ว่าด้วยเรื่องมาตรฐาน

วรากรณ์  สามโดเศศ
7 ธันวาคม 2559

          นับตั้งแต่มีสมาร์ทโฟน เรามีเวลาที่ตรงกันทุกเครื่องในโลกซึ่งเป็นสิ่งที่มีมาตรฐานตรงกันอย่างแน่แท้ไม่ต้องสงสัย อย่างไรก็ดีในปัจจุบันดูเหมือนว่ามาตรฐานในหลายเรื่องจะไม่ตรงกัน สิ่งที่เรียกว่า new normal ซึ่งเกี่ยวพันกับเรื่องมาตรฐานในหลายกรณีทำให้เกิดปัญหา

          การบอกเวลาในปัจจุบันใช้สิ่งที่เรียกว่า atomic clock เป็นเครื่องกำหนดเวลามาตรฐาน จากนั้นก็ใช้เครื่องส่งสัญญาณทางวิทยุ (radio transmitter) กระจายข้อมูลเวลาไปยังตัวอื่น ๆ ซึ่งอยู่ทั่วโลก จนทำให้นาฬิกาโดยเฉพาะที่อยู่หน้าจอสมาร์ทโฟนบอกเวลาตรงกัน

          บางท่านอาจบอกว่าสมาร์ทโฟนในระบบ Android มักมีปัญหาในเรื่องความเที่ยงตรงซึ่งก็เป็นความจริง แต่โดยทั่วไปแล้วเวลาบนสมาร์ทโฟนเป็นมาตรฐานเดียวกันในโลกโดยอาศัย atomic clock ของ U.S. Naval Observatory ใน Washington D.C. ซึ่งบอกเวลาของสหรัฐอเมริกาเป็น ตัวหลัก และโลกก็อาศัยนาฬิกาเครื่องนี้เป็นมาตรฐานด้วย

          คำว่า “มาตรฐาน (standard)” ในเรื่องนี้จึงชัดเจนเพราะเป็นรูปธรรมและตรงกัน (ประเทศใดเวลาเร็วช้ากว่ากี่ชั่วโมง กี่นาที ก็ปรับเวลาท้องถิ่นไปโดยอาศัยเวลานี้เป็นหลัก) ซึ่งมาจากการใช้เกณฑ์เดียวกัน

          สำหรับสิ่งที่เรียกว่า “สองมาตรฐาน” นั้นหมายถึงเรื่องในสถานการณ์เดียวกัน แต่ใช้สองเกณฑ์ที่ไม่เหมือนกัน เช่น นักเรียนทำผิดเหมือนกันทุกประการ แต่ถูกลงโทษด้วยความรุนแรงแตกต่างกันจะด้วยเหตุผลใดก็ตามที หรือกระทำกรรมดีเหมือนกันในทุกลักษณะแต่ได้รับรางวัลแตกต่างกัน

          นอกจาก “มาตรฐานเดียว” ของเวลา และ “สองมาตรฐาน” ดังกล่าวแล้ว ปัจจุบันยังมีคำที่ได้ยินกันบ่อย ๆ คือ new normal หรือเรียกอีกอย่างว่า “เกณฑ์ปกติใหม่” หรือ “มาตรฐานใหม่” ก็น่าจะได้

          ตัวอย่างเช่นแต่ก่อนเศรษฐกิจเติบโตปีละ 4-5 เปอร์เซ็นต์ แต่มาบัดนี้สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ และความสามารถเปลี่ยนไปจนเติบโตเฉลี่ยเพียงปีละ 2-3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เช่นนี้เราเรียกว่า “เกณฑ์ปกติใหม่” หรือ “มาตรฐานใหม่” คือ จากเกณฑ์ปกติเดิม 4-5 กลายเป็น 2-3
วัยรุ่นจนถึงวัยมหาวิทยาลัยชอบพูดจากันด้วยภาษาพ่อขุนให้คนอื่นได้ยิน ก็เรียกได้ว่าเป็น new normal หรือเกณฑ์มาตรฐานใหม่ กล่าวคือคนสมัยก่อนเขาถือกันว่าเป็นกิริยามารยาทที่ ไม่ดี เป็นการหยาบคาย แต่ปัจจุบันเขาถือกันว่าเป็นมาตรฐานใหม่อันเป็นปกติ สำหรับบางคนนั้นเห็นว่าเป็นการเสื่อมลงของความเป็นอารยะของคนไทย แต่สำหรับคนบางส่วนเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา

          ในเรื่องนี้แตกต่างจากเรื่องเวลา ซึ่งชัดเจนว่า “มาตรฐาน” คืออะไร ส่วนการใช้ภาษาพ่อขุนนั้นต่างจิตต่างใจกัน บางคนเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ หรืออาจถือว่าเป็น old normal คืออ้างว่าสมัยอยุธยา หรือย้อนไปถึงสุโขทัย การพูดจาเช่นนี้เป็นมาตรฐานปกติ

          ในเรื่องจริยธรรมซึ่งควรจะเป็นเรื่องของมาตรฐานเดียวเพราะเป็นสิ่งแท้แน่นอนและอกาลิโก (ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา) คนสมัยใหม่บางส่วนก็ถือว่ามีเรื่องของ new normal เข้ามาเกี่ยวพันด้วย กล่าวคือ ‘โกงเล็กน้อย’ หรือมาตรฐานใหม่นั้นไม่เป็นไร เพราะมนุษย์ก็ต้องมีเลวบ้างจึงจะเรียกว่าเป็นปุถุชน( โกงก็เหมือนการท้อง ท้องนิดเดียวไม่มี : ผู้เขียน)

          มาตรฐานในเรื่องจริยธรรมของสังคมใดเปลี่ยนไปได้ตราบที่คนในสังคมนั้นยอมรับ ในบางวัฒนธรรมการหักหลังกันระหว่างหุ้นส่วนในการประกอบธุรกิจถือว่าเป็นเรื่องปกติ เป็นมาตรฐานที่เขาทำกันอย่างเป็นเรื่องธรรมดาโดยสังคมยอมรับ ใครหักหลังเพื่อนได้แนบเนียนและมากเท่าใด ก็ถือว่ายิ่งเก่งเพียงนั้น

          ปัจจุบันมีคนไม่น้อยมีความกังวลในเรื่องมาตรฐานในระดับโลกเมื่อนาย Donald Trump ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ไม่ว่าจะชอบสหรัฐอเมริกาหรือไม่ก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่าอิทธิพลอเมริกาทางความคิดและวัฒนธรรมนั้นมีผลต่อโลกอย่างปฏิเสธไม่ได้

          การปฏิเสธว่าจะยังคงประกอบธุรกิจต่อไปควบคู่กับการเป็นประธานาธิบดีของ Donald Trump เนื่องจากไม่มีกฎหมายห้ามไว้ จะเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ของจริยธรรมในโลก และมีคนจำนวนมากรวมทั้งนักการเมืองทั่วโลกเลียนแบบ

          กฎหมายสหรัฐอเมริกามิได้ห้ามไว้เพราะตระหนักว่าคนในระดับประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีนั้นย่อมมีวิจารณญาณที่ดีพร้อมทั้งมีจริยธรรมและวัฏปฏิบัติอันงดงามเพื่อเป็นตัวอย่างแก่ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน สิ่งนี้เป็นมาตรฐานของคนเป็นประธานาธิบดีมาตลอดระยะเวลากว่า 200 ปี ของประธานาธิบดี 44 คน

          ประธานาธิบดี Nixon ลาออกก่อนที่จะถูกรัฐสภาประนาม (impeach) อันอาจนำไปสู่การถูกไล่ออกเนื่องจากประชาชนไม่พอใจมากที่เขาโกหกและถูกจับได้ในเรื่องที่ว่าไม่รู้เรื่องการดักฟังที่สำนักงานใหญ่ของพรรคเดโมแครตที่ตึก Watergate

          Nixon ตกจากอำนาจเพราะทำลายความเชื่อถือที่ประชาชนมีต่อตำแหน่งประธานาธิบดีมายาวนาน ในตอนนั้นถือว่าเป็น “อาชญากรรม” ที่คนอเมริกันรับไม่ได้ นี่คือมาตรฐาน หรือ norm ดั้งเดิมของการเมืองและสังคมอเมริกัน

          มาบัดนี้ได้ประธานาธิบดีคนใหม่ที่ตอนหาเสียงถูกจับผิดว่าพูดโกหกทุก 4 นาทีครึ่ง

          ผู้คนจึงระแวงกับ new normal เป็นอันมากและก็ไม่ผิดหวัง เพราะแค่ยังไม่ทันสาบานตัวเป็นประธานาธิบดีตัวจริง ก็แสดงให้เห็นว่าจะสร้าง new normal ใหม่ขึ้นแล้ว

          ถ้า Donald Trump สามารถทำสิ่งซึ่งคนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest) ดังกล่าวได้สำเร็จ ก็เป็นที่น่าหวาดหวั่นว่าโลกอาจเผชิญกับปรากฏการณ์ใหม่ของ new normal ในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนก็เป็นได้

          คนในโลกไม่เข้าใจนาย Trump ว่าคิดอย่างไรจึงยืนยันว่าจะทำธุรกิจต่อไปเพราะไม่ผิดกฎหมาย ในขณะที่รัฐมนตรี วุฒิสภา ฯลฯ ถูกกฎหมายบังคับให้เอาหุ้นส่วนความเป็นเจ้าของธุรกิจทั้งหมดที่มีไปรวมไว้ให้เอกชนผู้รับจ้างดูแลธุรกิจจัดการโดยเจ้าของไม่รู้ว่ามีการไปลงทุนอย่างไรในธุรกิจใดบ้าง (ดังเรียกว่า blind trust)

          การมี “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ก็คือการเปิดโอกาสให้เกิดคอรัปชั่น กล่าวคือใช้อำนาจของตนตามกฎหมายที่ได้รับมอบมาเพื่อสร้างประโยชน์แก่สาธารณชนกลับมาสร้างประโยชน์ให้ส่วนตัว เช่น ธุรกิจกาสิโนที่นาย Trump เป็นเจ้าของอาจมีการเปลี่ยนกฎเกณฑ์บางอย่างผ่านการใช้อำนาจของตนทางตรงและอ้อมเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ธุรกิจของตน ถ้าตนเองไม่มีธุรกิจนี้หรือไม่รู้ว่าบัดนี้ตนเองมีธุรกิจเช่นนี้อยู่หรือไม่ คอรัปชั่นในลักษณะนี้ก็ย่อมไม่เกิดขึ้น

          ถ้าสังคมมีความมั่นคงในมาตรฐานของจริยธรรมแล้ว ผู้นำทุกคนก็จำต้องอยู่ในกรอบเดียวกันด้วย แต่ถ้าหากประชาชนไม่ใช้เหตุใช้ผล ใช้แต่ความชอบโดยส่วนตัวเป็นสรณะแล้ว ความเสื่อมทรามในเรื่องจริยธรรมก็อาจกระจายไปในระดับโลกได้