วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
พฤษภาคม 2556
การไขว่คว้าหาปริญญาบัตรของคนไทยกันเกร่อในปัจจุบันไม่แตกต่างไปจากคนในประเทศอื่น ๆ ที่เห่อปริญญาเหมือนกัน อย่างไรก็ดีถึงแม้คนจำนวนมากจะได้รับปริญญาแต่ก็ไม่รุ่งเรืองในชีวิตการงานเท่าที่ควร
ตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1980’s เป็นต้นมา ชาวโลกตื่นตัวในการศึกษาระดับอุดมศึกษากันเป็นอันมาก จำนวนสถาบันอุดมศึกษาของไทยเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับจนในปัจจุบันนับได้ถึงเกือบ 200 แห่ง
รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ได้ระบุเป็นครั้งแรกว่าผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้องเป็นผู้เรียนจบอย่างน้อยปริญญาตรีขึ้นไป เงื่อนไขนี้ทำให้เกิดจุดอ้างอิงใหม่ขึ้นมาในสังคมไทย นั่นก็คือการเรียนจบปริญญาตรี
ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นดูราวกับว่าปริญญาตรีคือมาตรฐานขั้นต่ำของ “การมีระดับ” “การมีหน้ามีตา” ในสังคมไทย และความรู้สึกนี้ทำให้ผู้คนพากันหลั่งไหลไปเรียนปริญญาตรีและปริญญาที่สูงกว่า สถาบันทั้งหลายก็พากันแข่งขันตอบสนองและหลายแห่งไม่รักษาคุณภาพ ทำให้มาตรฐานโดยเฉลี่ยของความรู้ความสามารถของผู้จบปริญญาตรีด้อยลงไปกว่าเมื่อสมัยก่อน
หลายคนคิดว่าเมื่อเรียนจบปริญญาตรีหรือสูงกว่านั้นแล้วคือการขึ้นลิฟต์แก้วหรือขึ้นทางด่วน ต่อไปชีวิตจะพุ่งไปก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว มีตำแหน่งใหญ่โต และมีเงินเดือนสูง
อย่างไรก็ดีเป็นที่ชัดเจนในทุกสังคมว่าการเรียนจบได้ปริญญามาไม่ว่าตรี โท หรือเอก มิใช่เป็นสิ่งประกันว่ามีความก้าวหน้าในงานและชีวิตเสมอไป ทั้งนี้ก็เพราะมันมีสิ่งที่ “เหนือกว่าปริญญาบัตร” ซึ่งจะเป็นตัวชี้เป็นชี้ตายว่าชีวิตจะรุ่งโรจน์ไปได้ไกลแค่ไหน
สิ่งที่ “เหนือกว่าปริญญาบัตร” นั้นมีมากมายไม่ว่าจะเป็นโชค โอกาส พื้นฐานสิ่งแวดล้อมทางสังคม ผู้สนับสนุน เครือข่ายญาติมิตร ฯลฯ สำหรับข้อเขียนนี้จะขอเน้นไปที่ สิ่งสำคัญหนึ่งที่ผู้เขียนเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ “เหนือกว่าปริญญาบัตร” ที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิตและการงาน สิ่งนั้นก็คือบุคลิกอุปนิสัย หรือ character ในภาษาอังกฤษ
ฝรั่งพูดกันมานานแล้วว่า “character is destiny” (บุคลิกอุปนิสัย คือชะตากรรม”) ก่อนที่จะขยายข้อความนี้ขอนำเอาคำพูดตัวละครที่เล่นเป็น Margaret Thatcher อดีตนายกรัฐมนตรีหญิง ผู้ยิ่งใหญ่ของอังกฤษซึ่งเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อไม่นานมานี้ ในภาพยนตร์อัตตชีวประวัติของเธอเรื่อง “The Iron Lady” มาลงให้ดู
จงระวังความคิด เพราะมันจะกลายเป็นคำพูด
จงระวังคำพูด เพราะมันจะกลายเป็นการกระทำ
จงระวังการกระทำ เพราะมันจะกลายเป็นนิสัย
จงระวังนิสัย เพราะมันจะกลายเป็นบุคลิกอุปนิสัย
จงระวังอุปนิสัย เพราะมันจะกลายเป็นชะตากรรมของคุณ
“บุคลิกอุปนิสัย” มิได้มีความหมายแคบ ๆ เพียงหมายถึงนิสัย เช่น ขยัน ขี้เกียจ เห็นแก่ตัว ขี้ขลาด กินจุ จู้จี้ ฯ หากกินความลึกซึ้งไปถึงบุคลิกอันเป็นลักษณะประจำตัว อีกด้วย เช่น การวางตัว การพูด การรู้จักกาลเทศะ การพูดจริงทำจริง ความเจ้าเล่ห์เจ้ากล ฯลฯ ดังนั้น “บุคลิกอุปนิสัย” จึงมีความหมายลึกซึ้ง
“บุคลิกอุปนิสัย” เป็น “ชะตากรรม” ของคนได้อย่างไร? เราคงเคยเห็นคนที่มีความรู้ท่วมหัวแต่เข้ากับคนไมได้ เช่น พูดจาไม่เข้าหูคน เก็บตัว จิตใจคับแคบในการเป็นมิตรกับผู้อื่น ไม่ชอบทำอะไรที่ตรงไปตรงมาแต่ชอบการเลี้ยวลดหาประโยชน์จากกฎหรือจากบุคคลอื่น ฯลฯ คนที่มี “บุคลิกอุปนิสัย” เช่นนี้ก็พอคาดเดาว่าชะตากรรมของเขาจะเป็นอย่างไร
ในทำนองเดียวกันเราก็เคยเห็นคนที่เรียนไม่ถึงปริญญา หรือไม่จบชั้นมัธยมด้วยซ้ำ แต่เป็นที่นับหน้าถือตาของผู้คน พูดจาอะไรผู้คนก็เชื่อถือเพราะมี “บุคลิกอุปนิสัย” ที่รักความสัตย์ รักษาคำพูดของตนเอง มีจิตใจที่ปรารถนาดีต่อผู้อื่น รักมนุษย์ มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ พูดจาไม่หักหาญน้ำใจคน ฯลฯ
“ชะตากรรม” ของทั้งสองคนแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งหมดนี้มาจากสิ่งเดียวคือ “บุคลิกอุปนิสัย” ซึ่งมิใช่สิ่งที่มาจากพันธุกรรมหรือธรรมชาติ (nature) หากมาจากการสนับสนุนเอื้อให้มันเกิดขึ้น (nurture)
ไม่ใช่ทุกคนที่มีโอกาสเรียนจนได้รับปริญญา แต่ทุกคนมีโอกาสที่จะพัฒนาตนเองให้เกิด “บุคลิกอุปนิสัย” อันพึงปรารถนาได้
ที่มาของ “บุคลิกอุปนิสัย” ก็คือความคิดที่แปรเปลี่ยนเป็นคำพูด จากคำพูดเป็นการกระทำ จากการกระทำเป็นนิสัย จากนิสัยเป็น “บุคลิกอุปนิสัย” และในที่สุดนำไปสู่ “ชะตากรรม” ดังกล่าวแล้ว