เชื่อเรื่องเศรษฐกิจได้ แต่…….

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
11
พฤศจิกายน 2557 

ที่มา https://www.intergold.co.th/สำนักงานสถิติอังกฤษหั่/

          ผู้อ่านที่คุ้นเคยกันมักถามผู้เขียนว่าทำไมไม่เขียนเรื่องเศรษฐกิจบ่อย ๆ ซึ่งก็มักตอบไปว่ามันมีเหตุผลและอยากเขียนเรื่องที่ไม่ค่อยซ้ำกับคนอื่นจึงเลือกเขียนหลากหลายเรื่องเพื่อให้อะไรใหม่ ๆ แก่ผู้อ่าน วันนี้ขอเขียนเรื่องเศรษฐกิจซึ่งอาจทำให้เห็นเหตุผลที่กล่าวถึง

          เศรษฐกิจคือเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์มหาภาค ซึ่งโยงใยกับ GDP การเจริญเติบโตของ GDP การว่างงาน เงินเฟ้อ การส่งออก การลงทุน การนำเข้า เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ อัตราดอกเบี้ย ปริมาณเงิน ฯลฯ ในขณะที่เศรษฐศาสตร์เกี่ยวพันกับเรื่องที่กว้างไกลกว่าเศรษฐกิจ กล่าวคือกินไปถึงเรื่องจุลภาคเช่นเรื่องราคาของสินค้าในระดับย่อย พฤติกรรมสมาชิกเศรษฐกิจ ค่าเสียโอกาส ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ การบริโภคและการผลิตในระดับย่อย ฯลฯ

          ในเรื่องเศรษฐกิจสิ่งซึ่งฮิตที่สุดก็คือภาวะเศรษฐกิจและพยากรณ์เศรษฐกิจ (ปีหน้าเศรษฐกิจจะขยายตัวกี่เปอร์เซ็นต์) นักธุรกิจและผู้สนใจให้ความสำคัญกับบทวิเคราะห์เหล่านี้มากจนมีผลกระทบต่อราคาหุ้น กระทบต่อการคาดคะเนซึ่งผูกโยงกับการลงทุน หรือแม้แต่กระทบการเมือง

          อย่างไรก็ดีผู้รับสารจำนวนมากจากข้อเขียนหรือบทวิเคราะห์เกี่ยวกับเศรษฐกิจและการพยากรณ์เศรษฐกิจ มักมิได้ตระหนักถึงความจริงหลายประการที่แอบซ่อนอยู่ซึ่งผู้เขียนขอนำเสนอดังต่อไปนี้

          (1) GDP คือมูลค่าผลผลิตและบริการที่เกิดขึ้นในพื้นที่ประเทศไทยในรอบ 1 ปี (คำนวณ ณ ราคาของปีหนึ่งซึ่งใช้เป็นปีฐาน ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจได้ว่าเมื่อมูลค่าสูงขึ้นนั้นเป็นผลพวงจากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตมิได้มาจากราคา) หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าคือรายได้ที่แท้จริงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในรอบ 1 ปี

          GDP เป็นตัวเลขที่รวมเฉพาะมูลค่าผลผลิตซึ่งก็คือรายได้ที่เกิดจากการผลิตเท่านั้น (ไม่รวมรายได้จากการโอนกัน เช่น ให้กัน ถูกหวย ชนะพนัน ฯลฯ) อีกทั้งยังต้องเป็นการผลิตที่ผ่านการซื้อขายในตลาดและถูกกฎหมายอีกด้วย

          สิ่งที่มิได้ผ่านตลาด เช่น ปลูกผักกินเอง ผลไม้ที่เก็บกินเองในบ้าน งานแม่บ้านของภรรยา ฯลฯ สิ่งเหล่านี้มิได้ถูกรวมไว้ใน GDP นอกจากนี้สิ่งผิดกฎหมาย เช่น มูลค่าการผลิตยาเสพติด รายได้ของหญิงบริการ รายได้ของแรงงานผิดกฎหมาย ฯลฯ ก็มิได้ถูกรวมไว้ใน GDP ด้วย

          การเพิ่มขึ้นของ GDP ข้ามปี ซึ่งหมายความถึงการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ จึงเป็นตัวเลขที่มีความหมายในระดับหนึ่งเท่านั้นเอง เพราะสิ่งที่มิได้ผ่านตลาดและผิดกฏหมายก็เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดรายได้ซึ่งทำให้ธุรกิจคึกคัก ทำให้ผู้คนเกิดรายได้ในกระบวนการเช่นกัน แต่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมิได้คำนึงถึงส่วนนี้

          ถ้ารัฐบาลต้องการให้ GDP เพิ่มขึ้นมาก ๆ ข้ามปี หรือเศรษฐกิจขยายตัวสูง ก็เพียง ออกกฎหมายให้การผลิตยาเสพติด หญิงบริการในทุกกรณี บริการจัดเล่นพนัน ฯลฯ ถูกกฎหมาย เท่านั้นเอง

          ส่วนของเศรษฐกิจที่มิได้รวมไว้ใน GDP คือสิ่งที่เรียกว่าเศรษฐกิจใต้ดิน ซึ่งมีทั้งกิจกรรมผิดกฎหมาย หนีภาษี หลุดรอดจากระบบภาษี ฯลฯ ซึ่งก่อให้เกิดรายได้ทั้งสิ้น งานศึกษาเรื่องนี้ของบ้านเราเคยพบว่ามีขนาดถึงร้อยละ 30 ของ GDP ดังนั้นอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอาจต่ำ แต่ในความเป็นจริงแล้วเศรษฐกิจรวมอาจมีอัตราการขยายตัวสูงกว่าตัวเลขที่พูดกัน

          (2) ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าตัวเลข GDP ของปีปัจจุบันที่พูดกันนั้นมันผิดหรือถูก ทั้งนี้เพราะ GDP เป็นการรวมตัวเลขประมาณการทั้งสิ้น GDP ประกอบด้วยการบริโภคของครัวเรือน (C) การลงทุนของภาคเอกชน (I) การใช้จ่ายของภาครัฐ (G) มูลค่าการส่งออกและนำเข้าสินค้า (เงินตราต่างประเทศที่ไหลเข้าและไหลออก) มิใช่ตัวเลขที่แม่นยำเหมือนเวลาที่เกิดสุริยุปราคา

          ตัวเลข C และ I นั้นประมาณการบนสมมุติฐานที่เชื่อว่ามีเหตุมีผล (ถ้าสมมุติฐานผิด ตัวเลขประมาณการก็ผิดและพิสูจน์ไม่ได้ 100% ว่าถูกแค่ไหน) ตัวเลข G มูลค่าการส่งออกและนำเข้าพอเชื่อถือได้เพราะมาจากการจัดเก็บของทางการตามลักษณะธรรมชาติของมันซึ่งสามารถบันทึกได้ (มูลค่าการบริโภคของครัวเรือนไม่มีใครสามารถบันทึกได้ครบถ้วน)

          ถ้าหน่วยงานของภาครัฐไม่ละอายใจก็สามารถเล่นกลได้โดยการเลือกเปลี่ยนราคาปีฐานในการคำนวณ GDP เพื่อให้ได้ซีรี่ย์ของมูลค่า GDP ใหม่ที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน

          สรุปก็คือตัวเลข GDP ที่เราพูดถึงกันทุกวันนั้นจริง ๆ แล้วก็คือ GDP ที่แท้จริง (Real GDP) ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าถูกต้องแม่นยำเพราะไม่มีทางพิสูจน์ได้ 100% ว่าเป็นตัวเลขที่ถูกต้องหรือไม่ อย่างดีก็พออนุมานได้ว่าต่างจาก GDP ที่พยายามวัดจากด้านอี่น เช่น จากด้านรายจ่ายมากน้อยเพียงใดเท่านั้น

          เมื่อผ่านไปแล้วหลายปีเมื่อมีการปรับสถิติตัวเลขใหม่จึงพอจะประเมินได้ว่า GDP ที่เคยวัดในปีก่อน ๆ หน้านั้นน่าจะผิดจากความจริงกี่เปอร์เซ็นต์

          (3) ในเรื่องการพยากรณ์เศรษฐกิจนั้นใครที่เชื่อคำพยากรณ์โดยไม่มีข้อกังขาใด ๆ โดยรับเอาไว้ดังคำของพระเจ้า กรุณาอ่านธรรมชาติของการพยากรณ์เศรษฐกิจที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้

          ไม่มีนักเศรษฐศาสตร์คนใดสามารถรู้ว่าสภาวะเศรษฐกิจจริง ๆ ณ ปัจจุบันเป็นอย่างไร เนื่องจากว่าข้อมูลสถิติที่เอามาใช้ประเมินสภาวะปัจจุบันแบบ real time นั้นเป็นไปไม่ได้ โดยทั่วไป เร็วสุดของตัวเลขก็คือเมื่อ 3 เดือนก่อน ดังนั้นสิ่งที่เราเชื่อว่าเศรษฐกิจปัจจุบันเป็นอย่างไรนั้นล้วนตีความจากตัวเลขเมื่อ 3 เดือนก่อนหรือนานกว่านั้นทั้งสิ้น

          การพยากรณ์เศรษฐกิจจึงหมายความว่านักเศรษฐศาสตร์ใช้ข้อมูล 3 เดือนก่อนหรือนานกว่านั้นเอามาใช้พยากรณ์อนาคตทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้จริง ๆ จากตัวเลข (ประมาณการอีกนั้นแหละ) เลยว่าสภาวะการปัจจุบันเป็นอย่างไร พยากรณ์อากาศง่ายกว่าเพราะเราเห็นอากาศวันนี้จริง ๆ จนพอคาดเดาสถานการณ์พรุ่งนี้โดยใช้สถิติและสภาวะของวันนี้เป็นข้อมูลสำคัญ

          ถ้านักเศรษฐศาสตร์พยากรณ์เศรษฐกิจได้แม่น ทำไมจึงแทบไม่มีใครในระดับโลกออกมาทำนายเลยว่าเศรษฐกิจโลกจะมีปัญหาร้ายแรงในปี 2008 และ “ต้มยำกุ้ง” ของไทยในปี 1996 ก็เหมือนกัน กว่าจะรู้กันว่าจะแย่ก็ก่อนวิกฤตไม่กี่อาทิตย์เท่านั้น

          นักเศรษฐศาสตร์พยายามสร้างโมเดลเศรษฐมิติที่ประกอบด้วยตัวแปรนับร้อย เอาข้อมูลสถิติเก่า ๆ ข้ามเวลานานปีของตัวแปรเหล่านี้มาสร้างความสัมพันธ์โยงใยกันเพื่อใช้พยากรณ์ ถึงแม้จะพิสูจน์แล้วว่าโมเดลแม่นยำด้วยการลองเอาตัวเลขของบางปีในอดีตใส่เข้าไปและใช้พยากรณ์เศรษฐกิจปีต่อมาซึ่งได้เกิดขึ้นจริงแล้วก็ปรากฏว่าใกล้เคียงความจริงจนน่าเชื่อถือมาก อย่างไรก็ดีพอถึงการพยากรณ์ในอนาคตจริง ๆ กลับไม่สามารถให้ผลที่แม่นยำได้

          อย่าเข้าใจผิดว่าผู้เขียนดูหมิ่นดูแคลนศาสตร์แห่งการพยากรณ์เศรษฐกิจ ผู้เขียนเพียงแต่ชี้ให้เห็นธรรมชาติของมันตลอดจนข้อระมัดระวังของการตีความ สิ่งที่ควรกระทำก็คือการ “ฟังหูไว้ สองหู” เมื่อได้ยินคำพยากรณ์ทั้งนี้เนื่องจากธรรมชาติของตัวมัน บ่อยครั้งที่พยากรณ์อากาศแม่นยำกว่าพยากรณ์เศรษฐกิจมาก

          อย่าหดหู่สิ้นหวังกับสภาวเศรษฐกิจไทยในปีหน้า โลกของเราไม่มีอะไรหยุดนิ่ง มีพลวัตรและความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาตราบที่เราให้กำลังใจกัน ไม่ก่นด่าเพราะความมันส์อย่างไร้เหตุผล และช่วยกันคนละไม้คนละมือในการช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งยอมเสียประโยชน์ส่วนตัวกันบ้างเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ปัญหาเศรษฐกิจของเราก็อาจแก้ไขลุล่วงและปรับโครงสร้างใหม่ได้           ตัวเลขต่าง ๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจสมควรแก่การรับฟังและขบคิด แต่ไม่ควรหลับตาเชื่อโดยไม่ตระหนักถึงความหมาย ที่มาและข้อจำกัดของมัน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *