ความเคยชินนำสู่ความหายนะ

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
14 พฤษภาคม 2556    

          การช่วยเหลือประชาชนด้วยการทำให้ราคาพลังงานต่ำเพื่อช่วยให้ค่าครองชีพต่ำเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ อย่างไรก็ดีเมื่อถึงจุดหนึ่งก็อาจนำไปสู่ความหายนะได้ สิ่งที่รัฐบาลอินโดนีเซียได้ทำไปเป็นบทเรียนที่พึงสังวรณ์สำหรับประเทศอื่น ๆ

          การรักษาราคาพลังงานโดยเฉพาะน้ำมันให้ต่ำกว่าราคาตลาดกระทำกันมายาวนานในเกือบทุกประเทศ แต่มักเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ เพราะก่อให้เกิดภาระการเงินแก่ภาครัฐซึ่งเป็นผู้จ่ายส่วนต่างระหว่างราคาที่ประชาชนจ่ายและราคาตลาด

          ส่วนต่างนี้เรียกกันว่าเงินอุดหนุนหรือ subsidy ซึ่งหมายถึงการถ่ายโอนของทรัพยากรจากภาครัฐสู่ประชาชน ซึ่งตรงข้ามกับภาษีซึ่งเป็นการถ่ายโอนของทรัพยากรจากประชาชนสู่ภาครัฐ

          ภาษี (tax หรือ positive tax) มิได้หมายถึงเฉพาะเรื่องเงินทองเท่านั้น ในอดีตมีการเก็บภาษีเกลือ (จ่ายเป็นเกลือ) หรือการเกณฑ์แรงงานมารบหรือทำงาน (เปรียบเสมือนกับถูกเก็บภาษีเพราะเท่ากับต้องเสียสละเงินทองไปเพราะไม่มีโอกาสไปทำมาหากินส่วนตัว)

          Subsidy หรือเงินอุดหนุนหรือเงินชดเชยเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า negative tax เพราะทรัพยากรไหลสวนทางกับ tax ในขณะที่ทรัพยากรไหลออกจากฝั่งประชาชน คือ positive tax การไหลในทางตรงกันข้ามคือจากภาครัฐสู่ประชาชนจึงเรียกว่า negative tax

          หลายคนอาจจำเหตุการณ์ในปี 1998 ที่ประธานาธิบดี Suharto หลุดจากตำแหน่งในเวลาไม่กี่วันหลังจากเป็นประธานาธิบดีมา 31 ปีได้ สาเหตุมาจากการขึ้นราคาน้ำมันครั้งใหญ่เพราะถูกบังคับจาก IMF (ภาพนาย Comdesu ผู้จัดการ IMF ท้าวสะเอวดูการลงนามยอม IMF ยังตรึงตาไม่ รู้ลืม) เนื่องจากภาครัฐอินโดนีเซียจ่ายเงินอุดหนุนราคาน้ำมันขนาดใหญ่โตมโหฬารมายาวนานเพื่อไม่ให้ค่าครองชีพสูง

          IMF เห็นว่ารัฐบาลไม่มีเงินพอที่จะทำเช่นนั้นต่อไปได้เพราะประสบวิกฤตอันเป็นผลพวงจากการติดเชื้อ “ต้มยำกุ้ง” จากไทย เงินทุนสำรองของอินโดนีเซียหดหาย ราคา ดอลลาร์ในรูปเงินรูเปียสูงมาก ตราบที่น้ำมันมีราคาถูกผู้คนก็จะบริโภคกันมาก เงินตราต่างประเทศซึ่งเป็นส่วนผสมอยู่ในการบริโภคต้องไหลออกนอกประเทศไปอีกมหาศาลก็จะยิ่งทำให้เงินดอลล่าร์แพงขึ้นอีก (ค่าเงินรูเปียตกลงไปอีก) วิธีแก้ไขตามสติปัญญาของ IMF ในตอนนั้นก็คือต้องหยุดทิศทางของการมีราคาพลังงานต่ำด้วยการชดเชย ผลก็คือบ้านเมืองลุกเป็นไฟผู้คนประท้วงวุ่นวายจนประธานาธิบดีต้องพ้นจากตำแหน่ง

          ถึงแม้เหตุการณ์จะผ่านไปหลายปี ภาครัฐอินโดนีเซียก็ยังกลับมากระทำอย่างเดิมอีกเพราะประชาชนเคยชินกับการใช้เงินรัฐอุดหนุนราคาพลังงาน ผลที่เกิดขึ้นก็คือรายจ่ายเรื่องนี้สูงมากจนพุ่งขึ้นไปถึงประมาณร้อยละ 20 ของงบประมาณประเทศในปี 2013

          ราคาน้ำมันในอินโดนีเซียถูกที่สุดในเหล่าประเทศที่ผลิตและนำเข้าน้ำมัน (อินโดนีเซียนำเข้ามากกว่าส่งออก) น้ำมันเบนซินมีราคาเพียงลิตรละประมาณ 13 บาท หรือ 4,500 รูเปีย (สหรัฐอเมริกาแพงกว่า 1 เท่า)

          เมื่อทำให้ถูกอย่างนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้คนใช้กันสนุกมือและรัฐจำเป็นต้องใช้เงินอุดหนุนมากยิ่งขึ้นในแต่ละปี เมื่อทนสถานการณ์ไม่ไหวจึงมีแผนการปรับราคาขึ้นเป็น 6,500 รูเปียต่อลิตร (19.7 บาทต่อลิตร หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 50)

          ก่อนหน้านี้ตั้งใจว่าจะแบ่งการปรับราคาเป็น 2 ประเภทกล่าวคือกลุ่มแรกผู้ใช้ รถมอเตอร์ไซค์และรถสาธารณะจะคงราคาไว้เท่าเดิมคือ 4,500 รูเปียต่อลิตร ส่วนกลุ่มสองผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวและการค้า เช่น รถขนส่ง รถของบริษัท จะปรับราคาขึ้นเป็น 6,000 รูเปีย

          อย่างไรก็ดีหลังจากใคร่ครวญแล้วก็พบว่าคงจะบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายได้ยากเพราะราคาต่างกันมาก คงจะมีมือดีโยกข้ามการใช้จนเอาไม่อยู่ดังนั้นจึงจำใจจะปรับราคาขึ้นเป็น 6,500 รูเปียต่อลิตรสำหรับทุกกลุ่ม

          ทันทีที่มีข่าวออกมาว่ารัฐบาลเตรียมจะปรับราคา ผู้คนเป็นหมื่นออกมาประท้วงกันบนถนน ประธานาธิบดี Susilo Bambang Yudhoyono หรือ SBY หัวหน้าพรรค Democratic Party ซึ่งมีเสียงเป็นรองคู่แข่งและ SBY ลงสมัครอีกครั้งไม่ได้แล้วตระหนักดีว่าราคาน้ำมันในอินโดนีเซียเป็นเรื่องสำคัญที่สร้างอารมณ์คนในประเทศได้มาก การล้มคว่ำของประธานาธิบดี Suharto จากราคาน้ำมันยังคงแจ่มชัดอยู่ในใจนักการเมือง แต่ถึงกระนั้นก็ตามรัฐบาลมีทางเลือกไม่มากนัก

          อินโดนีเซียนั้นมีกฎหมายห้ามรัฐบาลขาดดุลงบประมาณเกินกว่าร้อยละ 3 ของงบประมาณรายปี ถ้าปรับราคาน้ำมันขึ้นซึ่งหมายถึงการลดการชดเชยก็จะช่วยลดรายจ่ายจนทำให้การขาดดุลงบประมาณอยู่ในวงที่กฎหมายกำหนดได้

          ในประชากร 230 ล้านคนของอินโดนีเซียมีคนอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน 29 ล้านคน และอยู่เหนือเส้นความยากจนเล็กน้อยอีก 70 ล้านคน การขึ้นราคาน้ำมันมากขนาดนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และคนที่ถูกกระทบมากที่สุดก็คือคนเหล่านี้ เชื่อว่าอาจมีประชากรหล่นลงไปอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนอีกหลายสิบล้านคน

          มิใยที่องค์กรระหว่างประเทศจะเตือนเรื่องการใช้เงินอุดหนุนมหาศาลช่วยทำให้ราคาน้ำมันต่ำกว่าความเป็นจริงมาก แต่รัฐบาลอินโดนีเซียก็ไม่อาจแก้ไขได้เพราะประชาชนเคยชินต่อการใช้น้ำมันราคาถูกมายาวนาน ถึงแม้ SBY จะพยายามลดภาระด้านการเงินของรัฐบาลตั้งแต่ ค.ศ. 2009 แต่ก็ไม่เป็นผลเพราะมีแรงค้านมากมายจากพรรคของตนเองและจากประชาชน

          ปัญหาที่รัฐบาลอินโดนีเซียประสบครั้งนี้เป็นอุทาหรณ์อย่างดีสำหรับหลายประเทศที่ทำให้ประชาชนเคยชินกับการใช้ของถูกหรือฟรีจนติดเป็นนิสัยซึ่งจะเป็นภาระที่หนักอึ้งในระยะยาว

          ความเคยชินของมนุษย์โดยเฉพาะในเรื่องการได้รับเป็นเรื่องที่ต้องระวังเพราะอาจนำไปสู่ความหายนะของส่วนรวมได้