ทำอย่างไรกับ Authority Bias

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
23 กรกฎาคม 2556
  

          “คันเร่งของหัวรถจักรค้างจึงวิ่งจากสถานีมักกะสันพุ่งเข้าชนสถานีหัวลำโพง” “เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เกิดจากนักศึกษาคอมมูนิสต์ซ่องสุมมีอาวุธอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทางการจึงจำเป็นต้องบุกเข้าไป” คำอธิบายสองเหตุการณ์นี้ประชาชนไทยจำนวนมากเชื่ออย่างไม่มีข้อสงสัยเพราะทางการเป็นคนบอก

          เหตุการณ์แรกคนต่างชาติหัวเราะฟันโยกในความไร้เดียงสาของคนไทย มันจะเป็นไปได้อย่างไรที่หัวรถจักรและขบวนรถรวม 6 คัน คันเร่งค้างจนสามารถวิ่งผ่านทางมาได้เป็นกิโลเมตรและพุ่งเข้าชนสถานีหัวลำโพงจนคนตายไป 5 คน บาดเจ็บสาหัส 8 คนในเหตุการณ์ปี 2529 ความจริงก็คือหนังสือพิมพ์ฝรั่งในบ้านเรารายงานว่าในช่วงนั้นมีการประท้วงกันอยู่และมีคนเห็นคนขับบังคับหัวรถจักรเข้าชนแบบคามิกาเซ่ โดยโดดลงจากหัวรถจักรก่อนถึงจุดปะทะ

          เหตุการณ์ที่สองนั้นในปัจจุบันเราก็รู้กันแล้วว่าไม่เป็นความจริง มีผู้ชุมนุมไร้เดียงสาจำนวนมากในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกฆ่าอย่างโหดร้ายทารุณ แต่ตอนแรกผู้คนส่วนใหญ่เชื่ออย่างสนิทใจ

          เหตุที่เราเชื่อทั้งสองเหตุการณ์ก็เพราะมนุษย์ส่วนใหญ่มีสิ่งหนึ่งอยู่ในใจที่เรียกว่า “authority bias” กล่าวคือมีความเอนเอียงเชื่อเพราะ authority หรือ “ผู้มีอำนาจ” เป็นผู้บอก

          ผู้คนทุกชาติมี “authority bias” ด้วยกันทั้งนั้น มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่สติปัญญาของแต่ละคน และด้วยความมีตัวตนของความเอนเอียงเช่นนี้ จึงมีความพยายามกันมากที่จะเป็น authority เพื่อหาประโยชน์จากความเอนเอียงโดยธรรมชาติ

          พราหมณ์ตั้งแต่เมื่อหลายพันปีก่อนเป็นคนกลุ่มเดียวที่ผู้คนเชื่อว่าสามารถติดต่อกับพระเจ้าได้ (แม้แต่พระเจ้าแผ่นดินก็ยังติดต่อไม่ได้) ดังนั้นพราหมณ์จึงอยู่ในวรรณะที่สูงสุด ใคร ๆ ก็ซูฮกให้ทั้งนั้นเพราะต้องการมีชีวิตที่ดีกว่าในโลกนี้และโลกหน้า (ตามคำบอกของพราหมณ์) พราหมณ์กลายเป็น authority สำคัญจนทุกวันนี้ในเรื่องการทำพิธีศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ

          พระก็เป็นอีก authority หนึ่งของสังคมไทยที่คนไทยนับถือและเชื่อคำพูด คนจำนวนหนึ่งงมงายมากจนทำให้พระและเณรที่ทุศีลทั้งหลายร่ำรวยไปตาม ๆ กัน ถ้าไม่มี authority bias พุทธมามกะบางส่วนคงไม่สูญเงินกันไปมากมายกับพระที่หาประโยชน์จากความเอนเอียงเช่นว่านี้หรอก

          พระที่เป็นหมอดูน่าเชื่อถือกว่าหมอดูธรรมดาก็เพราะการห่มผ้าเหลืองทำให้มีความเป็น authority มากกว่าคนเดินดิน ดังนั้นคนธรรมดาเหล่านี้จึงต้องฝึกหัดการทรงเจ้าเข้าผี มีอาศรม มีกะโหลก มีเครื่องรางเสริมเพื่อให้ดูขลังและมี authority มากขึ้นเพื่อหาประโยชน์จาก authority bias

