วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
15 กรกฎาคม 2557
มีผู้เปรียบเทียบจุดสำคัญที่ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างลุล่วงว่าเป็นดั่ง ‘คานงัด’ ในสังคมไทยเราโดยแท้จริงแล้วมี ‘คานงัด’ ดังกล่าวอยู่ในหลายเรื่องซึ่งหากมีการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพแล้วเชื่อได้ว่าจะก่อให้เกิดเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้
‘คานงัด’ แรกคืออุปสรรคของธุรกิจ SME’s ในรอบ 20-30 ปีที่ผ่านมาสิ่งที่ช่วยทำให้ คนไทยจำนวนมากมีงานทำจนลืมตาอ้าปากได้ก็คือธุรกิจที่มีการจ้างงานต่ำกว่า 200 คน ซึ่งได้แก่ ธุรกิจ SME’s ที่เรารู้จักกัน กว่าร้อยละ 90 ของจำนวนธุรกิจในบ้านเรา คือ SME’s
SME’s กินความตั้งแต่ธุรกิจซื้อมาขายไป (เช่น เอเย่นต์รับส่งวัตถุดิบอาหารให้ร้านอาหาร รับเฟอร์นิเจอร์มาขายปลีก ขายโอ่งขายไหตามหมู่บ้าน หาบขายของเล็ก ๆ น้อย ๆ ตลอดจนธุรกิจให้เช่าพระ ขายผักผลไม้ ร้านขายหนังสือพิมพ์ ขายเสื้อผ้า รองเท้า ฯลฯ) จนถึงการผลิตหรือให้บริการ (เช่น ขายส้มตำ ผลิตข้าวแกงขาย โรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลาง ร้านก๋วยเตี๋ยว ผลิตของที่ระลึก ร้านนวด ร้านสปา ฯลฯ)
อุปสรรคสำคัญของผู้ค้าขาย SME’s ก็คือความไม่สะดวกในการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบด้วยการเดินทางบนถนนที่เชื่อมต่อระหว่างอำเภอโดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัด (ถ้าตัดเรื่องความไม่สะดวกของการขนส่งด้วยรถไฟออกไปเพราะมีรางเดี่ยวแล้วก็เหลือแต่การขนส่งทางถนนที่จะกล่าวถึงในข้อเขียนนี้)
ปัญหาปวดหัวที่ทำให้ต้นทุนในการประกอบธุรกิจสูงขึ้น และมีความไม่สะดวกในการสัญจร ได้แก่การถูกเก็บสารพัดส่วยระหว่างทาง กฎเกณฑ์เล็ก ๆ น้อย ๆ หยุมหยิมถูกหยิบขึ้นมาเป็นเครื่องมือรีดไถโดยเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งไม่ใช่ตำรวจแต่เพียงฝ่ายเดียว
คนที่คิดจะหากินด้วย SME’s ซึ่งต้องเกี่ยวพันกับการเดินทางดังกล่าวรู้สึกท้อใจจากการได้รับทราบเรื่องราวเหล่านี้จนรู้สึกแหยง ลองจินตนาการดูว่าถ้าการเดินทางเหล่านี้สะดวก ลื่นไหล และราบรื่น ชาวบ้านที่ทำธุรกิจ SME’s ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจไทยเหล่านี้จะสามารถมีโอกาสลืมตาอ้าปากได้มากกว่าเดิมเพียงไร
ปัญหาโลจิสติกส์อันเกิดจากการขนส่งเป็นปัญหาของประเทศไทยก็จริงอยู่ แต่ไม่จำเป็นว่าปัญหาเหล่านี้จะต้องแก้ไขกันในระยะเวลายาว ในช่วงเวลาสั้น ๆ การปราบปรามการรีดไถดังกล่าวจะช่วยบรรเทาปัญหาโลจิสติกส์ได้เป็นอันมาก
การสร้างความสะดวกในการขนส่งและเดินทางทางบกด้วยการแก้ไขปัญหารีดไถก็คือการเสริมโครงสร้างพื้นฐานด้านบริการเช่นเดียวกับการมีประสิทธิภาพของระบบธนาคาร ระบบไอทีที่สนองตอบความต้องการของประชาชน (ฟรี Wi-Fi ของเมือง) การบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ฯลฯ ทั้งหมดนี้จะช่วยเสริมการเพิ่มผลิตภาพ(productivity) ในภาคเศรษฐกิจ ตลอดจนการ ลดต้นทุนไปด้วย
คานงัดที่สอง คือการขอรับใบอนุญาตตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในเวลาอันควรและอย่างมีธรรมาภิบาล ในปัจจุบันนักลงทุนไทยและเทศเบื่อหน่ายการขออนุญาตตั้งโรงงานอุตสาหกรรม กฎหมายที่ซ้ำซ้อนตลอดจนระบบที่มีขั้นตอนในการให้ใบอนุญาตที่ยาวและโยงใยกับความเห็นของหลายหน่วยงานเป็นโอกาสของการสร้างคอรัปชั่นในกระบวนการขออนุญาต
ถ้าระบบเศรษฐกิจขาดโรงงานอุตสาหกรรมก็ไม่สามารถมีการผลิตได้ ไม่มีการ สร้างงาน และไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ขึ้นได้ ถ้าระบบเศรษฐกิจไม่สามารถมีโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่และความต้องการของตลาดก็จะเกิดการสูญเสียอย่างมหาศาลทั้งรายได้และโอกาส
การแก้ไขคอรัปชั่นในกระบวนการให้ใบอนุญาต การปรับเปลี่ยนกฎหมายและกฎเกณฑ์ให้เกิดเส้นทางการขออนุญาตที่กระชับและอุดมด้วยธรรมาภิบาลจะช่วยเศรษฐกิจไทยได้เป็นอันมากทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
คานงัดที่สาม คือการปรับปรุงประสิทธิภาพของการใช้เงินเพื่อการศึกษาของประเทศไทย เราเสียเงินปีละ 400,000 กว่าล้านบาท (ปีงบประมาณใหม่นี้เข้าใจว่าเกือบถึง 500,000 ล้านบาท) แต่กลับไม่ได้รับผลผลิตที่มีคุณภาพเป็นที่น่าพอใจจากการผลิตนี้
กระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณสูงกว่าทุกกระทรวงสำหรับการเพิ่มคุณภาพของประชาชนแต่ไม่สามารถทำให้เกิดการใช้เงินที่มีประสิทธิภาพขึ้นมาได้ นี่คือโจทย์สำคัญของการศึกษาไทย
ถ้าดูตัวเลขของงบประมาณทั้งหมดของกระทรวงศึกษาธิการก็จะพบว่ารายการจ่ายเงินที่ใหญ่ที่สุดคือประมาณร้อยละ 59 เป็นเงินเดือนของครูและบุคลากรทางการศึกษา (ผู้ที่ไม่ใช่ครูแต่ทำงานลักษณะอื่น) และถ้ารวมเงินค่าตอบแทนการบริหารอื่น ๆ ตัวเลขนี้ก็ขึ้นไปถึงร้อยละ 76
ถ้าครูทุกคนมีอุดมการณ์ของความเป็นครู สามารถทำงานในการเป็นครูได้อย่างเต็มที่ (ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการทำรายงานตัวชี้วัด งานธุรการ เข้าประชุม อบรม) มีคุณลักษณะและความสามารถของการเป็นครูที่ดี เงินร้อยละ 76 ที่จ่ายนั้นก็มีประโยชน์
แต่เมื่อลักษณะต่าง ๆ ของความเป็นครูไม่เกิดขึ้นเป็นส่วนใหญ่ เงินร้อยละ 76 นั้นก็ไม่มีประโยชน์เต็มที่ ส่วนหนึ่งของการใช้จ่ายจึงเป็นการสูญเปล่าที่น่าเสียดาย การเรียนการสอนที่มีคุณภาพสมกับเงินที่จ่ายไปจึงไม่เกิดขึ้น
‘คานงัด’ ในเรื่องนี้คือการพัฒนาให้ครูมีคุณภาพ สัดส่วนร้อยละ 76 นั้นไม่อาจแก้ไขได้ในเวลาอันใกล้เนื่องจากไม่อาจให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาซึ่งมีจำนวนมากถึงกว่า 350,000 คน ออกจากงานได้ ถ้าจะแก้ไขก็คือการบรรจุครูใหม่ที่มีคุณภาพสูง และพัฒนาครูที่มีอยู่แล้วให้มีคุณภาพดีขึ้นกว่าเดิมให้จงได้ด้วยวิธีการอบรมแบบใหม่ซึ่งเกี่ยวพันการเรียนรู้โดยได้ลงมือปฏิบัติจริง
การพัฒนาครูมิได้หมายถึงการเอาครูมาอบรมตามแบบเดิม ๆ ที่เคยทำมา หากเกี่ยวพันไปถึงการฝึกอบรมแบบใหม่ การยกเครื่องระบบการบริหารงานบุคคล (การบรรจุโอนย้ายครู) และระบบการบริหารจัดการ (ครูรับผิดและรับชอบกับคุณภาพของนักเรียน) ตลอดจนการให้ความเป็นอิสระในการบริหารงานแก่โรงเรียนที่สามารถยืนอยู่บนขาตัวเองได้ ฯลฯ
อาร์คิมิดิส (Archimedes 287-212 ปีก่อนคริสตกาล) นักวิทยาศาสตร์เอกของโลกใน ยุคกรีกโบราณบอกว่าถ้าให้ ‘คานงัด’ ซึ่งยาวและแข็งแรงพอ เขาจะสามารถงัดโลกใบนี้ได้ เขามิได้หมายความตามนั้นจริง ๆ หากต้องการให้เห็นถึงความสำคัญเชิงฟิสิกส์ของ ‘คานงัด’ ‘คานงัด’ สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมเราได้ ถ้างัดถูกจุดด้วยพลังอย่างเต็มที่โดยเห็นประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก