ประชากรกับชีวิตของประเทศ

วรากรณ์ สามโกเศศ
15 กุมภาพันธ์ 2565

ปี 2564 เป็นปีแปลกที่สุดของประเทศไทยในเรื่องประชากรเพราะเป็นปีแรกในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่มีการเก็บสถิติว่ามีจำนวนคนเกิดน้อยกว่าจำนวนคนตายในปีเดียวกัน กล่าวคือมี 544,570 คนที่เกิดและ 563,650 ที่ตาย มันเกิดอะไรขึ้นในบ้านเรา และมีผลกระทบต่อชีวิตของเราอย่างไรบ้าง

เราได้ยินกันมานานว่าเรามีสัดส่วนของผู้สูงวัยในจำนวนประชากรสูงจนเรียกว่าไทยเป็นสังคมผู้สูงวัย เรื่องราวเกี่ยวกับประชากรไทยขอเริ่มต้นที่ข้อมูลพื้นฐาน ตอนไทยเรามีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 เริ่ม พ.ศ. 2504 จำนวนเด็กเฉลี่ยที่เกิดจากผู้หญิงไทยคนหนึ่งในชีวิตคือประมาณ 5 คน (ทางวิชาการเรียกว่า TFR หรือ Total Fertility Rate) อันส่งผลให้อัตราเกิดอยู่ประมาณ 3% กว่าซึ่งนับว่าสูงมาก เมื่อประเทศมีการพัฒนาขึ้น รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จำนวนคนเกิดก็เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในช่วง พ.ศ. 2506 ถึง 2526 มีเด็กเกิดในแต่ละปีเกินกว่า 1 ล้านคน

​ อย่างไรก็ดีเมื่อการมีลูกมีต้นทุนสูงขึ้น หญิงชายบากบั่นทำงานหาความร่ำรวย บริการการแพทย์และสาธารณสุขดีขึ้น โครงการวางแผนครอบครัวได้ผลดี TFR ก็ลดต่ำลงเรื่อย ๆ จำนวนการเกิดในแต่ละปีลดลงเป็นลำดับจากเกิน 1 ล้านคนในปี 2626 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายจนถึง ปี 2555 เกิดปีละประมาณ 800,000 คน และลดจนถึงเพียง 500,000 คนเศษในปี 2564 และในปีนั้น TFR ลดลงเหลือเพียง 1.51 เท่านั้น

​ เด็กกว่า 1 ล้านคนที่เกิดในปี 2506 จะมีอายุครบ 60 ปีเข้าเป็นสมาชิกของสโมสรผู้สูงวัยในปี 2566 หรือปีหน้า และคลื่นสึนามิของคนสูงวัยจะเพิ่มปีละอย่างน้อย 1 ล้านคนโดยต่อเนื่องไปอีกกว่า 20 ปี ในสภาพการณ์ที่คนไทยมีอายุยืนขึ้น พายุลูกนี้ก็จะยิ่งหนักหน่วงขึ้น

​ ในปี 2564 มีผู้สูงอายุคือ 60 ปีขึ้นไปอยู่ 20% ในประชากรทั้งประเทศซึ่งตามคำจำกัดความสากลก็คือไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้ว (อายุ 0-14 ปี มีอยู่ 17% และอายุ 15-59 ปีซึ่งเป็นกำลังแรงงานของประเทศมีอยู่ 63%) อีก 10 ปีข้างหน้าคือ พ.ศ. 2574 จะมีผู้สูงอายุ 28% (เด็กมีสัดส่วนไม่เปลี่ยนแปลงนัก แต่กำลังแรงงานเหลือ 57%) และร้ายกว่านั้นก็คืออีก 9 ปีต่อไป หรือ พ.ศ. 2583 จะมีผู้สูงอายุถึง 32% (กำลังแรงงานเหลือ 55%)

กล่าวโดยสรุปก็คือ 2564 ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้วคือ 20% อีก 10 ปี จะเข้าสู่ซูเปอร์สังคมผู้สูงวัย คือร้อยละ 28 และใน พ.ศ. 2583 หรือประมาณ 20 ปีจากนี้ หนึ่งในสามของประชากรไทยจะเป็นผู้สูงวัย

สถานะปัจจุบันของประชากรไทยก็คือ มีจำนวนประชากรประมาณ 68 ล้านคน TFR ประมาณ 1.5 มีอัตราการเกิด 1.07% ต่อปี จำนวนคนตายในแต่ละปีสูงกว่าจำนวนคนเกิด และประการสำคัญกำลังแรงงานของประเทศจะลดจาก 63% ใน 2564 เหลือเพียง 57% ในอีก 10 ปีข้างหน้า และเหลือเพียง 55% ในอีกประมาณ 20 ปีข้างหน้า เป็นที่คาดการณ์ว่าจำนวนประชากรของไทยจะเพิ่มมากขึ้นอีกเล็กน้อย และทรงตัวอยู่ในระดับใกล้ 68-69 ล้านคนในช่วง 20 ปีข้างหน้า

ประเด็นที่สำคัญก็คือ เมื่อประชากรมีจำนวนทรงตัวใน 20 ปีข้างหน้าแต่สัดส่วนของผู้อยู่ในวัยแรงงานลดลงก็หมายความว่าจำนวนผู้อยู่ในวัยแรงงานจะลดลง โดยลดลงจาก 66% ในปี 2558 / 63% ในปี 2564 / 57% ในปี 2574 / 55% ในปี 2583 ซึ่งคนในวัยกำลังทำงานนั้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งของประเทศ เพราะเป็นกำลังการผลิต เป็นมันสมอง เป็นแขนเป็นขา เป็นสิ่งแวดล้อมสำคัญของการสร้างผลิตภาพ (productivity) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งของการสร้างความกินดีอยู่ดีของประเทศ หากเปรียบเทียบระหว่าง 2558 กับ 2583 สังคมไทยจะมีคนในวัยทำงานน้อยลงไปกว่า 7-8 ล้านคนในขณะที่เราต้องการการขยายตัวของเศรษฐกิจอีกมากในอนาคตเพื่อให้มาตรฐานการครองชีพของประชากรสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คำถามก็คือเราจะหาแรงงานที่หายไปนี้มาจากไหน

งานศึกษาวิจัยของหลายประเทศพบว่าเมื่อมีสัดส่วนของผู้สูงวัยในประชากรสูงขึ้นจะทำให้กำลังแรงงานของประเทศขยายตัวช้าลงและมีผล (ก) ทำให้การเจริญเติบโตเศรษฐกิจช้าลง (ข) คนในวัยแรงงานต้องรับภาระดูแลสังคมและเศรษฐกิจมากขึ้นผ่านภาระภาษีที่หนักขึ้น การออมในครัวเรือนลดต่ำลง (ค) ภาครัฐมีข้อจำกัดด้านงบประมาณมากขึ้นเนื่องจากต้องดูแลผู้สูงอายุในด้านสุขภาพและสวัสดิการสังคม

การเพิ่มกำลังแรงงานเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นในสภาพเช่นนี้การพัฒนาผลิตภาพของแรงงาน (ให้จำนวนคนเท่าเดิมแต่ผลิตได้มากขึ้น) ที่มีอยู่จึงเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย นอกจากนี้การขยายวัยเกษียณอายุการทำงานของผู้สูงอายุพร้อมกับสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน และรับแรงงานจากเพื่อนบ้านและคนไกลมาทำงานในบ้านเรามากขึ้น (เหมือนญี่ปุ่น เยอรมันนี และอีกหลายประเทศในขณะนี้) หากเราไม่ขยายกำลังแรงงานของเราแล้วก็จะเป็นตัวถ่วงการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งมีทางโน้นที่จะไม่เพิ่มขึ้นมากอยู่แล้วยิ่งขึ้น

นโยบายด้านประชากรต้องเป็นวาระแห่งชาติที่มีการพูดจาอภิปรายกันให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลเพื่อให้เกิดปัญญาโดยเร็วเนื่องจากการแก้ไขปัญหาเรื่องประชากรต้องใช้เวลายาวนานนับทศวรรษภายใต้นโยบายที่เหมาะสมและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

ความเข้าใจเรื่องประชากรจะทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในหลายเรื่อง เช่น การเข้าใจว่าคนไทยขี้เกียจไม่ทำงาน “สกปรก” “อันตราย” “งานหนัก” จนต้องใช้แรงงานจากเพื่อนบ้าน ความจริงก็คือเด็กไทยจำนวนมากมิได้เกิดมาซึ่งต่างจากช่วง 2506-2526 ในแต่ละปีมีจำนวนเด็กเกิดน้อยลงเป็นลำดับ เมื่อหาแรงงานไทยไม่ได้จึงต้องพึ่งเพื่อนบ้าน ซึ่งถ้าหากไม่มีแรงงานเหล่านี้แล้วเศรษฐกิจไทยจะมีปัญหามากเพราะขาดแคลนแรงงาน และเมื่อมองไปในอนาคตก็จะยิ่งเห็นการขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพของเศรษฐกิจไทยยิ่งขึ้น

มีข้อที่น่าสงสัยคือเมื่อจำนวนการเกิดน้อยลงทุกทีจนใกล้กับจำนวนการตายแล้วเหตุใดจำนวนประชากรไม่ลดลง ยังทรงตัว 68-69 ล้านคน คำตอบก็คือการที่คนไทยมีอายุยืนขึ้นเพราะคุณภาพการแพทย์และสาธาณสุขดีขึ้น ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพดีขึ้น ฯลฯทำให้คนที่ควรเสียชีวิตตามแบบแผนสมัยก่อนนั้นยังคงมีชีวิตอยู่ และไปเพิ่มสัดส่วนของผู้สูงอายุให้มากขึ้นนั่นเอง