นักเศรษฐศาสตร์ชื่อ Dr.Ambedkar

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
26
พฤษภาคม 2558

ที่มา https://cdn.dnaindia.com/sites/default/files/styles/full/public/2021/04/14/969726-941635-br-ambedkar.jpg

         โลกรู้จัก ดร.อัมเบดการ์ (Dr. Bhimrao Ramji Ambedkar) ในฐานะผู้นำการปฏิวัติสังคมเพื่อความเท่าเทียมกันของคนอินเดียโดยเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ และปลุกเร้าให้จัณฑาลซึ่งอยู่ในวรรณะต่ำสุดของสังคมอินเดียหันมานับถือศาสนาพุทธพร้อมกันเป็นจำนวน 500,000 คนในปี 1956 นอกจากนี้ผู้คนก็รู้จักในฐานะนักกฎหมาย

          ผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับแรกของอินเดียเมื่อได้รับอิสรภาพในปี 1947 แต่เหนือสิ่งอื่นใดโดยเนื้อแท้แล้ว Dr. Ambedkar เป็นนักเศรษฐศาสตร์ คนสำคัญของอินเดีย

          Dr. Ambedkar เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในนามของ Babasaheb ตอนเกิดอยู่ในวรรณะจัณฑาล แต่ต่อมาครูของเขาซึ่งอยู่ในวรรณะพราหมณ์ให้เปลี่ยนมาใช้นามสกุลของครูเพื่อโอกาสในการศึกษา

          Babasaheb อธิบายเรื่องราวของปัญหาวรรณะซึ่งผูกพันกับปัญหาสังคมอย่างร้าวลึกไว้ในหนังสือเล่มสำคัญคือ Annihilation of Caste ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1936 และต่อมานักเขียนรุ่นใหม่ของอินเดีย อรุณธตี รอย (Arunddhi Roy) ได้เสริมเรื่องราวและขยายความหนังสือดังกล่าวในปี 2014 โดยเป็นหนังสือชื่อว่า The Docter and the Saint

          ผู้สนใจหนังสือของอรุณธตี รอย เล่มนี้กรุณาดูข้อเขียนของ ‘กุลพัชร์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา’ เรื่อง “ดร.อัมเบดการ์กับการทลายโครงสร้างอันอยุติธรรมของสังคมอินเดีย (ระบบวรรณะ)” ตีพิมพ์ใน “ปาจารยสาร” ฉบับมกราคม-เมษายน 2558 ซึ่งค้นคว้ามาอย่างน่าสนใจ

          วรรณะที่เรารู้จักกันในภาษาไทยว่า “จัณฑาล” นั้นมาจากคำดั้งเดิมในภาษาอังกฤษที่ใช้กันในอินเดียว่า “Backward Class” “Scheduled Class” “Untouchable” ต่อมามีผู้ใช้คำว่า ‘Dalit’ (Broken People) เพื่อลดความรุนแรงทางภาษา แต่มีนักวิชาการให้ความเห็นว่า ‘Dalit’ ครอบคลุม Untochables ซึ่งเป็นฮินดูเปลี่ยนมานับถือศาสนาอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกดูถูกด้วย เช่น คริสต์ศาสนา ศาสนาพุทธ ฯลฯ ดังนั้นคำว่า Scheduled Caste และ Untouchable จึงถูกต้องกว่าสำหรับคนยากจนที่อยู่ในวรรณะต่ำสุดของสังคม

          เป็นเวลานับพันปีที่ระบบวรรณะถูกใช้เป็นกลไกในการจัดระบบสังคมอินเดียให้อยู่กันราบรื่น (ความเห็นของนักวิชาการซึ่งรวมไปถึงมหาตมะคานธีด้วย) โดยแบ่งเป็น 4 วรรณะ คือ พราหมณ์ (ผู้ประกอบพิธี) กษัตริย์ (นักรบ) แพศย์ (พ่อค้า) และศูทร (ผู้ใช้แรงงาน)

          วรรณะเป็นการจัดช่วงชั้นในสังคม ซึ่งแต่ละวรรณะถูกกำหนดแต่กำเนิดโดยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดชีวิต แต่ละวรรณะแต่งงานกันเอง โดยลูกหลานเป็นสมาชิกของวรรณะ หากมีการแต่งงานข้ามวรรณะก็จะกลายเป็น Untouchable หรือจัณฑาล คนกลุ่มจัณฑาลไม่ถือว่าเป็นวรรณะ หากเป็น ‘เศษสวะของสังคม’ ที่จะต้องรู้จัก ‘ที่’ ของตนเอง จะไปสัมผัสภาชนะหรืออยู่ในสถานที่หรือเลียนแบบการกระทำของคนวรรณะสูงกว่าไม่ได้เป็นอันขาด จะถูกลงโทษโดยสังคมถึงเจ็บตัว

          หาก Dalit ไปใช้แหล่งน้ำสาธารณะ เอาน้ำจากคลองมารดผักพืช ปรากฏตัวในที่ใกล้สถานที่มีงานมงคล ฯ อาจโดนทำร้าย สถิติปัจจุบันมีว่าอาชญกรรมที่กระทำต่อ Dalit โดยคนที่ไม่ใช่ Dalit นั้นเกิดขึ้นทุก 16 นาที ทุกวันหญิง Dalit มากกว่า 4 คนถูกข่มขืน ทุกอาทิตย์ถูกฆ่าตาย 13 คน 6 คนถูกลักพา เฉพาะในปี 2012 หญิง Dalit 1,574 คน ถูกข่มขืน และ 651 คน ถูกฆาตกรรม ปัจจุบันมี dalit ในอินเดียประมาณ 200 ล้านคน ในประชากร 1,300 ล้านคน

          ถ้าจะพิจารณาให้ดีแล้วพระพุทธเจ้าเป็นนักปฏิวัติสังคมฮินดูโดยแท้เพราะทุกคนเมื่อนับถือศาสนาพุทธแล้วเท่าเทียมกันหมด ไม่ว่ามาจากวรรณะใด พระที่บวชทีหลังต้องไหว้พระที่แก่พรรษากว่า Babasaheb ปลุกเร้าการนับถือพุทธศานาเพื่อหลีกหนีความอยุติธรรมในสังคมอินเดีย ใน ค.ศ. 1956 เขานำการชุมนุมใหญ่และผู้มาชุมนุม

          พร้อมใจกันเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธถึง 500,000 คน จนมีส่วนทำให้ปัจจุบันมีพุทธศาสนิกชนในอินเดียประมาณ 40 ล้านคน

          การเข้ามาช่วยเหลือเหล่า Untouchable ให้ลืมตาอ้าปากได้บ้างจนปัจจุบันร้อยละ 2.5 ของ Dalit เรียนจบเป็นบัณฑิตและมีจำนวนหนึ่งที่ได้เรียนหนังสือ สิ่งนี้ทำให้คนอินเดียที่ปรารถนาความเท่าเทียมกันชื่นชม Dr. Ambedkar จนลืมไปว่าคน ๆ นี้แหละที่เป็นแชมเปี้ยนของการเสนอให้ใช้ตลาดเสรีเป็นกลไกในการพัฒนาประเทศอินเดียมาตั้งแต่ ค.ศ. 1918

          Babasaheb เรียนจบเศรษฐศาสตร์การเมือง (Political Economics) ในยุคก่อนหน้าที่เศรษฐศาสตร์จะกลายเป็น economics ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ในตัวของมันเองอย่างแยกตัวจาก Politics ในยุคปลายสงครามโลกครั้งที่สอง เขาเรียนจบปริญญาโทและเอกด้านเศรษฐศาสตร์จาก Columbia ในปี 1917 และจบปริญญาโทและเอกด้านเศรษฐศาสตร์ในปี 1922 จาก LSE (London School of Economics and Politics)

          เมื่ออายุได้ 27 ปี ใน ค.ศ. 1918 เขาเป็นศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองที่ Sydenham College of Commerce and Economics ในบอมเบย์ วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกทั้งสองชิ้นล้วนเกี่ยวพันกับเรื่องการเงิน อัตราแลกเปลี่ยน เศรษฐศาสตร์มหภาค ฯลฯ

          Babasaheb ปราชญ์เปรื่องในเรื่องเศรษศาสตร์ของอินเดียในยุคนั้น เขาเขียนหนังสือและบทความเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ ไม่ว่าเรื่องการคลัง การเงิน การค้าระหว่างประเทศ ค่าเงินรูปี ระบบธนาคาร และเหนือสิ่งอื่นใดเขาเชื่อมั่นในเรื่องการมีกลไกตลาดเสรีผ่านการวางแผนที่กระจายอำนาจโดยไม่มีการแทรกแซงจากภาครัฐมากเกินไป

          แนวคิดของเขาสอดคล้องกับยักษ์ใหญ่แชมเปี้ยนตลาดเสรี ผู้รับรางวัลโนเบิล คือ Friedrich Hayek ในยุคเดียวกัน ซึ่งตรงข้ามกับแนวคิดของ John Maymard Keynes ซึ่งเชื่อในเรื่องการแทรกแซงของรัฐบาลผ่านนโยบายการเงินและการคลัง (แนวคิดนี้กำลังชนะและกระทำกันอยู่ทั่วโลก)

          อินเดียหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (Babasaheb เสียชีวิตในปลายปี 1956) ใช้แนวนโยบายต่อต้านตลาดเสรีจนเข้าไปใกล้แนวคิดสังคมนิยม เพียงเวลา 20 ปีหลังที่ผ่านมานี้เท่านั้นที่แนวคิดตลาดเสรีได้รับการยอมรับและเกิดขึ้นในอินเดีย

          มีนักเศรษฐศาสตร์บอกว่าในยุคหลังสงครามจนถึงเมื่อ 20 ปีก่อน “คนอินเดียทนเห็นคนบางคนรวยไม่ได้ เลยพร้อมใจกันจน” ถ้าแม้นผู้นำอินเดียนึกถึงความคิดของ Sasasaheb ซึ่งถือได้ว่าก้าวหน้ามากในโลกในช่วงเวลานั้นในเรื่องตลาดเสรี ไม่รู้ว่าอินเดียจะออกสตาร์ทเร็วกว่านี้มากมายหรือไม่

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *