วรากรณ์ สามโกเศศ
6 กันยายน 2559
ในกิจกรรมที่มนุษย์กระทำกันทุกวัน ความเชื่อถือไว้วางใจ (trust) ระหว่างกันเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ถ้าขาดสิ่งนี้แล้วการโอนเงินเดือนผ่านธนาคาร การชำระบัญชีน้ำไฟผ่านธนาคารหรือร้านสะดวกซื้อ การรับจ้างทำงานโดยหวังเงินเดือน การสั่งซื้อของทางไปรษณีย์ หรือออนไลน์ หรือแม้กระทั่งฝากเด็กซื้อก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ ก็เกิดขึ้นได้ยาก ในสังคมที่มีระดับการพัฒนาต่างกัน โสหุ้ยในการดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจและการลงทุนระยะยาว ตลอดจนความมั่งคั่งยั่งยืนก็แตกต่างกันไปด้วย
มนุษย์เป็นสัตว์ที่หัวดีกว่าสัตว์อื่น ๆ แม้แต่เผ่าพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับมนุษย์เช่น Neanderthal (สูญพันธุ์ไปเมื่อประมาณ 20,000-30,000 ปีก่อน) ดังนั้นจึงใช้ความเป็นเครือญาติ สมาชิกชุมชน เผ่าพันธุ์ และ “แซ่” เดียวกันเป็นเครื่องมือ สมาชิกเครือข่ายเหล่านี้มีความเป็นไปได้สูงว่าจะไว้เนื้อเชื่อใจกันได้ ดังนั้นเราจึงเห็นการค้าขาย ทำมาหากินในกลุ่มเหล่านี้ด้วยกัน หรือรวมกลุ่มกันเพื่อค้าขายกับคนอื่น
การมีสมาคม “แซ่” ของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศต่าง ๆเป็นวิธีการที่ชาญฉลาดเพราะเท่ากับเป็นการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายในเรื่องการไว้เนื้อเชื่อใจกัน ซึ่งใช้ประโยชน์ได้ทั้งการค้าขายกันภายในกลุ่มและกับคนนอกกลุ่มด้วย การ “ร่วมเป็นทองแผ่นเดียวกัน” ข้ามเมือง ข้ามประเทศ เป็นวิธีการที่มนุษย์ใช้กันมาดึกดำบรรพ์อย่างได้ผลเช่นกัน
ในทางวิชาการ trust ในเชิงเศรษฐศาสตร์เกี่ยวพันกับการผูกพันเอาทรัพยากรไปใช้ในกิจกรรมซึ่งผลพวงที่เกิดขึ้นนั้นขึ้นอยูกับพฤติกรรมในการร่วมมือของหลายฝ่าย สังคมที่มีความไว้วางใจกันต่ำก่อให้เกิดการสูญเสียทั้งเวลาและเงินทองมากมายในการใช้ไปในการประเมินว่าใครที่น่าไว้ใจได้เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงโดยนักต้มตุ๋น หรือถูกโกง สังคมเช่นนี้ไม่เอื้อต่อการลงทุนระยะยาว เพราะตระหนักดีว่าผลกำไรอาจถูกดูดหายไปโดยคอรัปชั่นของภาครัฐหรือถูกคดโกง
ตรงกันข้ามในสังคมที่มีความไว้วางใจกันสูง การสูญเสียทรัพยากรเพื่อประเมินว่าใครน่าไว้วางใจนั้นต่ำและ สิ่งแวดล้อมเอื้อต่อการลงทุนระยะยาว มีงานวิชาการที่พบว่าดีกรีของความไว้เนื้อเชื่อใจกันในสังคมมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ
ความเชื่อถือไว้วางใจกันช่วยทำให้เกิดการค้าขายที่กว้างขวางขึ้น มีผู้คนมาร่วมในตลาดการเงินมากขึ้น มีการลงทุนมากขึ้น ซึ่งหมายรวมกันได้ว่ายิ่งสังคมใดมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันสูงก็จะยิ่งร่วมกระตุ้นให้เกิดความมั่งคั่งยิ่งขึ้น
ความไว้วางใจกันในสังคมคือทุนทางสังคม (social capital) ที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นโดยใช้เวลา และการมุ่งมั่นสร้างสรรค์ ทิศทางก็คือการสร้างสังคมที่มีคุณธรรม ผู้คนมีศีลมีธรรม และมีภาครัฐที่น่าเชื่อถือเป็นหลักฃึ่ง นอกเหนือจากการมีประสิทธิภาพของภาครัฐแล้วการปราศจากคอรัปชั่นก็เป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่ง
สังคมจะมีความไว้วางใจกันต้องมาจากรากฐานทางศีลธรรมของสังคม ค่านิยมของความซื่อสัตย์ การรักษาคำพูดและสัญญา ความศรัทธาในความดีงามฯลฯ เหล่านี้เป็นหัวใจของการสร้าง social capital ที่สำคัญยิ่งนี้
ในมิติของความสัมพันธ์กับต่างประเทศ social capital ดังกล่าวยังมีความสำคัญเป็นอันมาก การค้าการลงทุนและธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศของบุคคลและองค์กรที่ต่างอยู่ในดินแดนที่มีกฎหมายและสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความไว้วางใจกันเท่านั้น
เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ช่วยทำให้การตรวจสอบประวัติ ธุรกรรมในอดีตของผู้ที่จะร่วมกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้วยเป็นไปอย่างสะดวกและกว้างขวางขึ้น (การได้รับอันดับ การได้รับการรับรองภายใต้ระบบประกันคุณภาพ การได้รับรางวัล คือหลักฐานสนับสนุนความน่าไว้วางใจ) ดังนั้นจึงหมายความว่าสังคมยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้นในการเป็นสังคมที่มีศีลมีธรรม เป็นประเทศที่มีศักดิ์ศรีเพื่อเพิ่มพูน social capital ในการมีความน่าไว้วางใจ
Alberto Alesina แห่ง Harvard Universityและ Eliana La Ferrara แห่ง Bocconi University ใน Milan ร่วมกันศึกษาและพบว่าสังคมที่มีความหลากหลายในด้านรายได้และชาติพันธุ์สูงจะมีระดับความไว้วางใจกันต่ำ
การกำจัดความเหลื่อมล้ำระหว่างรายได้และการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์จึงเป็นงานสำคัญในการสร้างความไว้วางใจอันเป็นหนทางสู่ความมั่งคั่งในระยะยาว ควบคู่ไปกับการสร้างสังคมที่มีศีลมีธรรม
เมื่อมนุษย์ไม่ใช่หุ่นยนต์ ความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างคนในสังคมเดียวกันและต่อไปยังสังคมอื่นจึงมิได้เกิดจากการกดปุ่ม หากเกิดจากการมีความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีต่อกัน การมี อารยธรรมในการสังคม การพูดจาด้วยภาษาที่เหมาะสม และการมีความจริงใจต่อกัน ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามได้
การได้รับความเชื่อถือไว้วางใจคือการมีคุณค่า (value) ซึ่งมิได้เกิดขึ้นข้ามวันข้ามคืน หากเกิดจากการมีคุณธรรมให้ปรากฏแก่ผู้อื่นข้ามระยะเวลา สังคมใดจะมั่งคั่งได้ยั่งยืนก็ต้องเดินในเส้นทางเดียวกันกับบุคคลนั้นแล