ลงทุนการศึกษาเพื่อให้หลุดพ้น “กับดัก”

วรากรณ์  สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
29
กันยายน  2558

Photo by Jeswin Thomas on Unsplash

          สหประชาชาติกำลังพูดถึง Global Goals ของโลกใน 15 ปีข้างหน้า หรือที่รู้จักกันใน ชื่อเดิมคือ SDG (Sustainable Development Goals_____เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน) ที่บ้านเราเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีพูดกันถึงเรื่อง “การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในเอเชีย” โดย ดร.ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (อดีตประธาน ADB) ในงาน Amartya Sen Lecture Series

          ปาฐกถาครั้งนี้น่าสนใจเพราะมีส่วนที่เกี่ยวกับไทยอยู่มาก “จดหมายเหตุถึงเพื่อนสมาชิก” ของ สสค. (สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน) ได้ลงสรุปย่อปาฐกถาครั้งนี้ ซึ่งผู้บันทึกคือ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา ของ สสค.

          ในบ้านเราปัจจุบันมีนักเศรษฐศาสตร์การศึกษาน้อยคนมากอย่างน่าเสียดาย รุ่นใหม่ก็มี ดร.ไกรยศ (Harvard) ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ (Australian National University-Berkeley) อยู่ที่ World Bank เป็นผู้รับผิดชอบรายงานสถานะการศึกษาของประเทศไทยที่เพิ่งออกมาและ สสค. กำลังแปลเป็นไทย ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว (Australian National University) อยู่ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มีบทความเรื่องการกู้ยืมเพื่อการศึกษา ในวารสารต่างประเทศหลายบทความ ฯลฯ

          ผมขอนำข้อสรุปปาฐกถาบางส่วนมาสื่อต่อดังต่อไปนี้ “…..ดร.ฮารุฮิโกะ กล่าวว่า แม้ว่าเศรษฐกิจเอเชียจะเติบโตเร็วถึง 12 เท่าภายในเวลา 50 ปีที่ผ่านมา แต่ในอีกไม่ช้านี้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียจะต้องเผชิญกับปัญหาการชะลอตัวเช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกเคยประสบมา เนื่องมาจาก 3 กับดักที่สำคัญคือ

          (1) “กับดักของประเทศรายได้ปานกลาง” (Middle Income Trap) ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่จะส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มปัจจัยการผลิตที่สำคัญ อย่างการลงทุนและการโยกย้ายแรงงานจากชนบทป้อนภาคอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มแรงงานราคาถูก แม้วิธีนี้จะใช้ได้ผลในระยะแรก แต่ผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะค่อย ๆ ลดลงจนหมดไปในที่สุด ประเทศที่ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางไปได้อย่างประเทศเสือเศรษฐกิจ 4 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน และฮ่องกง สามารถก้าวข้ามได้ด้วยการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการเพิ่มผลิตภาพการผลิตรวม (Total Factor Productivity) ของระบบเศรษฐกิจ และการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง รวมถึงการเปิดตลาดใหม่สู่การเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขั้นสูงที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

          (2) “กับดักโครงสร้างประชากร” (Demographic Trap) ธรรมชาติของประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร อันเนื่องมาจากอัตราการเกิดของประชากรที่ลดลงและอายุขัยเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น ประชากรในประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้จึงมีความเสี่ยงที่จะ “แก่ก่อนรวย” หรือก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ก่อนเป็นประเทศรายได้สูง (High Income Country) การมีประชากรวัยพึ่งพิงสูงกว่าประชากรวัยแรงงานเช่นนี้จะยิ่งทำให้การหลุดออกจากกับดักรายได้ปานกลางล่าช้ายิ่งขึ้นไปอีก

          (3) “กับดักด้านความจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติในประเทศ” (Natural Resource Trap) การสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ น้ำ รวมถึงที่ดิน เป็นต้น เมื่อทรัพยากรเหล่านี้หร่อยหรอไป ภาระต้นทุนการผลิตจึงเพิ่มขึ้นและฉุดรั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายจึงพยายามรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจด้วยการขยายฐานการค้นหาทรัพยากรธรรมชาติแหล่งใหม่จากในและนอกประเทศตนเอง

          กับดักทั้ง 3 ประการนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยยังไม่สามารถเป็นเสือเศรษฐกิจตัวที่ 5 แห่งเอเชียได้เสียที ปัจจุบันการเจริญเติบโตของระบบเศรษฐกิจไทยยังคงพึ่งพาการส่งออกสินค้าการเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมที่ยังขาดนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงเหมือนเมื่อทศวรรษที่แล้ว ด้วยภาวะการแข่งขันในระดับนานาชาติที่สูงขึ้น รวมถึงความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยไม่ยั่งยืน และมีแนวโน้มถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง

          ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในอีก 10 ปี ในขณะที่ประชากรวัยเด็กกำลังลดลง ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ธนาคารโลกได้รายงานว่า “…..มีการเพิ่มขึ้นของจำนวนโรงเรียนขนาดเล็ก (จำนวนเด็กต่ำกว่า 120 คน) ถึง 5,000 โรงเรียน (ปัจจุบันร้อยละ 50 ของ 28,803 โรงเรียนในบ้านเราเป็นขนาดเล็ก) อันเนื่องมาจากการลดลงของจำนวนนักเรียนกว่า 2 ล้านคน (ร้อยละ 20) ภายในเวลาเพียง 10 ปีเท่านั้น สวนทางกับการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัยในประเทศไทย ทำให้ปัจจุบันดัชนีการสูงวัย (Aging Index) ซึ่งคิดจากสัดส่วนผู้สูงวัยต่อประชากรเด็ก 0-15 ปีของประเทศไทยสูงถึง 83.1 สูงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน และมีแนวโน้มสูงกว่า 100 ภายใน 10 ปีข้างหน้านี้ ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการก้าวออกจากกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง

          ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นจึงได้ให้กุญแจ 3 ดอกในการสร้างความยั่งยืนให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ในเอเชีย ได้แก่ (1) มาตรการยกระดับคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ (2) การยกระดับสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจ และ (3) การพัฒนาตลาดการเงินให้เข้มแข็งและมีเสถียรภาพ โดยประเทศที่พัฒนาแล้วล้วนมีประชากรวัยแรงงานส่วนใหญ่ที่มีระดับการศึกษาสูง ตรงกันข้ามกับประเทศไทยที่ 7 ใน 10 คน ของประชากรวัยแรงงานมีการศึกษาสูงสุดเพียงแค่ระดับประถมศึกษาเท่านั้น

          แม้ว่าประเทศไทยจะเร่งขยายโอกาสและคุณภาพทางการศึกษาผ่านการลงทุนด้านการศึกษาด้วยการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาสูงถึงปีละ 5 แสนล้านบาทต่อปี และเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปีตลอด 10 ปีที่ผ่านมา แต่ด้วยการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ระบบเศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยเพียงร้อยละ 3 ต่อปีเท่านั้น หากต้นทุนการจัดการศึกษายังคงเพิ่ม สูงกว่าการเติบโตของรายได้คนไทยถึง 2.5 เท่าเช่นนี้ มาตรการยกระดับคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ของไทยก็จะไม่ยั่งยืน ระบบการศึกษาไทยจึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปประสิทธิภาพการลงทุนด้านการศึกษาอย่างเร่งด่วน…..”

          ด้วยสถานการณ์และทางโน้มของประเทศเราข้างต้น ดังนั้นจึงมีหนทางเดียวเท่านั้นที่จะสามารถช่วยให้หลุดพ้นจากปัญหาอันหนักหน่วงในอนาคตอันใกล้ได้ นั่นก็คือการเร่งปฏิรูปการศึกษาอย่างไม่อาจรออะไรได้อีกต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *