานวิจัยหลังปริญญาที่ University of Chicago ได้พบกูรูด้านเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบิลผู้บุกเบิกเศรษฐศาสตร์มาวิเคราะห์สารพัดปัญหาสังคม และที่นี่เขาทำวิจัยและเขียนบทความร่วมกับอาจารย์ที่มีชื่อเสียงหลายคน คนหนึ่งก็ได้กลายเป็นผู้นำทางความคิดของเขาก็คือ Steven Levitt (ผู้เขียนหนังสือยอดนิยมระดับโลก “Freaknomics”)

          เมื่อได้เป็นอาจารย์ที่ Harvard เขาก็พิมพ์บทความในวารสารวิชาการระดับโลกจำนวนมากโดยเน้นปัญหาที่เขาประสบมาในวัยรุ่น ตั้งแต่เรื่องอุปสรรคการศึกษาของเด็กผิวสี ปัญหา ยาเสพติด นโยบายการศึกษาของเด็กชนกลุ่มน้อย ออกแบบนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของคนผิวสี ปัญหาการเหยียดผิว การให้แรงจูงใจครู ฯลฯ จนได้การยอมรับ เมื่อ 10 ปีที่แล้วเขาได้รับเลือกโดยนิตยสาร The Economics ให้เป็น 1 ใน 8 ของ นักเศรษฐศาสตร์รุ่นหนุ่มในโลกที่ปราชญ์เปรื่องที่สุด

          เรื่องหนึ่งที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักกว้างขวางก็คือ “active white” กล่าวคือจากการเก็บข้อมูลเพื่อการวิจัยของเขาในระดับ “ติดดิน” พบว่าตอนอนุบาลเด็กผิวขาวและผิวสีมีสัมฤทธิผลทางการเรียนไม่แตกต่างกัน แต่เมื่อโตขึ้นเด็กผิวสีด้อยลงในทุกวิชา เหตุผลมีหลายประการนับตั้งแต่ฐานะและการศึกษาของพ่อแม่ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ อย่างไรก็ดีปัจจัยตัวหนึ่งที่เขายืนยันก็คือสิ่งที่เรียกว่า “acting white” นั้นมีจริง

          เด็กผิวสีจะไม่เรียนหนังสือหนักเมื่อโตขึ้นเพราะจะถูกเพื่อนรังเกียจ และกลายเป็นคนแปลกแยกเพราะการกระทำเยี่ยงนี้เหมือนกับที่คนผิวขาวกระทำกัน Fryer พิสูจน์โดยลงไปดูว่าเด็กผิวสีเกรดดีมีจำนวนเพื่อนที่ชอบพอกันแตกต่างจาก ‘เด็กไม่เรียน’ หรือไม่ ก็พบว่า ‘เด็กเรียน’ ผิวสีมีเพื่อนน้อยกว่า ซึ่งตรงข้ามกับเด็กผิวขาว ยิ่งเรียนดียิ่งมีเพื่อนมาก

          Fryer สร้าง education lab ขึ้นที่ Harvard โดยเขาเป็นผู้จัดการ ไอเดียก็คือการศึกษาวิจัยเชิงปฏิวัติในระดับย่อยเพื่อหาความจริงก่อนที่จะมีนโยบายหรือวิธีการ หรือแนวปฏิบัติ ด้านการเรียนการสอน (ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการไทยก็มีการศึกษาเชิง lab เช่นว่านี้ และกำลังศึกษาวิจัยกับโรงเรียนกว่า 200 โรงเรียนอย่างเข้มข้น)

          เขาไม่ได้ทำงานวิจัยอยู่บนโต๊ะ เก็บข้อมูลทุติยภูมิ หากออกไปสัมผัสข้อมูลจริง และใช้วิธีการศึกษาวิจัยที่ฉลาดหลักแหลม แนวที่ Steven Levitt ซึ่งเป็นลูกพี่ทางความคิดของเขากระทำ (การศึกษาเรื่องอาชญากรรมลดลงในสหรัฐอเมริกา การศึกษาเรื่อง “การล้ม” ของซูโม่ใน Freaknomics คือตัวอย่าง)

          Fryer อุทิศตัวเองให้แก่การวิจัยสาเหตุของความล้มเหลวในด้านการศึกษาของเด็กผิวสีโดยไม่ใช้เพียงความยากจน การเหยียดผิว ฯลฯ เท่านั้น หากออกไปไกลถึงด้านสังคมวิทยาและจิตวิทยา พิจารณาความเป็นไปได้ในการมี “วัฒนธรรมทำลายตนเอง” ของคนผิวสี ความจริงใจและความกล้าหาญในการพยายามเข้าใจปัญหาและหาทางออกให้คนผิวสีในอเมริกาตลอดจนคนกลุ่มน้อย ในโลก ทำให้เขาโดดเด่นและเป็นที่ชื่นชม

          มาตรการด้านการศึกษาที่เขาเสนอให้ครูเพื่อลดช่องว่างสัมฤทธิผลการศึกษาของคนผิวสีก็คือครูใช้ข้อมูลการประเมินเด็กบ่อย ครูให้ข้อมูลเพื่อนำการสอน คาดหวังจากเด็กสูง การติวเข้มข้น และใช้เวลาการสอนเด็กมาก ๆ

          Fryer มีความพร้อมในการศึกษาวิจัยเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการจลาจลซึ่งเกิดขึ้นในหลายเมืองในสหรัฐอเมริกาในช่วงปีที่ผ่านมา เขาบอกว่ามันไม่เพียงพอที่จะบอกว่าตำรวจมีทางโน้มที่จะยิง ผู้ต้องสงสัยผิวสีมากกว่าผิวขาว (ปัจจุบันก็ทำเช่นนั้นอยู่แล้ว) ถ้าจะให้รู้ความจริงอย่างแน่แท้แล้ว ต้องแสดงให้เห็นว่าตำรวจทำอย่างนั้นจริง ๆ ภายใต้เงื่อนไขและสิ่งแวดล้อมเดียวกัน

          หากใช้ข้อมูลมากมายที่เกิดขึ้นจากการยิงว่าเมื่อผู้ต้องสงสัยไม่ว่าผิวสีใดก็ตาม มีปืนในมือขณะกำลังจะถูกจับแล้วตำรวจมีทางโน้มที่จะยิงเสมอโดยไม่แคร์ว่าเป็นคนผิวสีใด อย่างนี้จึงจะเรียกว่าไม่เอนเอียง แต่ถ้าหากเงื่อนไขเหมือนกันแต่มีทางโน้มที่จะยิงคนผิวสีมากกว่า อย่างนี้จึงจะเรียกว่าเอนเอียง ซึ่งเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดจลาจลในทุกวันนี้

          Fryer มีผลงานทางวิชาการมากมายตลอดเวลากว่า 10 ปีที่เกี่ยวกับเรื่องแหล่ง ขนาด และการดำรงอยู่ของความไมเท่าเทียมกันทางชาติพันธุ์ในสหรัฐอเมริกา ตลอดจนการประเมินนโยบายต่าง ๆ ทางการศึกษาของชนกลุ่มน้อย เมื่อมีเหตุการณ์จลาจลและการตั้งคำถามว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในสหรัฐอเมริกาในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนผิวขาว-คนผิวสี ผลงานของเขาตลอดจนความรู้ความสามารถของเขาทำให้เขาเป็นบุคคลที่สมควรแก่รางวัลนี้อย่างยิ่งในสายตาของสาธารณชนอเมริกัน           เมื่อลิฟต์ขึ้นลงผ่านไปมา แต่ไม่ได้กดปุ่มจองการใช้เพราะมัวแต่เพลิดเพลินกับโซเชียลมีเดีย ชาติไหนก็ไม่ได้ขึ้นลิฟต์ เฉพาะผู้ที่ได้สร้างความพร้อมไว้ก่อนแล้วเท่านั้น เมื่อลิฟต์ผ่านมาจึงจะได้ขึ้น

จักรยานต้องเป็น “ของจริง”

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
5
พฤษภาคม 2558

Photo by Daniel Salcius on Unsplash

         กระแสนิยมจักรยานกำลังมาแรงในโลก จะทำอย่างไรดีให้แฟชั่นนี้กลายเป็นเรื่องของการประหยัดพลังงาน ออกกำลังกาย รักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมกับเป็นสัญลักษณ์ของสังคมน่าอยู่อย่างยั่งยืน มิใช่เพียงเป็นเรื่องฮือฮาตามสมัยนิยม

          ทุกคนรู้จักจักรยานตั้งแต่เป็นเด็ก เพราะเป็นสิ่งหนึ่งซึ่งสร้างความสนุก ตื่นเต้น เพลิดเพลิน และความทรงจำให้แก่เด็กได้เป็นอย่างดี เมื่อโตขึ้นก็ใช้เป็นพาหนะในการเดินทาง สมัยก่อนอาจเป็นโรงเรียน สถานที่ทำงาน แหล่งท่องเที่ยว ต่อมาก็อาจไว้ใช้ไปซื้อของปากซอย หรือออกกำลังกาย

          จักรยานสองล้อมิได้มีหน้าตาดังเช่นปัจจุบันอยู่เป็นเวลานาน เมื่อปรากฏตัวครั้งแรกใน ค.ศ. 1793 ในปารีส หน้าจักรยานเป็นหัวม้า มีสองล้อขนาดเท่ากัน เคลื่อนไหวโดยใช้ เท้าสองข้างดันไปกับพื้นดิน

          ต่อมาก็พัฒนาขึ้นโดยปรากฏตัวใน ค.ศ. 1839 ซึ่งมีข้อแตกต่างตรงที่สามารถใช้เท้าถีบให้เคลื่อนตัวไปข้างหน้า แต่ขนาดล้อหน้าใหญ่กว่าล้อหลังมาก อย่างไรก็ดีไม่กี่ปีหลังจากนั้นจักรยานก็พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ จนมีขนาดล้อเท่ากัน ล้อมียางซึ่งมีไส้อยู่ข้างในเพื่อรับน้ำหนัก และช่วยการเคลื่อนไหวของตัวรถ จนมาถึงทศวรรษ 1890 ซึ่งถือว่าเป็นยุคทองของจักรยาน

          จักรยานเริ่มต้นในยุโรปและแพร่กระจายไปอเมริกาเหนือ และทั่วโลก โดยกลายเป็นพาหนะสำคัญของการเดินทางของประชาชนทั่วไป ควบคู่ไปกับรถม้า และรถยนต์ซึ่งมีการพัฒนาอย่างสำคัญขึ้นใน ค.ศ. 1913 บริษัท Ford ผลิตรถรุ่น Mode T ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมาก

          ตลอดเวลาที่ผ่านมาจักรยานมิได้หายไปไหน ยังคงอยู่คู่ชาวโลกเพียงแต่บางสังคมหันไปใช้รถยนต์ รถจักรยานยนต์ จนลืมเพื่อนคู่ยากที่เกิดมากว่า 120 ปีไป อย่างไรก็ดีหากมองย้อนในประวัติศาสตร์ของจักรยานก็จะพบว่ามีจักรยานรุ่นคลาสสิกหนึ่งในโลก ซึ่งมีจำนวนการผลิตสะสม ถึงปี 2007 500 ล้านคัน ในจำนวนการผลิตสะสมในโลกประมาณ 1,000 ล้านคัน

          จักรยานที่พูดถึงนี้ก็คือจักรยานของจีนยี่ห้อ “นกพิราบบิน” (Flying Pigeon) ประวัติของโรงงานผลิตก็คือในปี 1936 นักธุรกิจญี่ปุ่นในจีนสร้างโรงงานผลิตจักรยานขึ้นโดยใช้ยี่ห้อ “สมอ” ต่อมาเป็น “ชัยชนะ” และเปลี่ยนเป็น “Zhongzi”

          ในปี 1949 หลังจากชัยชนะของพรรคคอมมูนิสต์จีน โรงงานนี้ก็กลายเป็นโรงงานผลิตจักรยานแห่งแรกของจีนยุคใหม่ โดยต้องการให้ผลิตจักรยานที่แข็งแรง เบา งดงามสำหรับคนจีนทั้งประเทศใช้ คันแรกผลิตออกมาในปี 1950 โดยเลียนแบบจักรยานอังกฤษยี่ห้อ Raleigh ปรากฏว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่ง รัฐบาลประกาศให้เป็นพาหนะเดินทางและขนส่งของชาติ จนในที่สุดจีนในยุคนี้ก็กลายเป็น “อาณาจักรแห่งจักรยาน” มันได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความมีหน้าตาของครอบครัว เป็นสิ่งที่ “ต้องมี” ควบคู่ไปกับอีกสองสิ่งคือนาฬิกาข้อมือ และจักรเย็บผ้า

          ปัจจุบันก็ยังมีการผลิตจักรยาน “นกพิราบบิน” อยู่ ถึงแม้คนจีนส่วนหนึ่งจะหันไป ขับเฟอรารี่ และปอร์ชแทนก็ตาม ประวัติศาสตร์ต้องจารึกว่าครั้งหนึ่งมันเป็นยี่ห้อของพาหนะที่ได้รับความนิยมที่สุดในโลกใบนี้ เติ้งเสี่ยวผิงในยุคต้นได้ให้คำจำกัดความของความมั่งคั่งของสังคมจีนว่า “มีนกพิราบบินอยู่ในทุกครัวเรือน”

          ในต้นทศวรรษ 1980 หลังเติ้งเสี่ยวผิงครองอำนาจ ‘นกพิราบบิน’ เป็นจักรยานที่ขายดีที่สุดในจีน ในปี 1986 ขายได้ 3 ล้านคัน บางช่วงคนซื้อต้องคอยเป็นเวลาหลายปีกว่าจะได้มาครอง โดยต้องออกแรงใช้เส้นและจ่ายในราคาที่เท่ากับค่าแรงสี่เดือน

          ที่กล่าวไปนี้คืออดีตอันรุ่งโรจน์ของจักรยาน ส่วนใหญ่ของโลกตะวันตกในปัจจุบัน จักรยานได้กลายร่างเป็นเครื่องมือของการออกกำลังกาย งานอดิเรก ความสนุกของเด็กวัยรุ่นมากกว่าที่จะเป็นสิ่งที่ใช้ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ แม้แต่กระแสนิยมจักรยานที่กำลังกลับมาในปัจจุบันก็ตาม ในสังคมส่วนใหญ่มันก็ยังเป็นเพียง ‘ของเล่น’ มิใช่ ‘ของจริง’ ที่จะช่วยโลก (การ ขี่จักรยานผลิตคาร์บอนไดออกไซด์โดยคนขี่เพียง 1 ใน 10 ของรถยนต์ที่เรียกว่ามีประสิทธิภาพสูงสุด)

          ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ เพื่อนผู้นับถือกันของผู้เขียน ผู้ต่อสู้ให้จักรยานเป็นพาหนะที่สำคัญของคนไทยมายาวนานกว่า 30 ปี พูดถึงจักรยานในมิติที่ยิ่งกว่าประสิทธิภาพไว้อย่างน่าฟังว่า “…..จักรยานไม่ใช่เพียงพาหนะที่มีล้อสองล้อ มันเป็นเครื่องมือ เป็นเครื่องหมาย เป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาประเทศ สำหรับผมจักรยานเป็นเรื่องของความพอเพียง ความโอบอ้อมอารีระหว่างกัน เรื่องของมิตรจิตมิตรใจ เรื่องของครอบครัว”

          อาจารย์มีความเห็นว่าการสร้างเส้นทางให้คนขี่จักรยานนั้นเป็นสิ่งดีแต่ก็เป็นเพียง “กายภาพ” เท่านั้น สิ่งที่จำเป็นควบคู่ไปด้วยคือ “สังคม” กล่าวคือสังคมต้องมีความพร้อมสภาพแวดล้อมต้องสอดคล้องกัน ถ้ามีช่องให้จักรยานขี่ คนขี่มอเตอร์ไซค์ แม่ค้าหาบเร่ ร้านค้าริมทาง และประชาชนทั่วไปต้องยอมรับและเห็นพ้องในการใช้พื้นที่ร่วมกัน

          การใช้จักรยานอย่างเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงนั้นต้องเป็นการใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นการยิงนกทีเดียวได้หลายตัว ทั้งออกกำลังกาย รักโลก ประหยัดทรัพยากร แสดงพลังของความพอเพียง ดังเช่นบางเมืองที่ประสบความสำเร็จเช่นเมืองพอร์ตแลนด์ ในรัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา และโบโกต้าเมืองหลวงของโคลัมเบีย (อย่าฝังใจว่าดีแต่ค้าโคเคนและฆ่าพนักงานของรัฐกันเป็นเบือ นั่นเป็นอดีต)

          การหันมาขี่จักรยานกันเป็นสิ่งที่ดี แต่อย่าให้พอใจกันแค่เป็น ‘ของเล่น’ ของผู้ใหญ่ (เป็น ‘ของเล่น’ สำหรับเด็กนั้นเหมาะสมอย่างยิ่ง) เท่านั้น กำนันต้องช่วยกันวางแผนให้มีการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันของประชาชน (พลเมืองและราษฎรด้วย) ส่วนใหญ่อย่างจริงจัง โดยมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มุ่งให้คนขี่จักรยานเพื่องานอดิเรกและออกกำลังกายเป็นคนขี่จักรยานส่วนน้อย

          มนุษย์รู้จักใช้ล้อเป็นเครื่องทุนแรงมากว่า 5,000 ปี สิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ทั่วโลกในอดีตล้วนเป็นผลพวงจากการใช้ล้อทั้งสิ้น เมื่อความจริงเป็นเช่นนี้ทำไมเราไม่พยายามใช้ล้อให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเราเองและสังคมในปัจจุบันบ้างเล่า

สถิติเพื่อการตัดสินใจ

วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
28
เมษายน 2558

Photo by Chris Liverani on Unsplash

          สถิติตัวเลขเป็นข้อมูลสำคัญที่ใช้ประกอบการตัดสินใจ มีสถิติของสังคมไทยบางเรื่องที่น่าสนใจอย่างสมควรนำไปใช้ในการตัดสินใจด้านนโยบาย

          เรี่องแรก คือเรื่องโรงเรียนขนาดเล็ก ผู้เขียนได้เห็นการอ้างตัวเลขเรื่องนี้กันผิด ๆ อยู่บ่อย จึงขอนำตัวเลขของปีการศึกษา 2557 ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยมาให้เห็นกันดังนี้
 

          ข้อมูลขนาดของโรงเรียนและจำนวนโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งหมายความถึงโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน (เฉลี่ยชั้นละไม่เกิน 20 คน) ดังต่อไปนี้ จำนวนนักเรียน 0 คน มีอยู่ 197 โรงเรียน / 1-20 คน (793 โรงเรียน) / 21-40 (2,403) / 41-60 (3,372) / 61-80 (3,520) / 81-100 (2,819) / 101-120 (2,402)
 

          เมื่อรวมจำนวนโรงเรียนขนาดเล็กแล้วมีอยู่ทั้งหมด 15,506 ในจำนวนโรงเรียนทั้งหมดของ สพฐ. 30,922 หรือร้อยละ 50.15 จำนวนนักเรียนทั้งหมดของโรงเรียนขนาดเล็กคือ 1,017,363 คน หรือร้อยละ 14.3 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมดของ สพฐ. 8,132,167 คน โดยมีครู 86,711 คน หรือร้อยละ 21.55 ของจำนวนครูทั้งหมดของ สพฐ. 489,123 คน
 

          ข้อมูลข้างต้นหมายความว่าโรงเรียนขนาดเล็กมีอยู่ประมาณครึ่งหนึ่งของโรงเรียน ของ สพฐ. ทั้งประเทศโดยมีนักเรียนอยู่ร้อยละ 14.30 (ประมาณ 1 ล้านคน) ของนักเรียนทั้งหมด แต่ต้องใช้ครูร้อยละ 21.55 (ประมาณ 86,000 คน) ของครูทั้งหมด
 

          พูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่านักเรียนในโรงเรียนเหล่านี้จำนวน 1 ล้านคน ต้องใช้ครูเกือบ 90,000 คน (ในจำนวนครูทั้งหมดเกือบ 500,000 คน) หรือนักเรียนจำนวนเพียงร้อยละ 14.3 ของทั้งหมดต้องใช้ครูกว่า 1 ใน 5 ดูแล นอกจากนี้นักเรียนและครูอยู่ในโรงเรียนครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด
 

          จำนวนโรงเรียนขนาดเล็กก็เพิ่มไม่หยุดหย่อนเพราะเด็กเกิดน้อยลงทุกทีในแต่ละปี ในปีการศึกษา 2554 มีจำนวนโรงเรียนขนาดเล็ก 14,638 หรือร้อยละ 46.83 ในปีการศึกษา 2555 มี 14,816 (ร้อยละ 47.62) ปี 2556 มี 15,386 (ร้อยละ 49.6) และปี 2557 มี 15,506 (ร้อยละ 50.15)
 

          เรี่องที่สอง คือเรื่องการบริโภคอาหารของเด็กประถม การสำรวจนักเรียน 66,700 คน จากโรงเรียน 1,042 แห่งใน 4 ภูมิภาค ได้ผลว่าร้อยละ 51.8 ได้ทานผักที่ปลูกเองในโรงเรียน ร้อยละ 18.7 ทานผักเพียงพอ ร้อยละ 44.3 ทานผลไม้เพียงพอ ร้อยละ 10.6 อ้วน ร้อยละ 40.8 ทานนมทุกวัน (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนมแต่งรส) ร้อยละ 48 ทานน้ำหวาน / น้ำอัดลมทุกวันวันละ 1 แก้ว และร้อยละ 36.7 ซื้อลูกชิ้นปิ้ง / ทอดมากที่สุด
 

          เรี่องที่สาม คือเรื่องคนไทยบริโภคหวานล้นเกิน ในปี 2554 ที่มีสถิติเปรียบเทียบข้ามประเทศในอาเซียน คนไทยบริโภคน้ำอัดลมถึง 41.3 ลิตร/คน/ปี เป็นอันดับ 1 ของอาเซียน รองลงมาคือฟิลิปปินส์ 31.3 ลิตร/คน/ปี สิงคโปร์ 26.6 มาเลเซีย 17.1 เวียดนาม 5.3 อินโดนีเซีย 3.1
 

          ในปี 2553 คนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ย 23.4 ช้อนชา/วัน (หนึ่งช้อนชาเท่ากับประมาณ 4 กรัม) WHO แนะนำให้บริโภคน้ำตาลไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา/วัน ประมาณร้อยละ 40 ของซองบรรจุน้ำตาลสำหรับเติมกาแฟในธุรกิจโรงแรมมีขนาด 8 กรัม หรือ 2 ช้อนชา คนส่วนใหญ่เติมหมดซอง ซึ่งพฤติกรรมนี้น่ากังวลเพราะคนไทยดื่มกาแฟเฉลี่ย 233 แก้ว/คน/ปี ซึ่งส่วนใหญ่ใส่น้ำตาลด้วย
 

          เรื่องที่สี่ เรื่องการสูบบุหรี่ของคนไทย สำหรับประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไประหว่าง พ.ศ. 2534-2556 สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจพบว่าถึงแม้จะมีจำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลงไม่มากนัก (2534 จำนวน 12.26 ล้านคน 2556 มีจำนวน 10.77 ล้านคน) แต่อัตราการสูบบุหรี่ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยลดจากร้อยละ 32 ในปี 2534 หรือร้อยละ 19.95 ในปี 2556
 

          เรื่องที่ห้า เรื่องการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอร์ สำหรับประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปในช่วงเวลา 2547-2557 อัตราการดื่มลดลงไปบ้างแต่ไม่มากนัก กล่าวคือจากร้อบยละ 55.5 ในปี 2547 ลดลงไปเป็นร้อยละ 53.0 ในปี 2557
 

          ที่น่าสนใจก็คือเมื่อแยกเพศก็จะพบว่าในขณะที่ชายมีอัตราการดื่มที่ลดลงไปเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2547 กับปี 2557 แต่ในช่วงกลางก็อาจเรียกได้ว่าเกือบทรงตัว แต่หญิงมีอัตราการดื่มที่สูงขึ้นเป็นลำดับ จากร้อยละ 10.3 ในปี 2547 เป็นร้อยละ 12.9 ในปี 2557 อย่างไรก็ดีจำนวนชายดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอร์มากกว่าหญิงประมาณ 4 เท่าตัว
 

          เมื่อพิจารณาการดื่มแอลกฮอร์ในระดับที่เรียกว่าอันตราย (เพศชายดื่มตั้งแต่ 41กรัม/วันขึ้นไป และเพศหญิงดื่มตั้งแต่ 21 กรัม/วันขึ้นไป) ก็พบว่าทั้งชายและหญิงมีอัตราที่ลดลง คือชายลดลงจากร้อยละ 16.6 ในปี 2546-47 เป็นร้อยละ 9.1 ในปี 2551-52 ส่วนหญิงลดจากร้อยละ 2.1 เป็น ร้อยละ 1.6
 

          ค่าใช้จ่ายครัวเรือนของประชากรไทยในหมวดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอร์ระหว่าง 2450-2557 ลดลง กล่าวคือจากค่าใช้จ่าย 154,998 บาทต่อครัวเรือน/ปีในปี 2550 เหลือ 139,333 บาทต่อครัวเรือน/ปี ในปี 2557
 

          ถ้าใครอยากรู้ว่าใครเป็นคนด้อยประสิทธิภาพในการทำงานจนทำให้มีคนตายจากอุบัติเหตุระหว่างสงกรานต์ปีนี้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 42 คน คำตอบง่าย ๆ โดยไม่ต้องจ้างคนศึกษาก็คือฆาตกรที่มีนามว่า ‘สถิติที่ไม่เข้าท่า’ เมื่อราคาน้ำมันลดต่ำลงมาก รัฐบาลส่งเสริมการท่องเที่ยว ท้องถิ่นจัดงานสงกรานต์สนุกสนาน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องมีจำนวนรถ จำนวนคนเดินทางโดยรวมกันเป็นจำนวนระยะทางที่เดินทางโดยคนทั้งหมดมากขึ้น และก็เป็นธรรมดาที่ต้องมีคนตายเพิ่มขึ้น (ไม่เชื่อก็ลองดูสถิติคนตายด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์บนถนนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อเปรียบเทียบกับสถิติของจังหวัดนครราชสีมาดูก็ได้) เฉกเช่นเดียวกับมีคนตายในวัย 80 มากกว่าคนตายในวัย 30 ปี เลิกดูตัวเลขคนตายแบบไร้เดียงสานี้กันเถอะ ถ้าจะดูกันให้ถ่องแท้ก็ต้องเปรียบเทียบจำนวนคนตายต่อกิโลเมตรของแต่ละสงกรานต์จึงจะได้ความจริง
 

          ความจริงจะปรากฏชัดได้ด้วยการมีพื้นฐานของการเก็บสถิติที่ดี เข้าใจธรรมชาติของสถิติ และแปรสถิติเป็นความจริงจนสามารถนำออกมาเป็นนโยบายที่ดีได้โดยอาศัยการตัดสินใจที่ดี

ปีศาจพนันได้น้ำบำรุงกำลัง

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
21
เมษายน 2558 

Photo by Edge2Edge Media on Unsplash

          ถึงแม้การพนันเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษยชาติแต่ก็มิได้หมายความว่าเราควรยอมรับให้มันเป็นเรื่องธรรมดา การดำเนินชีวิตของมนุษย์ปกติก็มีความเสี่ยงอยู่แล้วตลอดเวลา เหตุใดถึงต้องเอาการพนันมาเพิ่มความเสี่ยงให้มากยิ่งขึ้นโดยไม่จำเป็น ความหายนะจากนิสัยรักการพนันของสมาชิกในครัวเรือนมีผลกระทบอย่างกว้างไกลต่อคนจำนวนมาก อย่างไรก็ดีสังคมไทยของเรากลับปล่อยให้มีสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนความวายวอดนี้อยู่เต็มไปหมด

          มนุษย์ต้องเผชิญกับความเสี่ยงอยู่เสมอ เช่นออกไปนอกบ้าน ขับรถยนต์ เดินทางระหว่างจังหวัด ลงทุน รักษาโรคกับแพทย์ เดินป่า เล่นน้ำทะเล โดดร่ม ฯลฯ ซึ่งโดยแท้จริงแล้วก็คือการพนันโดยไม่รู้ตัว กล่าวคือ “พนัน” ว่าเมื่อกระทำสิ่งข้างต้นแล้วจะประสบความสำเร็จไม่มีความตาย บาดเจ็บ หรือพิการ หรือสูญเสียเงิน ฯลฯ เกิดขึ้น เมื่อมองในแง่นี้ว่า “ชีวิตคือการเลือก” (เลือกกระทำสิ่งใด หรือไม่กระทำสิ่งนั้น ๆ) แล้ว “การเลือกก็คือการพนัน” นั่นเอง

          การเลือกคู่แล้วแต่งงานก็คือการพนันลักษณะหนึ่ง กล่าวคือพนันว่าเมื่อได้แต่งไปแล้วจะเกิดสิ่งดีงามกับชีวิตขึ้น บางครั้งได้เลือกคู่ที่คิดว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่จะพบสิ่งดีงาม แต่แต่งงานได้ไม่นานคู่ชีวิตก็ตาย เช่นนี้ถือได้ว่าแพ้พนัน

          การเลือกสาขาที่เรียนในระดับอุดมศึกษา การเลือกสถาบันที่จะศึกษา การได้รับจากสถานศึกษาสมความตั้งใจ ฯลฯ ล้วนแล้วเป็นการพนันอีกเช่นกัน การลงทุนในหุ้น ในกองทุน หรือร่วมหุ้นลงทุนกับเพื่อน ทั้งหมดก็เป็นการพนันทั้งสิ้น

          การพนันคู่กับความเสี่ยง ดังนั้นจึงมีได้และสูญเสีย เมื่อชีวิตในทุกขณะจิตก็มีความเสี่ยงอยู่เป็นอันมากแล้ว มนุษย์จำนวนมากยังเล่นการพนันเสริมความเสี่ยงในชีวิตเข้าไปอีก ที่ร้ายแรงก็คือการติดการพนันงอมแงมดังที่ภาษาอังกฤษเรียกพฤติกรรมนี้ว่า compulsive gambling หรือ pathological gambling

          ในแง่มุมของศาสตร์จิตวิทยา พฤติกรรมการพนันเป็นผลมาจากสภาวะความเจ็บป่วยทางจิต (mental disease) หรือเป็นผลพวงจากพยาธิสภาพ (pathology) หรือเป็นข้อบกพร่องบางประการในบุคลิกภาพ โดยพวกเขาไม่สามารถที่จะเลิกได้เพราะขาดความสามารถในการควบคุมตัวเอง

          เอกสารให้ความรู้เรื่องการส่งเสริมชีวิตมั่นคงโดยปลอดจากอบายมุขของ สสส. (กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ) ระบุว่า Edmund Bergler นักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงพบจากการศึกษาว่าพวกที่เล่นการพนันงอมแงมนั้นมีอาการทางประสาท (neurotic) กล่าวคือเป็นผู้มีความรู้สึกผิดเกี่ยวกับเรื่องบางอย่างอยู่ตลอดเวลาจนไม่สามารถหาสิ่งใดมาทดแทนได้ พวกเขาจึงคิดว่าการพนันเท่านั้นที่สามารถช่วยชดเชยความรู้สึกนี้โดยหาความสุขอันเกิดจากความตื่นเต้น แต่มันก็เป็นภาพลวงตาซึ่งให้ความสุขในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เมื่อพ้นช่วงเวลานี้ไปแล้วก็ต้องวิ่งหามันอีกเพื่อบำบัดจิตล้มล้างความรู้สึกผิดอยู่ร่ำไป

          งานศึกษาเรื่องการพนันของไทยหลายชิ้นในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาพบว่าคนไทยส่วนใหญ่เล่นหวยใต้ดิน (กว่า 24 ล้านคน) รองลงมาคือสลากกินแบ่งรัฐบาล (22 ล้านคน) หวยออมสิน (8 ล้านคน) การพนันในบ่อน หวย ธ.ก.ส. หวยหุ้น (แทงเลขท้ายของดัชนีตลาดหลักทรัพย์) การพนันฟุตบอล กีฬาพื้นบ้าน (ชนวัว ชนไก่) ปลากัด มวย มวยตู้ จับยี่กี หวยปิงปอง ม้าแข่ง การพนันอินเตอร์เน็ต ฯลฯ

          เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เล่นการพนันประมาณ 1.5-2 ล้านคน สิ่งที่คนไทยนิยมมากที่สุดคือหวย 5 ประเภท (สลากกินแบ่ง หวยบนดิน หวยใต้ดิน หวยออมสิน ธ.ก.ส.) รองลงมาคือทายพนันบอล

          เนื่องจากงานวิจัยเหล่านี้มีอายุหลายปีแล้ว ข้อมูลจึงอาจไม่ทันสมัยสมควรแก่การนำมาอ้างอิงในรายละเอียด แต่ที่ไม่เปลี่ยนแปลงก็คือยังเล่นการพนันกันเหนียวแน่น แต่ที่ดูจะมีการเปลี่ยนแปลงมากก็คือการพนันฟุตบอล ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับโลกโดยมีทางโน้มสู่การพนันทางโทรศัพท์มือถือมากขึ้น

          การพนันที่มาแบบเนียน ๆ ก็คือการชิงรางวัลจากการบริโภคเครื่องดื่ม ซึ่งก็คือการพนันเราดี ๆ นี่เอง แจกทอง แจกรถยนต์ แจกโทรศัพท์มือถือกันเกือบทุกวัน (“คนอังกฤษดื่มชาเพื่อรสนิยม คนจีนดื่มชาเพื่อการผ่อนคลาย คนอินเดียดื่มชาเพื่อสุขภาพ คนไทยดื่มชาเพื่อฝา”) การกระทำเช่นนี้คือการสร้างบรรยากาศสนับสนุนการรักและงมงายในการพนันของสังคมไทยยิ่งขึ้น

          นิตยสารกีฬาที่แนะนำให้แต้มต่อ ชี้แนะว่าทีมฟุตบอล นักมวยใดเป็นต่อใคร ทั้งทางตรงและทางอ้อม ก็อีกลักษณะหนึ่งของการสร้างบรรยากาศที่ไม่เป็นคุณต่อเยาวชนไทยแม้แต่น้อย

          งานศึกษาของไทยพบว่าการตกปลักการพนันนำไปสู่การลักเล็กขโมยน้อย การเสียคน เพื่อหาเงินมาเล่นพนันต่อ ซึ่งเป็นบันไดขั้นแรกไปสู่ความเสื่อมยิ่งขึ้น

          งานวิจัยพบว่าคนไทยโดยทั่วไปเล่นหวยประเภทต่าง ๆ อย่างเมามันโดยเฉพาะในต่างจังหวัดและในกลุ่มที่มีการศึกษาต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลาย วันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือนเป็นวันที่ผู้คนมีความขะมักเขม้นเป็นพิเศษเพราะเป็นวันแห่งความหวัง และกลายเป็นวันแห่งความผิดหวังซ้ำซากครั้งแรกครั้งเล่าของคนจำนวนมากของประเทศในตอนเย็น เงินที่สูญเสียไปนับเป็นหมื่น ๆ ล้านบาท แต่ละงวดสามารถแปรเป็นเงินออม ลงทุนเพื่อประโยชน์ในวันข้างหน้าได้มากมาย

          การออกสลากกินแบ่งรัฐบาล (พิจารณาชื่อให้ละเอียดแล้วดูแปลก) ตั้งแต่ พ.ศ. 2482 จนถึงปัจจุบัน เป็นที่พอเข้าใจได้ว่าเป็นหนทางสนองตอบความต้องการเล่นการพนัน และความหวังของประชาชน อีกทั้งหารายได้ แต่ที่ไม่เข้าใจก็คือเหตุใดจึงยอมให้นานาผู้ขายสินค้า และสื่อสร้างบรรยากาศหล่อหลอมให้คนไทยจมปลักอยู่กับการพนัน แค่ไม่โหมล้างสมองก็เล่นการพนันกันหนักอยู่แล้ว เมื่อสินค้าปนการพนันแนบเนียนมาเต็มจอโทรทัศน์ แล้วเยาวชนของชาติและชาวประชา ชื่นชอบการพนันอยู่แล้วจะเหลืออะไร

          ท่ามกลางงานที่หน่วยงานรัฐ เช่น สสส. และ NGO’s พยายามต่อสู้อบายมุขในระดับชุมชนด้วยสารพัดโครงการ เช่น สสส. ทำที่ป้อมพระกาฬ จันทบุรี ชุมชนโชคชัยร่วมมิตร น่าน ฯลฯ อย่างพอได้ผล กระแสโหมโฆษณาการพนันผ่านเครื่องดื่มก็ถาโถมเข้ามาลบล้างอย่างน่าเสียดาย

          การเป็นนักพนันงอมแงมมีที่มาจากการบ่มเพาะให้รักฝักใฝ่การพนันตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ปีศาจตัวนี้มีเชื้ออยู่แล้วตามธรรมชาติ เมื่อได้น้ำบำรุงกำลังก็เติบใหญ่ขึ้นทำลายตนเองและผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          การพนันทำให้สูญเสียทั้งทรัพย์และเวลา สองสิ่งซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดของมนุษย์

พลังอาหารสำคัญของมนุษย์

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
14
เมษายน 2558

Photo by Anna Pelzer on Unsplash

          หลังจากความเชื่อเรื่อง “You are what you eat” เกิดขึ้นในทศวรรษ 1970 การค้นคว้าหาความจริงเกี่ยวกับประโยชน์ของอาหารประเภทต่าง ๆ ก็เป็นไปอย่างคึกคักตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา ล่าสุดมีงานวิจัยยืนยันความสำคัญของถั่วที่มีต่อสุขภาพโดยทั่วไป

          เป็นที่เชื่อกันมาว่าถั่วต่าง ๆ โดยเฉพาะถั่วลิสงเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเพราะทำให้อ้วนและท้องผูก แต่งานวิจัยจำนวนมากในช่วงเวลาที่ผ่านมาพบความจริงในทางตรงกันข้าม

          งานวิจัยขนาดใหญ่จำนวนหลายชิ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งชิ้นที่มีชื่อว่า Nurses’ Health Study ซึ่งศึกษาผู้หญิง 76,464 คน และชิ้นที่มีชื่อว่า Health Professionals Follow-Up Study ซึ่งศึกษาชาย 42,498 คน พบว่ายิ่งบริโภคถั่วมากเท่าใดก็ยิ่งทำให้โอกาสในการตายน้อยลงโดยเฉพาะด้วยโรคมะเร็ง และโรคหัวใจ

          งานศึกษาในประเทศสเปนพบว่าอัตราการตายลดลงในกลุ่มผู้บริโภคอาหารที่เรียกว่า Mediterranean Diet (อาหารที่อุดมด้วยน้ำมันมะกอก ผักผลไม้ และธัญพืช) และเสริมด้วยถั่ว

          อย่างไรก็ดีมีผู้แย้งว่างานศึกษาเหล่านี้เก็บข้อมูลเกือบทั้งหมดจากกลุ่มผู้มีฐานะดี มีการศึกษาดี และถึงแม้ผู้ศึกษาพยายามควบคุมตัวแปรอื่น ๆ ที่อาจทำให้ผลการศึกษาไม่เที่ยงตรง แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่ลักษณะของตัวผู้ถูกเก็บข้อมูลเองที่ทำให้อัตราการตายต่ำไม่ใช่เพราะการบริโภคถั่ว

          ในการศึกษากลุ่มผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำลงมาและหลากหลายชาติพันธุ์ (ไม่ว่าจะเป็นผิวดำ ผิวขาว หรือเอเชีย) มีงานวิจัยชั้นใหญ่สำคัญเพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Internal Medicine เดือนมีนาคม 2015 ซี่งดำเนินการโดยนักวิจัยที่ Vanderbilt University School of Medicine ใช้ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างหญิงชายกว่า 200,000 คนในรัฐทางใต้ของสหรัฐอเมริกาและเมืองเซี่ยงไฮ้ และพบว่ายิ่งบริโภคถั่วมากเท่าใด อัตราการตายจากสาเหตุทั้งหมดโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) ก็ยิ่งลดลง

          งานวิจัยเหล่านี้ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในความสำคัญของถั่วยิ่งขึ้น จากความสงสัยกลายเป็นความเชื่อ และจากความเชื่อปัจจุบันได้กลายเป็นความจริงด้วยหลักฐานที่พบจากงานศึกษาวิจัยขนาดใหญ่ที่น่าเชื่อถือ

          ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่าหากบริโภคถั่วในปริมาณที่เหมาะสมจะไม่ทำให้อ้วนและอาจช่วยลดน้ำหนักและรักษาน้ำหนักด้วย เป็นความจริงที่ถั่วอุดมด้วยไขมันหากเปรียบเทียบกับผัก และแป้ง ไขมันของถั่วให้แคลอรี่ต่อกรัม (9 กรัม) มากกว่าโปรตีน น้ำตาล (4 กรัม) หรือแม้แต่แอลกอฮอล์ (7 กรัม) ด้วยซ้ำ

          Richard D. Mattes แห่ง Purdue University และผู้เขียนรายงานร่วมได้ศึกษางานวิจัยของกลุ่มประชากรขนาดใหญ่หลายชิ้น และพบในหลายชิ้นว่าผู้ที่บริโภคถั่วมีน้ำหนักเฉลี่ยต่ำกว่าผู้พยายามหลีกเลี่ยงถั่ว

          งานวิจัยพบว่าการบริโภคถั่วเพิ่มอย่างมากควบคู่กับอาหารประจำมีผลน้อยมากต่อน้ำหนัก กลุ่มตัวอย่างในงานศึกษาชิ้นนี้ที่รวมเอาถั่วไว้ในโปรแกรมลดน้ำหนักสามารถลดน้ำหนักได้มากกว่าผู้ที่มิได้บริโภคถั่วด้วยซ้ำ
คำอธิบายหนึ่งก็คือถั่วมีไขมันและโปรตีนสูงจนเมื่อบริโภคแล้วทำให้ไม่รู้สึกต้องการบริโภคอาหารหรือน้ำตาล หรือคาร์โบไฮเดรต เพิ่มอีก

          หลักฐานสนับสนุนการบริโภคถั่วปรากฏอีกในงานวิจัยในปี 2013 ของ Dr. Mattes ซึ่งตีพิมพ์ใน The British Journal of Nutrition โดยสรุปว่าการบริโภคเนยถั่วลิสง (peanut butter) หรือ ถั่วลิสงเป็นอาหารเช้าช่วยให้มีความสามารถในการควบคุมความหิวโดยรักษาระดับน้ำตาลและลดความปรารถนาที่จะกินอาหารได้นานถึง 8-12 ชั่วโมง

          ประโยชน์สำหรับการป้องกันโรคหัวใจของถั่วมาจากความรุ่มรวยของไขมันประเภท Monounsaturated และ Polyunsaturated ซึ่งนำไปสู่คำแนะนำของ FDA (Food and Drug Administration ของสหรัฐอเมริกา) ว่า …….“หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ทำให้เกิดข้อเสนอแนะซึ่งยังไม่มีการพิสูจน์ (อย่างสิ้นสงสัย____ผู้เขียน) ว่าการบริโภคถั่วส่วนใหญ่วันละ 1.5 ออนซ์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการบริโภคอาหารเพื่อให้มีคอเลสโตรอลและไขมันประเภท saturated ต่ำอาจลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจ…….”

          มีถั่วอยู่สองชนิดที่ไม่อาจเข้าข่ายนี้ก็คือ macadamia และ cashews nuts ซึ่งมีไขมันประเภท saturated มากเกินไปที่จะสอดคล้องกับข้อแนะนำข้างต้น

          Jane Brodo ซึ่งรายงานข้อมูลเหล่านี้ไว้ใน International New York Times เมื่อเร็ว ๆ นี้ระบุว่ายิ่งไปกว่านี้ถั่วอุดมด้วยไฟเบอร์ซึ่งช่วยการขับถ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถั่ว almonds, Brazll nuts, ถั่วลิสง และ walnut อาจช่วยไม่ให้ท้องผูกซึ่งตรงข้ามกับความเชื่อแต่ดั้งเดิมว่าไม่ช่วยระบบการย่อยอาหาร

          ประโยชน์อื่น ๆ ของถั่วได้แก่การมีวิตามินต่าง ๆ การเป็น antioxidants และมี phytochemicals (ส่วนประกอบเคมีที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจากพืช เช่น บางตัวให้สีของพืช) อื่น ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้รวมกันชี้ให้เห็นว่าถั่วเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญสำหรับมนุษย์

          กินถั่วแล้วมักจะได้ “ลม” ประเภท hot air แถมออกมาด้วย เมื่อ You are what you eat เป็นจริง ดังนั้นเมื่อบริโภคถั่วก็ต้องให้แน่ใจว่าสิ่งที่ได้มานั้นมิได้มีแต่เพียง hot air อย่างเดียวเท่านั้น

ถ้าไม่มี “ลี” ก็อาจไม่มี “จีนยุคใหม่”

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
7
เมษายน 2558

ที่มา https://lh3.googleusercontent.com/proxy/rGMTPOq4CnBIfjTNVRjsiCFnF1z9tCZVjNAYggbMp7pc9FCaqrrKpDpULa6RI5WcJHqLqiyp1s0Pkj0zOX8PayPN6vTINNdtZ2ns0nCH8YpVx_-CjfvOw__tOdsS

