วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
15 เมษายน 2557
อินโดนีเซียซึ่งมีประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของอาเซียนใกล้จะมีประธานาธิบดีคนใหม่ที่มีพื้นฐานแตกต่างกว่าคนก่อนหน้า 5 คน อย่างสิ้นเชิง และได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางเพราะชื่อเสียงของความสามารถ การถึงลูกถึงคน และความเป็นคนติดดิน
วันที่ 9 เมษายน 2014 จะมีเลือกตั้ง ส.ส. และผู้แทนในระดับท้องถิ่นครั้งใหญ่ในอินโดนีเซียที่มีกว่า 17,000 เกาะ มีผู้ลงคะแนน 187 ล้านคน มีพรรคใหญ่ 3 พรรค และพรรคเล็กพรรคน้อยอีกหลายสิบพรรค ในการเลือกตั้งครั้งนี้ผู้สมัครจำนวนไม่น้อยเป็นคนค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ คนรับจ้างขับมอเตอร์ไซค์ แรงงานหาเช้ากินค่ำ ตลอดจนคนเดินดินกินข้าวแกงธรรมดา เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งที่ 3 นี้ นับตั้งแต่มีประชาธิปไตยมา 16 ปี จะเป็นการเมืองที่เรียกว่า ‘inclusive’ กล่าวคือคนเล็กคนน้อยก็มีส่วนร่วมในการบริหารประเทศเป็นครั้งแรก (เพียงร้อยละ 39 ของผู้สมัครจบปริญญาตรีหรือสูงกว่า)
อินโดนีเซียได้รับเอกราชจากเนเธอร์แลนด์ในปี 1945 ประธานาธิบดีคนแรกคือ Sukarno ต่อมาคือ Suharto ซึ่งครองอำนาจอยู่ 31 ปีเต็ม จนหมดอำนาจในปี 1998 เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจ ถัดมาคือประธานาธิบดี Habibie และต่อด้วย Wahid และ Megawati จนถึงประธานาธิบดี Susilo Bambang Yudhoyono (SBY) ซึ่งจะครบเทอมที่สองในปี 2014 และไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีก
ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 1945 จนถึงปัจจุบัน อำนาจการเมืองตกอยู่ในกลุ่มทหารและชนชั้นกลางระดับสูง ซึ่งล้วนผูกพันกับประธานาธิบดี Sukarno และ Suharto ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง (SBY ก็เคยเป็นทหารเอกคนหนึ่งของ Suharto)
แม้แต่ 3 พรรคใหญ่คือ Golkar (พรรคทหารเก่า) พรรค Gerindra (นำโดยนายพล Subianto อดีตนายทหารใหญ่ของซูฮาโต) และพรรค Indonesian Democratic Party-Struggle (PDI-P) ซึ่งนำโดยอดีตประธานาธิบดี Megawati Sukarnoputri (ลูกสาวของประธานาธิบดี Sukarno) ตัวละครก็วนเวียนกันอยู่ในกลุ่มชนชั้นนำของสังคม
เมื่อมีตัวละครใหม่ที่ไม่มีอะไรเกี่ยวพันเลยกับอดีตผู้นำทั้งหลายที่ผ่านมา อีกทั้งมีความสามารถในการสื่อสารกับประชาชนธรรมดาได้ดี และมีความสามารถ พลเมืองผู้เป็นส่วนสำคัญยิ่งของการเมืองอินโดนีเซียจึงตื่นตัวสนับสนุนนาย Joko Widodo ซึ่งมีชื่อเล่นว่า Jokowi อดีตนายกเทศมนตรีเมือง Surakarta (ภาษาอินโดนีเซียเรียกว่าเมือง Solo) และปัจจุบันเป็นผู้ว่าการมหานคร Jakarta ปัจจุบัน Jokowi มีอายุ 53 ปี เรียนจบวิศวกรรมศาสตร์จาก Gadjah Mada University อดีตเคยเป็นนักธุรกิจเซลล์แมนขายเฟอร์นิเจอร์ เมื่อได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีเมือง Solo บ้านเกิดของเขาในปี 2005 เขาก็แสดงฝีมือด้วยทัศนคติ ‘can do’ ให้ประชาชนเห็นภายใต้การแสดงออกถึงความจริงใจและความซื่อสัตย์
ในช่วง 7 ปีที่เขาเป็นนายกเทศมนตรี เมือง Solo ก้าวหน้าไปมาก เขาสร้างตลาดของเก่า ตลาดเครื่องไฟฟ้า สร้างทางเดินยาว 7 กิโลเมตร กว้าง 3 เมตรคู่กับถนนใหญ่ ปรับปรุงสวนสาธารณะขนาดใหญ่สองแห่ง เข้มงวดการตัดต้นไม้ขนาดใหญ่รอบเมือง รีแบรนด์ Solo ให้เป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมเกาะ Java เพื่อการท่องเที่ยวภายใต้คำขวัญ “The Spirit of Java” สนับสนุนให้ Solo เป็นศูนย์กลางสัมมนาประชุมสำคัญระดับโลกหลายครั้ง สร้างโครงการประกันสุขภาพสำหรับชาว Solo ทุกคน สร้าง Solo Techno Park เพื่อสนับสนุนโครงการรถยนต์ของประเทศ พัฒนาการขนส่งสาธารณะ ฯ
ชื่อเสียงของ Jokowi ดังขึ้นทุกทีจนในปี 2012 ก็ได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้ว่าการมหานคร Jakarta ในปี 2012 และเป็นที่นิยมมากเพราะตัดสินใจเด็ดขาดเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินและขนส่งสาธารณะที่คาราคาซังมานาน และการจราจรก็แทบเป็นอัมพาตในปัจจุบัน
Jokowi ดังเพราะความเป็นผู้นำของเขาในการเข้าถึงคนธรรมดาในยุคการเมือง ‘inclusive’ ที่ประชาชนตื่นตัวในสิทธิของตนเอง เขาสื่อสารให้คนตัวเล็ก ๆ มองเห็นว่าเขาจริงใจ ถึงลูกถึงคน และมือสะอาด เขาห้ามญาติพี่น้องยุ่งเกี่ยวกับการประมูลงานตั้งแต่สมัยเป็นนายกเทศมนตรีเมือง Solo
ประชาชนซึ่งเบื่อหน่ายการเมืองที่วนเวียนอยู่ในกลุ่มชนชั้นนำ และเต็มไปด้วยคอรัปชั่น ตั้งใจจะลงคะแนนเสียงเพิ่มขึ้น การสำรวจเชื่อว่าจะเพิ่มจากเดิมร้อยละ 71 เป็น 80 คนหนุ่มสาวที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก 50-60 ล้านคน เริ่มเปลี่ยนใจจากเดิมที่ครึ่งหนึ่งเท่านั้นจะไปร่วมเป็นตัวเลขสูงขึ้น Jokowi เป็นนักการเมืองที่ไม่เพียงแต่อุ้มเด็กถ่ายรูปเท่านั้น เขายังไปเยี่ยมสลัมแหล่งอาศัยของคนยากจนจำนวนมากใน Jakarta แต่งตัวธรรมดา พูดคุยกับชาวบ้านเรื่องราคาอาหาร น้ำท่วม การทำมาหากิน เขาทำอย่างที่เรียกว่า ‘เล่นเป็น’ ซึ่งประชาชนก็ตอบรับเขาเป็นอย่างดีเพราะศรัทธาในความจริงใจ
ถึงแม้จะอยู่ในพรรคของลูกสาวประธานาธิบดี Sukarno แต่เขาก็สามารถรักษาภาพลักษณ์ของ ‘คนใหม่’ ได้ การเลือกตั้งประธานาธิบดีจะมีในเดือนกรกฎาคม ปี 2014 ซึ่งก่อนจะถึงวันนั้นพรรคของเขาต้องผ่านด่านการเลือกตั้งวันที่ 9 เมษายนนี้ไปก่อน กฎหมายกำหนดว่าพรรคใดจะเสนอชื่อคนสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ต้องได้รับคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ของคะแนนเสียงทั้งหมด หรือได้ ส.ส. ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 (112 จาก 560 คน) หรือร่วมกับพรรคอื่นเพื่อให้มีสัดส่วนเสียงเพิ่มขึ้น
การสำรวจความนิยมเมื่อกลางเดือนมีนาคมระบุว่า ในการเลือกตั้ง 9 เมษายน นี้ พรรค PDI-P จะได้คะแนนเสียงร้อยละ 20.1 Golkar ได้ร้อยละ 15.8 และ Gerindra ได้ร้อยละ 11.3 และถ้ามีการเลือกประธานาธิบดีกันในวันนี้ Jokowi จะชนะได้คะแนนร้อยละ 31.8 ตามด้วยนายพล Subianto ของพรรค Gerindra ร้อยละ 14.3 และนายพล Wiranto ของพรรค Hanura ร้อยละ 10.3
การสำรวจชี้ให้เห็นว่าในการเลือกตั้ง 9 เมษายน นี้ จะไม่มีพรรคใดชนะเด็ดขาด จะมีการร่วมมือกันระหว่างพรรคเพื่อส่งตัวแทนลงแข่งประธานาธิบดีใน 3 เดือนข้างหน้า ถ้าพรรค PDI-P ซึ่งมี Jokowi เป็นตัวชูโรงสามารถผ่านด่านเสียงสนับสนุนร้อยละ 25 ไปได้ เขาก็จะมีพลังอิทธิพลส่วนตัวมากยิ่งขึ้นและเกือบแน่นอนว่าจะได้เป็นประธานาธิบดี แต่ถึงจะได้ไม่ถึงร้อยละ 25 หรือ ส.ส. ไม่ถึงร้อยละ 20 พรรคที่เข้ามาร่วมกับ PDI-P ก็ต้องส่งเขาเป็นผู้สมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีอยู่ดี และเมื่อเห็นโมเมนตั้ม ของ Jokowi ในการเมืองในอินโดนีเซียในขณะนี้แล้ว โอกาสที่เขาจะได้เป็นประธานาธิบดีนั้นมีสูงมาก
ไม่รู้ว่าเพราะหน้าตาของ Jokowi ละม้ายคล้ายประธานาธิบดี Obama (ผู้ซึ่งได้รับความนิยมในอินโดนีเซียสูงเพราะเติบโตในประเทศนี้ระหว่างอายุ 6-10 ปี) หรือไม่จึงมีส่วนช่วยความเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ซึ่งทำให้ประชาชนอินโดนีเซียตื่นเต้นการเลือกตั้งกันอยู่ในตอนนี้