บิดาของวิชา Cliometrics

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
25 มิถุนายน 2556

          ประวัติศาสตร์ สถิติขั้นสูง และเศรษฐศาสตร์ มาสัมพันธ์กันได้อย่างไร? ศาสตร์ที่มีชื่อว่า Cliometrics อธิบายปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์อย่างมีหลักฐานตัวเลข เชิงวิชาการสนับสนุน ไม่ใช้ความมีเหตุมีผลแต่อย่างเดียวดังที่เคยกระทำกันมา

          Cliometrics มาจากคำว่า Clio ซึ่งเป็นชื่อของเทพธิดาประจำวิชาประวัติศาสตร์ใน เทพปกรณัมกรีก (Green Mythology) ส่วน Metrics หมายถึงตัววัดเชิงปริมาณ บางทีก็เรียกชื่อวิชานี้ว่า New Economic History (ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจใหม่) หรือ Econometric History (ประวัติศาสตร์เชิงเศรษฐมิติ) ในวิชานี้เครื่องมือทางสถิติถูกนำมาใช้ผสมกับเศรษฐศาสตร์เพื่อพยายามเข้าใจประวัติศาสตร์เศรษฐกิจอย่างแจ่มแจ้งมากขึ้นผ่านการวัดเชิงปริมาณ

          วิชา History of Economics หมายถึงประวัติศาสตร์ของเศรษฐศาสตร์ เช่น ศึกษาการเชื่อมโยงของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ต่าง ๆ ข้ามยุคสมัย ประวัติศาสตร์ของแนวคิดต่างๆ ในเศรษฐศาสตร์ ฯลฯ ส่วน Economic History หมายถึงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ เช่น ศึกษาการเกิดขึ้นของการค้าเสรีของไทยจากอดีต ศึกษาปรากฏการณ์ “ต้มยำกุ้ง” การดำเนินชีวิตเชิงเศรษฐกิจของคนไทยในสมัยสุโขทัย ฯลฯ

          Econometrics หรือเศรษฐมิติคือการประยุกต์ใช้เครื่องมือทางสถิติเข้ากับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เพื่อประโยชน์ในการพยากรณ์ จำลองภาวะเศรษฐกิจ เข้าใจความสัมพันธ์ของตัวแปร ต่าง ๆ เช่น ค่าจ้างกับการว่างงาน ค่าจ้างกับค่าครองชีพ เป็นต้น

          มี ‘เจ้าพ่อ’ ของวงการ Cliometrics อยู่คนหนึ่งเป็นผู้รับรางวัลโนเบิลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 1993 เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้จากไปในวัย 86 ปี โดยทิ้งความอื้อฉาวเชิงวิชาการไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษากันต่อไป

          ศาสตราจารย์ Robert Fogel เป็นอเมริกันยิว สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก ในสมัยเป็นนักศึกษาเป็นคอมมูนิสต์ แต่หลังจากเรียนจบปริญญาตรีได้ 8 ปี ก่อนที่จะเรียนปริญญาเอกที่ Johns Hopkins University เขาก็ละทิ้งอุดมการณ์คอมมูนิสต์อย่างสิ้นเชิงเพราะเห็นว่าไม่เป็นวิทยาศาสตร์

          งานเขียนสำคัญของเขาที่เขย่าวงการเศรษฐศาสตร์ก็คือหนังสือชื่อ Time on the Cross : The Economics of American Negro Slavery (1974) เขาศึกษาเรื่องทาสในสหรัฐอเมริกาอย่างกว้างขวางโดยมีข้อมูลเชิงปริมาณสนับสนุน และได้ผลการศึกษาที่ตรงข้ามกับความเชื่อในแวดวงประวัติศาสตร์และประชาชนที่มีมายาวนาน โดยเขาสรุปว่าระบบทาสอเมริกัน (ใช้ผิวดำที่จับจากอาฟริกามาเป็นทาสเพื่อใช้แรงงานในไร่ฝ้าย กาแฟ และอ้อย) นั้นมีประสิทธิภาพในการหาประโยชน์จากขนาดการผลิต (Economy of Scale) ที่ใหญ่ในระบบ plantation (ผลิตโดยการปลูกในแปลงขนาดใหญ่ที่มีการดูแลอย่างเป็นระบบ) ก่อให้เกิดกำไรมหาศาล และทาสมิได้มีความเป็นอยู่ที่เลวร้ายถูกเฆี่ยนถูกตีทุกเมื่อเชื่อวัน ดังที่เคยเข้าใจกัน

          Fogel แสดงตัวเลขให้เห็นว่าทาสผิวดำมีความเป็นอยู่มิได้เลวร้ายไปกว่าผู้ใช้แรงงานในเวลาเดียวกันในเขตอุตสาหกรรมทางเหนือ นอกจากนี้นายทาสยังพยายามดูแลทาสเป็นอย่างดีเพราะเป็นทรัพย์สินที่สำคัญในการสร้างความมั่งคั่งอีกด้วย ระบบทาสนั้นมีประสิทธิภาพจนเชื่อว่าถ้าไม่มีสงครามกลางเมือง (ค.ศ. 1861-1865) แล้ว ระบบทาสผิวดำในอเมริกาก็ยากที่จะเลิกได้

          เมื่อการศึกษามีข้อสรุปเช่นนี้ก็เป็นเรื่องขึ้นมาทันที นักวิชาการและผู้รู้ในสังคมรวมกันออกมาถล่มว่าเขาเอนเอียง เข้าข้างคนผิวขาวที่เคยเอาเปรียบคนผิวดำ (Fogel ไม่ได้ตอบโต้เรื่อง เชื้อชาติ คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าเขาแต่งงานกับอเมริกันผิวดำ) แต่เขาก็มีหลักฐานตัวเลขและวิธีการศึกษาที่น่าเชื่อถือโต้ตอบตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา

          Fogel มีงานศึกษาที่อื้อฉาวอีกชิ้นหนึ่งก่อนหน้านี้ในปี ค.ศ. 1964 เรื่องบทบาทของรถไฟในการพัฒนาเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา โดยเขามีข้อสรุปตรงข้ามความเข้าใจและการยอมรับกันมาแต่ดั้งเดิม

          สิ่งที่เชื่อกันมาก็คือการขนส่งทางรถไฟของข้าวสาลี ข้าวโพด หมู และวัว ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญที่สุดในศตวรรษที่ 19 หลังสงครามกลางเมืองของสหรัฐอเมริกานั้น สามารถช่วย ลดต้นทุนจนเกิดเป็นแรงผลักดันสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ Fogel พิสูจน์ด้วยการใช้ Cliometrics ว่า ถ้าแม้นไม่มีรถไฟก็จะมีการขนส่งโดยเครือข่ายทางน้ำผ่านคลองที่มีอยู่แล้วและโดยเกวียนขนส่งอยู่ดี เขาคำนวณว่าถ้าไม่มีรถไฟแล้วผลผลิตรวมของทั้งประเทศในปี ค.ศ. 1890 ก็จะลดไปเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น

          ไม่ว่าเขาจับงานวิจัยใดก็เป็นเรื่องขึ้นมาทั้งนั้น แต่นักวิชาการก็ ‘ตี’ เขาได้ยากเพราะเขาใช้เครื่องมือสถิติขั้นสูงและวิธีการวิเคราะห์ที่เป็นวิทยาศาสตร์พิสูจน์ให้เห็นความจริงบางประการในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจซึ่งหลายเรื่องก็ตรงข้ามกับข้อสรุปที่เคยเข้าใจกัน สิ่งที่ผู้คนชื่นชมเขาก็คือความกล้าหาญทางจริยธรรม (moral courage) เขากล้าที่จะเสนอสิ่งที่ตรงข้ามกับความคิดกระแสหลักโดยมีหลักฐานสนับสนุนจาก Cliometrics

          ในช่วงปลายชีวิต เขาหันมาศึกษาประวัติศาสตร์ มาตรฐานการครองชีพ สารอาหารที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและความมีอายุยืน (เขาพบว่าตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาคนเตี้ยและผอมมีทางโน้มที่จะเจ็บป่วยมากกว่าคนอื่น ๆ) เขาเชื่อว่าสามารถหาบทเรียนได้จากประวัติศาสตร์เพื่อประโยชน์ของอนาคตโดยการใช้สถิติและเศรษฐศาสตร์เป็นเครื่องมือ

          Fogel ผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาของวิชา Cliometrics รับรางวัลโนเบิลสาขาเศรษฐศาสตร์จากผลงานในการรื้อฟื้นความสนใจในวิชาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโดยการใช้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์และเครื่องมือเชิงปริมาณร่วมกันเพื่ออธิบายการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและโครงสร้างสถาบันซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายต่อไป

          เศรษฐศาสตร์เป็นเพชรเม็ดงามของสังคมศาสตร์ในทุกวันนี้ได้ก็เพราะมีนักสถิติ นักคณิตศาสตร์ นักการศึกษา นักจิตวิทยา แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ วิศวกร นักประวัติศาสตร์ ฯลฯ หลงใหลในเศรษฐศาสตร์ และนำศาสตร์ที่ตนเองเชี่ยวชาญมาประยุกต์ต่อยอดเข้ากับเศรษฐศาสตร์จนเกิดความเจริญงอกงามของความรู้และปัญญา โดยทั้งหมดเป็นไปเพื่อความก้าวหน้าของมนุษยชาติ