          นายวิรพล สุขผล อดีตหลวงปู่เณรคำหลอกลวงได้ก็เพราะการสร้าง authority ด้วยการสร้างเรื่องว่าเป็นผู้วิเศษเป็นหลวงปู่ในร่างพระหนุ่ม เคยเกิดร่วมชาติกับพระพุทธเจ้า เป็น “พุทธบุตร” (เคยจำได้ว่าลูกพระพุทธเจ้าชื่อราหุล ไม่ใช่วิรพล) และเป็นตัวกลางพาไปสู่สวรรค์ได้

          เราเห็นคนจำนวนหนึ่งบ้าคลั่งเครื่องแบบ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. ลูกจ้าง ฯลฯ เนื่องจากเครื่องแบบทำให้ authority โดดเด่นขึ้น ชาวบ้านเห็นความมีอำนาจของพวกเขา และพวกเขาก็ได้ประโยชน์จาก authority bias

          เมื่อเรื่องมันเป็นเช่นนี้ พวกเราจึงต้องระวังคำพูด คำชี้แจง ความเห็น คำแนะนำ ฯลฯ จาก “ผู้มีอำนาจ” ทั้งหลาย เพราะหากไม่ระวังเราจะเชื่อเขามากกว่าที่ควรจะเป็น ในขณะเดียวกันเราก็มักมองข้ามการรับฟังจากคนอื่นที่อาจมีข้อแนะนำที่ดีกว่าแต่บังเอิญขาด authority

          มนุษย์โดยทั่วไปมักเชื่อคำวินิจฉัยของแพทย์ที่มี authority โดยธรรมชาติ (บางคน “ติดหมอ” ด้วย ไม่ยอมรับการรักษาจากหมอคนอื่น มันพิสูจน์ว่า authority ก็มีคิวเหมือนกัน) คำแนะนำเพื่อป้องกันการวินิจฉัยโรคที่อาจผิดพลาดโดยหมอคนเดียว (อย่าลืมว่ามนุษย์มีโรคทั้งหมดที่ทำให้เจ็บป่วยได้กว่าหนึ่งหมื่นโรค) ก็คือให้ไปหารือหมอคนที่สองเพื่อหา “second opinion” หรือการวินิจฉัยโรคอีกครั้งโดยหมออีกคนเพื่อความแน่ใจ

          ในโลกธุรกิจนั้นบริษัทที่มี authority bias อย่างแรงเพราะมี CEO เป็นเผด็จการ (ไม่ฟังใคร และไม่มีใครหือ) ทุกคนเชื่อฟังหมดมีโอกาสทำให้บริษัทพังได้ง่ายเช่นเดียวกับกัปตันเครื่องบินในสมัยก่อนที่มีอำนาจเด็ดขาดสูงสุดในเที่ยวบิน นักบินผู้ช่วยก็ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น สถานการณ์เช่นนี้ก่อให้เกิดอันตรายจึงมี

          โครงการ CRM (Crew Resource Management) ซึ่งอบรมให้กัปตันและพนักงานร่วมกันหารือเมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับความปลอดภัยเกิดขึ้น ซึ่งทั้งหมดก็คือการแก้ไขปัญหา authority bias นั่นเอง

          มนุษย์จะไม่ตัดสินใจผิดพลาดเพราะเชื่อข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหากตระหนักถึงการมี authority bias ในชีวิตประจำวันอยู่เสมอ ไม่ว่าจากโทรทัศน์ วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ หรือมนุษย์ด้วยกันเองก็ตามที

          authority bias นี้เองที่ทำให้กลุ่มผู้ทำรัฐประหารต้องหาผู้อ่านประกาศคณะปฏิวัติทางโทรทัศน์ที่ประชาชนรู้จักว่าเป็นตัวแทน “authority ใหม่” ที่น่าเชื่อถือ มิฉะนั้นประชาชนอาจนึกว่าเป็นละครโทรทัศน์ตอนเย็น