อุบัติเหตุสงกรานต์ 2559

วรากรณ์  สามโกเศศ
10 พฤษภาคม 2559

         อุบัติเหตุทางถนนระหว่างสงกรานต์ 2559 ที่ผ่านไปทำให้เกิดข้อคิดขึ้นหลายประการที่มีความสำคัญต่อการอยู่หรือการไปจากโลกนี้หรือพิการของคนจำนวนนับแสนในอนาคต

          การวิเคราะห์สถิติของผู้เสียชีวิตระหว่างสงกรานต์ของทุกปีเมื่อเทียบกับปีก่อน ๆ ต้องกระทำด้วยความรอบคอบเพราะตัวเลขมีปัญหาในหลายมิติ ประการแรก ข้อมูลมาจากการจัดเก็บของหลายหน่วยงานของรัฐและเป็นข้อมูลดิบของการเกิดอุบัติเหตุในแต่ละวัน ผู้บาดเจ็บหลายคนอาจเสียชีวิตในเวลาต่อมาซึ่งตัวเลขมิได้สะท้อนการเสียชีวิตเช่นนี้ ประการสอง การที่มีคนตายและบาดเจ็บจากสงกรานต์ครั้งนี้เพิ่มขึ้นมิได้หมายความว่าเหตุการณ์เลวร้ายลงเสมอไป เพราะปีที่ผ่าน ๆ มามีจำนวนรถยนต์และจักรยานยนต์น้อยกว่าปีที่ผ่านมานับหมื่นนับแสนคัน เมื่อจำนวนมากขึ้นก็ย่อมมีการเดินทางมากขึ้น (โดยเฉพาะน้ำมันที่มีราคาถูกลง) มีจำนวนคนเกี่ยวพันมากขึ้น จำนวนอุบัติเหตุก็ย่อมสูงขึ้นเป็นธรรมดา

          ประการที่สาม ข้อมูลที่ระบุสาเหตุของอุบัติเหตุนั้นมีปัญหาโดยธรรมชาติของตัวมัน เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นโดยไม่มีการวิเคราะห์เหตุการณ์อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดเชิงวิชาการ (accident scene เหมือน crime scene ในภาพยนตร์) ตัวเลขที่บอกจึงเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น (หากเก็บสถิติการตายจากมรณบัตรก็จะพบว่า “หัวใจวาย” เป็นสาเหตุใหญ่ที่สุดเพราะถ้าตายแล้วหัวใจก็ต้องวายอย่างแน่นอน นอกจากนี้บ่อยครั้งที่สาเหตุการตายเป็นเรื่องของการผสมปนเปจนยากที่จะแยกตอบได้

          ไม่มีใครบอกได้อย่างชัดเจนโดยไม่มีการวิเคราะห์ว่าความเร็วเป็นสาเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุเพราะอาจเป็นผลจากการดื่มแอลกอฮอร์ก็เป็นได้ เจ้าหน้าที่บางท้องที่อาจวิเคราะห์ลงไปลึก บางคนอาจระบุตามความเชื่อนอกเสียจากได้กลิ่นแอลกอฮอร์ชัดเจน

          ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นปัญหาของตัวเลขที่พึงระมัดระวังในการตีความ (จังหวัดที่มีคนตายน้อยที่สุดมิได้หมายความว่าผู้ว่าราชการจังหวัดและเจ้าหน้าที่ดูแลดีที่สุด หากจังหวัดนั้นมีความยาวของถนนในจังหวัดสั้นกว่าอีกจังหวัดก็ย่อมมีทางโน้มจำนวนอุบัติเหตุน้อยกว่า) ถ้าจะให้แม่นยำว่าพื้นที่จังหวัดใดมีการเกิดอุบัติเหตุมากกว่ากันอย่างแท้จริงแล้วต้องดูจำนวนอุบัติเหตุต่อหนึ่งกิโลเมตรของถนนในจังหวัดนั้น ๆ หรือต่อระยะทางการเดินทางของทุกคนที่ใช้ถนนของจังหวัดนั้นๆ

          ในช่วงวันที่ 11-17 เมษายน 2559 มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 3,447 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 442 คน บาดเจ็บ 3,656 คน (จำนวนคนพิการต้องใช้เวลาตามดูการเจ็บป่วยกว่าที่จะได้สถิติที่แน่นอน) ซึ่งมากกว่าปีผ่านมาซึ่งเกิดขึ้น 3,373 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 364 คน บาดเจ็บ 3,559 คน แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดของตัวเลขดังกล่าวมาแล้ว ผู้เขียนจึงไม่ขอวิเคราะห์ว่าบ้านเรามีจำนวนอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นกว่าเดิมจริงหรือไม่ หากจะตอบได้จะต้องรู้จำนวนกิโลเมตรที่ทุกคนเดินทางและจำนวนอุบัติเหตุในช่วงเวลานั้นของทั้งสองปี อย่างไรก็ดีมีข้อสังเกตหลายประการจากอุบัติเหตุ “สงกรานต์2559” ดังต่อไปนี้

          ข้อหนึ่ง การเกิดอุบัติเหตุถือได้ว่ามีจำนวนสูงมาก (เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 63 คน เมื่อเทียบกับตัวเลขตายเฉลี่ยปกติวันละ 40 ฃึ่งถือว่าสูงในมาตราฐานโลก)

          ข้อสอง ร้อยละ 57 ของผู้ที่เกี่ยวพันกับอุบัติเหตุเสียชีวิต ณ จุดเกิดอุบัติเหตุ และส่วนใหญ่คือร้อยละ 59 เป็นคนในพื้นที่

          ข้อสาม กว่า 2 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตเป็นผู้ขับขี่ยานยนตร์เอง

          ข้อสี่ จักรยานยนตร์เป็นยานพาหนะที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ประมาณ 2 ใน 3 หรือ 239 ราย รองลงมาคือรถปิคอัพ (ร้อยละ 16)

          ข้อห้า สถิติย้อนหลัง 5 ปี ชี้ว่ามีแนวโน้มของดัชนีความรุนแรง (SI-Severity Index ซึ่งได้แก่ จำนวนผู้เสียชีวิตต่อ 100 ครั้งของอุบัติเหตุ) เพิ่มขึ้น โดยเพิ่มจาก 10.23 ในปี 2555 เป็น 11.35 ในปี 2556 และ 12.82 ของสงกรานต์ปี 2559

          ข้อหก ทางการระบุว่าสาเหตุหลักของอุบัติเหตุคือ “ดื่มแล้วขับ” (ร้อยละ 31.7) รองลงมาคือขับรถเร็ว (ร้อยละ 28.5) อย่างไรก็ดีข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุเป็นสิ่งพึงระมัดระวังดังที่กล่าวแล้ว หากนำสองปัจจัยนี้มารวมกันก็จะเป็นร้อยละ 60 หรือพอกล่าวได้ว่าสองสาเหตุที่พันกันอยู่นี้เป็นสิ่งสร้างความวิบัติอย่างจริงแท้แน่นอน

          ข้อเจ็ด ผู้ขับขี่ที่บาดเจ็บและเสียชีวิตที่มีการดื่มร่วมด้วย มักมีพฤติกรรมเสี่ยงประกอบด้วยเสมอ กล่าวคือร้อยละ 87 ไม่สวมหมวกนิรภัย และร้อยละ 98 ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย

          ข้อแปด กว่าครึ่งหนึ่งของอุบัติเหตุ (ร้อยละ 53) เกิดในช่วงบ่ายถึงค่ำ (12-20 น.)

          เป็นที่ชัดเจนว่า “การดื่มสุรา” และ “การขับรถเร็ว” เป็นสาเหตุหลักของอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์ 2559 (ซึ่งไม่ต่างจากปีที่ผ่าน ๆ มา) และในช่วงเวลาอื่น ๆ ด้วย สังคมเราสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุปีละไม่ต่ำกว่า 14,600 ราย (40 x 365) และถ้าอัตรานี้ไม่เพิ่มขึ้น ในเวลา 10 ปี เราจะสูญเสียชีวิตไปถึง 146,000 ราย สถิตินี้ถือได้ว่าสูงมากโดยมีสถิติใกล้เคียงกับประเทศในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เช่น อิหร่าน ลิเบีย อูแกนดา ไนจีเรีย แองโกลา โอมาน เวเนซูเอลลา ฯลฯ ไทยอยู่ในอันดับ 14 ของโลก ในจำนวน 172 ประเทศ (อันดับหนึ่งคืออิหร่าน และรองลงมาอิรัก เวเนซูเอลลา กิอานา ลิเบีย โดมินิกัน ฯลฯ)

