วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
21 พฤษภาคม 2556
การยุบโรงเรียนขนาดเล็กเป็นเรื่องเกี่ยวโยงกับอนาคตของชาติมากกว่าที่อาจเข้าใจกัน การลดจำนวนหมายถึงคุณภาพการศึกษาที่เพิ่มขึ้น การใช้ทรัพยากรมีประสิทธิภาพมากขึ้น การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของเด็กในโรงเรียนขนาดเล็กมากขึ้น และการเท่าเทียมระหว่าง เด็กเล็กในชนบทด้วยกันเองมากขึ้น
การยุบโรงเรียนขนาดเล็กมีมานานแล้วเพียงแต่ยังไม่มีใครกล้าทำอย่างจริงจัง ในอดีตเมื่อ 10 กว่าปีก่อนมีการทำอยู่บ้างแต่ก็เลิกไป สภาพการณ์ความเป็นจริงในเรื่องโรงเรียนขนาดเล็กมีดังต่อไปนี้
(1) สังคมเรามีเด็กเกิดน้อยลงเป็นลำดับ ในช่วงเวลา ค.ศ. 1955 ถึง 1995 เรามีเด็กเกิดเกินกว่า 1 ล้านคนต่อปีต่อเนื่องกัน แต่ในช่วง 1995-2000 เหลือ 955,000 คนต่อปี 2000-2005 เหลือ 914,000 คน 2005-2010 เหลือ 872,000 คน และระหว่าง 2010-2015 คาดว่าจะเกิดเฉลี่ยปีละไม่ถึง 750,000 คน
เมื่อหักลบการตายในแต่ละปีของคนไทย ปัจจุบันก็จะมีจำนวนประชากรเพิ่มสุทธิ ปีละ 300,000 คนเศษ ๆ เมื่อเทียบกับกว่า 1 ล้านคนในช่วง 1965-1975 มีการประมาณการว่าจำนวนประชากรไทย 67 ล้านคนในปัจจุบันอาจสูงขึ้นไปไม่เกิน 70 ล้านคนและจะลดลง หลักฐานสนับสนุนขั้นหนึ่งก็คืออัตราเจริญพันธุ์ของหญิงไทย (Total Fertility Rate) ลดลงเป็นลำดับจากการมีลูกตลอดชีวิตเฉลี่ย 6.14 คนในปี 1950 เหลือ 1.63 คนในปัจจุบัน ซึ่งแสดงว่าไม่สามารถมีลูกถึง 2 คน เพื่อทดแทนพ่อแม่ได้
(2) โรงเรียนที่ให้การศึกษาขั้นพื้นฐานภายใต้การดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ มีประมาณ 30,000 โรงเรียน มีนักเรียนประมาณ 7.57 ล้านคนในปัจจุบัน (ในปี 2551 มี 9.93 ล้านคน)
โรงเรียนที่มีนักเรียน 20-40 คน มีประมาณ 2,000 โรงเรียน 40-60 คน มี 3,163 โรงเรียน ต่ำกว่า 60 คน มี 5,962 โรงเรียน และต่ำกว่า 120 คน มี 17,000 โรงเรียน หรือกว่าครึ่งหนึ่งของโรงเรียนทั้งหมด
โรงเรียนเล็กขนาดต่ำกว่า 120 คนนี้เกือบทั้งหมดอยู่ในเขตนอกเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตชนบท พ่อแม่มีฐานะไม่ดีนัก
(3) กระทรวงศึกษาธิการใช้งบประมาณปีละ 460,000 ล้านบาท (มากที่สุดของกระทรวงทั้งหมด) กว่าร้อยละ 75 ของยอดนี้เป็นเงินเดือนและค่าตอบแทนของครูและบุคลากรทางการศึกษา ประมาณเกือบ 500,000 คน (ครู 450,000 คน บุคลากรทางการศึกษา 50,000 คน)
(4) ในประเพณีของการโยกย้ายครูนั้นจะโยกย้ายครูไปโรงเรียนอื่นมิได้ยกเว้นแต่จะเป็นความเห็นพ้องของเจ้าตัว ถึงแม้ว่าจะมีโรงเรียนจำนวนมากที่มีครูไม่ครบจำนวน 8 คน ตามมาตรฐานสาระการเรียนรู้ (8 วิชา) และสัดส่วนครูไม่ถึงนักเรียน 20-25 คนต่อครู 1 คนก็ตามที แต่ก็ไม่อาจบังคับให้ย้ายไปอยู่ได้
กระทรวงศึกษาธิการพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องการกระจายตัวของครูในโรงเรียน ต่าง ๆ ท่ามกลางแรงกดดันทางการเมืองทุกระดับ (ใครก็อยากเป็นครูในโรงเรียนใหญ่ ๆ ในเมืองใหญ่ ๆ สัดส่วนนักเรียนกับครูจึงต่ำกว่าเกณฑ์) โดยบรรจุครูใหม่ในโรงเรียนที่มีครูเกษียณอายุในโรงเรียนขนาดเล็กในชนบท
อัตราครูก็ไม่ได้เพิ่มมาเป็นเวลานานเพราะถูกบีบให้กระจายครู เพราะจำนวนครูโดยรวมไม่น้อยเลยแต่กระจุกอยู่ในบางพื้นที่ อีกทั้งการจ้างข้าราชการ 1 คน ทางการคำนวณว่าจะใช้เงินถึง 35 ล้านบาท (คำนวณล่าสุดโดยตัวเลขสูงขึ้นจาก 18 ล้านบาท เพราะมีสวัสดิการพ่อแม่ คู่ชีวิต และลูกครู เงินเดือนปรับใหม่สูงขึ้น คนมีอายุยืนมากขึ้น ค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น)
การขาดแคลนครูในโรงเรียนในชนบทเป็นเวลาเนิ่นนานนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่ได้ยินกัน ซึ่งทำให้เกิดครูมีสอนไม่ครบทุกวิชา (ต้องเอาครูพละไปสอนภาษาอังกฤษ ครูศิลปะไปสอน พลศึกษาฯ) สัดส่วนครูกับนักเรียนไม่เข้าเกณฑ์
จากสภาพการณ์เช่นนี้ถ้าไม่แก้ไขอะไรเลย สิ่งต่อไปนี้จะเกิดขึ้น (1) นับหมื่นโรงเรียนจะไม่มีเด็กเข้าโรงเรียนเพราะจำนวนเกิดจะน้อยลงเป็นลำดับ โรงเรียนที่เล็กและเล็กมาก เช่น 20-60 คน จะไม่มีนักเรียน ครูที่มีอยู่เพียง 2-4 หรือ 6 คน จะไม่มีงานทำ แต่หลวงต้องจ่ายเงินเดือนให้ตลอด หากไม่ปิดโรงเรียนและมีเด็กน้อยมากอีกทั้งครูไม่ยอมย้ายก็จะเป็นการสูญงบประมาณไปอย่างมาก
(2) เด็กชนบทยากจนซึ่งมีจำนวนกว่า 4-5 ล้านคน จะไม่มีวันได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเลยด้วยครูจำนวน 2-3 คนที่สอน 8 วิชา และบางแห่งอาจมีครูเพียง 2 คนก็เป็นได้ จะเรียนกันกระพร่องกระพร่องแบบนี้เรื่อยไปอีกนานจนโรงเรียนไม่มีนักเรียน จึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลง
(3) ปัจจุบันเด็กชนบทในโรงเรียนขนาดเล็กที่พ่อแม่พอมีตังค์ก็นั่งรถตู้ที่มารับไปเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่ที่ไกลออกไปซึ่งพ่อแม่รู้ว่ามีคุณภาพสูงกว่า คนที่ไม่มีตังค์ก็ต้องอดทนกับโรงเรียนเล็กใกล้บ้านต่อไปเพราะไม่มีทางเลือก ความเหลื่อมล้ำนี้มีอยู่มาก ใครที่เข้าไปดูโรงเรียนในชนบทจะเห็นชัดเจน
(4) เงิน 460,000 ล้านบาทถูกใช้ไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพในปัจจุบัน ถ้าเอาคุณภาพการศึกษาที่สังคมต้องการมาเป็นเกณฑ์วัด เราไม่สามารถใช้เงินทุ่มไปที่โรงเรียนขนาดเล็กในชนบทได้ถนัดมือเพราะโรงเรียนกระจายตัวอยู่ทั่วไปหมด (สมัยก่อนสร้างไว้จำนวนมากเพราะการคมนาคมไม่สะดวก แต่เมื่อสะดวกแล้วก็ยังค้างเติ่งอยู่) ห้องสมุดดี ๆ สำหรับนักเรียนทุกโรงเรียนเป็นไปไม่ได้ นอกจากลดจำนวนลงไปมาก
หากจะจ้างครูใหม่อีกมากมายเพื่อสอนในโรงเรียนเหล่านี้ก็จะกินเงินมาก และในไม่กี่ปีจะเอาครูเหล่านี้ไปไว้ที่ไหนเพราะไม่มีเด็กให้สอน
ทางออกของเรื่องนี้ไม่ใช่การยุบโรงเรียนอย่างไม่ดูตาม้าตาเรือ หากโรงเรียนอยู่ในที่ทุรกันดารหรือทำไว้แล้วดีมาก (มีการช่วยเหลือโรงเรียนขนาดเล็กกันอยู่แล้วโดยการวิ่งรอกครู เอานักเรียนใส่รถเอาไปเรียนร่วมกับโรงเรียนอื่น ๆ) อยากเป็น home school ที่ชุมชนช่วยกันและทำได้ดีก็ควรสนับสนุนให้ทำต่อไป
โรงเรียนเล็กใดที่ท้องถิ่นอยากรับโอนไปดูแลเองไม่ว่าจะเป็น อบต. หรือ อบจ. ก็ควรพิจารณาปล่อยไป โรงเรียนใดที่ไม่ไหวจริง ๆ ก็โปรดได้เห็นแก่สิทธิอันชอบธรรมในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของเด็ก จงยุบด้วยการควบรวมกับโรงเรียนอื่นพร้อมกับให้เงินอุดหนุนค่ารถเพื่อการเดินทางแก่พ่อแม่เด็กเถิด
คะแนนสอบที่ต่ำของเด็กไทยในเกือบทุกวิชาส่วนหนึ่งก็มาจากคะแนนสอบของเด็กในโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้แหละที่ช่วยฉุดลงมาเนื่องจากโรงเรียนไม่มีครูที่มีคุณภาพครบทุกสาระการเรียนรู้ และไม่มีสัดส่วนระหว่างครูกับเด็กที่เหมาะสม
ปัญหาเรื่องโรงเรียนขนาดเล็กจะลุล่วงได้ก็ต่อเมื่อมีการแก้ไขด้วยการพิจารณาเป็น ราย ๆ ด้วยหลายมาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์
เรื่องลดจำนวนโรงเรียนลงนั้นเป็นเรื่องอื้อฉาวเพราะมีคนได้เสียมาก อัตราผู้อำนวยการโรงเรียนจะหายไปหลายพันอัตรา นักการเมืองท้องถิ่นไม่ชอบเพราะบางชุมชนไม่พอใจ กลุ่มอำนาจต่าง ๆ ชอบใช้ประเด็นนี้สร้างความสำคัญให้ตนเอง มีหลายคนเสียอำนาจ แต่คนสำคัญที่เราลืมนึกถึงไปก็คือเด็กในโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้
การมีโรงเรียนขนาดเล็กไม่ควรเกี่ยวกับความโรแมนติกของการมีโรงเรียนใกล้ชุมชน หากควรคำนึงปัญหาคุณภาพและสิทธิในการได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพในภาพรวมของชาติ