อะไรทำให้คุณภาพการศึกษาไทยเกิดหักเห

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
18
พฤศจิกายน 2557

Photo by NeONBRAND on Unsplash

          ความเห็นเรื่องปฏิรูปการศึกษามีมากมายในปัจจุบันจนอาจเรียกได้ว่าเฝือ ถ้าเราเข้าใจเหตุแห่งความเป็นมาของการหักเหของคุณภาพการศึกษาไทยแล้ว อาจทำให้เห็นภาพรวมชัดเจนขึ้น

          หลายคนสงสัยว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้การศึกษาของเราซึ่งแต่ดั้งเดิมก็มีคุณภาพพอควรหักเหลดต่ำลงได้ขนาดนี้ คำตอบก็คือ (1) ระบบการศึกษาของเราแต่ก่อนเป็นระบบที่เรียกว่า “exclusive” คือเป็นการศึกษาเฉพาะคนชั้นสูง คนมีเงิน คนมีอำนาจ ฯลฯ แต่มาในยุคหลังการวางแผนเศรษฐกิจเมื่อประมาณ พ.ศ. 2505 ลักษณะของการศึกษาไทยก็เริ่มเปลี่ยนไป เรามีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างมาก ประชาชนธรรมดามีความต้องการการศึกษาเพิ่มมากขึ้น เมื่อกระแสของโลกตะวันตกในเรื่องความเท่าเทียมกันของโอกาสในการศึกษาพัดแรงขึ้น เราจึงเปลี่ยนมาเป็นระบบที่เรียกว่า ‘inclusive’ กล่าวคือทุกคนมีโอกาสเข้าเรียนการศึกษาภาคบังคับที่สูงขึ้น เช่นเดียวกับระดับอุดมศึกษาของภาครัฐที่เบ่งบานอย่างยิ่งตลอด 20 ปี ที่ผ่านมา

          (2) เสรีภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยุควางแผนเศรษฐกิจเป็นต้นมาสร้างพลังผลักดันทางสังคมเศรษฐกิจและการเมืองที่ยิ่งใหญ่มาก จำนวนนักเรียนมีมากขึ้นจนการบริหารจัดการทำได้ยากมากขึ้นเป็นลำดับ

          ถ้าจำกันได้ เมื่อสมัยก่อนนักเรียนชั้นมัธยมปลายจะสอบข้อสอบเดียวกันพร้อมกันทั้งประเทศ แต่พอถึงราว พ.ศ. 2508-2509 แต่ละโรงเรียนออกข้อสอบและจัดสอบกันเองเนื่องจากภาระการบริหารงานสูงขึ้นมากจนไม่อาจทำได้อย่างเดิม

          (3) กระแสโลกที่มีทางโน้มเพิ่มจำนวนปีของการศึกษาภาคบังคับทำให้ตลอดเวลา 30 ปีที่ผ่านมาเราปรับการศึกษาภาคบังคับจาก 4 เป็น 6 และ 9 ปีในที่สุด การเพิ่มจำนวนปีการศึกษาพร้อมกับเด็กที่เกิดปีละกว่า 1 ล้านคน เป็นเวลาต่อเนื่องกันนับสิบปีนับตั้งแต่การวางแผนเศรษฐกิจ ทำให้ต้องมีการรับครูเข้าบรรจุเป็นจำนวนมากมายนับหมื่นนับแสนคนในเวลาอันรวดเร็วเมื่อ 20-30 ปีก่อน (จำการเรียนครูภาคทไวไลท์กันได้ไหม ที่แห่เรียนตอนเย็น และเสาร์-อาทิตย์ มืดฟ้ามัวดินเพื่อจะได้เป็นข้าราชการครู)

          เมื่อมีความจำเป็นต้องผลิตและรับครูจำนวนมากมายในเวลาอันสั้นเพื่อรับมือกับความต้องการ คุณภาพของการผลิตและการคัดเลือกที่ไม่เข้มข้นทำให้มีครูจำนวนมากที่คุณภาพ ไม่สูง และไม่ได้ต้องการเป็นครูอย่างแท้จริง (ต้องการเพียงเป็นข้าราชการ) หลุดเข้ามาเป็นจำนวนไม่น้อย แต่ครูที่รักความเป็นครู มีจิตวิญญาณของความเป็นครูอย่างแท้จริงก็มีคละปะปนอยู่ด้วยอย่างไม่แน่ใจว่าส่วนใดมากกว่ากัน

          การรับครูจำนวนมากเช่นนี้ในอดีตเมื่อ 20-30 ปีก่อนจึงมีผลทำให้ครูเกือบครึ่งหนึ่งในปัจจุบันอยู่ในช่วงอายุ 50-60 ปี และเป็นที่ทราบกันดีว่าคนในวัยนี้มีพลังกายและพลังใจลดน้อยถอยลงเป็นอันมาก ยิ่งครูที่ไม่ได้ตั้งใจเป็นครูและอยู่ในวัยนี้ด้วยแล้ว เราพอจะมองเห็นได้ว่าคุณภาพครูเหล่านี้เป็นอย่างไร

          (4) ในภาพรวมครูมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 400,000 คน เป็นจำนวนที่มากอย่างสอดคล้องกับจำนวนนักเรียนปัจจุบันที่เกิดเพียงประมาณปีละ 800,000-850,000 คน แต่ครูกลับขาดแคลนในโรงเรียนนับหมื่นโรงเรียนในจำนวนกว่า 32,000 โรงเรียนทั่วประเทศ เป็นเวลายาวนานที่โรงเรียนจำนวนมากโดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่มีเด็กต่ำกว่า 150 คนในชนบทขาดแคลนครูทั้ง ๆ ที่จำนวนครูรวมทั้งประเทศมีเพียงพอ สาเหตุมาจากครูส่วนใหญ่ต้องการสอนในโรงเรียนใหญ่ดัง ๆ ในกรุงเทพฯ หรือในตัวเมืองของจังหวัด เนื่องจากสามารถสอนพิเศษหารายได้ตอนเย็น ได้อยู่ใกล้ “ผู้ใหญ่” และ “กำนัน” เรียนต่อก็สะดวก โอกาสก้าวหน้ามีมากกว่าเป็นอันมาก ฯลฯ

          กระทรวงศึกษาธิการไม่สามารถโอนย้ายครูจากโรงเรียนเหล่านี้ที่มีครูเป็นสัดส่วนกับนักเรียนต่ำไปยังโรงเรียนที่ขาดแคลนครูในพื้นที่ไกลออกไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะเป็นเพราะประเพณีหรืออะไรก็ไม่ทราบที่ยึดกันมาว่าถ้าครูไม่ยินยอมให้ย้ายโรงเรียนแล้วไม่อาจย้ายครูได้ (กลัวครู ช้ำใจจนสอนไม่ได้? ครูเส้นใหญ่จนบังคับไม่ได้?)

          การขาดแคลนครูในโรงเรียนนอกเมืองซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่ของประเทศศึกษาอยู่จึงเป็นปัญหาเรื้อรังมายาวนาน หลายโรงเรียนขาดแคลนครู แถมครูยังมีคุณภาพไม่ดีอีก ขาดจิตวิญญาณของการเป็นครู ได้รับเงินอุดหนุนโรงเรียนต่ำเพราะมีนักเรียนน้อย (เขาให้เงินอุดหนุนต่อหัวต่างกันไม่มากระหว่างเด็กในเมืองกับนอกเมือง) แต่โรงเรียนใหญ่ในเมืองรับเงินอุดหนุนมหาศาลเพราะมีนักเรียนมาก ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือเด็กซึ่งอยู่ห่างไกลซึ่งเป็นจำนวนส่วนใหญ่ของประเทศถูกลงโทษสามเด้ง (เกิดมาจน ขาดแคลนครู โรงเรียนได้รับเงินอุดหนุนต่ำ)

          (4) การเมืองเข้าแทรกแซงในการโอนย้ายครู บวกคอรัปชั่นในบางกลุ่มของผู้บริหารโรงเรียน ไม่ว่าจัดซื้อ จัดจ้าง โอนย้ายครู เลือกซื้อแบบเรียน เงินบริจาค ฯลฯ สถานการณ์ที่เลวร้ายอยู่แล้วก็เลยรุนแรงยิ่งขึ้น เมื่อมองไปรอบบ้านเด็ก สังคมก็ให้ตัวอย่างที่เลวแก่เด็ก พ่อแม่ส่วนใหญ่ก็มุ่งแต่หาเงินเลี้ยงชีพ ตัวอย่างดี ๆ ที่เด็กเห็นมีน้อย เด็กเห็นว่าความไม่จริงใจ การโกหกหลอกลวง เป็นเรื่องปกติที่ใคร ๆ ก็ทำกัน

          (5) แต่ละรัฐบาลมีความฝันเฟื่องในเรื่องการศึกษาที่ไม่ประติดประต่อกัน บางพรรคบางรัฐบาลทำให้การศึกษเดินหน้าไป 5 ก้าว แต่ต่อมาอีกไม่กี่เดือนก็มีรัฐมนตรีใหม่ที่ทำให้ถอยไป 3 ก้าวมาแทน เปลี่ยนกันรวดเร็วราวกับเดินทางมาบนสายพานของโรงงานอุตสาหกรรม และก็เป็นอย่างนี้สลับไปมายาวนานอย่างไม่มีทิศทางที่แน่ชัดและไม่มีโครงการที่ต่อเนื่อง

          (6) เมื่อสิบกว่าปีก่อน หลักสูตรใจกว้างให้ครูมีวิจารณญาณในการเลือกสอนเนื้อหาได้กว้างขวาง ดังนั้นเด็กจึงเรียนพื้นฐานไม่เหมือนกัน ประวัติศาสตร์บางตอนครูบางคนก็ข้ามไปเพราะเห็นว่าไม่น่าสนใจ

          (7) โรงเรียนไม่มีอัตราจ้างเจ้าหน้าที่ธุรการใหม่มานาน ดังนั้นครูบางส่วนจึงทำหน้าที่ธุรการปนเปไปกับการสอนเด็ก เมื่อถึงยุคสมัยฮิตของการตรวจประเมินโรงเรียน มีตัวชี้วัดมากมายดังเช่นปัจจุบัน ครูจำนวนมากก็หมกมุ่นอยู่กับงานเหล่านี้ เพราะมีผลกระทบต่อชื่อเสียงโรงเรียน แต่ไม่กระทบต่อผู้บริหารโรงเรียนและผู้บริหารส่วนกลางไม่ว่านักเรียนจะมีสัมฤทธิผลการศึกษาเป็นอย่างไร อ่านหนังสือไม่ออกกี่คน คุณภาพเป็นอย่างไร ผู้บริหารโรงเรียนและผู้บริหารส่วนกลางก็ได้รับเงินเดือนขึ้นเสมอ (แถมมีโบนัสอีกด้วย) ตำแหน่งก้าวหน้าอย่างไม่มีการเชื่อมโยงกับคุณภาพการศึกษาที่เด็กได้รับอย่างแท้จริง พูดง่าย ๆ ก็คือระบบเป็นไปในทางที่ทำให้ผู้บริหาร “ไม่ต้องมีความรับผิดรับชอบ” ต่อผลที่เกิดขึ้น

          (8) ในต่างจังหวัดครูต้องไปร่วมงานของจังหวัดเสมอในเทศกาลต่าง ๆ ไม่ว่าส่งเสริมเรื่องใดก็ตาม อีกทั้งต้องเกณฑ์นักเรียนไปร่วมงานราชการ มีการพูดกันว่าครูในปัจจุบันนั้น “ทำทุกอย่างยกเว้นสอนหนังสือ”

          ครูรุ่นหนุ่มรุ่นสาวที่บังเอิญหลุดพลัดเข้าไปในโรงเรียนต่างจังหวัดต้องรับเหมางานเหล่านี้ทั้งหมด เพราะเป็นประเพณีว่าเมื่อเป็นผู้บริหารแล้วไม่สอนหนังสือ ยกเว้นผู้บริหารที่มีจิตวิญญาณของความเป็นครูและรักและปรารถนาดีต่อเด็กอย่างแท้จริง

          การที่ต้องมีการปฏิรูปใด ๆ ก็เพราะสถานะเดิมนั้นไม่เป็นที่น่าพอใจของสังคม อย่างไรก็ดีในสถานะที่มันเป็นอยู่นั้นมีผู้ “พอใจ” อยากให้มันดำรงอยู่ต่อไปเพราะได้รับผลประโยชน์ ดังนั้นการปฏิรูปจึงสร้างความเจ็บปวดให้คนที่ ‘พอใจ’ อยู่แล้วอย่างแน่นอน และถ้าไม่มีการออกแรง ‘ทุบโต๊ะ’ แล้ว ยากนักหนาที่จะเปลี่ยนแปลง หรือ ‘ปฏิรูป’ อะไรได้ เพราะคน ‘ที่พอใจ’ อยู่แล้วมีพลังในตัวอันเข้มแข็งและมีออร่าเจิดจรัสโดยธรรมชาติ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *