วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
22 กรกฎาคม 2557
เมื่อสองเดือนที่ผ่านมาโลกได้สูญเสียนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญของโลกผู้ริเริ่มการศึกษาปัญหาสังคมจากมุมมองของเศรษฐศาสตร์ และได้ทิ้งมรดกทางวิชาการไว้อย่างน่าสนใจ Gary Becker นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันผู้รับรางวัลโนเบิลในปี 1992 จากไปในวัย 83 ปี
Gary Becker เกิดใน ค.ศ. 1930 เรียนจบปริญญาตรีจาก Princeton ในปี 1951 และจบปริญญาเอกจาก University of Chicago เมื่อมีอายุเพียง 25 ปี เขาสอนที่มหาวิทยาลัย Columbia อยู่ 11 ปี ก่อนย้ายมาสอนหนังสือที่ University of Chicago ในปี 1968 และประจำอยู่ตลอดมา จนเสียชีวิต
อาจารย์ที่ Becker ชื่นชมและมีอิทธิพลต่อความคิดของเขามากคือ Milton Friedman ผู้รับรางวัลโนเบิลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 1972 ผู้เป็นปรมาจารย์หัวโจกของแนวคิดตลาดเสรีนิยมของแวดวงเศรษฐศาสตร์โลกซึ่งรวมตัวกันอยู่ที่ University of Chicago
คำอธิบายเหตุผลของการได้รับรางวัลของคณะกรรมการรางวัลโนเบิลก็คือ Becker เป็น ผู้ริเริ่มใช้วิธีคิดแบบเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ปัญหาสังคมอย่างกว้างขวาง ซึ่งวิธีคิดนี้มิได้คับแคบอยู่แต่ในเรื่องที่ว่าปัจเจกชนแสวงหาเพียงแต่ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากเขาได้นำเอาสิ่งที่ไม่ใช่เงินทองและการกระทำดีเพื่อคนอื่นโดยมิได้นึกถึงตนเองเข้ามาไว้ในการวิเคราะห์ด้วย
“Becker เชื่อว่ามนุษย์ใช้เหตุใช้ผลในการวิเคราะห์ตัดสินใจโดยจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตามที พฤติกรรมของมนุษย์เป็นไปตามแรงจูงใจ โดย “แต่ละคนพยายามแสวงหาสิ่งที่ตนเข้าใจว่าเป็น ‘สวัสดิการ’ (welfare) ให้มากที่สุด ซึ่ง “สวัสดิการ” ในที่นี้มิได้หมายถึงรายได้เท่านั้น หากหมายถึงความพอใจจากการทำสิ่งดี ๆ ให้คนอื่น หรือความตื่นเต้นจากอะไรที่แหกคอกออกไปก็ตามที”
Becker ใช้แนวคิดเช่นนี้วิเคราะห์ปัญหาของสังคมไม่ว่าเรื่องการลงทุนในมนุษย์ ครอบครัว การแต่งงาน การหย่าร้าง อาชญากรรม การเหยียดผิว ฯลฯ ในแง่มุมที่ นักสังคมวิทยาไม่เคยพิจารณามาก่อน
ตัวอย่างแรกคือการประกอบอาชญากรรม Becker อธิบายว่าอาชญากรเกือบทั้งหมดมิใช่คนที่ผิดปกติดังที่แวดวงวิชาการเชื่อกัน หากเป็นคนมีเหตุมีผลในการลงมือประกอบอาชญากรรม เมื่อใดที่ผลประโยชน์หรือ ‘สวัสดิการ’ (ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเงิน อาจเป็นความพอใจแบบบ้า ๆ ก็ได้) ที่คาดว่าจะได้รับสูงกว่าผลเสียที่คาดว่าจะเกิดจากอาชญากรรมแล้ว อาชญากรจะลงมือเสมอ
ในฝั่ง ‘สวัสดิการ’ ที่คาดว่าจะได้รับจะประกอบด้วย 2 ตัวแปรคือ ความเป็นไปได้ในการได้รับ ‘สวัสดิการ’ กับขนาดของ ‘สวัสดิการ’ กล่าวคือถ้าอาชญากรรมนั้นง่ายก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะได้รับ ในฝั่งผลเสียก็ประกอบด้วย 2 ตัวแปรคือความเป็นไปได้ในการถูกลงโทษกับบทลงโทษ Becker พิสูจน์ให้เห็นว่าสิ่งที่จะหยุดยั้งอาชญากรรมไม่ใช่บทลงโทษหากแต่เป็นความเป็นไปได้ในการถูกลงโทษซึ่งขึ้นอยู่กับการถูกจับและกระบวนการลงโทษ
ถ้าประกอบอาชญากรรมแล้วไม่เคยมีใครถูกจับเลย ไม่ว่าบทลงโทษสูงแค่ไหน อาชญากรรมก็จะเกิดขึ้นเสมอ (คอรัปชั่นในราชการไทยก็อยู่ในข่ายนี้เช่นกัน) ดังนั้นประสิทธิภาพของการลงโทษซึ่งหมายถึงประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการป้องกันอาชญากรรม
ในเรื่องครอบครัว Becker ก็วิเคราะห์ได้อย่างน่าสนใจ กล่าวคือเขาถือว่าครอบครัวเปรียบเสมือนโรงงานเล็ก ๆ ซึ่งผลิตสินค้าพื้นฐาน เช่น อาหาร ความสนุกสนาน การอยู่อาศัย ฯลฯ โดยมีเวลาและสินค้าที่ซื้อมาจากตลาดเป็นวัตถุดิบ
ราคาของสินค้าพื้นฐานใดสินค้าหนึ่งประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนแรกคือต้นทุนโดยตรงที่มาจากการซื้อสินค้าจากข้างนอกมาเข้าโรงงาน และส่วนที่สองคือค่าใช้จ่ายอันเนื่องมาจากเวลาที่ใช้ไปในการผลิตและบริโภคสินค้าพื้นฐาน ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เท่ากับค่าจ้างคูณด้วยเวลาที่ใช้ไปในการผลิตแต่ละหน่วยสินค้าที่ออกมาจากโรงงาน
เมื่อค่าจ้างของคนหนึ่งในโรงงานหรือครอบครัวนี้สูงขึ้นก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของแรงจูงใจที่จะทำงานในโรงงานและการปรับเปลี่ยนสู่การผลิตและบริโภคสินค้าพื้นฐานชนิดที่ต้องใช้เวลาเข้มข้นให้น้อยลง
พูดง่าย ๆ ก็คือเมื่อคนหนึ่งในครอบครัวมีฐานะดีขึ้น ก็จะใช้เวลากับครอบครัวน้อยลง เพราะมูลค่าเวลาที่เคยใช้กับครอบครัวนั้นสูงขึ้นกว่าเดิม (ค่าเสียโอกาสสูง) หันไปใช้เครื่องทุ่นแรง เช่น เครื่องซักผ้า ล้างชาม ตลอดจนใช้คนมาช่วยงาน (คนสวน คนทำความสะอาดบ้าน) เอาลูกไปฝากศูนย์เลี้ยงเด็ก การใช้บริการโรงเรียน การจ้างช่างประปา ไฟฟ้า แทนงานที่ตนเองเคยใช้เวลาทำมาก ๆ
แนวคิดเช่นนี้ช่วยอธิบายว่าเหตุใดแม่บ้านจึงมีสัดส่วนในแรงงานของประเทศมากขึ้น เมื่อรายได้ของพ่อบ้านสูงขึ้น การใช้เครื่องทุ่นแรงที่สามารถหาซื้อมาเพื่อทดแทนแรงงานแม่บ้านก็จะเกิดขึ้น อีกทั้งสามารถมีเงินเอาลูกไปฝากศูนย์ดูแลได้ ดังนั้นแรงงานในบ้านของแม่บ้านก็เหลือพอจะออกไปทำงานนอกบ้านได้
Becker พบว่าคนรวยจะมีอัตราหย่าร้างน้อยกว่าคนจน จะมีลูกจำนวนน้อยกว่าเพราะต้องการคุณภาพมากกว่าปริมาณเนื่องจากเข้าใจดีว่าการเลี้ยงลูกให้มีการศึกษาดีคือการลงทุนในระยะยาว และเปรียบเสมือนการหว่านเมล็ดของการไร้ความทุกข์ใจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันเนื่องมาจากลูกขาดการศึกษาที่ดี Becker พบว่าทางโน้มนี้ล้วนเกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น
การมองปัญหาสังคมในแง่มุมที่แปลกออกไปช่วยกระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถามที่ทำให้เกิดการคิดในแนวที่แปลกออกไปของแวดวงวิชาอื่น ไม่ว่าจะเป็นมานุษยวิทยา หรือรัฐศาสตร์ Becker มีชื่อเสียงฮื้อฉาวในยุคทศวรรษ 1960 เพราะเขากล้าที่จะริเริ่มใช้การวิเคราะห์แบบข้ามสาขาวิชา ไม่แยกส่วนดังที่นิยมกันในยุคนั้น
การวิเคราะห์ของ Becker ในเรื่องการเหยียดผิวในยุคต้นทศวรรษ 1960 ยิ่งทำให้เขาเป็นเป้าของการโจมตีจากกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการต่อสู้ของคนผิวดำเพื่อสิทธิที่เท่าเทียมกัน พวก Civil Right Movement ในสหรัฐอเมริกาชื่นชอบงานวิจัยของเขาที่พิสูจน์ให้เห็นว่าการเหยียดผิวก่อให้เกิดผลเสียต่อทั้งผู้จ้าง และผู้ถูกเหยียดผิว (“ทุกครั้งที่ผู้จ้างเหยียดผิวด้วยการปฏิเสธการจ้างคนผิวดำและจ้างคนผิวขาวแทนโดยที่ทั้งสองมีความสามารถเท่ากัน แต่คนผิวดำมีค่าจ้างถูกกว่า ผู้จ้างนั้นกำลังสูญเสีย”)
Becker เชื่อว่ามนุษย์ตอบรับต่อแรงจูงใจเสมอโดยมีการคิดสะระตะอย่างมีเหตุมีผล (Theory of Rational Choice) มิได้เป็นมนุษย์ที่กระทำตามพฤติกรรมเป็นนิสัย ดังที่เคยเชื่อกันในสังคมวิทยา ความเชื่อใหม่นี้สามารถนำมาวิเคราะห์ปัญหาสังคมและพยากรณ์พฤติกรรมตลอดจนสามารถเสนอแนะนโยบายเพื่อแก้ไขและหาทางออกได้
นักวิชาการที่ประยุกต์เศรษฐศาสตร์เข้ากับศาสตร์อื่น ๆ อย่างกว้างขวางในเวลาต่อมานั้นล้วนเป็นหนี้ Becker ผู้ริเริ่มการแสดงให้เห็นว่าหลักการทางเศรษฐศาสตร์นั้นมิได้มีอยู่แต่เฉพาะในทฤษฎีเท่านั้น หากอยู่ในชีวิตจริงด้วย