วรากรณ์ สามโกเศศ
9 กุมภาพันธ์ 2559
โลกตื่นเต้นกับการระบาดของไวรัสชื่อ Zika เนื่องจากทำความเสียหายได้มากมายต่อสุขภาพ และทำให้พ่อแม่ต้องร้องไห้น้ำตาเป็นสายเลือด ขณะนี้ยังไม่ระบาดในเอเชียและส่วนอื่น ๆ ของโลก นอกจากตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้โดยเฉพาะบราซิลซึ่งประสบปัญหาหนักหน่วง แต่ก็คาดว่าน่าจะระบาดไปทั่วโลกในระดับหนึ่งในสถานที่ซึ่งยุงลายสามารถอาศัยอยู่ได้
ชื่อ Zika มาจากชื่อป่าในอูกันดาซึ่งพบการติดไวรัสนี้ในลิงในปี 1947 และสามารถแยกไวรัสตัวนี้ออกมาได้ในปี 1952 และพบการติดเชื้อในมนุษย์ในปี 1954 ในไนจีเรีย ระหว่างปีนั้นถึงปี 2007 พบประมาณ 14-15 รายของการติดเชื้อไวรัส Zika ในคนในบริเวณอาฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ดีเหตุการณ์พลิกผันในปี 2007เมื่อพบหนึ่งกรณีในเกาะเล็กแห่งหนึ่งในทางตอนใต้ของมหาสมุทรปาซิฟิกตอนใต้ซึ่งสร้างความงุนงงเนื่องจากอยู่ไกลออกไปมาก แต่ที่มึนยิ่งกว่านั้นก็คือเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส Zika ในบราซิลในกลางปี 2015
น่าเห็นใจชาวบราซิลที่กีฬาโอลิมปิกจะจัดขึ้นในปี 2016 ในเดือนสิงหาคม ถ้าหากควบคุมไม่อยู่อาจมีผลกระทบต่อการจัดซึ่งได้ลงทุนไปมหาศาลแล้ว อีกกลุ่มหนึ่งที่น่าเห็นใจก็คือบริษัท TATA ของอินเดียซึ่งกำลังจะเปิดตัวรถยนต์ขนาดกะทัดรัดที่มีชื่อว่า Zica ในเร็ว ๆ นี้ การมีชื่อพ้องอย่างไม่ส่งเสริมการขายนั้นเกิดขึ้นเสมอ เช่น โทรศัพท์รุ่น Lumia ของ Nokia ก็ขายไม่ได้ดีในสเปนเพราะ Lumia เป็นคำแสลงในภาษาสเปน หมายถึง “หญิงบริการ” หรือพริกไทยดำยี่ห้อ Shito ในกานาขายไม่ดีในประเทศอื่น
คนติดเชื้อไวรัส Zika ก็เพราะยุงลาย (มีชื่อสายพันธุ์ทางชีววิทยาว่า Aedes หนึ่งในสายพันธุ์นี้ที่ร้ายกาจคือ Aedes Aegypti) เป็นพาหะ เมื่อกัดคนที่มีเชื้อ Zika และไปกัดคนอื่นๆก็จะพลอยติดเชื้อไปด้วย การฟักตัวของเชื้อก็ประมาณ 2-7 วัน อาการไม่รุนแรงของการปวดหัว มีไข้ มีผื่น ปวดข้อ หรือตาแดง อาจปรากฏ แล้วก็หายไป
ถ้าเป็นผู้หญิงท้องที่เป็นเหยื่อยุงลายซึ่งมักกัดในเวลากลางวันก็จะเกิดผลร้ายอย่างยิ่งเนื่องจากมีทางโน้มที่เด็กเกิดมาจะมีสมองเล็กผิดปกติ (microcephaly) ซึ่งก็คือการผิดปกติทางสมอง เมื่อเด็กเติบโตขึ้นร้อยละ 15 เท่านั้นที่สมองทำงานด้านการคิดได้เป็นปกติ ส่วนใหญ่จะพิการ เช่น เดินไม่ได้ ควบคุมการเคลื่อนไหวไม่ได้ พูดไม่ได้ เป็นลมชัก พิการทางสายตา ฯลฯ หากรุนแรงอาจเสียชีวิตได้
องค์การอนามัยโลกสงสัยความเชื่อมโยงระหว่าง Zika กับ Microcephaly อย่างยิ่ง ดังที่กำลังเกิดในบราซิล ตั้งแต่ตุลาคม 2015 ถึงปัจจุบันมีกรณีเด็กสมองเล็กดังกล่าว 4,000 ราย ซึ่งสูงขึ้นอย่างผิดสังเกต ในบริเวณที่ Zika ระบาดหนัก เช่น Recife ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งมีกรณีสมองเล็กถึง 300ราย ในเวลาเพียง 6 เดือน เทียบกับ 5 รายต่อปีก่อนหน้านี้
ถ้าหากเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงที่ไม่ท้อง หากได้รับเชื้อ Zika ก็มีโอกาสประสบกับภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง พิการเคลื่อนไหวไม่ได้เป็นเวลา 2-3 อาทิตย์ หรือเป็นเดือนจึงจะกลับมาเป็นปกติ อาการเหล่านี้เรียกว่า “Guillain-Barré Syndrome (GBS)” ซึ่งเกิดจากภูมิคุ้มกันของตนเองทำลายเซลล์ประสาทอันเนื่องมาจากได้รับไวรัส Zika ในร่างกาย
ล่าสุดแพทย์สงสัยว่า Zika อาจติดกันผ่านเพศสัมพันธ์ หรือผ่านจากแม่สู่ลูกขณะคลอด หรือผ่านยุงพันธุ์อื่นด้วย อย่างไรก็ดีทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อสงสัย แต่ที่ชัดเจนก็คือยุงร้ายกว่าเสืออย่างแน่นอน
ยุงลายเป็นพาหะนำเชื้ออย่างต่ำ 3 อย่างคือเชื้อไข้เลือดออก(Dengue) เชื้อไข้เหลือง (Yellow Fever) และเชื้อ Zika วัคฃีนไข้เหลืองนั่นมีแล้ว ไข้เลือดออกกำลังทดลอง ส่วน Zika ยังอยู่ในขั้นต้น คาดว่าอาจเริ่มทดลองได้ประมาณปลายปี 2016
ยุงลายน่ากลัวเพราะปรับตัวได้ดี สามารถอาศัยในเมืองที่มีเลือดคนสาระพัดหน้าเป็นอาหาร ไข่ได้ทุกที่ที่มีน้ำไม่ว่าจะเป็นโอ่ง ไห กระป๋อง หรือแม้แต่แจกันดอกไม้ ในบ้านเรายุงลายเติบโตได้เป็นอย่างดีและอยู่อย่างมีความสุข
วงวิชาการสงสัยว่า Zika มาถึงบราซิลได้อย่างไรในปี 2015 บางคนสันนิษฐานว่าการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2014 ที่บราซิลอาจเป็นสาเหตุ เนื่องจากมีคนมาจากทุกมุมโลกนับหมื่นนับแสนคน อาจมีคนที่มีเชื้อ Zika เดินทางมาและถูกยุงลายกัด และแพร่ระบาดออกไป
ข้อสันนิษฐานนี้ทำให้เกิดความหวาดหวั่นในมุมกลับว่าในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะมีคนนับหมื่นนับแสนเดินทางมาบราซิลเพื่อการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก หากรับเชื้อ Zikaไป ก็จะนำกลับไปบ้านของตนเอง และถ้ามียุงลายอาศัยอยู่ก็อาจนำไปสู่การแพร่ระบาดทั่วโลกได้
นักระบาดวิทยาคาดว่าในประชากรจำนวน 205 ล้านคนของบราซิล จะมีคนติดเชื้อ Zika ประมาณ 500,000-1,500,000 คนเมื่อสิ้นปี 2016 และสำหรับทวีปอเมริกาใต้ทั้งหมดตัวเลขจะเป็น 3-4 ล้านคน ขณะนี้มีการระบาดของ Zika ใน 20 ประเทศโดยที่มีนอกทวีปอเมริกาใต้คือ Cape Verve ในอาฟริกา และซามัวในมหาสมุทรปาซิฟิก ในเอเชียนั้นยังไม่ปรากฏชัดเจน
ทวีปอเมริกาเหนือคือสหรัฐอเมริกาและคานาดานั้นก็เชื่อว่า Zika จะระบาดไปถึงยกเว้นคานาดาซึ่งหนาวเกินกว่าที่ยุงลายอาศัยอยู่ได้ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็หนีไม่รอด Zika จะมาเยือนเพียงแต่จะรุนแรงหรือไม่เท่านั้น เหตุที่มั่นใจเช่นนี้ก็เพราะการเป็นโลกไร้พรมแดน การเดินทางไปมาถึงกันทุกวันอย่างสะดวกในราคาถูกทำให้ Zika ไปมาถึงกันได้อย่างง่ายดาย ผ่านการทำงานของเจ้ายุงลาย
WHO ให้คำแนะนำในการป้องกันพิษจาก Zika ได้อย่างน่ารักมากว่า (1) คนท้องไม่ควรเดินทางไปในบริเวณที่ Zika ระบาด (2) ในบริเวณที่ Zika ระบาดนั้นควรใคร่ควรญให้ดี ก่อนท้อง (3) ระวังอย่าให้ยุงลายกัด โดยการหลีกเลี่ยงบริเวณที่ยุงลายอาศัยอยู่ (4) ใส่เสื้อผ้าหนาปิดมิดชิด และทายาป้องกันยุงกัด
Zika น่ากลัวเพราะทำให้เด็กในท้องพิการ และทำให้เป็น GBS เคลื่อนไหวไม่ได้ในระยะเวลาหนึ่ง แต่ยังไม่พบที่เสียชีวิตโดยตรงจาก Zika การป้องกันก็ทำได้โดยการหลีกเลี่ยงยุงลาย (ก็ไม่มีใครอยากเจอมันหรอก แต่มันอยากเจอเรา )และถ้ากลัวลูกพิการจาก Zika ก็หลีกเลี่ยงการท้อง (ฟังดูแปลกแต่ถูกต้องแบบกำปั้นทุบดิน)
เราไม่ควรแตกตื่นกับ Zika ควรมีสติต่อสู้กับมัน (คงคล้ายกับกรณีของไวรัส Sika หรือสีกากับสงฆ์) โดยการช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้านเราเพราะอาจนำมาซึ่งเชื้อ Zika ในยามที่มันมาถึงบ้านเรา และอาจนำมาซึ่งโรคไข้เลือดออกซึ่งมาอยู่ในบ้านเรานานแล้ว
“วัคซีน Zika ชั่วคราว” ในอนาคตอันใกล้ก็คือการระมัดระวังตัวเองไม่ให้ถูกยุงลายกัดซึ่งก็คล้ายกับ “วัคซีนชีวิตถาวร” ซึ่งได้แก่การระมัดระวัง ประคับประคองชีวิตอย่างไม่ประมาทกระมัง