          อันดับนี้จัดตามจำนวนการตายจากอุบัติเหตุการจราจรต่อประชากร 100,000 คน ประเทศที่ปลอดภัยที่สุดในโลกคือมัลดีฟ(ต้องระวังการตีความตัวชี้นี้เพราะประเทศที่ไม่มีถนน ไม่มีรถแต่มีประชากรสูง ย่อมมีสถิติที่ดี)

          จากข้อเท็จจริงข้างต้น สิ่งที่ควรใคร่ครวญและดำเนินการต่อไปก็คือ หนึ่ง จำนวนอุบัติเหตุการจราจรของบ้านเราต้องทำให้ลดต่ำลงทันที การสูญเสียถึง 14,600 คนต่อปี เป็นสิ่งที่สังคมไทยไม่ควรยอมรับ (แผ่นดินไหวรุนแรงในอิเควดอร์ในช่วงเวลาเดียวกับสงกรานต์ 2559 มีคนตาย 654 คน แต่บ้านเราไม่มีภัยธรรมชาติหากมีภัยที่สร้างขึ้นมาเองจนตายไปด้วยจำนวนที่ไม่ไกลกันนัก)

          สอง การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้นอย่างต่อเนื่องคือหัวใจสำคัญ (ในเมืองจาร์กาต้า ฮานอย และโฮจิมินห์ซิตี้ ซึ่งมีประชากรไม่น้อยกว่ากรุงเทพฯและมีวัฒนธรรมคล้ายกัน ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ทุกคนต้องใส่หมวกนิรภัย) นวตกรรมยึดรถเป็นเรื่องควรชื่นชมแต่ก็มีสถิติน้อยมากคือยึดรถไว้หากมึนเมาขณะขับขี่ได้ 6,613 คัน หรือ 9.5 คัน/จังหวัด/วัน/

          การตั้งด่านตรวจที่มีอุปกรณ์ครอบครันมิใช่มีเครื่องวัดแอลกอฮอร์จังหวัดละไม่กี่เครื่อง เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขทันที การแก้ไขกฎหมายลงโทษผู้กระทำความผิดต้องแยกออกเป็นโดยประมาทและอย่างอันตราย (มิได้มีเพียงประมาทเช่นปัจจุบัน) โดยมีโทษที่รุนแรงเพิ่มขึ้นตามจำนวนครั้งที่กระทำผิด

          สาม ภาครัฐต้องมีหน่วยงานรับผิดชอบการลดอุบัติเหตุโดยตรง มิใช่มีเพียงคณะกรรมการระดับชาติที่ประสานให้ต่างคนต่างรับผิดชอบงานของตนโดยไม่มีเจ้าภาพกลาง การวิเคราะห์เชิงวิชาการเพื่อหาความจริงจากอุบัติเหตุแต่ละครั้งจะให้บทเรียนเพื่อแก้ไขมิให้เกิดขึ้นอีก (ปัจจุบันเกือบทุกอาทิตย์รถตู้เกิดอุบัติเหตุและไฟไหม้ยังไม่มีใครตอบได้ว่าเกิดจากอะไร งานวิชาการเท่านั้นที่จะตอบได้)

          ถ้าไม่มีการแก้ไขปัญหานี้กันจริงจังตั้งแต่บัดนี้โดยให้ความสนใจตลอดทั้งปีมิใช่เฉพาะช่วงสงกรานต์เท่านั้น มีทางโน้มที่จำนวนการตายและพิการจะเพิ่มมากขึ้นเพราะจำนวนรถและพื้นที่ถนนที่มีมากขึ้น และคนที่ประสบเคราะห์กรรมอาจเป็นบุคคลอันเป็นที่รักของผู้รับผิดชอบก็เป็นได้(ข้อมูลมาจาก “รายงานสถานการณ์อุบัติเหตุทาง  ถนน____สงกรานต์ 2559 ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)