           ชีวิตของลีกวนยูให้บทเรียนแก่โลกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการให้อภัยและหาประโยชน์ร่วมกันจากศัตรูเก่า การสร้างประเทศในแนวใหม่ วิธีการควบคุมการเมืองให้อยู่ในเกมส์ที่ตนเองต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นประเทศตัวอย่างให้ ‘จีนยุคใหม่’ เลียนแบบ

           ตอนลีกวนยูเกิดมีชื่อว่า Harry Lee Kuan Yew ชื่อแรกถูกตัดทิ้งไปเมื่อเรียนจบปริญญา เขาเป็นคนพิเศษทั้งด้านสติปัญญา การสื่อสาร วิสัยทัศน์ ความสามารถด้านการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถด้านภาษาอังกฤษจนต่อกลอนกับสื่อต่างประเทศได้อย่างชนิดไม่กระพริบตา (เขารู้ภาษาอังกฤษแตกฉานก่อนที่จะอ่านออกเขียนได้ภาษาจีน มีความรู้ภาษาญี่ปุ่นดีในระดับใช้งานได้)

           เมื่อต้องหาทางรอดให้สิงคโปร์ในปี 1965 เมื่อถูก ‘ไล่’ ออกมาจากสหพันธรัฐมาลายา เขาก็ทำได้สำเร็จด้วยการทำให้สิงคโปร์เป็นเมืองท่าสำคัญ เกิดธุรกิจขนส่งทางเรือ ค้าขายระหว่างประเทศ ฯลฯ รวมทั้งใช้คนสิงคโปร์ที่มีอยู่ประมาณ 2 ล้านคนให้เป็นประโยชน์

           เขาให้อภัยอังกฤษ เจ้าอาณานิคมที่ยึดครองสิงคโปร์ยาวนาน ยกฐานะ Sir Stamford Raffles ให้เป็นรัฐบุรุษมีรูปปั้นใหญ่กลางเมือง ทั้งที่โดยแท้จริงแล้วเป็นนักปกครองเมืองขึ้นเรืองนาม แทนที่จะขมขื่น ฝังใจนึกแก้แค้นอังกฤษ เขากลับเชิดชูอดีตของการเป็นอาณานิคมจนคนตะวันตกเห็นว่าน่าวางใจจนมาลงทุนในสิงคโปร์มากมาย

           สำหรับญี่ปุ่น เขาก็ยกโทษให้ทั้ง ๆ ที่ตัวเองเกือบโดนยิงทิ้งระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองด้วยซ้ำ คนสิงคโปร์ยังจำได้ถึงการถูกข่มเหงรังแก ถูกก่นด่าและถูกถ่มน้ำลายรด รวมทั้งสังหารหมู่ไปนับพันคน แต่เมื่อเกิดประเทศสิงคโปร์ก็ค้าขายกับญี่ปุ่นราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น เขาไม่เป็นคนเจ้าคิดเจ้าแค้น เลือกที่จะลืมอดีตและมองไปข้างหน้า ผลที่เกิดขึ้นก็คือนักลงทุนญี่ปุ่นเชื่อถือวางใจมาลงทุนกันมหาศาล

           วิสัยทัศน์ของลีกวนยูกว้างไกล ระหว่างสงครามคอมมูนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคทศวรรษ 60 และ 70 เขาห้ามกิจกรรมของพวกคอมมูนิสต์เด็ดขาด ไม่สุงสิงยุ่งเกี่ยวกับ จีนแผ่นดินใหญ่ แต่ก็มิได้เป็นศัตรูอย่างเปิดเผยถึงแม้เขาจะเลือกอยู่ข้างสหรัฐอเมริกาก็ตาม แต่เมื่อสงครามอุดมการณ์และการก่อการร้ายใกล้สงบ ผู้นำจีนคือเติ้ง เสี่ยวผิงก็เดินทางมาพบเขาที่สิงคโปร์ในเดือนพฤศจิกายน 1978 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากได้อำนาจมาใหม่ ๆ และกำลังวางแผนปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่โดยใช้กลไกทุนนิยมแต่ควบคุมการเมืองเหมือนที่สิงคโปร์ทำได้สำเร็จอย่างงดงามในช่วงเวลา 1965-1978

           ในวงวิชาการเป็นที่รู้กันว่าลีกวนยูนั้นมีที่เป็นพิเศษอยู่ในหัวใจของผู้นำจีน เมื่อเขาเสียชีวิต ผู้นำจีนและสื่อกล่าวแสดงความชื่นชมและเสียใจราวกับสูญเสียผู้นำคนสำคัญของประเทศไป

           สิ่งที่สิงคโปร์แสดงให้เห็นตลอดเวลาตั้งแต่ตั้งประเทศจนถึง 1978 ก็คือการควบคุมการเมืองไว้ในอุ้งมือโดยมีพรรคเดียว (พรรคฝ่ายค้านก็มีเหมือนกันแต่มีประมาณ 1-6 คน) แต่ในเรื่องเศรษฐกิจนั้นเปิดเสรีเต็มที่ตามแนวทุนนิยม เปิดกว้างทั้งการค้าและการลงทุนจากทั่วโลกอย่างเสรี จนประเทศร่ำรวย ประชาชนมีความมั่งคั่ง ซึ่งเรียกความตื่นตะลึงจากชาวโลกและความสนใจอย่างยิ่งจากกลุ่มผู้นำจีนยุคใหม่ ซึ่งมีเติ้ง เสี่ยวผิง เป็นแกนนำสำคัญ

           ระบบที่การเมืองและเสรีภาพบางอย่างถูกปิดกั้นแต่ระบบเศรษฐกิจเปิดเสรีจนประเทศประสบความสำเร็จด้านเศรษฐกิจนั้นเป็นที่สนใจของผู้นำจีนเพราะสอดคล้องกับความต้องการของพรรคคอมมูนิสต์จีน ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าสิงคโปร์โมเดลเป็นต้นแบบของรูปแบบ ‘จีนยุคใหม่’

           เติ้ง เสี่ยวผิงต้องการความมั่นใจในโมเดลนี้จึงเดินทางมาพบลีกวนยูก่อนที่จะเริ่มการปฏิรูปยุคใหม่และติดตามเรียนรู้ความสำเร็จของสิงคโปร์โดยตลอด มีการประมาณการโดยนักวิชาการของ City University of Hong Kong ว่าระหว่างปี 1990-2011 พนักงานรัฐของจีนประมาณ 22,000 คน เดินทางมาดูงานที่สิงคโปร์

           สิ่งที่จีนต้องการก็คือความเชื่อมั่นว่าประเทศหนึ่งจะไม่ตกอยู่ใน ‘Modernization Gap’ เสมอไป กล่าวคือเมื่อเศรษฐกิจก้าวหน้าไปแล้วประเทศจะไม่สูญเสียความสามารถในการควบคุมจนนำไปสู่ความพินาศของตนเองในที่สุด สิงคโปร์ได้ทำให้เห็นว่าประเทศไม่จำเป็นต้องอยู่ในกับดักนี้เหมือนที่ไต้หวัน (พรรคก๊กมินตั๋งหลุดจากอำนาจ) และเกาหลีใต้ (เผด็จการทหารหลุดจากอำนาจ) ประสบ

           ถึงแม้เงื่อนไขของสองประเทศ (ประชากร 5.4 ล้านคน และ 1,400 ล้านคน) จะไม่เหมือนกัน แต่ลักษณะของการดำเนินนโยบายที่ไม่ยอมให้มีเสรีภาพของสื่อและจำกัดเสรีภาพส่วนบุคคล บางประการแต่ยอมปล่อยเสรีด้านเศรษฐกิจนั้นเหมือนกัน จนอาจกล่าวได้ว่าลีกวนยูสร้างสิงคโปร์โดยทำให้เป็นต้นแบบของประเทศบรรพบุรุษ (ลีกวนยูเป็นจีนแคะ หรือ Hakka ที่อพยพมาจากจีนชั่วคนที่สาม)

           ถึงแม้สิงคโปร์ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ ในปัจจุบันประชาชนมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงกว่าไทย 10 เท่าตัว ประชาชนมีมาตรฐานครองชีพสูงในระดับเดียวกับญี่ปุ่นและยุโรปตะวันตก แต่คนสิงคโปร์จำนวนไม่น้อยในปัจจุบันไม่มีความสุขกับการปกครองประเทศในแนวนี้ของพรรค PAP ของลีกวนยูและนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน พวกเขาไม่พอใจเรื่องสิทธิเสรีภาพที่ถูกจำกัด ไม่ชอบวิธีการกำจัดพรรคฝ่ายค้านโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ไม่สบอารมณ์กับการแข่งขันที่สูงยิ่งในการทำงานและดำรงชีวิตแนวทุนนิยมจ๋า ฯลฯ จนอพยพไปอยู่นอกประเทศนับพัน ๆ คนต่อปี

           รัฐบาลสิงคโปร์ใช้เทคโนแครตซึ่งพรรค PAP เลือกสรรมาและส่งไปเล่าเรียนต่างประเทศกลับมาทำงานสำคัญ ๆ ให้ภาครัฐ การส่งเสริมคนฉลาดคนเก่งให้เป็นกลุ่มชนชั้นนำข้างบน (elites) เพื่อตัดสินอนาคตของประเทศทำให้สิงคโปร์ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว แต่ก็มีราคาสูงขึ้นตามวันเวลาเพราะประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในชนชั้นนี้ไม่พอใจมากขึ้นเรื่อย ๆ

           ลักษณะของโครงสร้างสังคมที่เอื้อคนฉลาดคนเก่ง เทคโนแครต เศรษฐี นักธุรกิจใหญ่ และการต้อนรับการอพยพของเศรษฐีจีนโดยให้สิทธิพิเศษเหนือคนสิงคโปร์ทั่วไป ทำให้ประชาชนศรัทธาพรรค PAP น้อยลงไปกว่าเมื่อ 45 ปีแรก (ปีนี้สิงคโปร์ฉลองประเทศครบ 50 ปี) พอควร

           จากหมู่บ้านชาวประมง สิงคโปร์ก้าวขึ้นเป็นประเทศชั้นนำของโลกภายในชั่วหนึ่งคน โดยใช้หลักวิชาเศรษฐศาสตร์อย่างเต็มที่และได้ผล แต่ก็เหมือนอย่างที่ลีกวนยูกล่าวบ่อย ๆ ว่าไม่มีอะไรฟรี ทุกคนต้องทำงานหนักเพื่อปากท้องของตนเองและต้องยอมสละบางอย่าง กล่าวคือเมื่อสิงคโปร์อยาก “ได้” ก็ต้องมี ‘เสีย’ ไปแลก หากอยากร่ำรวย คนสิงคโปร์ก็ต้องยอมสละบางอย่าง เช่น สิทธิเสรีภาพ การต้องขยันขันแข็ง ต้องปรับตัวเองตลอดเวลา ความเป็นทุนนิยม การกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม ฯลฯ            ลีกวนยูทิ้งมรดกสำคัญไว้ให้โลกได้ขบคิดว่าความมั่งคั่งของประเทศไม่จำเป็นต้องอาศัยค่านิยมประชาธิปไตยเสมอไปตราบใดที่ระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมทำงาน เขาผิดถูกแค่ไหนเวลาเท่านั้นที่จะเป็นตัวตัดสิน

ทำไมพลเมืองมีหน้าที่

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
31
มีนาคม 2558 

ที่มา https://www.matichon.co.th/columnists/news_578414

          ปัจจุบันมีการพูดกันเรื่องภาษีอากรมาก ความจริงในเรื่องนี้ก็คือไม่มีด้านการเสียภาษีแต่เพียงอย่างเดียว หากมีการได้ประโยชน์จากภาษีอากรด้วย อุปมาได้กับเหรียญสองด้าน ถ้าไม่มีด้านหนึ่งก็ไม่มีอีกด้านหนึ่ง ถ้าต้องการประโยชน์จากภาครัฐก็ต้องมีภาษีอากรอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ซึ่งตัวละครสำคัญในเรื่องนี้ก็คือพลเมือง

          การเสียภาษีนั้นเป็นหน้าที่สำคัญยิ่งอันหนึ่งของพลเมืองทุกคน ถ้าทุกคนต้องการแต่จะได้โดยไม่ยอมเสียแล้ว สังคมก็อยู่ไม่ได้ มีหนังสือทรงคุณค่ายิ่งเล่มหนึ่งมีชื่อว่า “พลเมืองดีตอนต้น” สอนให้คนไทยเป็นพลเมืองดีตั้งแต่เมื่อเกือบ 100 ปีก่อน ผู้แต่งคือเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล พ.ศ. 2414-2459) อดีตเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการผู้สร้างคุณูปการแก่บ้านเมือง

          หนังสือเล่มนี้สอนเรื่องความเป็นพลเมืองดีผ่านเรื่องเล่าโดยมีตัวละครชื่อนายเมือง ซึ่งมีชื่อเดิมว่านายเถื่อน กำพร้าพ่อแม่มาจากต่างจังหวัดและได้รับการอุปถัมภ์เลี้ยงดูโดยลุงชื่อนายมั่น ผู้เป็นเศรษฐีใจดี นายเมืองได้รับการสอนเรื่อง “หนี้แผ่นดิน” ดังคำสอนต่อไปนี้

          “…..คุณลุงขอรับ ได้ยินตาอิ่มแกว่าเมื่อกลางวันนี้ว่าแกจะไปเสียเงินค่าราชการ ผมถามแกว่าต้องไปเสียทำไม แกก็ว่าไม่รู้ ถึงปีใหม่ก็ต้องไปเสียทุกปี ผมจึงอยากทราบว่าเงินช่วยราชการนั้นคืออะไรน่ะขอรับ” นายมั่นจึงว่า “เงินช่วยราชการก็คือเงินเสียให้แผ่นดินน่ะซิ” นายเมืองถามว่า “ทำไมตาอิ่มแกเป็นหนี้อะไรอยู่หรือ จึงต้องเอาเงินไปเสียทุกปี”

          “ตาอิ่มแกเป็นหนี้บ้านเมืองอยู่จริงดังเจ้าสงสัย แต่แกไม่ได้เป็นหนี้เพราะไปหยิบยืม เงินทองอะไรดอก แกเป็นหนี้เพราะแกเกิดมาในบ้านเมือง บ้านเมืองได้มีบุญคุณแก่แกเหมือนดัง พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกก็นับว่าลูกเป็นหนี้พ่อแม่อยู่ ลูกมีหน้าที่จะต้องทดแทนคุณพ่อแม่อย่างไร คนเราที่เกิดมาในแผ่นดินทุกคน ไม่ใช่แต่ตาอิ่ม ถึงตัวของเจ้าและลุง ทั้งคนอื่น ก็นับว่าเป็นหนี้แก่แผ่นดินอยู่เหมือนกัน จึงจำต้องทดแทนคุณแก่แผ่นดินอย่างนั้น เงินที่ตาอิ่มแกไปเสียนั้นท่านเรียกว่าเงินรัชชูปการ”

          ข้อที่ว่าแผ่นดินมีบุญคุณแก่เรานั้นคืออะไร แผ่นดินมีบุญคุณแก่เราเป็นข้อใหญ่อยู่ 4 ประการ คือ

          (1) แผ่นดินเป็นผู้ป้องกันชีวิตเรา คือเราเกิดมาในแผ่นดินแล้วชีวิตของเรามีความ ชอบธรรมที่จะอยู่ไปในแผ่นดินจนถึงที่สุดอายุได้ เหตุฉะนั้นถ้าผู้ใดผู้หนึ่งจะมาทำเราให้ตาย แผ่นดินย่อมเป็นธุระเอาตัวผู้นั้นไปลงโทษให้ถึงตายเหมือนกัน แผ่นดินช่วยปกครองชีวิตของเราอย่างนี้นับว่าเป็นบุญคุณข้อหนึ่ง

          (2) แผ่นดินเป็นผู้ให้ความสุขสำราญแก่เรา คือให้เรามีอำนาจที่จะทำอะไรได้ตามใจที่ไม่ทำให้เสียประโยชน์ผู้อื่น เป็นต้นว่าเรามีอำนาจที่จะเดินได้บนถนนหลวงตามสบาย ถ้าใครมา ข่มเหงเราตำรวจพระนครบาลก็จับผู้นั้นไปส่งศาลลงโทษดังนี้ แผ่นดินช่วยปกครองให้เรามีอำนาจในความสุขสำราญแห่งตัวเราอย่างนี้ก็นับว่าเป็นบุญคุณข้อหนึ่ง

          (3) แผ่นดินเป็นผู้ป้องกันทรัพย์สมบัติของเรา คือว่าคนทุก ๆ คนเมื่อมีครอบครัวและบ้านเรือนทรัพย์สมบัติอยู่เท่าไร ผู้นั้นก็ย่อมมีกรรมสิทธิ์เหนือครอบครัวทรัพย์สมบัติของตนนั้น ๆ ผู้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าของจะมาเบียดเบียนแย่งชิงไม่ได้ ถ้าผู้ใดข่มเหงแย่งชิงเบียดเบียนทรัพย์สมบัติของผู้อื่น มีลักขโมย เป็นต้น ผู้นั้นต้องได้รับโทษตามกฎหมาย นี่ก็เป็นบุญคุณอีกข้อหนึ่ง

          (4) แผ่นดินเป็นผู้ทำให้คนทุก ๆ คนได้รับความยุติธรรมเสมอกัน คือว่าบรรดาคนที่อาศัยแผ่นดินอยู่ บางคนก็จน บางคนก็มี บางคนก็มีกำลังร่างกายอ่อนแอ บางคนก็แข็งแรง บางคนก็มีบรรดาศักดิ์ต่ำ บางคนก็มีบรรดาศักดิ์สูง เป็นน้อยเป็นใหญ่กว่ากันด้วยกำลังกาย กำลังทรัพย์ และอำนาจ คนทั้งปวงนี้ถ้าทำผิดต่อกันแล้ว หากจะแพ้ชนะกันด้วยความเป็นใหญ่และเป็นน้อย ฉะนั้นก็เชื่อว่าคนทุกคนไม่ได้รับความยุติธรรมเสมอหน้า เพราะใครเป็นใหญ่ก็ย่อมจะชนะผู้น้อยอยู่เอง ผู้ใหญ่ก็จะข่มเหงผู้น้อยตามสบาย ผู้น้อยก็จะเดือดร้อนไปหมด เหตุฉะนั้นแผ่นดินจึงได้ตั้งหลักความยุติธรรมไว้ให้คนอาศัย ถ้าคนหลายฝ่ายเกิดโต้เถียงกัน หรือเบียดเบียน ข่มเหงกันด้วยเหตุใด ๆ ก็ดี ศาลย่อมพิจารณาให้ผู้ประพฤติถูกประพฤติชอบเป็นผู้ชนะ ไม่เลือกว่าผู้น้อยหรือผู้ใหญ่ และให้ผู้แพ้คดีได้รับโทษหรือต้องปรับใหม่ให้แก่ผู้ชนะ ดังนี้เป็นบุญคุณอีกข้อหนึ่ง

          “ด้วยเหตุที่ตัวเราซึ่งเป็นพลเมืองจะอยู่เป็นสุขอยู่ได้และมีอำนาจโดยชอบในตัวของเราเอง เพราะอำนาจแผ่นดินช่วยป้องกันฉะนี้ ฝ่ายเราทั้งหลายจึงนับว่าเป็นหนี้อยู่ และต้องมีหน้าที่ที่จะทดแทนบุญคุณแก่แผ่นดิน หน้าที่ของเราที่จะทดแทนบุญคุณแก่แผ่นดินนั้นก็มีข้อใหญ่อยู่ 4 ประการคือ

          (1) เรามีหน้าที่จะประพฤติความดีให้แก่บ้านเมือง นับตั้งแต่ต้องบำรุงเลี้ยงบุตรหญิงชายของตนเมื่อยังเป็นทารกเลี้ยงตัวเองไม่ได้ ตลอดจนต้องให้การศึกษาเล่าเรียน และบำรุงเลี้ยงบิดามารดาของตนเมื่อชราหรือพิการที่จะเลี้ยงตนเองไม่ได้ ฝ่ายตัวเราก็ต้องประพฤติดี ทำมาหากินโดยชอบธรรม ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ประทุษร้ายต่อบ้านเมืองและผู้ปกครองบ้านเมือง

          (2) เรามีหน้าที่จะต้องช่วยกำลังบ้านเมืองคือเสียภาษีอากร นับตั้งแต่เสียเงินรัชชูปการเป็นต้นไป เพื่อให้รัฐบาลได้มีกำลังบำรุงบ้านเมืองให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขทั่วกัน

          (3) เรามีหน้าที่ที่จะช่วยรักษาบ้านเมืองให้สงบราบคาบ คือรับหน้าที่เป็นผู้ใหญ่บ้านหรือสมัครอาสาเป็นตำรวจภูธร ตำรวจพระนครบาล ทำการรักษาท้องที่เพื่อตรวจตราจับกุม ผู้ประพฤติผิดกฎหมายและผู้ร้าย และต้องเข้าฝึกหัดการทหารไว้สำหรับต่อสู้ข้าศึกศัตรูภายนอกที่จะมาทำอันตรายย่ำยีบ้านเมืองของเรา ถ้าท่านต้องการ และเราไม่ช่วย เรามีความผิด

          (4) เรามีหน้าที่ที่จะช่วยรักษาความยุติธรรม และการปกครองบ้านเมือง นับตั้งแต่ต้องเป็นพยานในศาลให้การโดยตรงโดยจริง และนับถือเชื่อฟังผู้มีหน้าที่ทำการของรัฐบาล…..”           ผู้ใหญ่โบร่ำโบราณสอนให้เราเห็นเหตุและผลในการต้องมีหน้าที่ของพลเมืองดังนี้ คนไทยต้องทำหน้าที่เช่นนี้ของตนเพราะไม่อาจให้คนชาติอื่นมาทำแทนได้ เมื่อต้องการเห็นการปฏิรูปสังคมของเรา สิ่งแรกที่ต้องทำก่อนการปฏิรูปทั้งหลายก็คือทำหน้าที่พลเมืองของเราให้ดีที่สุด

80 ปี ดร.อรัญ ธรรมโน

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
24
มีนาคม 2558 

ที่มา https://www.the101.world/wp-content/uploads/2019/04/3.jpg

          “ความทรงจำดี ๆ 80 ปีที่ผ่านมา” เป็นหนังสือเกี่ยวกับชีวิตของผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ท่านหนึ่งผู้มีวัตรปฏิบัติงดงามเป็นที่เคารพนับถือของลูกศิษย์ เพื่อนร่วมงาน และลูกน้องจำนวนมาก ชีวิตของท่านนั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นเรื่องเกือบเหลือเชื่อ เพราะ “มาจากไหนก็ไม่รู้” (คำของท่านเอง) แต่สามารถเติบโตเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ไม่เคยมีชื่อเสียงมัวหมอง เคยเป็นอธิบดีมาหลายกรม จนเกษียณอายุด้วยตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง ท่านคือ ดร.อรัญ ธรรมโน

          ในคำนำท่านเขียนว่า “…..ผมเกิดที่บ้านพักสถานีตำรวจภูธรอำเภอเบตง จังหวัดยะลา เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2477 พ่อเป็นพลตำรวจเกณฑ์ แม่เป็นแม่บ้าน เมื่อพ่อพ้นจากราชการตำรวจมา เราก็ได้ย้ายมาอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา พ่อเป็นคนขับรถโดยสารประจำทาง วิ่งระหว่างสงขลา-หาดใหญ่ แม่รับเสื้อโหลมาเย็บที่บ้านเป็นรายได้เสริม เมื่อพ่อถูกเครื่องบิน ฝ่ายพันธมิตรยิงเสียชีวิตในวันท้าย ๆ ของสงครามโลก ครั้งที่ 2 (กรกฎาคม 2488) ขณะที่พ่ออายุเพียง 31 ปี แม่ไม่สามารถเลี้ยงดูพวกเราทั้ง 5 คนได้ (ผู้ชาย 3 คน ผู้หญิง 2 คน ผมเป็นคนโต) จึงต้องแยกย้ายกระจัดกระจายกันไป แม่ต้องเลี้ยงดูลูกผู้หญิง 2 คน ผมโชคดีที่หลังจากต้องอาศัยกับผู้ใหญ่ที่รู้จักระยะสั้น ๆ เจ้าอาวาสวัดโรงวาส อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ก็รับอุปการะไว้ ผมได้อาศัยวัดอยู่จนกระทั่งสมัครสอบได้ชั้นเตรียมอุดมศึกษา แผนกอักษรศาสตร์ปีที่ 2 เมื่อปี 2495

          …..ด้วยฉากเริ่มต้นเช่นนี้ จึงต้องอาศัย Miracle ถ้าจะมาถึงวันนี้ได้ และ Miracle เล็ก ๆ ก็เกิดขึ้นกับผมเสมอมา แทบทุกครั้งที่มีความเดือดร้อนจำเป็นเกิดขึ้นก็ต้องมองไปบนท้องฟ้า สวรรค์มีตาทิพย์อยู่เสมอ เข้าใจทันทีว่าต้องลงมาช่วยแล้ว…..”

          ดร.อรัญ เล่าถึงชีวิตเด็กวัด 6 ปีกว่าว่า “…..(เจ้าอาวาส) ท่านอธิการปลอด ก็ไม่ได้ลังเลที่จะรับผมไว้ แบกภาระที่ท่านจะต้องบิณฑบาตมาเลี้ยงเด็กอนาถาเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน ตั้งแต่วันนั้นมาจนถึงวันที่ท่านสิ้นบุญ ท่านก็ได้ทำหน้าที่เลี้ยงดูอย่างดีเลิศเท่าที่ท่านจะทำได้ เป็นทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู ผู้ดูแลความประพฤติ เป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่เราต้องการ ต้องยอมรับว่าถ้าไม่มีท่านก็ไม่น่าจะมีผมในฐานะนี้วันนี้…..”

          “…..ผมมักจะแอบไปนั่งที่ศาลาวัด คิดถึงพ่อที่ตายไป คิดถึงแม่ที่อยู่ห่างไกล คิดถึงตัวเอง บางครั้งก็น้ำตาซึม ๆ ท่านอธิการปลอดคงสังเกตเห็นและเตือนว่า “ต่อไปมึงจะเป็นใหญ่เป็นโต เป็นเจ้าคนนายคน ต้องไม่อ่อนแอ อย่าร้องไห้ขี้แย” ทำให้ผมได้มีมานะ ได้เข้าใจจุดหมายปลายทางในชีวิต…..”

          หลังจากจบชั้นประถมจากโรงเรียนกลับเพชรศึกษาที่สงขลาก็เรียนต่อที่โรงเรียน มหาวชิราวุธอันมีชื่อเสียง ขณะเรียนเตรียมอุดมศึกษาแผนกอักษรศาสตร์ปีที่ 1 สมัครสอบปีที่ 2 ไปพร้อมกันก็สอบได้ที่ 38 ของประเทศไทย และได้คะแนนยอดเยี่ยม 2 หมวดคือคณิตศาสตร์และภาษาฝรั่งเศส

          ท่านกล่าวถึงครู 3 ท่านที่มีบทบาทต่อความสำเร็จ “…..ความรู้พื้นฐานไวยากรณ์ภาษาอังกฤษจากคุณครูร่วง ลัมภากร คะแนนยอดเยี่ยมทางคณิตศาสตร์ได้มาจากคุณครูเธียร เจริญวัฒนา คะแนนยอดเยี่ยมทางภาษาฝรั่งเศสมาจากคุณหญิงสุชาดา ถิระวัฒน์

          …..ถ้าจะเปรียบการสมัครสอบเตรียมอุดมศึกษาครั้งนั้นเหมือนการแข่งขันกีฬาระดับชาติ ผมขอยกเครดิตในความสำเร็จส่วนใหญ่ให้กับยอดเทรนเนอร์คนสำคัญของผม คือ อาจารย์ คุณหญิงสุชาดา ถิระวัฒน์ อาจารย์ที่สวยที่สุดที่ผมเคยมี อาจารย์ได้ทุ่มเททุกอย่าง ให้ความรู้ทางวิชาการ ให้ความรู้เกี่ยวกับอาจารย์ผู้ออกข้อสอบ ให้เคล็ดลับในการสอบ และที่สำคัญที่สุดคือกำลังใจและความเมตตาที่มีอย่างเต็มเปี่ยม…..”

          ดร.อรัญ เรียนต่อระดับอุดมศึกษาที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียนจบใน พ.ศ. 2497 สอบชิงทุนรัฐบาลไทยด้วยคะแนนยอดเยี่ยมไปเรียนต่อปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ที่ University of Michigan และจบปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์ จาก University of Oregon

          อนาคตรุ่งโรจน์เมื่อกลับมารับราชการเป็นผู้อำนวยการกองการสามิต กรมสรรพสามิต เมื่ออายุ 33 ปีเศษ แต่กว่าจะได้เป็นอธิบดีกรมสรรพสามิตก็อีก 14 ปีกว่า ต้องเป็นผู้อำนวยการอยู่ 8 ปี รองอธิบดีอีก 6 ปี เคยเป็นอธิบดีกรมธนารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจการคลัง อธิบดีกรมศุลกากร ฯลฯ ก่อนเป็นอธิบดีก็ถูกคนอื่น ๆ ข้ามไปยาวนาน แต่ก็อดทนทำงาน และในที่สุดตำแหน่งสุดท้ายก็คือปลัดกระทรวงการคลัง

          สำหรับชีวิตส่วนตัวท่านเล่าถึง “อาจารย์ป๋วย เทพของผม” ซึ่งเป็นทั้งอาจารย์และผู้บังคับบัญชาที่ท่านเคารพรักสุดหัวใจท่านได้ไปเรียนขอความเมตตารับเป็นเจ้าภาพแต่งงาน ซึ่งก็บังเอิญที่วันแต่งงานตรงกับวันวางศิลาฤกษ์ธนาคารแห่งประเทศไทย สาขาหาดใหญ่ ท่านก็ตัดสินใจ มอบให้คุณพิสุทธิ์ นิมมานเหมินท์ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ไปแทน เพื่อไปเป็นประธานงานแต่งงาน

          “…..เช้าวันที่ 17 พฤษภาคม 2506 เวลาประมาณ 9.00 น. ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ขับรถออสตินคันเล็ก ๆ มาจอดที่หน้าบ้านชั้นเดียวเล็ก ๆ เลขที่ 248 ซอยลาดพร้าว 12 ถนนลาดพร้าว เพื่อมาเป็นประธานในพิธีหมั้นของ ดร.อรัญ ธรรมโน และนางสาวเรวดี ประดิษฐ์ทัศนีย์ การหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ตอนเช้า เราได้เชิญแขกภายนอกคนเดียวคือ ท่านประธานในพิธี นับเป็นพิธีที่เล็กที่สุดแต่มีประธานที่ใหญ่ที่สุด…..”

          ดร.อรัญในสมัยรับราชการตอนต้น ได้เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาการคลังที่เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์เป็นเวลาหลายปี มีลูกศิษย์เป็นใหญ่เป็นโตในปัจจุบันจำนวนมาก ท่านเป็นอาจารย์ที่พูดจาสุภาพ อ่อนโยน เป็นสุภาพบุรุษผู้อุดมด้วยคุณธรรม มีความรู้ดีมากและสอนหนังสือเก่ง หนังสือของท่าน “ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการคลัง” ใช้เป็นตำราเศรษฐศาสตร์การคลังกันมายาวนานกว่า 40 ปี และยังหาซื้อได้อยู่ในปัจจุบัน

          ในวัยสูงอายุท่านเดินทางเรือสำราญกับครอบครัวทุกปี ครั้งหนึ่งบนเรือท่านได้พบ Sir Roger Moore (ผู้แสดงคนหนึ่งเป็น James Bond) ท่านได้คุยและถ่ายรูปด้วย ในหนังสือเล่มนี้ ดร.อรัญได้เล่าถึงถ้อยคำที่ Audrey Hepburn ชอบเป็นพิเศษ และ Sir Roger ได้นำมาพูดให้ท่านฟัง ท่านได้นำมาแปลปิดท้ายหนังสือเล่มนี้ ข้อความนั้นมีดังต่อไปนี้

          “…..มีริมฝีปากที่มีเสน่ห์ สำหรับพูดแต่คำพูดที่เต็มไปด้วยความเมตตากรุณา

          มีดวงตาที่น่ารัก สำหรับมองหาสิ่งที่ดี ๆ ในตัวผู้อื่น

          มีรูปร่างที่สมส่วน เพื่อจะได้แบ่งปันอาหารให้แก่ผู้หิวโหยบ้าง

          มีเส้นผมสลวย เพื่อได้ให้เด็กด้อยโอกาสได้ลูบเล่นวันละครั้ง

          มีความสง่างาม เพื่อได้ก้าวย่างด้วยความรู้สึกกว่าคุณไม่ได้เดินคนเดียว

          คนเราเหนือสิ่งอื่นใด ต้องการให้ตัวเองมีชีวิตชีวาขึ้น มีชีวิตใหม่ที่ดีขึ้น มีการปรับปรุงตัวเอง อยากให้สิ่งดี ๆ กลับคืนมาเหมือนเดิม และอยากได้แก้ตัวในสิ่งที่พลาดไป

          จำไว้ว่า ถ้าคุณต้องการมือช่วยเหลือ คุณจะพบที่ปลายแขนของคุณทั้งสองข้าง

          เมื่อคุณแก่ตัวลง คุณจะพบว่าคุณมีมืออยู่สองข้าง ข้างหนึ่งสำหรับช่วยเหลือตัวเอง อีกข้างหนึ่งสำหรับช่วยเหลือผู้อื่น

          …..ผมชอบวรรคสุดท้ายมากที่สุด ถ้ามีโอกาสต้องพยายามใช้มือเราช่วยเหลือผู้อื่นที่ด้อยโอกาสกว่า ด้อยฐานะกว่า อ่อนแอกว่า หรือโชคไม่ดีเท่าเรา อย่ามัวแต่มองตัวเราคนเดียว ผมเองได้พยายามใช้ชีวิตเช่นนี้มาตั้งแต่เป็นเด็กด้อยโอกาสจนกระทั่งวันนี้…..”

          อะไรเป็นปัจจัยเด่นที่ทำให้เด็กกำพร้าพ่อด้อยโอกาสคนหนึ่งพบ Miracle ในชีวิตได้ …..แม่ พระ ครูที่ดีในชีวิต โอกาส ผู้บังคับบัญชา คู่ชีวิต ความมีวินัย ความบากบั่นมานะ มันสมอง ความสามารถ ทัศนคติชีวิต จริยธรรมคุณธรรมส่วนตัว…..?

“ความไม่รู้เกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง”

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
17
มีนาคม 2558

Photo by The New York Public Library on Unsplash

          ยุคปฏิรูปทำให้ความพยายามในการออกกฎหมาย “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” เกือบเป็นจริง เพื่อน ๆ นักเศรษฐศาสตร์การคลังและผู้เขียนได้พยายามผลักดันกฎหมายฉบับนี้มากว่า 30 ปี เราได้รอคอยกฎหมยฉบับนี้มานานแสนนาน บางท่านอาจสงสัยว่าไอ้พวกนี้จิตวิปริตหรืออย่างไร คำตอบก็คืออาจเป็นบ้างเล็กน้อยแต่มีความจริงในเรื่องนี้ให้อ้างเชิงวิชาการ ซึ่งอาจมีคนไม่รู้หรือเข้าใจผิดอยู่ไม่น้อย

          ความเข้าใจผิดดังว่านี้มีดังต่อไปนี้ (1) ภาษีที่มีลักษณะคล้ายภาษีนี้มีอยู่แล้วในบ้านเราโดยใช้กันมา 81 ปีแล้ว เพียงแต่ไม่ได้เก็บกันเต็มที่และเก็บไม่ได้เพราะลักษณะอันไม่เป็นสากลของมัน กฎหมายฉบับนี้คือการยกเลิกกฎหมายสองฉบับเก่าและปรับปรุงให้เหมาะสมและเป็นธรรมยิ่งขึ้น

          ในปัจจุบันมีภาษี 2 ชนิดที่ท้องถิ่น (กทม. เทศบาล ฯลฯ) เก็บอยู่คือภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีโรงเรือนและที่ดิน

          ภาษีบำรุงท้องที่เก็บจากเจ้าของที่ดินที่มีขนาดเนื้อที่เกินกว่าที่แต่ละเขต และท้องถิ่นประกาศ มีหลายอัตราภาษีอย่างน่าเวียนหัว (หากไม่มีการใช้ประโยชน์ก็เก็บในอัตราสูง) กระทรวงมหาดไทยประกาศราคาประเมินทั่วประเทศเป็นระยะ ๆ หลายปีครั้งเพื่อเป็นฐานในการจัดเก็บ

          มีการเก็บกันได้น้อยมากเพราะได้รับการยกเว้นกันมากมายเนื่องจากเนื้อที่ดินต่ำกว่าเกณฑ์ เช่น ต่ำกว่า 1-5 ไร่ นอกเขตเทศบาล ต่ำกว่า 100 ตารางวา ฯลฯ ราคาประเมินก็ต่ำไม่ทันความเป็นจริง

          ภาษีชนิดที่สองคือภาษีโรงเรือนและที่ดิน เก็บจากค่าเช่าอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ได้อยู่อาศัยเองในอัตราร้อยละ 12.5 ซึ่งก็คือเก็บจากค่าเช่าโรงงาน โรงแรม อาคารพาณิชย์ ฯลฯ เนื่องจากอัตราสูงมากจึงมีการ “ประนีประนอม” กันสูง และเก็บได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

          ภาษีทั้งสองเรียกได้ว่าเก็บจากฐานทรัพย์สิน (ภาษีเก็บจากฐานอื่น ได้แก่ รายได้ การบริโภค) ทั้งตรงและอ้อม แต่มันไม่เป็นธรรมและขาดประสิทธิภาพ หากผู้เขียนมีที่ดินเนื้อที่ต่ำกว่า 100 ตารางวา ปลูกบ้านหลังใหญ่ราคานับสิบล้านบาทโดยอาศัยอยู่เอง ก็ไม่ต้องเสียภาษีแม้แต่บาทเดียว แต่ถ้าบ้านถัดไปหลังเล็กแต่ให้เช่าก็จะเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน

          การจัดเก็บที่ไม่เป็นสากลเพราะเก็บจากมูลค่าที่ดินและจากการใช้อาคารซึ่งยากต่อการไล่จับเพราะไม่รู้ว่าให้เช่ากันหรือไม่ และค่าเช่าเท่าใด อีกทั้งยังพิกลพิการไม่เป็นธรรมอีกเช่นนี้ จึงมีความพยายามปรับให้เป็นสากลซึ่งใช้กันทั้งโลกด้วยการใช้มูลค่าของที่อยู่อาศัย มูลค่าที่ดิน เป็นฐานการประเมินในการเก็บภาษี

          ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่รัฐบาลเสนอนี้โดยแท้จริงแล้วจึงไม่ใช่ของใหม่แต่อย่างใด หากแต่เป็นการปรับปรุงให้เป็นธรรม จัดเก็บได้สะดวกขึ้นและอย่างมีประสิทธิภาพขึ้น ลดการใช้วิจารณญาณของผู้จัดเก็บลง

          (2) ในอาเซียนนั้นประเทศที่อยู่ในระดับการพัฒนาเดียวกับไทย มีการเก็บภาษีในลักษณะนี้มานานแล้ว เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ประเทศอื่น ๆ ที่กำลังคิดกันอยู่ก็คือเวียดนาม ประเทศเหล่านี้จัดเก็บกันในอัตราภาษีที่สูงกว่าอัตราที่รัฐบาลเสนอเป็นอันมาก

          (3) ภาษีบำรุงท้องที่นั้นนักการเมืองท้องถิ่นไม่ค่อยอยากออกแรงเก็บเพราะทำให้เสียความนิยม ถึงจะเก็บก็ได้ไม่มากเพราะราคาประเมินที่ประกาศนั้นต่ำกว่าราคาตลาดมากและไม่เป็นปัจจุบัน อีกทั้งมีหลายอัตราให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้วิจารณญาณ ส่วนภาษีโรงเรือนและที่ดินนั้นเป็นเครื่องมือคอร์รัปชั่นทำหากินของทั้งเจ้าหน้าที่และนักการเมืองท้องถิ่นมายาวนาน เนื่องจากอัตราภาษีร้อยละ 12.5 นั้นสูงมาก จนต้องใช้ “วิจารณญาณ” กันหนักกว่าปกติ โดยเฉพาะโรงแรม และอาคารพาณิชย์

          (4) เงินภาษีที่ประชาชนต้องจ่ายภายใต้ภาษีใหม่ที่เสนอนี้เรียกได้ว่าต่ำเป็นพิเศษ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

          ที่อยู่อาศัยที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1.5 ล้านบาทยกเว้นไม่มีการจัดเก็บ มูลค่า 1.5-5 ล้านบาท เก็บในอัตราร้อยละ 0.1 (1 ล้านบาท จ่าย 1 พันบาท) แต่จัดเก็บเพียงครึ่งหนึ่ง ดังนั้นทุกหนึ่งล้านบาทจึงเสียภาษี 500 บาท ! มูลค่า 5 ล้านบาทขึ้นไปจ่ายอัตราร้อยละ 0.1

          มูลค่าที่จัดเก็บไม่ใช้ราคาตลาด หากเป็นราคาประเมินที่ยอมให้มีการหักค่าเสื่อมสิ่งปลูกสร้างก่อนประเมินถึง 69 แบบ เช่น บ้านไม้ หากมีอายุถึง 19 ปี ก็หักค่าเสื่อมไปร้อยละ 93 อาคารคอนกรีตปีที่ 43 หักค่าเสื่อมถึงร้อยละ 76 ฯลฯ

          มูลค่าที่อยู่อาศัยที่ถูกประเมินเพื่อเสียภาษีจะถูกหักค่าเสื่อมก่อนที่จะเป็นฐานของการคิดภาษี มิได้คิดกันสด ๆ จากราคาตลาด

          (5) สำหรับที่ดิน ภาษีที่ดินที่จัดเก็บนั้นมิได้จัดเก็บในอัตราคงที่เสมอไป หากกำหนดเพดานสูงสุดซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงอัตราได้ตามสถานการณ์ ประเภทที่ดินเพื่อการเกษตร เพดานคืออัตราร้อยละ 0.05 (ล้านบาทละ 500 บาท) ที่ดินพาณิชย์ (เพดานร้อยละ 0.2) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า (เพดานร้อยละ 0.5) และเพิ่มอีก 1 เท่า ทุก 3 ปี โดยสูงสุดไม่เกินอัตราร้อยละ 2

          ราคาประเมินที่ดินจะประกาศโดยทางการเป็นช่วงปี ๆ ไป ที่ดินรกร้างว่างเปล่าถึงจะมีอัตราภาษีสูง แต่ก็สามารถเปลี่ยนสภาพโดยทำให้เกิดประโยชน์ด้วยการปลูกต้นไม้ ทำไร่ จะทำเองหรือให้เช่าก็ได้

          (6) ภายใต้สองภาษีปัจจุบันหากมีการจัดเก็บกันจริงจังแล้ว ในหลายกรณีจะเสียกันเป็นเงินที่สูงกว่าภาษีใหม่โดยเฉพาะโรงแรม อาคารพาณิชย์ (ศูนย์การค้า) ด้วยซ้ำ เพียงแต่ภาษีใหม่จะปิดทางทำมาหากินฉ้อราษฎร์ และทำให้เงินกลับสู่ประชาชนอย่างเป็นล่ำเป็นสันมากขึ้น

          (7) การเสียภาษีเป็นหน้าที่ของพลเมือง ถ้าประชาชนต้องการโครงสร้างพื้นฐานในการคมนาคม (ถนน รถไฟใต้ดินบนดิน สนามบิน) ในการสื่อสารไอที ใช้หนี้สาธารณะที่มีอยู่เป็นจำนวนมหาศาล ตลอดจนลงทุนเพื่อการศึกษา สาธารณสุข ความมั่นคง เพื่อสังคม โดยเฉพาะเพื่อผู้สูงอายุแล้ว โดยไม่มีการจ่ายภาษีเพิ่มแล้วมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

          ภาษีใหม่นอกจากจะเพิ่มความเป็นธรรม เพิ่มประสิทธิภาพ ลดคอร์รัปชั่น แล้ว ยังจะเพิ่มรายได้อีกประมาณ 200,000 ล้านบาทต่อปีอีกด้วย (เมื่อท้องถิ่นเก็บได้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันซึ่งเก็บได้เพียง 25,000 ล้านบาท ส่วนกลางก็จ่ายให้น้อยลงจนสามารถนำเงินไปใช้ในเรื่องต่าง ๆ เพื่อประชาชนทั้งประเทศได้เพิ่มขึ้น

          ภาษีใหม่นี้เป็นธรรมเพราะคนมีมากก็จ่ายมาก มีน้อยก็ไม่ต้องจ่าย (เมื่อหลบหนีจากการจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามันก็ไปเพิ่มพูนที่ทรัพย์สิน การตามมาเก็บไปบ้างจากฐานทรัพย์สินเพียงเล็กน้อยจึงเป็นการยุติธรรม) ประการสำคัญท้องถิ่นก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น อย่าลืมว่า “โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี” ครับ