วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
10 ธันวาคม 2556
หลายคนเห็นว่าเหตุการณ์ชุมนุมในบ้านเราในปัจจุบันเป็นเรื่องวุ่นวายน่าปวดหัว บ้านเมืองควรสงบราบเรียบเพื่อคนต่างประเทศจะได้มาลงทุน มาท่องเที่ยว ใช้ศักยภาพของเศรษฐกิจไทยได้เต็มที่ สร้างงาน ฯลฯ บ้างก็ว่าเป็นเรื่องจำเป็นเพราะเป็นการแสดงออกซึ่งความเห็นของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าใครจะว่าอย่างไรก็ตาม มันได้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของเยาวชนและพลเมืองไทย
คนจำนวนมากกลัวหนักหนาว่าคนต่างชาติจะไม่มาลงทุน จะไม่มีปฏิสัมพันธ์ทางการค้า เศรษฐกิจและการเงินกับประเทศของเรา ผมอยากบอกว่าทุกสังคมในโลกมันก็มีเหตุการณ์ทั้งบวกและลบในชีวิตสลับกันไปเช่นนี้ตั้งแต่มนุษย์เดินหลังตรงเป็นผู้เป็นคนเมื่อ 150,000-200,000 ปีมาแล้ว
สหรัฐอเมริกา ยุโรป เอเชีย อังกฤษ เยอรมันนี ฝรั่งเศส จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ล้วนเจอมรสุมเศรษฐกิจและการเมืองมาด้วยกันทั้งนั้น ประเด็นมันอยู่ที่ว่าสังคมนั้น ๆ จะใช้เวลาก่อนที่มันจะกลับมาอยู่ในสภาพที่เป็นปกตินานเพียงใดเท่านั้นเอง และประการสำคัญสังคมนั้นได้เรียนรู้มากขึ้นซึ่งก็คือการไต่ Learning Curve นั่นเอง
มนุษย์ทุกสังคมลองถูกลองผิดในทุกเรื่องกันอยู่ตลอดเวลา ตัวอย่างมีมากมาย เช่น สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศหมายเลขหนึ่งของโลก แต่จนบัดนี้ยังหาโมเดลให้บริการสาธารณสุขที่เหมาะสมและถูกใจประชาชนไม่พบ กฎหมายควบคุมธุรกิจการเงินออกมากี่ฉบับต่อกี่ฉบับเพื่อควบคุมและสร้างความมั่นคงแต่สถาบันการเงินก็ยังเป็นปัญหาทำร้ายผู้ลงทุนจนต้องแก้ไขกันอยู่ตลอดเวลา
นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบิลเป็นคนอเมริกันเกือบทั้งหมด ความรู้เศรษฐศาสตร์กระจายกว้างขวางในทุกระดับของสังคม แต่เศรษฐกิจอเมริกันก็ยังมีอัตราการว่างงานสูงกว่าประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ
เมื่อการมีปัญหาของสังคมและเศรษฐกิจเป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้นจึงไม่ควรตกอกตกใจกันจนเกินเหตุ แต่ควรหาประโยชน์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อทำให้มันเป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อการ “ลองถูก” บ่อยกว่าเดิมในอนาคต
สำหรับนักศึกษากฎหมายในมหาวิทยาลัย กฎหมายนิรโทษกรรมที่ผู้คนรังเกียจควรเป็นหัวข้อของการวิเคราะห์อย่างละเอียดทั้งด้านดีและด้านเสียด้วยเหตุด้วยผลโดยผู้สอนไม่นำความรู้สึกส่วนตัวหรือความเอนเอียงทางการเมืองเข้ามาในห้องเรียน เมื่อถกกันแล้วนักศึกษาก็จะเห็นประเด็น ต่าง ๆ และได้เรียนรู้มากขึ้น
ผู้ศึกษากฎหมายมหาชน ศึกษาสังคมวิทยา การเมือง รัฐตำรวจ การจัดการกับฝูงชน การเจรจาต่อรอง การวางแผนกลยุทธ์ ฯลฯ ล้วนมีแหล่งการเรียนรู้ที่ทำให้นักศึกษาเห็นว่าเรื่องที่เรียนรู้ในห้องเรียนกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวันนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน
บ่อยครั้งที่ผู้เรียนเข้าใจว่าเรียนสิ่งที่ครูอาจารย์สอนในห้องเพื่อเอาไว้สอบได้คะแนน ส่วนสิ่งที่เกิดขึ้นนอกห้องเรียนนั้นเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกัน เมื่อใดที่ครูอาจารย์สามารถทำให้ผู้เรียนเข้าใจว่าสิ่งที่สอนในห้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงนอกห้องเรียนเป็นเรื่องเดียวกันแล้ว ความเบื่อหน่ายของผู้เรียนดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็จะหายไปมาก
เมื่อมีนักเรียนหัวดีถามว่าแล้วแหล่งเรียนรู้ที่อาจารย์เอามาสอนนี้เมื่อไหร่มันจะหายไปหมดจนผมได้เจอหน้าพ่อแม่ ลุงป้าที่หายไปตอนค่ำ ๆ กันทุกวันบ้าง ก็คงจะตอบว่ามันตอบยากเพราะมันขึ้นอยู่กับ (ก) พลังของ ‘มวลมหาประชาชน’ จะยืนตัวอย่างที่เป็นอยู่นี้ได้นานแค่ไหน ซึ่งมันก็ไปขึ้นอยู่กับว่าพลังนี้เข้มข้นแค่ไหน กลยุทธ์ของฝ่ายรัฐบาลที่เล่นเกมส์ยื้อนั้นผู้คนจะรู้ทันกันทั่วและพร้อมที่จะสู้กับเกมส์นี้อย่างยาวหรือไม่
(ข) ผู้นำทหารพร้อมจะออกแรงอยู่เบื้องหลังอย่างแข็งขันเหมือนที่ได้ทำตอนต้นมากน้อยเพียงใด และจะเห็นแตกต่างกันหรือไม่ในหมู่ผู้นำเมื่อต้องเผชิญกับการตัดสินใจ โดยเฉพาะเมื่อมีการระดมคนจากอีกฝ่ายมาต่อสู้กัน
(ค) ผู้นำความคิดในสังคมโดยเฉพาะนักวิชาการจะช่วยกันประคับประคอง อดใจไม่วิพากษ์วิจารณ์อันจะเสมือนกับเป็นการบั่นทอนแรงของ ‘มวลมหาประชาชน’ ได้หรือไม่เพียงใด
(ง) ผู้อำนวยการ ศอ.รส. คนใหม่ (สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล) จะช่วยเติมเชื้อไฟแบบ เขลา ๆ ให้แก่ “มวลมหาประชาชน” ได้ดีเพียงใด
สังคมไทยต้องช่วยกันทำให้เหตุการณ์ชุมนุมครั้งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ชนิดที่เมื่อหลายปีผ่านไปแล้ว เมื่อกลับมาย้อนคิดถึงมันแล้วก็สามารถยิ้มกันได้