วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
16 กรกฎาคม 2556
ความพยายามในการสร้างกลุ่มผูกขาดราคา (cartel) ของพืชเกษตรโดยเลียนแบบ OPEC ของน้ำมันมีมาตลอดไม่ว่าจะเป็นยาง กาแฟ ข้าว ฯลฯ และก็ประสบความล้มเหลวทั้งสิ้น บัดนี้ 6 ประเทศใหญ่ของผู้ผลิตชาของโลกกำลังจะพยายามทำ “แฮททริก”
เมื่อเร็ว ๆ นี้ 6 ผู้ผลิตใหญ่ของชาโลก คือ อินเดีย อินโดนีเซีย เคนยา มาลาวี รวันดา และศรีลังกา ได้ลงนามตกลงกันตั้ง International Tea Producers Forum เพื่อร่วมกันรักษาเสถียรภาพของราคาชา รักษาความยั่งยืนของการผลิตชา และส่งเสริมเครื่องดื่มชา
ในแต่ละปีทั้ง 6 ประเทศร่วมกันผลิตชาถึงเกือบร้อยละ 80 ของโลก หรือ 2.443 ล้านตัน (2010) โดยอินเดียผลิต 1.07 ล้านตัน ศรีลังกา .329 ล้านตัน เคนยา .304 ล้านตัน อินโดนีเซีย .147 ล้านตัน มาเลเซีย .042 ล้านตัน (จีนผลิต .054 ล้านตัน เป็นผู้สังเกตการณ์)
ชาทำให้เกิดเครื่องดื่มซึ่งเป็นที่นิยมที่สองรองจากน้ำเปล่า (คนติดกาแฟอย่าสงสัยเพราะคนจีนและอินเดียรวมกัน 2,700 ล้านคนในประชากรโลก 7,500 ล้านคน นิยมดื่มชา) คนจีนเชื่อว่าบรรพบุรุษรู้จักชามาเกือบ 5,000 ปีแล้ว
Camellia sinensis เป็นพืชตระกูลชาที่เติบโตในบริเวณ Tropical และ Subtropical (ชาบางพันธุ์เก็บเกี่ยวได้ในพื้นที่อื่น เช่น ทางเหนือของเกาะอังกฤษ และรัฐวอชิงตันในสหรัฐอเมริกา) เชื่อกันว่าในสมัยโบราณชาเป็นพืชท้องถิ่นของบริเวณตอนเหนือของพม่าและเชื่อมต่อไปยังมณฑลยูนนานและเสฉวนของจีน
มีหลักฐานว่าคนจีนดื่มชากันตั้งแต่เมื่อพันปีก่อนคริสตกาล (3,000 ปีก่อน) พระและพ่อค้าชาวปอร์ตุเกสในศตวรรษที่ 16 เป็นกลุ่มคนนอกชุดแรกที่รู้จักชาและนำไปเผยแพร่แก่ชาวโลก คนอังกฤษรู้จักชาครั้งแรกใน ค.ศ. 1660 แต่ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักกันมากนักในกว่าร้อยปีต่อมา กว่าชาจะเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในทุกระดับสังคมของอังกฤษก็เป็นปลายศตวรรษที่ 19
ในยุคแรกชามีราคาแพงเพราะจีนผูกขาดดังนั้นใน ค.ศ. 1848 Robert Fortune ถูกส่งไปจีนเพื่อเอาพันธุ์มาปลูกในอินเดีย จนต่อมาปลูกแพร่หลายไปในหลายประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และเป็นที่มาของการที่อินเดียเป็นยักษ์ใหญ่ของโลกในการปลูกชาในปัจจุบัน
พืชเกษตรหลายอย่างที่พยายามผูกขาดพากันล้มเหลวทั้งนั้น เช่น The International Natural Rubber Organization ล่มสลายใน ค.ศ. 2000 หลังจากไทยและมาเลเซียถอนตัว The Association of Coffee Producing Countries ล่มสลายไปไม่นานมานี้หลังจากที่มีข้อเสนอให้ประเทศสมาชิกลดการส่งออกลงร้อยละ 20 ในปี 2000 และในที่สุดก็ช่วยพยุงราคาไว้ไม่ได้ ในที่สุดองค์กรก็ยุบเลิกไป
OPEC อาจเรียกได้ว่าเป็น cartel เดียวที่พอได้ผลในปัจจุบันในการควบคุมราคาน้ำมันถึงแม้จะลุ่ม ๆ ดอน ๆ อยู่เป็นเวลาหลายปี สาเหตุที่ไม่ล่มสลายก็เพราะว่าไม่มีใคร “ปลูก” น้ำมันได้ มันเป็นทรัพยากรที่งอกไม่ได้ ดังนั้นปฏิกริยาที่ผลิตออกมามากโดยประเทศอื่นที่มิใช่สมาชิกเพราะเห็นว่าราคาดีจึงไม่เกิดขึ้นเหมือนสินค้าเกษตร
มีคนพูดกันมากเรื่องการผูกขาดข้าวในตลาดโลกเพื่อทำให้ราคาสูง ปัจจุบันเลิกคิดกันไปแล้วเพราะแค่เรื่องข้าวในประเทศเราแห่งเดียวก็แทบเอาตัวไม่รอด นักเศรษฐศาสตร์บอกว่า cartel ของข้าวไม่ได้ผลเพราะแค่ผูกขาดการผลิตก็ทำได้ยากมาก เนื่องจากประเทศสมาชิกต้องให้ความร่วมมือและรักษากฎกติกาเคร่งครัด ไม่แอบไปขายหลังบ้านในราคาที่สูงกว่าที่ได้ตกลงกัน (เป็นสิ่งที่สมาชิก cartel ชอบทำกันโดยธรรมชาติ)
ถึงแม้จะควบคุมปริมาณผลผลิตได้เพื่อให้สามารถจัดการระดับราคาได้ในระดับหนึ่ง แต่ในเวลาไม่นานก็จะมีคนนอก cartel แห่กันผลิตข้าวเพราะราคาดึงดูดใจ จนในที่สุดก็จะมีข้าวออกมามากในตลาดจนรักษาราคาของ cartel ไว้ไม่ได้
ชาน่าจะประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับข้าว แต่ที่ปวดหัวกว่าก็คือชามีหลายประเภท (เช่น ชาดำ ชาเขียว ชาอูลอง ชาขาว) และมีหลากหลายคุณภาพจนยากแก่การกำหนดราคาเดียวกัน อีกทั้งยังไม่มีมาตรฐานของการกำหนดเกรดของชาอีกด้วย
นอกจากนี้ยังไม่มีตลาดชาล่วงหน้าเพื่อช่วยทำให้ราคาชามีเสถียรภาพยิ่งขึ้น และประการสำคัญที่สุดก็คือการยอมรับการมีโควต้าการผลิตและการส่งออกของสมาชิกซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของประสิทธิภาพของ cartel
cartel ของชาเคยมีเมื่อ 80 ปีก่อน และดูจะได้ผลในตอนแรกในการยกระดับราคา แต่ต่อมาก็เลิกร้างไป ในสมัยก่อนนั้นมีผู้ผลิตรายใหญ่ไม่กี่รายในโลกที่ถูกควบคุมโดยอังกฤษ แต่ปัจจุบันมีความหลากหลายในชนิดของผลผลิตและประเทศผู้ผลิต การบังคับโควต้าการผลิตและการส่งออกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก
ธรรมชาติของมนุษย์กับองค์การดูจะไม่ต่างกันก็คือการยากที่จะรักษาสัญญาโควต้าการผลิตและการลักลอบขายหลังบ้านในราคาที่สูงกว่าที่ได้ตกลงกันไว้ของ cartel ตราบที่ธรรมชาติของมนุษย์เป็นเช่นนี้ cartel ยากที่จะประสบความสำเร็จ