อย่าไว้ใจตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจ

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
30 กรกฎาคม 2556
   

          สังคมให้ความสำคัญมากมายกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยขาดการตระหนักว่าตัวเลขเบื้องหลังนั้นมีปัญหาในเรื่องความแม่นยำอยู่มาก และที่ร้ายสุดก็คือมันเป็นความแม่นยำที่พิสูจน์ไม่ได้ด้วย

          อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหรือ economic growth หมายความถึงอัตราการขยายตัวของ real GDP (มูลค่าที่แท้จริงของผลผลิตมวลรวมในประเทศ) หากมันเพิ่มขึ้นก็แสดงว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นบวก

          GDP (Gross Domestic Product) หมายถึงมูลค่าสินค้าและบริการทั้งหมดที่ถูกผลิตขึ้นจากพื้นที่ในประเทศไทยไม่ว่าจะโดยองค์กรหรือคนสัญชาติใดก็ตาม มูลค่านี้จะเท่ากับรายได้ที่เกิดขึ้นทั้งหมดจากการผลิตสินค้าและบริการจากพื้นที่ภายในประเทศไทยเสมอ เนื่องจากมูลค่าสินค้าชิ้นหนึ่งจะเท่ากับรายได้รวมของทุกคนที่เกี่ยวพันในการผลิตสินค้าชิ้นนั้น

          ในลิ้นจี่กระป๋องหนึ่งซึ่งมีมูลค่า 40 บาท ส่วนหนึ่งเป็นมูลค่าของลิ้นจี่ (เกษตรกรปลูกลิ้นจี่ได้รายได้ส่วนนี้ไป) ส่วนหนึ่งของน้ำตาล (เกษตรกรปลูกอ้อยและผู้ผลิตน้ำตาลได้รายได้ส่วนนี้ไป) ส่วนหนึ่งเป็นตัวกระป๋อง (ผู้ผลิตกระป๋องได้รายได้ส่วนนี้ไป) ฯลฯ เมื่อรวมมูลค่าเหล่านี้ทั้งหมดเข้าด้วยกันแล้วก็คือรายได้ของทุกคนที่เกี่ยวพันกับการผลิตลิ้นจี่กระป๋องนี้นั่นเอง

          ตัวเลข GDP จากปีหนึ่งไปอีกปีหนึ่งอาจเพิ่มขึ้นโดยไม่เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตจริง (ซึ่งเป็นของจริงที่สังคมต้องการ) ก็เป็นได้เนื่องจากเพียงราคาเท่านั้นที่ผลักให้มูลค่าสูงขึ้น ดังนั้นนักเศรษฐศาสตร์จึงต้องการการปรับรูปแบบตัวเลข GDP ใหม่ชนิดที่แน่ใจได้ว่าเมื่อเห็นมันเพิ่มขึ้นก็แสดงว่าผลผลิตเพิ่มขึ้นจริง ๆ วิธีการก็คือทำให้ GDP ของทุกปีถูกคำนวณโดยใช้ราคาเดียวกัน (เลือกราคาของปีใดปีหนึ่งที่ไม่มีอะไรผิดปกติเป็นปีฐาน) ซึ่งหมายความว่าแปรเปลี่ยน GDP (คำนวณ ณ ราคาปัจจุบัน) เป็น real GDP (คำนวณ ณ ราคาปีฐาน) และ real GDP ก็คือขนาดของเศรษฐกิจ

          คำถามก็คือนักเศรษฐศาสตร์คำนวณได้อย่างไรว่าแต่ละปี GDP มีมูลค่าเท่าใด? ความลับของนักเศรษฐศาสตร์ก็คือใช้หลักวิชาปนกับสิ่งที่เรียกว่า educated guess (การคาดเดาอย่างใช้ความรู้) หรือบางทีก็เรียกว่า guesstimate (guess + estimate)

          การคำนวณ GDP ในแต่ละปีก่อนที่จะปรับตัวเลขเป็น real GDP นั้นก็ใช้ตัวเลขจากปีก่อนเป็นหลักและประเมินว่าในปีใหม่ (ปีปฏิทิน) มีการผลิตเพิ่มมากน้อยเพียงใด โดยรวบรวมสถิติการผลิตจากอุตสาหกรรมใหญ่ ภาคบริการใหญ่ การลงทุน ฯลฯ ที่เหลือก็ใช้การประเมินโดยพิจารณาการบริโภค ตัวเลขการส่งออก การใช้จ่ายภาครัฐ ฯลฯ เป็นองค์ประกอบ

          วิธีการนี้ไม่ผิดเชิงวิชาการ แต่ที่น่ากังวลก็คือในความเป็นจริงไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าตัวเลข GDP ที่ได้มานั้นผิดหรือถูก ตัวเลข GDP ที่ถูกต้องนั้นเท่าใด อย่างดีก็เพียงเทียบเคียงกับฝั่งการบริโภคว่าควรเป็นเท่านั้นเท่านี้ แต่อย่าลืมว่าตัวเลขการบริโภคก็มาจากการเก็บสถิติที่อาจไม่สมบูรณ์และปนมากับการประมาณการอีกเช่นกัน

          การมีตัวเลข GDP นั้นเป็นสิ่งที่ดี เพราะชี้ให้เห็นถึงระดับของกิจการทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นและรายได้ (อำนาจซื้อ) ที่เป็นผลพวงตามมา แต่ก็ควร “เชื่อถือ” อย่างระมัดระวัง อย่าได้นึกว่าเป็นตัวเลขอันศักดิ์สิทธิ์อยู่บนหิ้งที่ถูกต้องอย่างไม่มีวันผิดพลาดได้

          ต่อให้ตัวเลข GDP ที่ถืออยู่ในมือนั้นถูกต้อง (ซึ่งพิสูจน์ไม่ได้) ก็มิได้หมายความว่ามันจะสะท้อนถึงความเป็นจริงของเศรษฐกิจทั้งหมด เนื่องจาก GDP มิได้รวมรายได้อันเกิดจากการผลิตที่ไม่ผ่านตลาด (มูลค่าผักผลไม้หลังบ้านที่ปลูกไว้กินเอง แรงงานของภรรยาที่ทำงานแม่บ้าน ฯลฯ) และไม่รวมรายได้อันเกิดจากกิจกรรมที่ผิดกฏหมาย เช่น การผลิตยาเสพติด งานของหญิงบริการ งานรับจ้างอุ้มฆ่า ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นการผลิต

          เคยมีนักวิชาการคำนวณว่ารายได้อันเกิดจากเศรษฐกิจใต้ดิน (กิจกรรมผิดกฎหมาย) ของไทยนั้นอาจมีขนาดใหญ่ประมาณ 1 ใน 3 ของตัวเลข GDP พูดอย่างนี้ก็หมายความว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ได้ครอบคลุมไปถึงกิจกรรมใต้ดินซึ่งก่อให้เกิดรายได้ที่ผู้คนสัมผัสได้จริง ๆ

          หากลงลึกไปกว่านี้ก็จะเห็นว่าตัวเลข GDP นั้นมีลักษณะของการเป็นแหล่งกำเนิดของรายได้ กล่าวคือเป็นตัวเลขของรายได้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในเวลาหนึ่งปี ยังมีรายได้ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยซึ่งโอนมาจากต่างประเทศ เช่น เงินกู้ เงินโอน ฯลฯ ที่ GDP มิได้ครอบคลุมอีก

          GDP ในทางทฤษฎีนั้นไม่ว่าจะคำนวณจากด้านมูลค่าผลผลิต รายได้ หรือรายจ่าย จะเท่ากันเสมอ อย่างไรก็ดีในความเป็นจริงการคำนวณจากด้านมูลค่าผลผลิตนั้นสะดวกและมีความแม่นยำกว่า (รายได้มีทั้งจากการผลิต จากเงินโอน จากสิ่งผิดกฎหมาย จึงแยกได้ยาก ด้านรายจ่ายก็ยากเช่นกันเพราะอาจนับซ้ำได้ง่าย) แต่ก็แม่นยำในขอบเขตที่จำกัด วิธีการที่ตรวจสอบก็คือดูความสอดคล้องของตัวเลข GDP กับสถิติอื่น ๆ ที่เก็บได้จริง

          GDP เป็นตัวเลขหนึ่งของบัญชีรายได้ประชาชาติที่มีประโยชน์แต่มิได้ใช้วัดความสุขดังที่หลายคนพยายามยัดเยียดให้ การใช้ตัวเลข GDP ควรคำนึงถึงข้อจำกัดโดยไม่ลืมว่าไม่มีทางพิสูจน์ได้อย่างแน่ชัดว่าตัวเลข GDP ที่ถูกต้องนั้นคือเท่าใด

          อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ผู้คนพยายามประเมินนั้นไม่ใช่ตัวเลขที่ท้าทายความแม่นยำไม่ได้ มันเป็นเพียงตัวเลขที่มีความรู้สึกปนอยู่มากอย่างไม่อาจไว้ใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์