Piketty เจ้าของหนังสือดังก้องโลก

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
27
พฤษภาคม 2557

ที่มา https://frenchculture.org/events/9552-rising-inequality-and-globalization

          หนังสือที่โลกตะวันตกกล่าวถึงกันมากที่สุดเล่มหนึ่งในปัจจุบันคือ “Capital in the Twenty-First Century” ของ Thomas Piketty หนังสือที่โด่งดังข้ามคืนอย่างไม่มีใครนึกฝัน

          หนังสือเล่มนี้วิเคราะห์สาเหตุแห่งความไม่เท่าเทียมกันของฐานะทางเศรษฐกิจของสมาชิกในสังคมทุนนิยมอย่างน่าสนใจ โดยที่ตนเองไม่ใช่มาร์กซิสต์แต่อย่างใด

          ถ้าจะเปรียบเทียบความดังในเวลาอันรวดเร็วของหนังสือเล่มนี้กับหนังสือคลาสสิค เล่มหนึ่งที่หนังสือเล่มนี้ตั้งชื่อให้ใกล้เคียงอย่างตั้งใจคือ “Das Kapital” ของ Carl Marx ก็จะแปลกใจ

          ‘Das Kapital’ ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาเยอรมันใน ค.ศ. 1867 ขายได้ 1,000 เล่ม ใน 5 ปี อีก 20 ปีต่อมาจึงมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ในปี 1907 ผู้คนในอังกฤษยังแทบไม่รู้จัก แต่หนังสือของ Piketty เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส และเมื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษออกสู่ตลาดในเดือนมีนาคม 2014 ก็โด่งดังเหลือเชื่อ ในสหรัฐอเมริกาเป็นหนังสือที่ขายดีที่สุดของ Amazon จนเล่ม ปกแข็งขาดตลาดอยู่หลายเดือน

          สาเหตุที่หนังสือเล่มนี้เป็นที่สนใจอย่างมากส่วนหนึ่งก็เพราะว่าวางตลาดในจังหวะที่ผู้คนสนใจความไม่เท่าเทียมกันอยู่พอดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกาที่เห็นกันมานานว่าช่องว่างคนรวยคนจนนั้นเป็นเรื่องที่เพียงคนยุโรปเท่านั้นที่หมกมุ่นกัน

          วิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาในปี 2008 ทำให้เห็นชัดว่าการไร้ธรรมาภิบาลและคนรวยในภาคการเงินนั้นมีพฤติกรรมอย่างไร และรวยมากน้อยเพียงใดเมื่อเปรียบเทียบกับคนชั้นกลางที่ทำงานหนักและเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ การเห็นความแตกต่างของระดับความมั่งคั่งและการกระจาย ตัวของความมั่งคั่ง ทำให้เกิดเป็นประเด็นขึ้นในสังคมอเมริกันปัจจุบัน

          เมื่อมีหนังสือของ Picketty ซึ่งตั้งใจเขียนให้คนทั่วไปอ่านโดยปราศจากสมการคณิตศาสตร์หรือมีข้อความที่ต้องแบกกระไดมาอ่านด้วย จึงโดนใจคนอเมริกันอย่างจังท่ามกลางความไม่พอใจของผู้ที่เชื่อมั่นในระบบทุนนิยมที่มีรัฐบาลเข้าไปแทรกแซงเท่าที่จำเป็นเท่านั้น หรือพวกที่เรียกว่าฝ่ายขวาในสังคมอเมริกัน

          Thomas Picketty เป็นคนฝรั่งเศส ปัจจุบันอายุ 43 ปี เขาจบปริญญาเอกเมื่ออายุเพียง 22 ปี ด้วยวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการกระจายความมั่งคั่ง โดยศึกษาที่ EHESS (École des hautes études en sciences sociales) และ LSE (London School of Economics and Political Science) เมื่อจบก็สอนหนังสืออยู่ 2 ปีที่ MIT และกลับมาเป็นนักวิจัยที่ EHESS เขาเป็นผู้บริหารของ Paris School of Economics ที่เขาพยายามก่อตั้งขึ้น

          ตลอดเวลาเขาศึกษาเรื่องเศรษฐศาสตร์แห่งความไม่เท่าเทียมกัน (Economics of Inequality) จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญของโลกในเรื่องนี้ Picketty เขียนหนังสือหลายเล่ม เล่มนี้เป็นเล่มที่ทำให้เขาดังระดับโลกข้ามคืน

          “Capital in Twenty-First Century” สร้างความฮือฮาเพราะในประการแรก เขาใช้สถิติข้อมูลที่ชี้ให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันข้ามระยะเวลา 300 ปี ของหลายประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกามาวิเคราะห์จนได้ความจริงที่น่าแปลกใจหลายประการเช่นตัวอย่างที่ 1 ในช่วงเวลา ค.ศ. 1914-1970 ในสหรัฐอเมริกามูลค่าความมั่งคั่งรวมและความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ของประชากรลดลงอย่างมาก แต่ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมาช่องว่างดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นจนเกือบเท่าเมื่อปลายศตวรรษที่ 19

          ตัวอย่างที่ 2 มูลค่ามรดกที่ตกทอดกันในแต่ละปีในฝรั่งเศสรวมกันมีมูลค่าเท่ากับร้อยละ 5 ของ GDP ในทศวรรษ 1950 แต่ปัจจุบันมูลค่านั้นเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวซึ่งไม่ต่างไปจากศตวรรษที่ 19 ที่ตัวเลขนี้สูงถึงร้อยละ 25

          สองตัวอย่างนี้คือส่วนหนึ่งของหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าระบบทุนนิยมมีทางโน้มที่จะทำให้คนรวยและคนจนยิ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันยิ่งขึ้นหากภาครัฐไม่เข้ามาแทรกแซง ความแตกต่างเช่นนี้มีนัยสำคัญของความไม่เท่าเทียมกันของโอกาสทางการศึกษาและโอกาสทำงานหารายได้

          Picketty ให้คำอธิบายว่าระบบตลาดเสรี หรือบางทีเรียกว่าระบบทุนนิยม มีทางโน้มโดยธรรมชาติสู่การเพิ่มพูนทรัพย์สินและรายได้ของคนรวย พูดง่าย ๆ ก็คือระบบทุนนิยมมีทางโน้มที่นำไปสู่สภาวการณ์ที่คนรวยจะรวยยิ่งขึ้น

          ฟังดูก็แสนจะธรรมดา ใคร ๆ ก็รู้สึกแต่ไม่มีใครพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนเหมือนคำอธิบายของหนังสือเล่มนี้ที่มาจากการวิเคราะห์ข้อมูลของหลายประเทศข้ามเวลาถึง 300 ปี

          การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหมายถึงการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการผลิต หรือรายได้รวมของ สมาชิกในระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงจึงหมายถึงการที่ผู้คนทั่วไปมีทางโน้มที่จะมีรายได้สูงขึ้นมาก

          ในระบบทุนนิยม คนรวยมีรายได้สำคัญมาจากการลงทุนของทรัพย์สินและทุนที่ได้สะสมไว้ ถ้ามีอัตราการตอบแทนของทุนสูงก็จะยิ่งทำให้รวยยิ่งขึ้นเพราะผลตอบแทนก็จะแปรรูปเป็นทุน และมีการสะสมจนทำให้มีรายได้สูงยิ่งขึ้นและสะสมเป็นทุนมากขึ้น

          Picketty ศึกษาข้อมูลจริงในประวัติศาสตร์และพบว่าในเศรษฐกิจทุนนิยม อัตราผลตอบแทนจากทรัพย์สินและทุนสูงกว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอยู่เสมออย่างเห็นได้ชัดอยู่หลายเท่าตัว และนี่คือสาเหตุว่าเหตุใดคนรวยจึงยิ่งรวย

          เศรษฐกิจเติบโตช้าหมายถึงมีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจต่ำ รายได้ของ คนทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นช้า แต่ถ้าอัตราผลตอบแทนของทรัพย์สินและทุนสูงกว่า ก็หมายความว่าเจ้าของทุนทรัพย์สินและทุนซึ่งก็ได้แก่คนรวยจะได้รับผลตอบแทนสูงกว่า เมื่อสถานการณ์นี้ดำรงต่อเนื่องและสูงกว่ากันหลายเท่าตัวก็หมายความว่าคนรวยก็จะรวยยิ่งขึ้น สัดส่วนของรายได้จากการลงทุนจะยิ่งขยายตัวมากกว่าสัดส่วนของรายได้ที่มาจากค่าแรงขึ้นทุกที

          คำอธิบายของ Picketty ทำให้คนอเมริกันเข้าใจชัดยิ่งขึ้นว่าเหตุใดคนรวยสุด 10 เปอร์เซ็นต์รวมกันเป็นเจ้าของ 70 เปอร์เซ็นต์ของความมั่งคั่งทั้งหมดของประเทศ (ครึ่งหนึ่งของความ มั่งคั่งทั้งหมดนี้ คนรวยสุด 1 เปอร์เซ็นต์เป็นเจ้าของ) ซึ่งเทียบกับ 65 เปอร์เซ็นต์ในปี 1950

          บ้านเรายังไม่มีการศึกษาเรื่องเดียวกันนี้อย่างลึกซึ้งเท่า Picketty ผู้เขียนมั่นใจว่าหากศึกษาลงลึกอาจพบความจริงที่น่าตกใจยิ่งกว่าก็เป็นได้ แค่ดูเผิน ๆ ในปัจจุบันแม่บ้านคนเดียวของสกุลเดียวสามารถเป็นทั้งเจ้าของสายการบิน ที่ดินและทรัพย์สินในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน และ แฟรนไชส์อีกเป็นจำนวนมากได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *