สีนั้นสำคัญไฉน

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
18 มิถุนายน 2556

          สีในสังคมไทยปัจจุบันเป็นตัวแทนของความเห็น ความคิด ความเชื่อ และความชอบของสมาชิกแต่ละกลุ่ม อย่างไรก็ดีถ้าเจาะลึกลงไปในเรื่องของสีเชิงวิชาการแล้ว เราจะพบความสำคัญของมันที่มีต่อการดำรงชีวิตอย่างคาดไม่ถึง

          Discovery Channel Magazine ฉบับ June, 2013 ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสีที่น่าสนใจหลายประการ ผู้เขียนขอนำบางส่วนมาใช้ในข้อเขียนนี้

          อัตราการฆ่าตัวตายในญี่ปุ่นนับว่าสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ (ต่อประชากร 100,000 คน ไทยมี 7.8 คน อังกฤษ 11.8 คน สหรัฐ 12 คน ญี่ปุ่น 21.7 คน จีน 22.2 คน เกาหลีใต้ 31.7 คน กรีนแลนด์ 108.1 คน) ในแต่ละปีมีกรณีฆ่าตัวตายเฉลี่ย 30,000 ราย วิธีการที่นิยมกันมากก็คือโดดจากชานชาลาสถานีให้รถไฟทับ บริษัทรถไฟญี่ปุ่นได้พยายามแก้ไขด้วยการเอาสีเขียวสดมาทาบริเวณทางเดินข้ามทางรถไฟที่ใกล้กับชานชาลาตั้งแต่เมื่อ 13 ปีก่อน ด้วยความเชื่อว่าสีสด ๆ จะช่วยเปลี่ยนสภาพจิตใจอันหดหู่ของผู้ที่ต้องการฆ่าตัวตายได้

          อย่างไรก็ดีวิธีการนี้ไม่ได้ผล เมื่อปี 2009 บริษัทรถไฟหันมาใช้ไฟสีน้ำเงินส่องลงบนบริเวณชานชาลาของสถานีที่มีปัญหามากเป็นพิเศษ โดยเชื่อว่าจะมีอิทธิพลต่อผู้ต้องการฆ่าตัวตาย และก็ปรากฏว่าได้ผล ในปี 2012 มีผู้ฆ่าตัวตาย 27,766 คน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ต่ำกว่า 30,000 คน นักวิชาการสองคน คือ Tetsuya Matsubayashi และ

          Michiko Ueda ศึกษาเรื่องนี้และตีพิมพ์บทความใน Journal of Affective Disorders (May, 2013) โดยพบว่าสีน้ำเงินมีอิทธิพลต่อการลดลงของกรณีโดดให้รถไฟทับและมีส่วนดึงให้สถิติความถี่ของการฆ่าตัวตายของประเทศลดลง ที่เห็นได้ชัดก็คือเกือบจะไม่มีการฆ่าตัวตายในสถานีที่ติดตั้งไฟสีน้ำเงินเลย

          ความเชื่อในเรื่องอิทธิพลของสีที่มีต่อจิตใจและพฤติกรรมมนุษย์มีมานานแล้ว หลักฐานชิ้นสำคัญก็คือการทดลองของนักจิตวิทยาในปลายทศวรรษ 1970 ด้วยการทาสีห้องขังนักโทษในคุกด้วยสีชมพู และพบว่าพฤติกรรมก้าวร้าวของนักโทษลดลงอย่างเห็นได้ชัด

          อิทธิพลของสีดังกล่าวทำให้เจ้าบ้านนิยมทาสีชมพูในห้องพักนักกีฬาของ “ทีมเยือน” เพื่อให้ผู้เล่นรู้สึกอ่อนลง และเสียเปรียบในการแข่งขัน ในปัจจุบันมีกฏของกีฬาในสหรัฐอเมริกาที่ระบุว่าจะทาสีใดก็ได้ในห้องพักนักกีฬาของ “ทีมเยือน” แต่จะต้องเป็นสีเดียวกันกับสีที่ทาภายในห้องพักนักกีฬา “ทีมเหย้า” นี่คือหลักฐานของความสำคัญของสี

          ในปัจจุบันสถาปนิกทั่วโลกนิยมใช้สีโทนอ่อนเหลืองหรือฟ้าทาผนังและเพดานห้องภายในเพื่อลดความรุ่มร้อนของผู้อยู่อาศัย มีเรื่องเล่ากันว่าในยุคปลายทศวรรษ 1960 อัตราการฆ่าตัวตายสูงอย่างผิดสังเกตของนักศึกษาในหอพักต่างชาติของมหาวิทยาลัยคาลิฟอร์เนีย แคมปัส Berkeley ซึ่งทาผนังในบางห้องด้วยสีแดง

          มีงานวิจัยพบว่าในการแขงขันกีฬาโอลิมปิกที่ Athens ในปี 2004 นักกีฬาประเภทมวย เทควอนโด และมวยปล้ำ ที่มีสีแดงติดกำกับเพราะอยู่ฝ่ายแดงได้เปรียบเพราะมีหลักฐานว่ามีจำนวนชนะมากกว่าฝ่ายน้ำเงินอย่างไม่สอดคล้องกับหลักสถิติ งานวิจัยการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ปักกิ่งปี 2008 สำหรับกีฬาประเภทดังกล่าวก็พบหลักฐานยืนยันเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าผู้ศึกษาเชื่อว่ากรรมการเป็นผู้ทำให้ฝ่ายแดงชนะมากกว่าเนื่องจากความเอนเอียงอันเกิดจากการได้เห็นสีแดงบนร่างกาย

          นักวิชาการเชื่อว่าสีแดงมีอิทธิพลในเชิงครอบงำจิตใจมนุษย์มากว่าสีอื่น (ขอย้ำว่าเรากำลังพูดกันถึงเรื่องจิตวิทยาไม่ใช่เรื่องการเมือง) เนื่องจากเกี่ยวพันกับสีของเลือด เนื้อ และการเกิดซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ นอกจากนี้มนุษย์ใช้ดินสีแดงซึ่งเป็นผลจากเม็ดสีของ iron oxide มาใช้เป็นสีเขียนตามร่างกาย เขียนผนังถ้ำเมื่อ 30,000 ปีก่อน เขียนภาพบนภาชนะและบนเสื้อผ้า ฯ

          ในการสำรวจของบริษัทที่ปรึกษาเรื่องสีพบว่าในธงชาติทั่วโลกมีสีแดงปรากฏอยู่ ร้อยละ 77 สีขาวร้อยละ 73 และสีน้ำเงินร้อยละ 53 และในการสำรวจประชากรใน 30 กว่าประเทศพบว่าสีน้ำเงินเป็นสีที่คนชอบมากที่สุด และในหลายสีที่บอกว่าเกลียดมากที่สุดก็คือสีเหลือง

          อย่างไรก็ดี เมื่อศึกษาลึกลงไปก็พบว่ามิได้รังเกียจสีเหลือง แต่ไม่ชอบคำว่าสีเหลือง ความจริงที่พบก็คือสีทาบ้านที่ขายดีที่สุดคือสีโทนเหลือง เพราะเมื่อเรียกชื่อเป็นอย่างอื่น เช่น วานิลลา แชมเปญ ฯลฯ สีโทนเหลืองเหล่านี้กลับขายดีกว่าสีน้ำเงินหลายหมื่นเท่าตัว

          ในภาษาอังกฤษ yellow หมายถึงขี้ขลาด ซึ่งมีนัยยะไปในทางลบ ดังนั้นจึงเข้าใจว่าคนไม่ชอบคำนี้แต่ชอบโทนสีของมัน นอกจากนี้ยังมีบริเวณที่เหมาะแก่การทาสีโทนเหลืองมากกว่า สีน้ำเงิน เช่น ฝาห้อง เพดาน เป็นต้น

          นักวิชาการสีเชื่อว่าแถบสีขาว ดำ และแดง คือการผสมปนกันของสีที่แสดงออกถึงพลังอำนาจมากที่สุด ตัวอย่างเช่น แถบสีของ Nazi โลโก้ของโคคาโคล่า ตลอดจนเครื่องหมายสัญลักษณ์ขององค์กรระดับโลก เครื่องหมายยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ฯลฯ

          อย่าดูถูกอิทธิพลของสี สินค้าจำนวนมากมายขายไม่ออกก็เพราะใช้สีที่ไม่ดึงดูดใจลูกค้า ไม่สอดคล้องกับลักษณะของสินค้า (เช่น กางเกงมวยสีชมพูหรือม่วงสดสำหรับชกมวยไทย) ไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของลูกค้า (หมวกสีเขียวในจีนไม่เหมาะเพราะวลีว่า “ใส่หมวกสีเขียว” ตรงกับ ‘กำลังถูกสวมเขา’ ในภาษาไทย)

          เรื่องการชอบสีใดในเชิงการเมืองของไทยไม่เกี่ยวกับการทรงอิทธิพลของสีในเชิงวิชาการ จะชอบสีใดไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงอิทธิพลของสี คงคล้ายกับที่เขาบอกว่าเรารักชาติได้โดยไม่จำเป็นต้องรักรัฐบาลกระมัง